พิพิธภัณฑ์วัดโฆษา


ที่อยู่:
วัดโฆษา 199 หมู่ 2 บ้านท่าช้าง ต.ห้วยไร่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
โทรศัพท์:
081-7858916
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
prakruthavor@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2550
ของเด่น:
โบสถ์สมัยอยุธยา (มหาอุตม์) ใบลานแพทย์ ผ้าขิตโบราณ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 21 มีนาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนวัดโฆษา

ลักษณะชุมชน

       ในบริบทของชุมชนของบ้านท่าช้าง ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์โดยทั่วไปจะประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม คืออาชีพทำนาและการทำไร่ โดยคิดเป็นจำนวน 95% ของผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จะมีการช่วยเหลือกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ชาวบ้านได้ปฏิบัติกันมา ลักษณะทางกายภาพทางด้านภูมิศาสตร์ เป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์มีต้นไม้ค่อนข้างหนาแน่น มีภูเขา แม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำห้วยขอนแก่นที่เป็นหัวใจสำคัญของการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

        สภาพบ้านเรือนโดยรวมมีลักษณะเป็นบ้านไม้ บ้านเรือนมั่นคงแข็งแรง และมีการสร้างบ้านใหม่เพิ่มขึ้นบ้าง นอกจากนั้นคนในชุมชนจะยึดถือประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้แก่ ประเพณี ฮีต 12 คลอง 14 ที่ในแต่ละเดือนจะมีกิจกรรมประเพณีกันทุกเดือน ในส่วนของโบราณสถานหรือโบราณคดี ที่วัดแห่งนี้มีที่เดียวคืออุโบสถ ซึ่งมีพระพุทธรูปในโบสถ์เป็นศิลปวัฒนธรรมที่แปลก รูปลักษณ์ของพระพุทธรูปได้รับอิทธิพลมาจากทางลาว ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กัน
 
        พื้นเพชุมชนแห่งนี้จากการที่ได้สอบถามมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่ากันมาหลายช่วงอายุคน ชาวบ้านแห่งนี้นับถือศาสนาพุทธ มีการอพยพมาจากจังหวัดเลยและประเทศลาว ฉะนั้นประเพณีต่างๆ จึงคล้ายกับประเพณีทางภาคอีสาน หรือเป็นชนเผ่าที่สืบทอดกันมา แต่ก็จะต่างกันที่ทำนองการพูดที่จะต่างจากทางภาคอีสาน เช่น สำเนียงการพูดของคนหล่มสัก หรือคนจังหวัดเลยจะมีลักษณะการพูดคล้ายๆ กัน เป็นเอกลักษณ์ทางด้านภาษา ส่วนการแสดงจะมีการแสดงที่สืบทอดกันมาและมีลักษณะคล้ายกับทางภาคอีสานเช่นกัน เพราะฉะนั้นฮีต 12 ก็สิ่งที่ปฏิบัติใน 12 เดือน โดยเฉพาะฮีตที่ปฏิบัติจะถือดีทางด้านประเพณีของชุมชนและก็จะโยงเข้ากับการทำบุญในแต่ละเทศกาลหรือในแต่ละเดือน

 
มรดกวัฒนธรรมชุมชน/ภูมิปัญญา ที่โดดเด่นของชุมชน

        จากที่กล่าวไปข้างต้นตามลักษณะของชุมชน ประเพณีหรือภูมิปัญญาของคนแถวนี้มีลักษณะเป็นประเพณีฮีต 12 คลอง 14 ซึ่งมีลักษณะประเพณีที่ว่าเดือนหนึ่ง เดือนสอง เดือนสามมีกิจกรรมอะไรบ้าง อย่างเช่น เดือนหนึ่งบุญลานข้าว เป็นการนำข้าวมารวมกัน เมื่อชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จจากฤดูทำนาแล้วจะนำข้าวที่ได้จากการทำนา มารวมกันทำบุญเพื่อที่จะทำให้ข้าวที่ได้มาเป็นมงคล และเป็นการสร้างนิมิตหมายไว้ว่า ปีนี้ชาวบ้านได้ข้าวมาขนาดนี้ อานิสงส์จากบุญกุศลจะส่งเสริมให้ชาวบ้านทุกคนได้ข้าวมากกว่าเดิมในปีต่อไป หรือการทำบายศรี การทำพิธีสู่ขวัญซึ่งปีที่ผ่านมา ได้เริ่มทำช่วงประมาณเดือนมีนาคม ซึ่งจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์มาเป็นประธานพิธี แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านหรือชุมชนยังยึดถือประเพณีที่ยังเหนียวแน่นอยู่ นอกจากนั้นยังมีประเพณีเดือนสามบุญข้าวจี่ คือการนำข้าวเหนียวมาปั้นแล้วก็เอามาใส่บาตร ปั่นแล้วเอามาย่างไฟ โดยรสชาติการปรุงข้าวจี่แล้วแต่ใครจะปรุงรส บางคนก็ใช้ไข่ตีให้แตก ใส่เครื่องปรุงเข้าไปอาจจะเป็นน้ำตาล น้ำปลาหรืออาจจะใส่เครื่องเทศแล้วแต่ใครจะชอบ จากนั้นจึงผสมไข่กับข้าวเหนียวที่ปั่นแล้วนำไปย่างไฟ หรือภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่าขางไฟ ทั้งนี้ยังมีประเพณีทำบุญฟังเทศมหาชาติก็คือจะเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาทางพระพุทธศาสนาที่คล้ายๆกัน คือ การระลึกถึงอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านบำเพ็ญชาติมาเป็นพระเวสสันดร และหลังจากนั้นประเพณีบุญสงกรานต์ บุญบั้งไฟ เข้าพรรษา ออกพรรษา บุญสลากภัต บุญข้าวประดับดิน สำหรับประเพณีทำบุญข้าวประดับดิน จะทำในเดือนดับ แรม 14 ค่ำ 15 ค่ำ เดือน 9 วันดับ ซึ่งประเพณีบุญข้าวประดับดินจะเป็นประเพณีที่มีลักษณะค่อนข้างแปลก คือนำข้าวมาประดับดิน พวกชาวบ้านจะนำพวกอาหารที่ได้ โดยมาใส่ใบตองห่อข้าว ห่อผลไม้ ห่อแล้วจึงนำมาถวายพระโดยจะถวายแต่เช้า ตั้งแต่เวลาประมาณตี 3-4 ถวายพระฉันแล้ว ชาวบ้านจะนำข้าวอาหารที่เหลือจากที่พระคุณเจ้าฉันแล้วไปฝังดิน แล้วจุดธูปบอกให้พวกเปรต พวกวิญญาณที่ไม่มีญาติ จะได้มาแสวงหาส่วนบุญได้ไปทาน คือข้าวที่ได้วางไว้ประดับดิน เอาฝังดินไว้ก็ หรือวางไว้บนดินเพื่อให้เปรตเอาไปกินกัน ซึ่งอาหารพระคุณเจ้าได้พิจารณาแล้ว เปรตจะได้เศษบุญเศษกุศลจะได้มีสุขติภพที่ดีขึ้น และ ประเพณีออกพรรษาจะทำกันในช่วงเดือน 11
 
        นอกจากนั้นประเพณีที่น่าสนใจคือประเพณีตักบาตรเทโว ซึ่งประเพณีตักบาตรเทโวที่นี่ถือว่าเป็นประเพณีที่มีวัตถุประสงค์ที่เหมือนกันกับที่อื่น แต่มีวิธีการที่ไม่เหมือนกับที่อื่น คิดว่าน่าจะแปลกกว่าที่อื่นในประเทศไทยก็ว่าได้ และตรงนี้ก็มีไม่กี่วัด 2-3 วัด แต่วัดอื่นก็ทำแบบประเพณี แต่ที่นี่ก็ทำเป็นกิจจะลักษณะจริงๆ ก็คือประเพณีปกติตักบาตรเทโว พระจะเดินจากที่สูงมารับบิณฑบาตกับโยมที่อยู่ข้างล่าง แต่ที่วัดแห่งนี้จะทำเป็นนั่งร้าน โดยนำไม้ไผ่ไปพาดเพื่อขึ้นไปตักบาตรที่สูงๆ ซึ่งการไปตักบาตรที่นั่งร้านสูงประมาณ 12 เมตรโดยประมาณตึก 2 ชั้น พระจะขึ้นไปนั่ง และชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตร ใส่บาตรดอกไม้ข้างบน บาตรปัจจัย เสร็จแล้วก็จะลงไปข้างล่างอีกฝั่งหนึ่งไปใส่บาตรข้าวเหนียว ใส่บาตรขนม ซึ่งความเชื่อของชาวบ้านที่มาทำบุญเชื่อว่าหากได้ทำก็จะได้ขึ้นไปบนสวรรค์เหมือนที่พระพุทธได้ขึ้นไป นี่คือความเชื่อของชาวบ้านที่สืบทอดกันมา ในส่วนอื่นก็จะมีบุญกฐิน บุญลอยกระทงอันนี้ซึ่งถือเป็นบุญปกติธรรมดา
 
        การทำบุญกฐิน งานบุญลอยกระทง ประเพณีนี้เป็นประเพณีที่ชาวบ้านปฏิบัติกันมา โดยเฉพาะในประเพณีทั้ง 12 เดือน ชาวบ้านได้พยายามสืบทอดกัน ซึ่งทางเราจะทำให้เขาได้เห็นความสำคัญ แต่ปีนี้ทางวัดร่วมกับวัฒนธรรมจังหวัดมีโครงการพิเศษช่วงเข้าพรรษาจะมีการรณรงค์ให้ผู้หญิงไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ให้ใส่ผ้าถุงมาทำบุญใส่บาตร ซึ่งสมัยก่อนคนมาทำบุญใส่บาตรจะไม่ใส่กางเกง เดี๋ยวนี้รู้สึกประเพณีที่สืบทอดกันมาจะโดนค่านิยมของสังคมวัฒนธรรมจากที่อื่นมามีอิทธิพล และที่วัดแห่งนี้จะให้ผู้ชายเป็นผู้ใส่บาตรก่อน ผู้หญิงใส่บาตรทีหลัง ซึ่งเป็นลักษณะรณรงค์ให้เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา โดยเฉพาะปีนี้ซึ่งถือว่ารณรงค์เป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ก็คือส่วนที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีที่ชาวบ้านได้ถือปฏิบัติกันมา

        ในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นมีหลายด้าน ได้แก่ ด้านจักสาน  ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุบางคนยังจักสานกันอยู่ แต่ไม่ได้เน้นที่จะสร้างเป็นรายได้ หรือเพื่อการประกอบอาชีพเท่าไร เพราะว่าส่วนมากจะทำเป็นงานอดิเรก ใครทำเยอะก็เอามาจำหน่ายบ้างเป็นบางส่วน สำหรับด้านของการแสดง การแสดงจริงที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าทางนี้ที่สืบทอดกันมาจากลาว ลาวเวียงจันทร์ และหลวงพระบางรวมกัน นอกจากนั้นยังมีการสืบทอดศิลปะการแสดง ได้แก่ การแสดงเสื้อแถบลานของด่านซ้าย แถวหล่มเก่า หล่มสักชาวบ้านนิยมแสดงกันมากในสมัยก่อน แต่สมัยนี้ค่านิยมใหม่ๆ เข้ามาก็เลยไม่ค่อยจะได้รับการสืบทอดเท่าไร แต่ที่ยังมีการสืบทอดตลอดมาก คือตำบลบ้านติ้ว บ้านห้วยไร่ และบ้านสุข บ้านหวาย ที่ยังมีอยู่ และก็อีกอย่างคือการแสดงแมงตับเต่า ประเพณีการตับเต่าเดี๋ยวนี้เป็นที่น่าวิตกมา คือนักแสดงมีแต่รุ่นแก่ๆ และก็เสียชีวิตไปเยอะ คณะหนึ่งก็เหลือน้อย เหลือไม่กี่คนจะรวมมาเป็นคณะไม่ได้
 
        ในส่วนเรื่องเล่าตำนานวรรณกรรม มีค่อนข้างมาก ซึ่งตอนนี้ทางวัดกำลังรวบรวมอยู่ในเรื่องต่างๆ เช่น ตำนานนิทาน ตำนานของการให้พร ตำนานการผูกแขน ตำนานการสู่ขวัญ ซึ่งเป็นที่น่าชื่นใจว่าปีนี้ทางศูนย์ฯ ได้รับพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการวัฒนธรรมไทยเฉลิมราช ซึ่งก็เป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลมีงบประมาณมาให้ จำนวน 30,000 บาท ส่วนนี้จะนำไปรวบรวมเรื่องของนิทาน ตำนาน เรื่องเล่าต่างๆ จะนำมาเป็นทางด้านคลิปเสียงนิทาน และก็เอามาเป็นตำราที่จะมาศึกษาได้ให้มากที่สุด ตัวอย่างเรื่องเล่านิท่าน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเล่าแบบตลกๆ ให้ความสนุกสนาน สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายจากความเครียด ความเหนื่อยจากการประกอบอาชีพ และการให้พรก็มีการแต่งขึ้นมาเอง หลายคนจะใช้โวหารที่แตกต่างกันไป
  

ว่าด้วยพิพิธภัณฑ์

        ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนวัดโฆษา ตั้งอยู่ที่บ้านท่าช้าง ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2550 -2551 ซึ่งดำเนินการมาจริงจังเมื่อมีปีพ.ศ. 2551 นับถึงปัจจุบันสิ่งของทุกชิ้นที่อยู่ในศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้มีจำนวนมากขึ้น และมีความคุ้มค่า เป็นศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์เด็กจะมาเรียน เป็นศูนย์อบรมให้ความรู้กับเด็ก ซึ่งเมื่ออบรมหรือเด็กได้เข้ามาหาความรู้ในสถานที่แห่งนี้ มีการนำสิ่งของที่มีอยู่ในศูนย์ไปบูรณาการให้เข้ากับการเรียนการสอนกับเด็ก กิจกรรมตรงนี้ทางศูนย์ฯทำมาตลอด จนศูนย์ฯได้รับคัดเลือกว่าเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยอันดับหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ และก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อย จนเมื่อปีพ.ศ. 2554ศูนย์วัฒนธรรมไทยแห่งนี้อยู่ในระดับ 4เกี่ยวกับเรื่องของแผนและกลยุทธ์ที่จะสามารถบูรณาการมาใช้ในการอบรม และก็ในการสืบทอดและมีกิจกรรมอยู่ตลอด ซึ่งเกณฑ์การให้คะแนนศูนย์วัฒนธรรมจะมีการจัดไว้เป็น 5 ระดับ ระดับที่ 5 หมายถึงเป็นอุทยาน
       
        ในส่วนของการบริหารจัดการพระครูถาวรพัชรกิจ หรือ พระอธิการมาโนชญ์ ถาวโร ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโฆษาและเป็นประธานศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนวัดโฆษาเป็นผู้ดูแล ซึ่งในบางครั้งชาวบ้านก็เข้ามามีส่วนช่วยดูและบริหารจัดการด้วย
       
        ประเด็นเรื่องการจัดการกับวัตถุ ซึ่งส่วนนี้ทางศูนย์ฯ ต้องการให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีความรู้เข้ามาดูแลในเรื่องของการจัดหมวดหมู่วัตถุสิ่งของที่มีอยู่ อยากจะขอให้เจ้าหน้าที่มาช่วยแนะนำในการจัดสิ่งของว่าต้องมีการจัดการอย่างไรบ้าง เพื่อให้เป็นระบบ เป็นหมวดหมู่และสามารถที่จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่และรวดเร็ว และในส่วนของทะเบียนวัตถุยังไม่ได้มีการทำ แต่ได้จัดทำป้ายอธิบายว่าสิ่งของนี้คืออะไร ประโยชน์ของการใช้คืออะไร อย่างที่กล่าวไปว่าทางวัดมีกิจกรรมเยอะ บางครั้งทางศูนย์ได้มีการหยิบไปวางไว้ที่โน้นบ้างที่นี่บ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ อยากจะได้อาคารที่เป็นในส่วนของทางนี้โดยเฉพาะและมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดูแลในการจัดเก็บ
 
        วิธีป้องกันดูแล ทางศูนย์ได้พยายามให้ชาวบ้านได้เห็นความสำคัญของส่วนตรงนี้ แม้ว่าชาวบ้านจะไม่ให้ความสำคัญ หรือไม่เห็นคุณค่าอย่างไร ทางศูนย์ก็จะพยายามให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าสิ่งของเหล่านั้นให้ได้ ฉะนั้นวิธีการตรงนี้ทางศูนย์ของเราก็จะมีการชักจูงให้ชาวบ้านมีความศรัทธา มีความรัก ว่าสิ่งของที่มีอยู่นี้เป็นของเขาไม่ใช่เป็นของทางวัด ฉะนั้นเมื่อใดชาวบ้านคิดได้เช่นนี้ของที่ชาวบ้านนำมาให้ก็จะไม่มีการสูญหาย บางส่วนก็อาจจะมีบ้างในส่วนที่เราอาจจะคาดไม่ถึง ซึ่งคนบางกลุ่มอาจจะมีพฤติกรรมที่อยากได้สิ่งของเหล่านั้น แต่ค่อนข้างน้อย นอกจากคนภายนอกต่างพื้นที่ที่เข้ามา
 

ว่าด้วยงานสะสมและการจัดแสดง

        ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนวัดโฆษา เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนชุมชนที่นำสิ่งของต่างๆมาบริจาคให้กับทางวัด และเป็นแหล่งข้อมูลเรื่องราวที่สำคัญในอดีต ซึ่งได้มีการจัดแสดงที่แบ่งออกเป็นด้านต่างๆ เช่น ด้านการจัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่สืบทอดต่อกันมา โดยจะมีสิ่งของเครื่องใช้ อันได้แก่ ภาชนะและของใช้ครัวเรือน  หม้อ ไห เครื่องทอผ้า เครื่องสีข้าวแบบมือหมุนโบราณ ไม้ตีเท้าหรือฟาดข้าว ครกมองที่ใช้สำหรับการตำข้าว ด้านที่อยู่อาศัย มีอุปกรณ์ที่สำคัญได้แก่ เลื่อยอกที่ใช้สำหรับเลื่อยไม้ให้เป็นแผ่นเพื่อใช้ไม้มาก่อสร้างบ้าน ด้านการประกอบอาชีพ ซึ่งจะประกอบด้วยอุปกรณ์เครื่องใช้ทางการเกษตร ได้แก่ คราดไถนา แอกสำหรับคล้องวัวควายเพื่อบังคับให้เดินตามทิศทาง เครื่องมือดักปลาไหล คราดไถนา สาวหลอกใช้สำหรับเก็บเส้นไหมเพื่อนำมาทอผ้า หลอดค้นหรือลูกค้น คือหลอดด้านที่ทำด้วยพลาสติกเป็นอุปกรณ์เตรียมเส้นไหม ตลอดจนด้านวิถีชีวิตทางความเชื่อ หรือด้านพลังสมองภูมิปัญญา เช่น กลองและฆ้อง ที่ใช้ในงานพิธีต่างๆของชาวบ้าน  หัวผีที่ใช้ในงานเทศกาล โป่ง เครื่องตีสัญญาณในการประกอบกิจต่างๆ ของพระภิกษุสามเณร หรือด้านสิ่งของต่างๆ ที่ชาวบ้านพบเจอหรือสืบทอดกันมาในแต่ละบ้านนำมาให้วัดเป็นผู้เก็บรักษา เช่น เหรียญที่เก็บรวบรวมมาจากท้องถิ่น เครื่องมือ เครื่องใช้ไม้สอยของคนสมัยก่อน กระต่าภาชนะจักสาน ไหและครกหินของชาวบ้าน พัดและตะกร้า ถังไม้ใช้ในการบรรจุสิ่งของต่างๆ  โคมไฟลมหรือตะเกียงเจ้าพายุของชาวบ้าน เป็นต้น
 
        นอกจากนั้นทางศูนย์ฯ ยังมีการจัดเก็บรวบรวมหนังสือที่เป็นประโยชน์ทั้งทางด้านวัฒนธรรม หนังสือประกอบพิธีทางศาสนาหรือหนังสือธรรมะภายในห้องเรียนของวัดที่อยู่ติดกับสิ่งของที่จัดแสดงดังกล่าว และถัดออกไปอีกห้องจะเป็นห้องเก็บเครื่องมือที่ใช้ในการสู้รบ เช่น พวกมีด ดาบต่างๆ ที่ได้จากการบริจาคของคนในชุมชนหรือคนที่อื่นนำมาให้ ทั้งนี้สิ่งของทั้งหมดที่อยู่ในส่วนของการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์จะอยู่ในศาลาการเปรียญของวัด โดยอาศัยชั้นล่างเป็นที่เก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องมือ เครื่องใช้ ซึ่งในการจัดแสดงยังไม่เป็นระบบ และยังไม่มีการจัดทำป้ายทะเบียนวัตถุ เนื่องจากไม่มีเวลาและทางวัดมีกิจกรรมค่อนข้างเยอะ อีกทั้งอาคารที่จัดแสดงนี้เป็นศาลาการเปรียญของวัดซึ่งต้องใช้ในการประกอบพิธีสงฆ์อยู่ตลอด ดังนั้นการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้จึงเป็นไปตามอัตภาพของวัดซึ่งไม่มีผู้คอยดูแล นอกจากนั้นชั้นล่างยังเป็นศูนย์ไอซีทีชุมชน และเป็นห้องสมุดเพื่อเป็นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนแห่งนี้ด้วย
 
        ส่วนกิจกรรมที่มีในพื้นที่นี่คือ การออกไปทำกิจกรรมร่วมกับทางจังหวัด หรือทางหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะมีการแจกโบชัวร์บ้าง  และการจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้ที่สนใจหรือนักศึกษาเข้ามาศึกษาดูงานในศูนย์ฯแห่งนี้ด้วย
 
นนทชา ชัยทวิชธานันท์ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 20 กรกฎาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง:
-