สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์


ที่อยู่:
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ 83 หมู่ 14 ต.สะเดียง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ 67250
โทรศัพท์:
056-717140, 085-8766887
วันและเวลาทำการ:
ตามเวลาราชการ 08.00 – 16.30 น. (อยู่ในระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม สามารถเข้าชมได้ตามปกติ)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2518
ของเด่น:
เครื่องมือประกอบอาชีพ ผ้าทอ คัมภีร์ใบลาน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์

      สำนักศิลปะและวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2518 เมื่อมีพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ.2518 กำหนดนโยบายสำคัญหนึ่งโดยนโยบาย คือ การทนุบำรุงส่งเสริมวัฒนธรรม มาตรา 5 และเมื่อกระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้ระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรม พ.ศ.2524 อันเช่นมีกำเนิดสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ จึงถือกำเนิดขึ้นในชื่อ “ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูเพชรบูรณ์” มีนายสวรรค์ สุรรณโชติ เป็นหัวหน้าศูนย์วัฒนธรรมคนแรก และด้วยข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อันเนื่องด้วยศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดให้จังหวัดที่มีวิทยาลัยครูเป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด ภารกิจของศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูเพชรบูรณ์ จึงคลอบคลุมงานด้านวัฒนธรรมทั้งจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดพิจิตรและเมื่อกระทรวงวิทยาศาสตร์โดยสำนักนโยบายและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมจัดตั้งหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมจังหวัดได้มอบหมายให้ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูเพชรบูรณ์ รับผิดชอบงานอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมและธรรมชาติ โดยหัวหน้าศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูเพชรบูรณ์ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูเพชรบูรณ์ จึงมีบทบาทเพิ่มขึ้นอีกบทบาทหนึ่ง
 
      ต่อมาในปี 2538 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏโดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานนามสถาบันอุดมศึกษาตามท้องถิ่นว่า "สถาบันราชภัฏ" และยังคงภารกิจหลัก 6ประการ งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเป็น 1 ใน 6 นโยบายหลักเหมือนเดิม ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูเพชรบูรณ์ จึงเปลี่ยนเป็น “สำนักศิลปวัฒนธรรมสถาบันราชภัฏเพชรบูรณ์” 

 
มรดกวัฒนธรรมชุมชน/ภูมิปัญญา ที่โดดเด่นของชุมชน
     
      ในบริบทของสำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ต้องพิจารณาในประเด็นที่ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันที่รองรับนักศึกษาในจังหวัดเพชรบูรณ์และเขตจังหวัดใกล้เคียงซึ่งจะมีการเรียนการสอน  และในโครงสร้างของมหาวิทยาลัยจะต้องมีแหล่งศึกษาค้นคว้าของภูมิปัญญาวัฒนธรรม ประเพณีอยู่หนึ่งแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆ จึงได้ตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมขึ้นมา เพื่อเก็บองค์ความรู้ไว้บริการชุมชนและนักศึกษา ซึ่งจะมีหมู่บ้านหรือชุมชนที่อยู่รอบมหาวิทยาลัยร่วมด้วย โดยในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยของเราตั้งอยู่ในเขตตำบลสะเดียง ข้าวของเครื่องใช้บางส่วนที่จัดแสดงในศูนย์/สำนักศิลปวัฒนธรรมจะเป็นพวกอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการทำนา เครื่องมือหาปลา เครื่องมือต่างๆ เครื่องทอผ้า สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นของที่ชาวบ้านนำมามอบให้สำนักได้จัดแสดง เพราะว่าครั้งหนึ่งทางสำนักฯได้ทำหนังสือเชิญเผยแพร่ออกไปเพื่อขอชาวบ้านที่มีของเก่า หรือของที่ไม่ใช้แล้วที่จะทิ้งให้นำมามอบให้กับเรา เพราะเราต้องการที่จะเก็บรวบรวมเพื่อที่จะรวมเป็นสถานที่แหล่งเรียนรู้ให้กับนักศึกษา เพราะจะมีวิชาที่เพิ่มเข้าไปในหลักสูตร คือ วิชาท้องถิ่นที่จะต้องให้เด็ก นักศึกษา เยาวชนเรียนรู้ท้องถิ่นของตัวเองว่าท้องถิ่นของตนมีประเพณีวัฒนธรรมอะไรบ้างและมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร
 
       ในประเด็นเรื่องมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา ทางสำนักฯจะมีการเก็บทั้งเป็นองค์ความรู้ที่เป็นรูปเล่ม และเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่ได้มา มาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ของเราด้วย

 
ว่าด้วยพิพิธภัณฑ์หอวัฒนธรรม สำนักศิลปะและวัฒนธรรม

      สำนักศิลปะและวัฒนธรรมแบ่งสถานที่ทำงานออกเป็น 2ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1อาคารจัดแสดงส่วนพิพิธภัณฑ์ และจัดแสดงงานหรือกิจกรรมต่างๆ หรือเรียกว่า หอวัฒนธรรม (กำลังปรับปรุง) และส่วนที่ 2คือสถานที่ที่บุคลากรทำงาน ซึ่งสถานที่ที่บุคลากรทำงานทางสำนักฯ ได้มาขอยืมอาคารสถานที่จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ใช้ หากตึกเสร็จแล้วจะทำการจะย้ายไปอยู่ ณ ส่วนที่กำลังปรับปรุง (ส่วนที่1)  ซึ่งตอนนี้ก็กำลังก่อสร้างอยู่ โดยแปลนของอาคารใหม่จะแบ่งเป็นห้องผู้บริหาร สำนักงาน และห้องสมุด ซึ่งในส่วนห้องสมุดจะมีการขนย้ายหนังสือที่อยู่ที่หอเดิม (ส่วนที่ 1) มาไว้ในสถานที่ทำงานของบุคลากร (ส่วนที่ 2) โดยการนำหนังสือมาจัดเข้าชั้นแล้วจัดเรียงใหม่ ทั้งนี้ในส่วนของที่อยู่ในตึกเก่าจะเป็นพวกของเครื่องใช้ที่ชาวบ้านนำมามอบให้ ที่ยังคงอยู่ที่เดิมอยู่ อีกไม่กี่เดือนจะมีการขนของทั้งหมดที่เหลือมาไว้ในส่วนอาคารจัดแสดงส่วนพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด
 
      พิพิธภัณฑ์จัดแสดงของทางหอวัฒนธรรมใหม่ มีตัวอาคารเป็นรูปตัวยู มีส่วนห้องโถงที่มีการจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน และจะมีมุมที่จัดแสดงในส่วนของห้องสมุดหรือมุมหนังสือที่แยกเป็นส่วนๆ ซึ่งลักษณะดังกล่าวคือลักษณะพิพิธภัณฑ์ใหม่ที่กำลังจะทำ เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวที่กำลังมีการปรับปรุงโครงสร้าง คือถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์ใหม่ ยังไม่ลงตัวว่าส่วนไหนจะเป็นส่วนไหน เพียงแต่ว่ามีหัวข้อคร่าวๆ ว่าส่วนไหนจะแสดงส่วนใดบ้าง คือตัวหอเก่าก็มีรูปแบบของมันอยู่ ถ้าเป็นตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงขนย้าย จึงไม่อยู่ในสภาพที่เดิมก็จะมีของวางอยู่อย่างไม่เป็นระเบียบ ตอนที่เราออกมาก็ยังปิดไว้ ทั้งนี้ได้ทำการปรับปรุงตัวรูปแบบของอาคารข้างนอกให้คงไว้ซึ่งโครงสร้างเดิม และจะปรับปรุงข้างในในส่วน หลังคาและพื้น
 
      ในส่วนของการบริหารจัดการความรับผิดชอบหลักๆ จะอยู่ที่หัวหน้างานหอวัฒนธรรม ปัจจุบันคือ อาจารย์ขุนแผน ตุ้มทองคำ เป็นผู้ดูแล ซึ่งกำลังดำเนินการปรับปรุงตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ และแบ่งพื้นที่การจัดแสดงในส่วนงานพิพิธภัณฑ์ออกเป็นทั้งหมด 9ส่วนได้แก่ ประวัติราชภัฎ กลุ่มชาติพันธุ์เมืองเพชรบูรณ์ วงดนตรีตุ๊บเก่ง ผ้าพื้นเมืองเพชรบูรณ์ อาหารประจำถิ่น (ขนมจีนหล่มเก่า ไก่ย่างวิเชียร) แหล่งโบราณคดีประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ เมืองเพชรบูรณ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน บ้านโบราณคนเพชรบูรณ์ และสุดท้ายคือ เครื่องมือ เครื่องใช้สมัยโบราณ
 
      จากนั้นเมื่อมีการจัดการอาคารและย้ายสิ่งของต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ทางส่วนงานหอวัฒนธรรมจะมีการทำทะเบียนวัตถุ คือต้องนำวัตถุทั้งหมดมาออกเลขทะเบียนแล้วจัดแสดง ซึ่งได้มีการจัดทำป้ายบอกของแต่ละสิ่งว่า สิ่งนั้นคืออะไร และได้มีการจัดทำทะเบียนวัตถุไว้บางส่วน ในปัจจุบันส่วนของทะเบียนวัตถุนั้นได้ระงับใช้ไปนานแล้ว นอกจากนี้ในส่วนของหนังสือทางสำนักฯ ได้มีการให้บริการยืมหนังสือเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวิจัยหรือการเรียน โดยในช่วงนี้ทางสำนักฯ ได้มีการนำหนังสือบางเล่มขึ้นระบบของเว็ปไซต์สำนักแล้วเป็นบางส่วน และจัดให้มีการยืมโดยต้องแลกกับบัตรประชาชนหรือบัตรนักศึกษาไว้ก่อนที่จะยืมหนังสือแต่ละเล่มด้วย
 
      ในส่วนของปัญหาอุปสรรคของพิพิธภัณฑ์ ยังไม่เป็นรูปร่าง แล้วในตัวเจ้าหน้าที่เองไม่แน่ใจในแผนของผู้บริหารด้วย ซึ่งถ้ามีการเปลี่ยนผู้บริหารจะมีการเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์อีก (ผู้บริหารมีระยะเวลาการทำงาน 4ปี) จึงทำให้ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ยังไม่ค่อยนิ่ง และมีความชัดเจน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับผู้บริหาร เมื่อผู้บริหารเปลี่ยนนโยบายก็เปลี่ยนตาม
 
       นอกจากนั้นในการดูแลรักษาอาจมีการผุพังบ้าง แต่ไม่มีการสูญหาย ซึ่งสิ่งของที่มีการผุพัง จำพวก เครื่องจักรสาร หม้อ จะมีแมลงเข้ามาเจาะไม้ ดังนั้น ในสิ่งที่ทางสำนักฯได้ดำเนินการดูแลตอนนี้คือ การทำความสะอาดเพื่อเป็นการแก้ไขเบื้องต้นไปก่อนที่จะมีการปรับปรุงอาคารเรียบร้อย
       

ว่าด้วยงานสะสมและการจัดแสดง

        ในการจัดงานสะสมและการจัดแสดงของหอวัฒนธรรม ทางสำนักฯได้จัดแสดงสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนในจังหวัดเพชรบูรณ์ อันได้แก่ เครื่องมือประกอบอาชีพ ผ้าทอ คัมภีร์ใบลาน ซึ่งเป็นลักษณะของการสืบทอดต่อกันมา โดยได้นำมาจัดใส่ตู้โชว์ไว้ นอกจากนั้นยังมีเรื่องราวประวัติของศิลปินที่อยู่ในท้องถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ และข้อมูลปราชญ์ชาวบ้านที่สำคัญๆ
ว่าด้วยความสัมพันธ์กับชุมชน หรือเครือข่าย
       
      ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนหรือการทำงานเป็นเครือข่าย ทางสำนักฯ ได้มีความพยายามในการสร้างเครือข่าย เช่นการทำงานร่วมกับเทศบาล ซึ่งทางเทศบาลมีหอวัฒนธรรม ทั้งที่ส่วนของจวนผู้ว่าฯ และที่เสาหลักเมือง การไปทำ MOU ที่วัดเพชรวราราม หมายความว่า เมื่อเวลาจะทำกิจกรรมต้องไปที่วัดแห่งนี้ เช่น การจัดงานหล่อเทียนเข้าพรรษา หรือประเพณีที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา
       
       นอกจากนั้นความสัมพันธ์กับชุมชน ทางสำนักฯได้มีการเข้าไปร่วมทำงาน และร่วมจัดงานให้บ้าง แต่จะเป็นลักษณะการช่วยลงเก็บข้อมูลมากกว่า โดยทางสำนักฯจะลงไปติดต่อกับทางชาวบ้านหรือคนที่อยู่ในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น อำเภอหล่มเก่า ทางสำนักฯได้ไปติดต่อกับอาจารย์สุมาลีที่เป็นอาจารย์อยู่ที่อำเภอนี้ ซึ่งปัจจุบันอาจารย์ได้เกษียณอายุไปแล้ว (อดีตอาจารย์โรงเรียนหล่มเก่าวิทยาการ) หลังเกษียณท่านต้องการทำอะไรให้กับชุมชน โดยการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ในชุมชนของท่าน ทางสำนักฯ จึงเป็นผู้ประสานให้และได้เริ่มลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ดังกล่าวบ้างแล้ว
       
      ดังนั้นในช่วงนี้จึงอยู่ในขั้นตอนความพยายามที่จะดึงนักวิชาการท้องถิ่นมารวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น จากนั้นทางสำนักฯ จะมีการจัดพิมพ์เป็นหนังสือให้ เช่น การรวบรวมแหล่งโบราณคดีที่เจ้าหน้าที่ศรีเทพ คุณธวัชชัย เขียนในเรื่องของแหล่งโบราณคดีของจังหวัดเพชรบูรณ์ ทางสำนักฯ ได้มีการจัดสรรงบประมาณและตีพิมพ์ จากนั้นจึงนำส่งวารสารที่มีการตีพิมพ์แล้วและมีเรื่องราวของแต่ละท้องถิ่น ส่งไปตาม อบต. โรงเรียนต่างๆ ในชุมชนเพื่อที่ให้ครูประถม มัธยมได้อ่าน ถ้าคุณครูได้อ่านเรียบร้อยแล้ว และคิดว่าสามารถที่จะเขียนมาได้ ทางสำนักฯ จะมีการจัดตีพิมพ์ให้เป็นวารสาร
 
       ณ ตอนนี้ความร่วมมือดังกล่าวยังไม่ชัดเจน แต่ในอนาคตข้างหน้าจะมีโครงการที่น่าจะดึงท้องถิ่นหรือมีความสัมพันธ์กับท้องถิ่นมากกว่าเดิม ความร่วมมือ ณ ปัจจุบันจึงเป็นในลักษณะที่ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏคือ สถาบันการศึกษา กับชุมชน ทางชุมชนกับสถาบันศึกษามีความร่วมมือกัน การที่เรามีของที่จัดแสดงในหอวัฒนธรรม ชาวบ้านเห็นว่าเรามีพิพิธภัณฑ์ เขาก็ศรัทธาและรู้ว่าเรามีการรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน และด้วยความตระหนักถึงเรื่องนี้เลยเอาของมาบริจาคให้ เพื่อส่งเสริมความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ลูกหลานได้ 
 
นนทชา ชัยทวิชธานันท์ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 14 สิงหาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง:
-