พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ร.ร.เพชรบูรณ์วิทยา


ที่อยู่:
โรงเรียนเพชรบูรณ์วิทยา ต.น้ำร้อน อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ 67000
โทรศัพท์:
0-5675-1148
โทรสาร:
0-5675-1149
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2538
ของเด่น:
เครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับการเกษตรและในชีวิตประจำวัน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ร.ร.เพชรบูรณ์วิทยา

       พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ภายในห้องเรียนของอาคารเรียนที่ 3 ชั้นที่ 3 ของโรงเรียนเพชรบูรณ์วิทยา ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 169 หมู่ที่ 5 ถนนวิเชียรบุรีสายใหม่ ในตำบลน้ำร้อน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ การเดินทางไปโรงเรียนเพชรบูรณ์วิทยาสามารถเดินทางโดยรถยนต์ ระยะทางห่างจากตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ประมาณ 10 กิโลเมตรการเดินทางสามารถเริ่มต้นจากตัวอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ มุ่งหน้าไปยังถนนวิเชียรบุรีสายใหม่ (สี่แยกบ้านปากน้ำ) แล้วเลี้ยวขวาตรงๆไปเรื่อยๆจะพบโรงเรียนเพชรบูรณ์วิทยา ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือ
 
 
ลักษณะชุมชน
       
       ตำบลน้ำร้อน มีลักษณะทางกายภาพโดยทั่วไปคือ เป็นชุมชนชนบท มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำ มีลำคลองที่เป็นสาขามาจากแม่น้ำป่าสัก และมีภูเขาล้อมรอบ จึงเป็นร่องน้ำทำให้น้ำไหลลงมาจากช่องเขามาสมทบกับน้ำในลำคลอง สภาพบ้านเรือนมีเปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยทั่วไปประชากรมีฐานะปานกลาง
 
        ประวัติความเป็นมาของชุมชนตำบลน้ำร้อนนั้น ไม่ทราบที่มาเด่นชัด  แต่สันนิษฐานว่า ชื่อตำบลน้ำร้อน อาจจะมีที่มาจากเรื่องเล่าในท้องถิ่นที่เล่าสืบต่อกันมาว่าชื่อตำบลว่าน้ำร้อนนั้น เนื่องจากมีบ่อน้ำร้อนอยู่ในพื้นที่ตำบล ซึ่งผู้ที่ค้นพบบ่อน้ำร้อนคนแรก คือชาวบ้านที่ต้อนวัวต้อนควายไปกินหญ้า แล้วควายเหนื่อยจึงเดินไปที่บ่อน้ำ เมื่อดื่มน้ำปรากฏว่าควายร้องขึ้น เมื่อเจ้าของควายได้ยินเสียงร้องจึงเดินไปดูเลยพบว่าบ่อน้ำนั้นมีควันลอยขึ้นจากบ่อ จึงทดลองเอาใบไม้แหย่ในน้ำ ผลปรากฏว่าใบไม้สุกจึงต้อนควายกลับบ้าน แล้วนำเรื่องดังกล่าวไปบอกกับผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นให้มาดูบ่อน้ำที่ควายของตนเองไปพบ เมื่อไปถึงบ่อน้ำจึงพบว่าเป็นบ่อน้ำร้อน จึงตั้งชื่อให้ว่า บ้านน้ำร้อน ซึ่งก็คือหมู่ที่ 5 ในปัจจุบัน จึงกลายเป็นชื่อของตำบลน้ำร้อนด้วย ซึ่งในปัจจุบันบ่อน้ำร้อนยังคงมีอยู่ 2 บ่อ บ่อหนึ่งเป็นบ่อของเอกชนแต่ไม่ได้ดำเนินการให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เนื่องจากบ่อน้ำร้อนอยู่ในพื้นที่ของเอกชน และเปิดบริการสปาน้ำร้อน ส่วนอีกบ่อหนึ่งชาวบ้านสร้างบ่อกักน้ำร้อนไว้ที่หน้าศาลปู่เนตรหรือศาลเจ้าพ่อขุนเนตรบริเวณทางขึ้นวัดจอมศรี
       
        ลักษณะประชากรของตำบลน้ำร้อน เป็นประชากรที่อพยพย้ายถิ่นจากอำเภอต่างๆเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในตำบลน้ำร้อน ประชากรบางส่วนอพยพมาจากในตัวอำเภอเมืองเพชรบูรณ์  และบางส่วนก็จะเรียกว่า ไทหล่ม ซึ่งอพยพมาจากอำเภอหล่มสักและอำเภอหล่มเก่า ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ในส่วนจากอำเภออื่นๆก็มีการอพยพมาเรื่อยๆจนปัจจุบันทำให้ตำบลน้ำร้อนกลายเป็นชุมชนชนบทที่ถือได้ว่าเป็นชุมชนที่ใหญ่อีกชุมชนหนึ่งและมีความหลากหลายทางประชากรของอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ในด้านการประกอบอาชีพของประชากรในตำบลน้ำร้อนกว่าร้อยละ 90 จะเป็นด้านการเกษตร ทำไร่ทำนาเป็นหลัก มีการเลี้ยงวัวบ้าง และสัตว์ประเภทอื่นๆบ้างเล็กน้อย ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก วัยกลางคน และวัยชรา ส่วนของวัยแรงงานเหมือนชุมชนชนบทอื่นๆทั่วไปที่เดินทางไปขายแรงงานในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ส่วนวัยเด็กซึ่งเป็นวัยเรียนพ่อแม่ของเด็กจะฝากไว้กับรุ่นปู่ย่าตายายเลี้ยง
 
 
มรดกทางวัฒนธรรมชุมชน/ภูมิปัญญา ที่โดดเด่นของชุมชน
       
        ตำบลน้ำร้อนมีประเพณีที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชุมชน คือ การละเล่นนางด้ง ซึ่งจะมีประเพณีการละเล่นนางด้งเป็นประจำทุกปี ในช่วงประเพณีสงกรานต์ ประมาณวันที่ 14 เมษายนของทุกปี ที่วัดโนนน้ำร้อน หมู่ที่ 2ของตำบลน้ำร้อน ซึ่งจะมีการเผาข้าวหลามกินกัน จากนั้นจึงเป็นการละเล่นนางด้ง การละเล่นนางด้งนี้จะมีคนสองฝ่ายเป็นผู้หญิงนั่งอยู่ระหว่างกระด้ง แล้วผู้หญิงทั้งสองคนนี้จะจับกระด้งคนละข้าง จากนั้นจึงมีพิธีอัญเชิญผีนางด้งให้มาสิงสถิตอยู่ในกระด้ง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องของบุญคุณที่มีต่อกระด้งที่ใช้ในการฝัดข้าว ชาวบ้านจึงถือว่า กระด้งมีบุญคุณ การละเล่นนางด้งนี้จึงถือว่าเป็นวิธีแสดงออกถึงความกตัญญูหรือตอบแทนคุณเหมือนการทำขวัญข้าว เมื่อเทพหรือผีกระด้งมาสิงที่กระด้งแล้ว มือของตัวแทนทั้งสองฝ่ายที่จับกระด้งก็จะสั่นกระด้ง มีการประโคมกลองกับฉิ่งฉาบในขณะที่เล่นผีนางด้ง หากเทพมาลงมากๆกระด้งนั้นจะสั่นจนหลุดจากมือ ขั้นตอนสุดท้ายคนที่จับกระด้งนั้นก็จะร่ายรำถวายแล้วก็จะพูดคุยกับชาวบ้านเป็นภาษาของนางด้ง
 
        เนื้อความว่า ดีใจที่ชาวบ้านได้กตัญญูทำพิธีอัญเชิญและขอขอบคุณในครั้งนี้ ซึ่งผู้ที่เป็นตัวแทนจับกระด้งตามความเชื่อของคนโบราณ ก็คือคนที่ถือศีล เป็นผู้อาวุโสในเรื่องอายุ บางครั้งจะเลือกจากคนที่เป็นร่างทรงร่วมเข้าไปด้วยเพราะเชื่อว่าถ้าเลือกคนที่เป็นร่างทรงจะสามารถติดต่อสื่อสารกับเทพหรือผีนางด้งได้ง่ายกว่า โดยส่วนมากผู้ที่ถูกเลือกให้จับกระด้งจะเป็นผู้ที่สืบทอดการละเล่นนี้จากตระกูลของตนเรียกว่าเป็นผู้ที่ถูกเทพเลือก แต่ในขณะเดียวกันบางคนที่ไม่ได้คิดว่าจะมาจับกระด้งก็สามารถเป็นคนที่เทพเลือกได้เช่นเดียวกัน ในความเชื่อเรื่องนางด้งจะเลือกคนที่มีลักษณะสื่อได้ง่ายในเรื่องของจิตใจที่จะสื่อกับชาวบ้านได้ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของขวัญกำลังใจของชาวบ้านในชุมชนด้วย
 
        ในปัจจุบันยังมีการละเล่นนางด้งอยู่ ส่วนเยาวชนในตำบลจะไม่ได้เข้ามาสืบทอดโดยตรง แต่จะมาร่วมประเพณีในการเผาข้าวหลาม กินข้าวหลามมากกว่า ในมุมมองของเยาวชนรุ่นใหม่มองว่า การละเล่นนางด้ง เป็นการสืบทอดประเพณีอย่างหนึ่ง ดังนั้นคนที่สืบทอดการละเล่นนางด้งจึงเป็นผู้อาวุโสในชุมชนมากกว่า
       
         ประเพณีที่น่าสนใจอีกประเพณีหนึ่งของตำบลน้ำร้อนในอดีต คือ ประเพณีแต่งงาน  ซึ่งในสมัยโบราณประเพณีการแต่งงานของชาวบ้านตำบลน้ำร้อน ก็จะให้พ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย ที่ในปัจจุบันเรียกว่า เถ้าแก่ ไปทาบทาม ซึ่งคำที่ใช้เรียกการทาบทามในสมัยก่อนนั้นคือคำว่า “เดาะ”เช่น “ไปเดาะว่าชอบลูกชายหรือลูกสาวบ้านนี้ไหม”ถ้าหนุ่มสาวบอกว่าชอบ เถ้าแก่ที่ไปเดาะนั้นก็จะกลับไปเล่าให้ทางฝ่ายผู้ชายหรือฝ่ายผู้หญิงฟังว่า อีกฝ่ายยินดี เมื่อทราบว่าอีกฝ่ายยินดีก็จะส่งเถ้าแก่ไปสู่ขออย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง เมื่อถึงวันที่ต้องมีการตั้งขบวนแห่ขันหมากซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่ ฝ่ายหญิงจะต้องเป็นฝ่ายที่ตั้งขบวนแห่ขันหมากไปที่บ้านฝ่ายชายก่อนเพื่อไปทำพิธีสู่ขวัญฝ่ายชาย ซึ่งเจ้าบ่าวจะไม่ยอมออกมาก่อน จะเก็บตัวอยู่ภายในบ้าน ผู้ใหญ่ของทางฝ่ายชายก็จะทำพิธีผูกแขนรับฝ่ายหญิงเป็นลูกสะใภ้ เมื่อทำพิธีเสร็จหมดทุกขั้นตอนแล้วก็จะกลับ เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วฝ่ายชายก็จะแห่ขันหมากไปที่บ้านฝ่ายหญิง ซึ่งในสมัยก่อนมีความเชื่อว่า จะไม่ใช้เส้นทางในการแห่ทางเดียวกัน เพราะความเชื่อท้องถิ่นว่า ถ้าใช้เส้นทางเดียวกัน เส้นทางทับซ้อนกันจะทำให้ชีวิตคู่ล่ม เลิกร้างกัน ฝ่ายชายจะไปทำพิธีขอขมาก่อน เสร็จพิธีแล้วกลับไปจัดขบวนขันหมากมาใหม่แล้วทำพีเช่นเดียวกับที่ฝ่ายหญิงยกขันหมากมากทำพิธีสู่ขอก่อนหน้านี้  ซึ่งในสมัยก่อนเครื่องใช้ในพิธีแต่งงาน ผู้หญิงต้องทำเองทั้งหมด เช่น เย็บที่นอน เย็บผ้าห่ม ยัดที่นอน ยัดนุ่นหมอน ผ้าขาวม้าที่ใช้ในพิธีขอบคุณฝ่ายชายก็ทอเอง เป็นเหมือนการทดสอบผู้หญิงว่าเป็นแม่บ้านแม่เรือนจริงๆ
       
        ในปัจจุบันนี้รูปแบบประเพณีแต่งงานแบบนี้ไม่หลงเหลือแล้ว กลายเป็นประเพณีการแต่งงานตามสมัยนิยม คือ ให้ฝ่ายชายเป็นฝ่ายจัดขบวนขันหมากไปทำพิธีสู่ขอแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งประเพณีการแต่งงานแบบดั้งเดิมของชาวตำบลน้ำร้อนที่สูญหายไปเมื่อใดนั้น ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ด้วยยุตสมัยที่เปลี่ยนไป ค่านิยมที่เปลี่ยนไป รูปแบบประเพณีดั้งเดิมที่ยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้น จึงทำให้รูปแบบการแต่งงานแบบดั้งเดิมสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย
       
        ภูมิปัญญาอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของชาวตำบลน้ำร้อน คือ การปรุงอาหารจากเห็ดโคนซึ่งสามารถช่วยในการรักษาโรคหวัด ในสมัยก่อนเมื่อใครก็ตามในตำบลน้ำร้อนเป็นไข้หวัด ชาวบ้านน้ำร้อนก็จะใช้เห็ดโคนต้มน้ำปลา แล้วรับประทาน เชื่อว่าแก้โรคหวัดได้ จะสังเกตได้ว่า ผู้สูงอายุในตำบลน้ำร้อนมักจะมีสุขภาพแข็งแรง การเก็บเห็ดโคนนั้น ตามธรรมชาติแล้วเห็ดโคนจะขึ้นอยุ่ในขุยไผ่ การเก็บเห็ดโคนที่ดีนั้นจะต้องไม่ให้กระปุกเห็ดแตก  ส่วนการเตรียมเห็ดโคนเพื่อประกอบอาหารจะไม่ทำความสะอาดด้วยการล้างน้ำ แต่ชาวบ้านจะใช้วิธีการขูดเห็ดให้สะอาด นำมานึ่งในหวดกับผักพื้นบ้านทั่วๆไป แล้วเอามาจิ้มน้ำจิ้ม น้ำจิ้มก็ทำอย่างง่ายๆใช้มะเขือเครือเติมรสด้วยน้ำปลาร้าเป็นตัวชูรสแทนน้ำปลา ซึ่งเป็นเมนูที่ชาวบ้านตำบลน้ำร้อนนิยมกิน ด้วยความเชื่อในเรื่องของการรักษาโรคหวัด ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานหวัดได้ดี บ้างก็เอามาทำลาบ เอามาทำยำเห็ด ฯลฯ เป็นต้น
       
        ในด้านงานช่าง งานฝีมือภายในตำบลน้ำร้อนนั้น จะเป็นงานฝีมือประเภทจักสาน ซึ่งเป็นฝีมือของผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ซึ่งก็คือการจักสานไม้ไผ่ทำเป็นกระติบข้าวเหนียว สานกระด้ง ตากของ ตากกับข้าว หรือเอาไว้ส่ายข้าวเหนียว วิธีการคือเมื่อนึ่งข้าวเหนียวสุกก็จะใช้กระด้งส่ายข้าว งานจักสานส่วนใหญ่จะทำไว้ใช้ในครัวเรือน ถ้าเหลือจริงๆ จึงจะเอามาขาย ซึ่งในปัจจุบันพบว่าผู้ที่ทำการจักสานไม้ไผ่เริ่มน้อยลง นานๆทีถ้าโรงเรียนสั่งการบ้านให้ทำ ลูกหลานก็จะไปสั่งให้ทำ โดยส่วนมากก็จะไปขอให้ปู่ย่าตายายทำให้ ซึ่งปัจจุบันนำวัสดุประเภทพลาสติกมาใช้สานแทนไม้ไผ่ ถ้าเป็นเครื่องจักสานที่ใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุในการสานจะเป็นอุปกรณ์จังสัตว์น้ำ เช่น ไซ แหจับปลา สวิง ฯลฯ ที่ยังพอเห็นชาวบ้านทำอยู่ แต่ก็ทำเองในบ้าน ไม่ได้ตั้งกลุ่มหัตถกรรมตำบล
 
        ด้านภาษาถิ่น ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาหล่ม ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่บรรพบุรุษอพยพมาจากอำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า บางส่วนก็อพยพมาจากในตัวอำเภอเมือง ก็จะพูดภาษาสำเนียงสะเดียงบ้าง ไทยกลางบ้าง บ้านโตกบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายอีกชุมชนหนึ่ง
 
        วรรณกรรมท้องถิ่นตำบลน้ำร้อน ที่เล่าสืบต่อกันมาก็คือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับความเป็นมาของชื่อตำบลที่ได้กล่าวไปแล้ว
 
 
ว่าด้วยพิพิธภัณฑ์
       
        พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านของโรงเรียนเพชรบูรณ์วิทยา จังหวัดเพชรบูรณ์ ปัจจุบันได้จัดแสดงอยู่ภายในห้องเรียนในตัวอาคาร 3 ของโรงเรียนเพชรบูรณ์วิทยา ซึ่งยังถือว่าเป็นห้องจัดแสดงชั่วคราว ซึ่งก่อนหน้านี้มีการย้ายไปจัดแสดงตามห้องเรียนที่ว่าง แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ห้องเรียนก็จำเป็นต้องย้ายส่วนจัดแสดง จึงถือว่ายังไม่มีห้องจัดแสดงที่แน่นอน ส่วนเครื่องหมายการนำทางพบว่าไม่มีป้ายบอกว่าเป็นห้องจัดแสดง หรือป้ายพิพิธภัณฑ์
       
        ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่ทราบแน่ชัดว่าก่อตั้งปีไหน เนื่องจากมีการย้ายห้องจัดแสดงไปมาไม่แน่นอน เป็นลักษณะของการขอรับบริจาคสิ่งของที่ใช้ภายในครัวเรือนหรือในชีวิตประจำวันจากผู้ปกครองของนักเรียน เช่น เตารีดเหล็กสมัยโบราณ ที่หีบฝ้าย เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้วนำมาจัดแสดงและใช้เป็นห้องสำหรับประกอบการเรียนการสอนวิชาภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งในสมัยเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ยังไม่มีใครเห็นคุณค่าสิ่งของเหล่านี้จึงนำมาบริจาคให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีใครบริจาคเนื่องจากเริ่มเห็นคุณค่าของเก่า นักเรียนหลายๆคนไม่รู้จักอุปกรณ์ต่างๆที่รุ่นปู่ย่าตายายเคยใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น  ไม้ตีข้าว ตะเกียงสมัยโบราณ ที่ร่อนขนมจีน เป็นต้น
 
        การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ในปัจจุบันมีผู้ดูแลหลักซึ่งเป็นอาจารย์ที่สอนอยู่ในโรงเรียนเพชรบูรณ์วิทยาจำนวน 2 ท่าน คือ อาจารย์วนาพร  ศรีจันทร์ และอาจารย์ประจวบ  ดาสนม การดูแลพิพิธภัณฑ์และสิ่งของจัดแสดง อาจารย์ทั้งสองได้ช่วยกันดูแลเบื้องต้น การจัดสิ่งของให้เป็นหมวดหมู่ แต่เนื่องจากภาระงานสอนที่มาก ทำให้การดูแลสิ่งของจัดแสดงทำได้ไม่เต็มที่และถูกต้องตามหลักการ ในปัจจุบันทำได้เพียงจัดสิ่งของให้เข้าที่ ยังไม่ได้จัดวางระบบที่ชัดเจน
       
        ปัญหาและอุปสรรคของพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันคือ อุปกรณ์ที่ใช้จัดวางสิ่งของยังไม่เพียงพอ การจัดระบบยังไม่ชัดเจน เนื่องจากเนื้อที่ในการจัดแสดงที่มีอย่างจำกัดและไม่แน่นอน การจัดทำรายการสิ่งของยังไม่เป็นระบบเพียงพอ ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของงบประมาณที่จะมาปรับปรุง เนื่องจากปัจจุบันสภาพของวัตถุสิ่งของที่จัดแสดงมีสภาพเก่าค่อนข้างมากแล้ว แม้กระทั่งตู้ ชั้นวางก็มีสภาพที่เก่า นำมาจากห้องเรียนต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้แล้ว ตู้แต่ละตู้มีสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม อายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 20 ปีขึ้นไป อุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เรื่องของเวลาในการที่จะมาจัดการให้พิพิธภัณฑ์สวยงาม ซึ่งบุคลากรที่เกี่ยวข้องต่างก็มีภาระงานที่มาก ทำให้การที่จะเข้ามาดูแลทำได้อย่างไม่เต็มที่ งบประมาณในการที่จะนำมาปรับปรุงซ่อมแซมให้ห้องจัดแสดงมีความสวยงาม ก็ต้องรองบประมาณจากราชการ ในส่วนของการสนับสนุนจากภายนอกโรงเรียนนั้น ไม่เคยได้รับการสนับสนุนใดใด เนื่องจากทางโรงเรียนไม่เคยเขียนโครงการไปของบประมาณสนับสนุนมาก่อน
 
        ความต้องการของพิพิธภัณฑ์อย่างเร่งด่วนคือด้านงบประมาณเพื่อนำมาปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีในส่วนของความรู้ในเรื่องของการจัดการวัตถุที่ใช้จัดแสดงให้ถูกต้อง และเป็นระบบ เพื่อยืดอายุให้ยาวนานต่อไปในอนาคตและต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อให้เป็นแหล่งค้นคว้าทางภูมิปัญญาแก่นักเรียน และบุคคลทั่วไป
       
        ความสัมพันธ์ระหว่างพิพิธภัณฑ์กับชุมชนเป็นไปในลักษณะของการมีส่วนร่วมในการบริจาคเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบันกลายเป็นของหายาก จึงแทบจะไม่มีการบริจาค ในส่วนของการให้บริการเข้าชมนั้น ประชาชนทั่วไปไม่เคยเข้ามาเยี่ยมชม เนื่องจากจัดแสดงอยู่ภายในโรงเรียน ดังนั้นผู้เข้าชมจึงเป็นนักเรียน และบุคลากรภายในโรงเรียนเพชรบูรณ์วิทยา ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนอย่างมาก เนื่องจากสิ่งของหลายๆชิ้นก็เลิกใช้ไปแล้วในชีวิตประจำวัน และยังใช้พิพิธภัณฑ์สำหรับการเรียนการสอนด้วย ใช้เป็นตัวอย่างประกอบการสอน ซึ่งน่าเป็นห่วงสถานการณ์ด้านภูมิปัญญาไทยในอนาคต เด็กรุ่นใหม่จะไม่รู้จักอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่รุ่นปู่ย่าตายายเคยใช้ตั้งแต่อดีต พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวันในเวลาราชการ โดยไม่เก็บค่าเข้าชม
 
 
ว่าด้วยการงานสะสมและการจัดแสดง
       
        วัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน จะเป็นของใช้ในครัวเรือนและชีวิตประจำวันที่เกี่ยวกับการเกษตร ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา เช่น เตารีดโบราณ ตะเกียงโบราณประเภทต่างๆ  เครื่องมือประกอบอาชีพทางการเกษตร เช่น แห สวิง ไซดักปลา ที่หีบฝ้าย สุ่มครอบปลา พัดโบกข้าว เคียวเกี่ยวข้าว นอกจากนี้ยังมีวัตถุที่เกี่ยวกับความบันเทิง ได้แก่ กลอง พิณ ขลุ่ย เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสภาพที่เก่าและทรุดโทรม
       
        การจัดทำทะเบียนวัตถุยังคงเป็นข้อมูลดั้งเดิม ยังไม่ได้มีการทำทะเบียนเพิ่ม การเก็บรักษายังไม่ได้ทำอะไรมาก เนื่องจากผู้ดูแลยังไม่รู้ว่าอันไหนที่ขัดแล้วหรือถูกความชิ้นแล้วจะทำให้สึกหรอเร็วกว่าเดิมหรือไม่ ดังนั้นการดูแลรักษายังคงตามสภาพเดิมก่อน และคอยตักเตือนไม่ให้นักเรียนเข้ามาสัมผัสเพื่อรักษาสภาพไว้ในเบื้องต้น การจัดแสดงเพียงแต่จัดหมวดหมู่อย่างง่ายๆ มีป้ายบอกหมวดหมู่ ประเภทแบบง่ายๆ คำบรรยายต่างๆ ได้เคยมีการจัดทำเป็นรูปเล่มไว้แต่ยังไม่ได้มีการบันทึกข้อมูลเพิ่มเติม
       
        การจัดกิจกรรมเพื่อการเข้ามาใช้สถานที่ของคนกลุ่มอื่นๆในชุมชน ยังไม่มีการมาขอใช้สถานที่จากบุคคลภายนอก มีเพียงการใช้เพื่อประกอบการเรียนการสอนภายในโรงเรียนเท่านั้น กลุ่มคนที่มาเข้าชมจึงเป็นนักเรียนและอาจารย์ที่พานักเรียนเข้าไปเยี่ยมชมประกอบการเรียน
 
 
ว่าด้วยเครือข่าย
        ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ฯ ไม่ได้มีเครือข่ายกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ     
 
ใจสคราญ จารึกสมาน / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 20 กรกฎาคม 2555
 
ชื่อผู้แต่ง:
-