อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ


ที่อยู่:
อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ 67270
โทรศัพท์:
0-5692-1322
โทรสาร:
0-5692-1317
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 08.00-16.30 น.
ค่าเข้าชม:
คนไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2529
ของเด่น:
หลุมขุดค้นทางโบราณคดี ทับหลังหินจำหลักรูปอุมามเหศวร
จัดการโดย:
เนื้อหา:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

     อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ประมาณ 130 กิโลเมตร มีเนื้อที่รวมประมาณสองพันไร่เศษ มีกำแพงเมืองที่ก่อด้วยดินล้อมรอบ และมีคูเมืองนอกกำแพง มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ภายในเมืองมีปรางค์สมัยลพบุรีอยู่สององค์ เรียกว่า ปรางค์องค์พี่และปรางค์องค์น้อง ทางทิศเหนือนอกกำแพงเมืองออกไปมีสระน้ำสองแห่ง ชื่อสระแก้วและสระขวัญ ในสมัยโบราณเมืองศรีเทพต้องส่งส่วยน้ำจากสระทั้งสองนี้ เพื่อนำไปใช้ทำน้ำพิพัฒยสัตยา เพราะถือว่าเป็นน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์
 
     การเดินทางมายังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หากเดินทางจากตัวเมืองเพชรบูรณ์สามารถเดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข 21 (เฉลิมพระเกียรติ – หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 102 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2211  ไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตรจะเห็นป้ายบอกทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอยู่ด้านขวามือ
 
     หากเดินทางจากกรุงเทพมหานคร เมื่อมาถึงสามแยกพุแค จังหวัดสระบุรีให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตรจะเห็นป้ายบอกทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพตั้งอยู่ด้านขวามือ
       
ลักษณะชุมชน
     หากจะกล่าวถึงลักษณะชุมชนของเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งปัจจุบันคืออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพนั้น ตัวอุทยานเป็นชุมชนโบราณ มีขอบเขตที่แน่นอน มีกำแพง มีคูน้ำ ส่วนในปัจจุบันมีชุมชนในระดับหมู่บ้านอยู่ในบริเวณโดยรอบ ซึ่งหมู่บ้านที่อยู่ใกล้บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบันคือ หมู่บ้านบึงนาจาน บ้านศรีเทพน้อย เป็นต้น โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลศรีเทพเป็นผู้บริหารงานดูแลชุมชน
 
     ในส่วนของลักษณะกายภาพทั่วไปของชุมชนที่อยู่โดยรอบอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมีความเป็นชนบทสูง สังเกตได้ว่ามีความแตกต่างทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก หรือสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ในเรื่องของการใช้ชีวิต การดำรงชีวิต เช่น ระบบประปา จะเป็นประปาหมู่บ้านที่ใช้น้ำมาอุปโภคบริโภคจากแหล่งน้ำคูเมืองโบราณ ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มทำการเกษตรคือ การเพาะปลูก ทั้งปลูกข้าว แตงโม ดอกดาวเรือง พืชไร่พืชสวนอื่นๆ เป็นต้น ชุมชนอยู่ไกลจากตัวอำเภอประมาณ 8 กิโลเมตร ซึ่งแยกออกมาจากสี่แยกใหญ่ที่เรียกว่า สี่แยกบ้านกลาง
 
     กลุ่มประชากรหากจะกล่าวถึงลักษณะทางชาติพันธุ์อาจกล่าวได้ว่ามีความหลากหลาย ชุมชนท้องถิ่นในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่แล้ว ประชากรในท้องถิ่นอำเภอศรีเทพจะอพยพมาจากจังหวัดในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ยโสธร ร้อยเอ็ด สกลนคร นครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียงในภาคกลาง เช่น ลพบุรี นครสวรรค์ โดยเริ่มอพยพเข้ามาอยู่อาศัยบริเวณรอบๆเมืองโบราณซึ่งเป็นที่รกร้างเมื่อประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว แต่ไม่นิยมเข้าไปอยู่ในตัวเมืองโบราณเนื่องจากมีความเชื่อว่าเจ้าที่แรง ใครเข้าไปอยู่จะเจ็บไข้ได้ป่วย
 
หมู่บ้านที่ตั้งอยู่รายรอบเมืองโบราณศรีเทพมี 4 หมู่บ้านคือ
- บ้านศรีเทพน้อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก มีอายุเก่าแก่กว่าหมู่บ้านอื่นๆเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ใช้ภาษาถิ่น “ไทยเดิ้ง” หรือ “ไทยเบิ้ง” ซึ่งเป็นภาษาถิ่นมีผู้ใช้อยู่หลายหมู่บ้านในเขตภาคกลาง เช่น บ้านดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ชาวบ้านปัจจุบันไม่ทราบว่าบรรพบุรุษของตนมีถิ่นเดิมอยู่ที่ใด และพากันอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ตั้งแต่เมื่อใด
- บ้านบึงนาจานและบ้านหลักเมือง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก จัดเป็นหมู่บ้านใหญ่มีประชากรหนาแน่น ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพมาจากจังหวัดต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น บุรีรัมย์ มหาสารคาม นครราชสีมา อุบลราชธานี ยโสธร ชัยภูมิ ชาวบ้านกลุ่มนี้ยังคงกลับไปติดต่อกับญาติพี่น้องและเพื่อนพ้องในท้องถิ่นเดิมและยังมีวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีภาษาพูดแบบ้องถิ่นอีสาน  ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งของบ้านบึงนาจานและบ้านหลักเมืองอพยพมาจากจังหวัดลพบุรี และนครสวรรค์
- บ้านสระปรือ  เป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้นหลังสุดเมื่อราว 20-30 ปีที่ผ่านมา เป็นที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีพื้นเพเดิมมาจากจังหวัดบุรีรัมย์ มหาสารคาม และนครราชสีมา
 
     ชุมชนที่นับว่าใหญ่และมีความเกี่ยวข้องกับเมืองศรีเทพในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ได้แก่ ชุมชนบ้านบึงนาจานและบ้านหลักเมือง ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ติดกับคูเมืองทางด้านทิศตะวันตก ส่วนชุมชนอื่นที่มีขนาดรองลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่นอกเขตเมืองโบราณศรีเทพ คือ บ้านศรีเทพน้อยและบ้านสระปรือ ชาวบ้านในท้องถิ่นนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ยังมีการนับถือภูตผีวิญญาณและผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า เจ้าพ่อ เจ้าแม่ต่างๆ
 
     ด้านภาษา จะมีทั้งภาษาภาคกลาง ภาษาสำเนียงอีสาน และภาษาชนดั้งเดิมคือ ภาษาไทยเบิ้ง ซึ่งมีสำเนียงคล้ายภาษาโคราช
 
     การประกอบอาชีพของประชากรในชุมชนบริเวณใกล้เคียงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพดั้งเดิมคือ อาชีพเกษตรกรรม และการทอผ้า ทอเสื่อตามหมู่บ้านใกล้เคียง แต่ในปัจจุบันอาชีพมีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการเพาะปลูกข้าว แตงโม ดอกดาวเรือง ทำสวน ปลูกพืชไร่ การทอผ้า ทอเสื่อใช้เอง การทอผ้า ทอเสื่อ ได้เลิกไปหมดแล้ว ปัจจุบันผู้หญิงในหมู่บ้านหันมาสนใจธุรกิจการเย็บเศษผ้าให้เป็นของใช้ต่างๆ เช่น ผ้าจับของร้อน ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน เป็นต้น เนื่องจากได้เงินเร็วทันต่อความต้องการ นอกจากนี้ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในชุมชน และประชากรบางส่วนก็ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ภายในอุทานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
 
ประวัติการค้นพบเมืองศรีเทพ
     เมืองศรีเทพเดิมเป็นเมืองที่รกร้างอยู่กลางป่า ไม่มีผู้ใดทราบว่าแท้จริงเมืองแห่งนี้มีชื่อว่าอย่างไร ใครเป็นผู้สร้างและสร้างมาตั้งแต่สมัยใด มีเพียงชื่อที่ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกตามกันมาตามคำของพระธุดงค์ว่า “เมืองอภัยสาลี” จนกระทั่งในปี พ.ศ.2447 ชื่อเมืองศรีเทพ จึงปรากฏขึ้นครั้งแรก ในคราวที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ สืบเนื่องจากทรงค้นพบชื่อนี้ในทำเนียบเก่า บอกรายชื่อหัวเมืองและในสมุดดำซึ่งเป็นต้นร่างกะระยะทางให้คนไปแจ้งข่าวการสิ้นรัชกาลที่ 2 ตามหัวเมืองต่างๆ มีเส้นทางหนึ่งไปทางเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ และเมืองเพชรบูรณ์ จึงทรงตั้งสมมติฐานว่า เมืองศรีเทพคงอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ในคราวนั้นทรงสืบค้นพบว่าศรีเทพเป็นชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรี(ปัจจุบันเป็นชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์) ซึ่งเพิ่งจะมาเปลี่ยนชื่อในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงสันนิษฐานว่าชื่อเมืองศรีเทพที่วิเชียรบุรีคงมีต้นเค้าที่มาจากเมืองโบราณที่อยู่ทางใต้ลงมาราว 30 กิโลเมตร ซึ่งทรงสำรวจพบโบราณวัตถุ โบราณสถานต่างๆมากมาย จึงทรงเรียกเมืองโบราณแห่งนี้ว่าเมืองศรีเทพ นับได้ว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกชื่อเมืองนี้ว่า เมืองศรีเทพ เป็นพระองค์แรกและได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
 
     หลังจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ เมืองโบราณแห่งนี้ก็ยังคงถูกทิ้งให้รกร้างอยู่กลางป่าอีกเป็นเวลานานกว่าที่กรมศิลปากรจะได้เข้ามาสำรวจขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ตั้งแต่ในช่วง พ.ศ.2478 – 2480 และพัฒนาจนกระทั่งเปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2529 เป็นต้นมา ในระหว่างเวลาดังกล่าวได้มีการสำรวจศึกษาค้นคว้าวิจัยโดยนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งการดำเนินการในการอนุรักษ์โบราณสถานด้วย
 
     เมืองศรีเทพมีคูน้ำคันดินเป็นกำแพงเมืองล้อมรอบ พื้นที่ทั้งหมด 2,889 ไร่ เมืองในมีเนื้อที่ประมาณ 1,300ไร่ ลักษณะเป็นรูปเกือบกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีช่องประตูเมือง 6 ช่องทาง พื้นที่ภายในเป็นที่ราบลอนลูกคลื่น ภายในบริเวณชุมชน มีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญได้แก่ กลุ่มโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพนั่นเอง โดยกรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจ ขุดค้น ศึกษาและพัฒนากลุ่มโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ค้นพบในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 โดยทำการบูรณะและบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างให้มั่นคงถาวร โดยโบราณสถานทั้งที่ยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์และเป็นซากปรักหักพังอยู่ในเมืองศรีเทพราว 40 แห่ง มีสระน้ำและหนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไป เมืองนอกมีเนื้อที่ประมาณ 1,889 ไร่ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่ออกไปทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน พื้นที่เป็นที่ราบ มีช่องประตูเมือง 6 ช่องทาง มีสระน้ำอยู่ทั่วไปและมีโบราณสถานราว 54 แห่ง นอกเมืองโบราณมีโบราณสถานอยู่ทั่วไปราว 50 แห่ง
 
     ซึ่งปัจจุบันทางอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้ทำการบูรณะโบราณสถานบางแห่งให้เป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งประกอบด้วยโบราณสถานและศูนย์ให้ข้อมูลรวม 8 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ข้อมูล ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ หลุมขุดค้นทางโบราณคดี ปรางค์สองพี่น้อง เขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ เขาคลังนอก และ ปรางค์ฤาษี
 
ลักษณะประชากรของชุมชนเมืองโบราณศรีเทพ
     ชุมชนดั้งเดิมของเมืองโบราณศรีเทพจากการขุดค้นทางโบราณคดีในปี พ.ศ.2531 ณ บริเวณเนินดินขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบัน ก่อสร้างเป็นหลุมขุดค้นทางโบราณคดีในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพนั้น พบว่ามีโครงกระดูกและร่องรอยที่สันนิษฐานว่าเป็นมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในลักษณะของโครงกระดูกที่อยู่ในความลึกประมาณ 4 เมตรจากผิวเนินดิน กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 5–7 หรือประมาณ 2,000ปีมาแล้ว
 
     การขุดค้นดังกล่าวสอดคล้องกับการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในกลุ่มลุ่มน้ำลพบุรี – ป่าสัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ใกล้เคียงเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งได้สำรวจพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหลายแหล่ง เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านหนองแดง แหล่งโบราณคดีบ้านหนองหมู่บริเวณเชิงเขาถมอรัตน์ และแหล่งโบราณคดีริมแม่น้ำป่าสักบ้านกุดตาแร้ว ในเขตอำเภอศรีเทพ ซึ่งได้มีการพบโครงกระดูกมนุษย์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความหนาแน่นและการตั้งหลักแหล่งของชุมชน ที่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเมืองโบราณศรีเทพ
 
     นอกจากนี้ยังพบเครื่องประดับต่างๆจากต่างประเทศด้วย เช่น ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว หรือเครื่องประดับที่ทำจากเปลือกหอยทะเล เป็นต้น จึงสันนิษฐานได้ว่าการเริ่มติดต่อกับชุมชนภายนอกมีอิทธิพลแม้กระทั่งในเรื่องประเพณีความเชื่อที่เกี่ยวกับการฝังศพ ดังเช่นได้พบหลักฐานที่หลุมขุดค้นโครงกระดูกที่เมืองศรีเทพว่ามีการนำกระดูกของคนตายใส่ลงในภาชนะพร้อมกับเครื่องประดับแล้วจึงฝัง แทนการฝังศพทั้งโครงอย่างที่เคยปฏิบัติมา(ไม่พบหลักฐานในปัจจุบัน)
 
     จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่พบอยู่ตามโบราณสถานในเมืองโบราณศรีเทพ สันนิษฐานได้ว่ามีการถ่ายทอดวัฒนธรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจเนื่องจากการติดต่อระหว่างกลุ่มชน จนกระทั่งในราวพุทธศตวรรษที่ 7 – 11 เป็นช่วงที่อารยธรรมภายนอกประเทศโดยเฉพาะอินเดียได้แพร่เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชนในแหลมอินโดจีนอย่างชัดเจน นอกจากนี้บางส่วนยังแสดงถึงศิลปกรรมที่รับอิทธิพลจากอารยธรรมสมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 12 – 16) ที่ค้นพบเช่น เจดีย์สำริด ธรรมจักร ชิ้นส่วนหัวเสารองรับธรรมจักร พระพุทธรูปหิน พระพิมพ์ดินเผา เป็นต้น
 
     ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานบางแห่งปรากฎลักษณะของการรับเอาอิทธิพลของอารยธรรมเขมร(พุทธศตวรรษที่ 17 – 18) มาใช้ เช่น ปรางค์ต่างๆ ได้แก่ ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ฤาษี เป็นต้น
 
     ส่วนลัทธิทางศาสนาของเมืองโบราณศรีเทพนั้น นอกจากการขุดค้นพบเทวรูปแล้ว ยังพบประติมากรรม รูปสลักที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูด้วย เช่น พระพุทธรูปประทับยืนภาพสลักบนผนังถ้ำเขาถมอรัตน์ กลุ่มประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์  ประติมากรรมหินรูปพระวิษณุ ชิ้นส่วนพระพักตร์พระอิศวรสำริด แผ่นทองดุนเป็นรูปพระวิษณุ เป็นต้น
 
มรดกทางวัฒนธรรมชุมชน/ ภูมิปัญญาที่โดดเด่นของชุมชน
     วัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญของชุมชนใกล้เคียงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมักจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณ และนอกจากนี้ยังมีประเพณีบั้งไฟซึ่งเป็นไปตามประเพณีของกลุ่มคนที่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ในอดีต ส่วนประเพณีที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณที่สำคัญได้แก่ ประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อศรีเทพซึ่งจะจัดเป็นประจำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งศาลเจ้าพ่อศรีเทพตั้งอยู่ในภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีลักษณะเป็นศาลเพียงตา อยู่ด้านหน้าประตูทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ซึ่งถือว่าเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวอำเภอศรีเทพเป็นอย่างมาก
 
ที่มาและความสำคัญของประเพณีต่างๆที่เกิดขึ้นในรอบ 12 เดือน
     จากคำบอกเล่าของนางปรุงศรี  ปิ่นเทศ ข้าราชการบำนาญผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นศรีเทพได้เล่าให้ฟังว่า ประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อศรีเทพจะต้องจัดเป็นประจำทุกปีขาดไม่ได้ เมื่อถึงวันขึ้น 2 ค่ำเดือน 3 จะมีการจัดงานบวงสรวงเจ้าพ่อศรีเทพขึ้นทั้งที่ศาลเจ้าพ่อศรีเทพภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และศาลเจ้าพ่อศรีเทพอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางหน้าโรงเรียนเมืองศรีเทพ ซึ่งเป็นศาลประจำชุมชนบ้านนาตะกุด ซึ่งผู้คนที่เคยไปบนบานศาลกล่าวขอพรจากเจ้าพ่อศรีเทพก็จะนำพวงมาลัย เหล้า บุหรี่ มาถวาย แต่หากประสบความสำเร็จจนมีฐานะร่ำรวยก็จะถวายหัวหมูตามความเชื่อของชาวบ้านท้องถิ่น สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกนั่นคือ ขนมพื้นบ้าน ประเภทข้าวโปง นางเล็ด ด้ายขวัญ ข้าวสุก ซึ่งของเหล่านี้จะนำใส่ตะกร้าไปวางไว้เป็นตะกร้าของแต่ละคน แต่มีความแตกต่างจากประเพณีบวงสรวงทั่วไปคือ ไม่มีการใช้ไข่ต้มเป็นเครื่องประกอบของไหว้
 
     เจ้าพ่อศรีเทพถือว่าเป็นที่เคารพนับถือ เพราะถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน ประวัติความเป็นมาเป็นอย่างไร เจ้าพ่อศรีเทพคือใครไม่มีปรากฏหลักฐานแน่ชัด เป็นความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ที่เชื่อว่าหากคนในหมู่บ้านต้องการอะไรก็จะต้องไปบนบานศาลกล่าวต่อเจ้าพ่อศรีเทพ จะกระทำการสิ่งใดก็จะอธิษฐานในใจ นึกถึงระลึกถึงตลอดเวลา เพื่อความสบายใจในด้านการปกปักษ์รักษา เมื่อถึงวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 ก็จะเข้าไปสมทบกับงานบวงสรวงที่ศาลเจ้าพ่อศรีเทพภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพซึ่งจัดโดยหน่วยงานราชการ ซึ่งในสมัยก่อนยังไม่มีหน่วยงานราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในปัจจุบันถือว่าเป็นงานสำคัญที่สุดงานเดียวในอำเภอศรีเทพโดยเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลศรีเทพในการจัดหาเครื่องบวงสรวงและประชาสัมพันธ์ร่วมกับจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีขั้นตอนและพิธีการให้เหมาะสมและศักดิ์สิทธิ์โดยการเชิญผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหมอขวัญอ่านองค์การเชิญเจ้าพ่อศรีเทพ และมีร่างทรงมาร่วมพิธีโดยร่างทรงเหล่านี้จะสืบทอดการเป็นร่างทรงต่อๆ กันมาจากบรรพบุรุษ
 
     นอกจากนี้ยังมีการละเล่นในงานด้วย หากเป็นสมัยก่อนจะมีการรำโทน ซึ่งการละเล่นเหล่านี้ตามความเชื่อเป็นการถวายให้เจ้าพ่อศรีเทพดู เพราะร่างทรงจะเข้ามารำด้วย แสดงถึงความพึงพอใจและความชอบความสนุกสนานของเจ้าพ่อศรีเทพ เมื่อรำเสร็จจะมีการรำช้าง รำม้า และมีการแย่งตุ๊กตารูปช้างรูปม้าที่มีคนนำมาถวายเมื่อประสบผลสำเร็จจากการบนบาน นอกจากนี้ยังมีการร้องเรือ โดยมีเรือจำลองลำเล็กๆขนาดเท่าท่อนแขน ประจำศาลอยู่ จะมีการเหมือน ไม่ใช่แห่เรือ แต่เป็นการร้องเพลงเรือเฉยๆ และก็มีการเรียกขวัญ คนทรงก็จะเรียกขวัญแล้วก็จะผูกแขน อะไรกันก็เสร็จพิธี ประมาณ 2 ชั่วโมงก็เสร็จงานเลี้ยง
 
     นอกจากประเพณีการบวงสรวงศาลเจ้าพ่อศรีเทพแล้ว ในเดือน 6  จะมีการเลี้ยงผีที่เรียกว่า ผีอีตาเจ้าบ้าน ซึ่งจะมีศาลอยู่ต่างหากอีกในหมู่บ้าน รูปแบบพิธีกรรมการเลี้ยงคล้ายๆ กัน คือใช้ร่างทรงเหมือนกัน อาหารที่นำมาเป็นเครื่องเซ่นไหว้ต้องมีหัวหมู ไก่ต้ม ขนมสะบัดงา เลี้ยงอีตาเจ้าบ้าน โดยมีการเลี้ยงทั้งหมู่บ้าน ซึ่งเป็นลักษณะของการเลี้ยงเจ้าที่ของหมู่บ้าน
 
     จนกระทั่งถึงขึ้น 3 ค่ำ เดือน 9 จะมีงานพิธีที่น่าสนใจอีกหนึ่งงานคือ พิธีส่งเจ้าพ่อศรีเทพไปทัพ ซึ่งเป็นความเชื่อของหมู่บ้านจัดขึ้นมาโดยไม่มีหน่วยงานราชการมาเกี่ยวข้อง จัดโดยผู้ที่มีความเชื่อหรือเกี่ยวข้องกับร่างทรง โดยจัดอาหารที่จะไปส่งเจ้าพ่อศรีเทพไปทัพได้แก่ ข้าวสารอาหารแห้ง พริกเกลือ ใส่กระจาดไป เมื่อถึงกลางเดือน 10 ก็จะมีพิธีต้อนรับกลับจากทัพอีกครั้งหนึ่ง
 
     โดยพิธีการที่เกี่ยวข้องกับเจ้าพ่อศรีเทพเหล่านี้ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ก็จะวนเป็นกระบวนการตั้งแต่เดือน 3 เรื่อยมาจนกระทั่งเดือน 10 ตามความเชื่อของท้องถิ่นและตามคำแนะนำของร่างทรงซึ่งร่างทรงทั้งหมดจะเป็นผู้หญิง ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่าเพราะเหตุใดจึงต้องเป็นผู้หญิง เป็นลักษณะการสืบทอดพิธีกรรมต่อๆกันของแต่ละตระกูลของร่างทรง
 
     การละเล่นอื่นๆตามเทศกาลนอกเหนือจากการละเล่นในงานบวงสรวงเจ้าพ่อศรีเทพนั้น ยังมีการละเล่นท้องถิ่นที่เรียกว่า การไหว้ผีนางควาย รูปแบบของการละเล่นผีนางควายนี้กระทำโดยการนำหัวควายเก่าๆที่ตายด้วยโรคนำไปทิ้งลงหนองน้ำ รอจนเนื้อหนังควายเปื่อยเหลือแต่กระดูก จากนั้นมีการตั้งเสา 2 ต้นแต่ละต้นมีความสูง 10 เมตร และมีไม้อีกอันหนึ่งวางเชื่อมจากเสาหนึ่งไปอีกเสาหนึ่งเป็นคาน แล้วใช้โซ่ผูกหัวควายจำนวน 2 หัว การละเล่นนี้เป็นการละเล่นที่เล่นเฉพาะในเวลากลางคืนเพื่อให้เกิดความรู้สึกศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นมีคนเล่น คนร้อง เชิดเพลง ร้องเชิญวิญญาณให้เข้ามาอยู่ในร่างทรงที่จับหัวควาย เมื่อวิญญาณมาเข้าร่างที่จับหัวควายแล้ว หัวควายจะพาร่างทรงนั้นวิ่ง ผู้ล่นโทนจะตีโทนแล้วโห่ ตรงบริเวณหัวควายจะมีการเสียบกรวยหมาก ในกรวยหมากจะมีหมาก 2 คำ เทียน 2 เล่ม ในระหว่างการร้องเพลงเชิญวิญญาณ ชาวบ้านก็จะปรบมือ ส่งเสียงเชียร์ การละเล่นนางควายนี้ถือเป็นการละเล่นท้องถิ่นที่ในปัจจุบันยังมีการฝึกให้เด็กรุ่นใหม่รู้จักและสืบสานต่อไปอีกด้วยโดยผ่านการสอนและการสาธิตโดยคนแก่ในหมู่บ้านในวิชาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จัดการเรียนการสอนภายในโรงเรียน
 
ว่าด้วยพิพิธภัณฑ์
     นายพงษ์พันธ์  สำเภาเงิน  หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพกล่าวว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพนั้น หากจะเรียกว่า พิพิธภัณฑ์ คงไม่ถูกต้องนัก ควรจะเรียกว่าเป็นแหล่งโบราณสถานที่ดูแลหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้ขุดค้นพบ และอยู่ในระหว่างการศึกษา เพราะฉะนั้นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นคลังโบราณวัตถุมากกว่าเป้าหมายในการที่จะเปิดให้เข้าชมโบราณวัตถุให้ทุกชิ้น
 
     ซึ่งในส่วนที่มีการเก็บรักษานั้น มีบางชิ้นที่มีสภาพที่สมบูรณ์ บางชิ้นมีรูปร่างที่น่าสนใจ ทางอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพก็ได้นำมาจัดแสดงอยู่ในอาคารเล็กๆ บริเวณด้านหลังศูนย์ข้อมูล แต่ไม่ได้มีลักษณะการจัดระบบบริหารจัดการแบบพิพิธภัณฑ์ หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเหมือนที่อื่นๆ
 
     ในส่วนของการบริหารจัดการในปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ไม่มีบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมดูแล เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายให้เอกชนเข้ามาร่วมในการบริหารจัดการ
 
     ปัญหาอุปสรรคและความต้องการของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพนั้น นายพงษ์พันธ์ ให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจ คือ ถ้าเป็นด้านงบประมาณคงไม่สามารถเรียกว่าขาดแคลนงบประมาณได้ เนื่องจากไม่ได้มีสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์ตามที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น งบประมาณที่ได้เป็นลักษณะของการเบิกจ่าย และเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากหน่วยงานอื่นๆภายนอก และยังได้จากค่าบัตรเข้าชมที่เรียกเก็บจากประชาชนทั่วไป ในส่วนของบุคลากรในปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมีบุคลากรที่เป็นข้าราชการประจำทั้งสิ้น 4 คน นอกเหนือจากนี้เป็นลูกจ้างที่หมุนเวียนกันทำงานตามหน้าที่ต่างๆทั้งในส่วนของการบริการและการบำรุงรักษา โดยมีการใช้เครื่องจักรและเครื่องมือสื่อสารเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก เนื่องจากพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมีความกว้างขวางมาก
 
     นอกเหนือจากนี้ นายพงษ์พันธ์ มีความคิดเห็นว่า การอนุรักษ์โบราณสถานเป็นเรื่องที่รัฐต้องลงทุน เพื่อคุณภาพชีวิตและจิตใจของประชาชนในท้องถิ่น ในแง่ของการรับรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์เพื่อเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ไม่ใช่จิตใจหยาบกระด้าง ซึ่งการที่มีโบราณสถานอยู่ในท้องถิ่นถือว่าเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจ ความสวยงาม ความสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องของความมั่นคงในสังคม
 
ว่าด้วยงานสะสมและการจัดแสดง
     ในปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้มีอาคารศูนย์ข้อมูลที่บริการข้อมูลและการจำลองโบราณวัตถุต่างๆที่น่าสนใจ(ซึ่งปัจจุบันปิดปรับปรุงชั่วคราว) นอกจากนี้ยังมีอาคารเล็กๆที่จัดแสดงโบราณวัตถุของจริงบางชิ้นที่มีความสมบูรณ์และมีรูปร่างหรือลวดลายที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้มีการจัดรูปแบบการแสดงวัตถุตามรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ทั่วไป  ซึ่งได้มีการจัดทำทะเบียนวัตถุตามหลักโบราณคดี
 
     นอกเหนือจากวัตถุโบราณแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นโบราณสถาน เทวสถาน ซึ่งการเข้าชมควรจะใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือใช้บริการรถนำชมของทางอุทยานฯ
 
     ตัวอย่างโบราณวัตถุที่สำคัญและน่าสนใจ คือ ทับหลังอุมามเหศวรที่ติดอยู่กับปรางค์สองพี่น้อง
 
ใจสคราญ จารึกสมาน / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555
 
เอกสารอ้างอิง
-   แผ่นพับแนะนำอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
-   สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร. หนังสือนำชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2544.
ชื่อผู้แต่ง:
-