พิพิธภัณฑ์หอประวัติศาสตร์เพชบุระ


ที่อยู่:
ภายในสวนสาธารณะเพชบุระ ถนนเพชรเจริญ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
โทรศัพท์:
0-5671–1007 ต่อ 306 , 0–5672–2623
โทรสาร:
0–5672–2623
วันและเวลาทำการ:
จันทร์ – อาทิตย์ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ 08.30 – 16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
อีเมล:
Phechabura@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2552
ของเด่น:
ตำราพิชัยสงคราม
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 16 ตุลาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์หอประวัติศาสตร์เพชบุระ

         
หอประวัติศาสตร์เพชบุระ ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะเพชบุระ  ถนนเพชรเจริญ  ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดเพชรบูรณ์  อยู่ในการดูแลของกองการศึกษาเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์
 
1. ลักษณะชุมชน
           

ชุมชนที่หอประวัติศาสตร์เพชบุระตั้งอยู่นั้น ถือว่าอยู่ใจกลางเมืองเพชรบูรณ์ เป็นลักษณะชุมชนเมือง และเป็นย่านชุมชนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เนื่องจากเป็นย่านตลาด ร้านค้า มาตั้งแต่สมัยก่อน นอกจากนี้ยังรายล้อมด้วยสถานที่ราชการที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์  โรงเรียนอนุบาลเพชรบูรณ์ และสถานีตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบูรณ์ดังนั้นถือว่าเป็นย่านชุมชนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดเพชรบูรณ์อีกแหล่งหนึ่ง

           

ในละแวกใกล้เคียงมีการสร้างฝายน้ำล้น ซึ่งเป็นคลองที่ผันน้ำมาจากแม่น้ำป่าสัก นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณคดีทีอยู่ใกล้เคียง เช่น วัดมหาธาตุ และวัดไตรภูมิ ซึ่งมีความสำคัญกับประวัติศาสตร์จังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งมีพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียง คือ หลวงพ่อเพชรมีชัย ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงพ่อเพชรมีชัย วัดมหาธาตุ และ พระพุทธมหาธรรมราชา ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดไตรภูมิ

           

ประวัติความเป็นมาของชุมชน บริเวณเขตที่ตั้งหอประวัติศาสตร์เพชบุระนี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีหลักฐานที่วัดมหาธาตุที่มีหลักฐานทางโบราณดคีนั่นก็คือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ตลอดจนที่วัดไตรภูมิก็จะมีเจดีย์ในสมัยอยุธยา ในส่วนประวัติศาสตร์ของเทศบาลนครเพชรบุรณ์ก็มีหลักฐานบอกถึงว่าเพชรบูรณ์จะได้เป็นเมืองหลวง แต่ก็แพ้คะแนนในสภาไปในที่สุด

           

ลักษณะประชากรและกลุ่มชาติพันธุ์ เพชรบูรณ์มีประชากรที่หลากหลายทางภาษาและการทำมาหากิน โดยรอบก็มีเขตพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดเลย(ด้านอำเภอหล่มสัก) จะมีภาษาที่แตกต่างกันไป แต่ในชุมชนที่เป็นเขตเมืองก็จะมีภาษาพูดที่เป็นภาษาไทยกลางและอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นกลุ่มประชาชนที่อพยพมาจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาทำมาหากิน ส่วนเชื้อชาติส่วนใหญ่จะเป็นคนพื้นเพดั้งเดิม นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะอาชีพส่วนใหญ่ในละแวกนี้ทำอาชีพค้าขาย เนื่องจากสมัยก่อนชุมชนในย่านนี้เป็นร้านค้าตลาดเก่ามาก่อน

 
2. มรดกทางวัฒนธรรมชุมชน /ภูมิปัญญา ที่โดดเด่นของชุมชน
           

ประเพณีที่สำคัญในบริเวณย่านนี้ซึ่งถือว่าเป็น “ย่านตลาด”เก่าแก่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีประเพณีที่สำคัญคือประเพณีอุ้มพระดำน้ำ โดยมีการจัดมาตั้งแต่อดีต ซึ่งปัจจุบันยังคงดำเนินอยู่และเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งประเพณีนี้จะเกี่ยวข้องกับศาสนา โดยจะอัญเชิญองค์พระพุทธมหาธรรมราชามาร่วมในประเพณี โดยจะจัดขึ้นทุกปี คือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10ซึ่งตรงกับวันสารทไทย มีการอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงดำน้ำ งานจะจัด 5วัน มีขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ ในอดีตนั้น การที่จะเห็นเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดตำแหน่งในปัจจุบันนั้น เป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนทั่วไป การจัดประเพณีอุ้มพระดำน้ำขึ้นมานั้น ทำให้ชาวบ้านได้ใกล้ชิดเจ้าเมืองมากขึ้น และทำให้รู้จักว่าใครเป็นเจ้าเมือง โดยมีกิจกรรมต่างๆที่สำคัญตามประเพณี เช่น การกวนกระยาสารท เพื่อจะนำมาร่วมในพิธี และประเพณีอื่นๆเช่น ประเพณีก่อเจดีย์ทรายกลบธาตุ ปัจจุบันยังมีการอนุรักษ์ไว้ ซึ่งยังคงเหลือเพียง 2วัด คือ วัดช้างเผือก และวัดทุ่งสะเดียง ประเพณีนี้จะเป็นการรำลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและบรรพบุรุษ โดยจะประกอบพิธีนี้ภายใน 3ปี หลังจากที่มีการเสียชีวิต ซึ่งเป็นการแสดงถึงความกตัญญูของคนที่มีชีวิตอยู่

           

ด้านงานช่าง งานฝีมือ ของชุมชนละแวกนี้ ยังมีการสานเครื่องจักสานบ้าง เช่น การสานสุ่มไก่ โดยมีการรวมตัวกันของกลุ่มชาวบ้าน สานแล้วนำไปขายโดยผ่านพ่อค้าคนกลาง

           

ด้านภาษาถิ่น สำเนียงภาษาที่เห็นได้ชัดเจนและเป็นส่วนใหญ่ คือ สำเนียงบ้านสะเดียง ตำบลสะเดียง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์  ส่วนใหญ่ผู้ที่พูดสำเนียงสะเดียงได้ชัดเจนจะเป็นผู้สูงอายุ และกลุ่มที่พูดภาษาไทยกลาง นอกเหนือจากนั้นก็มีภาษาไทยหล่มบ้าง ตามแต่ว่าผู้ที่อพยพเข้ามาอาศัยจะมาจากท้องที่อำเภอใด

           

ด้านการแสดง ดนตรี การร่ายรำ ขับร้อง ที่น่าสนใจและโดดเด่นคือ การรำโทน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากภาคกลาง ตั้งแต่สมัยยุคนครบาล สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งในปัจจุบันโรงเรียนเทศบาล 3ยังคงมีการอนุรักษ์ไว้โดยมีการฝึกหัดนักเรียนเพื่อแสดงในงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีการแสดงการขับร้องเพลงฉ่อย ของชาวบ้านสะเดียง แต่ก็จะเห็นได้เฉพาะในงานประเพณีที่สำคัญเช่นกัน ปัจจุบันโรงเรียนเพชรบูรณ์วิทยาเป็นผู้สืบสานวงขับร้องเพลงฉ่อยนี้ไว้โดยไปเรียนรู้จากผู้สูงอายุหรือครูที่มีความชำนาญในเรื่องการขับร้องเพลงฉ่อยของบ้านสะเดียง เช่น คุณแม่แก๊ส ซึ่งถือว่าค่อนข้างมีความชำนาญและยังสามารถที่จะร้องและนำมาร่วมกิจกรรมต่างๆในงานวัฒนธรรม เช่น วันพ่อ วันแม่ เป็นต้น แต่ว่าเยาวชนรุ่นหลังจะเหินห่างเนื่องจากเพลงฉ่อยเป็นเพลงที่ยากและต้องมีความอดทนในการฝึกซ้อมอย่างมาก

 
3. ว่าด้วยพิพิธภัณฑ์
           

ลักษณะทางกายภาพของพิพิธภัณฑ์หอประวัติศาสตร์เพชบุระ ปัจจุบันตั้งอยู่ในสวนสาธารณะเพชบุระ ถนนเพชรเจริญ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์แต่เดิมเป็นบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ยังคงลักษณะทางสถาปัตยกรรมของตัวบ้านดั้งเดิมไว้ ซึ่งตัวบ้านทำด้วยวัสดุไม้ เป็นอาคาร 2ชั้น สภาพแวดล้อมยังคงเดิมไว้มากที่สุดและยังคงมีสภาพที่สมบูรณ์มาก พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือว่าอยู่ใจกลางเมือง สามารถเดินทางไปได้ง่าย และอยู่ท่ามกลางสถานที่ราชการที่สำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์

           

ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์หอประวัติศาสตร์เพชบุระนั้น เมื่อครั้ง นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เป็นผู้มอบหมายให้นายกเทศมนตรีในสมัยนั้น คือ ดร.วิศัลย์  โฆษิตานนท์ เพื่อไว้ใช้ประโยชน์ในกิจกรรมอื่นๆ เนื่องจากมีการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางให้จัดสร้างศาลากลางจังหวัดและจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์หลังใหม่ จากนั้น ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ จึงได้มีโครงการสร้างเป็นหอประวัติศาสตร์และสวนสาธารณะเพชบุระ โดยได้ทำพิธีมอบอย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 19 ธันวาคม 2548 และมีการปรับปรุง บูรณะเสร็จสิ้นจนเปิดให้เข้าชมได้ในปี พ.ศ. 2550 โดยรวบรวมวัตถุ สิ่งของ รูปภาพในอดีต ที่มีคุณค่าจากแหล่งต่างๆของจังหวัดเพชรบูรณ์ มาเก็บไว้ โดยจัดแสดงเป็นห้องนิทรรศการ โดยวัตถุประสงค์ของการจัดสร้าง คือ ต้องการจะให้บ้านหลังนี้เป็นแหล่งเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ และภายในตัวบ้านมีการแบ่งส่วนจัดแสดงออกเป็น 6ส่วน ได้แก่ ห้องประวัติศาสตร์ ห้องภาพเก่าให้อดีต ห้องสมุด ซึ่งทั้งสามห้องนี้จัดแสดงอยู่ชั้นล่าง ส่วนอีกสามห้อง ได้แก่ ห้องบุคคลสำคัญ  ห้องวัฒนธรรม และห้องนอนเจ้าเมือง จะจัดแสดงอยู่ชั้นสอง

           

แต่แรกมาจนถึงปัจจุบัน หอประวัติศาสตร์เพชบุระ อยู่ภายใต้การดูแลของสังกัดกองการศึกษา สำนักงานเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลประจำทั้งหมด 2คน คือ นางสาวอรพิชชา บุบผาที และ นางสาวฐิติรัตน์  รัตนจักร

           

ด้านปัญหา อุปสรรค และความต้องการของพิพิธภัณฑ์นั้น ปัญหาสำคัญ คือ งบประมาณในการดูแล เนื่องจากสังกัดในหน่วยงานของเทศบาล งบประมาณที่จะจัดสรรมาดูแลมีน้อย เพราะเทศบาลต้องจัดสรรงบประมาณไปให้ส่วนหน่วยงานต่างๆก่อน ซึ่งในแต่ละปีก็จะได้รับงบประมาณในการจัดแสดงน้อย การจัดแสดงจึงยังไม่ได้มาตรฐาน ยังเป็นการจัดแสดงแบบพื้นบ้านทั่วไป

           

ความสัมพันธ์ของหอประวัติศาสตร์เพชบุระที่มีต่อชุมชนในละแวกเดียวกันและละแวกใกล้เคียง คือ การเข้าเป็นหนึ่งใน 12จุดท่องเที่ยวของอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ โดยร่วมกับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ในการมีรถนำชมโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวให้จังหวัดเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีสวนสาธารณะซึ่งได้ปรับปรุงให้เป็นลู่วิ่งออกกำลังกาย และมีการติดตั้งเครื่องออกกำลังกาย เครื่องเล่นสำหรับเด็ก และที่นั่งพักผ่อนสำหรับให้ชาวเพชรบูรณ์มาใช้ประโยชน์ได้ทั้งวัน และยังมีในส่วนของลานกิจกรรมเพชบุระ ซึ่งมีการสร้างน้ำพุดนตรีในสมัยนางธีรพร พรพฤฒิพันธุ์ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีด้วย ลานกิจกรรมเพชบุระแห่งนี้ เป็นลานกว้างไว้สำหรับจัดกิจกรรมที่สำคัญของชาวเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีอาคารชั้นเดียวซึ่งอยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์โดยสร้างขึ้นมาใหม่ใช้เป็นอาคารบริการฟิตเนสโดยไม่เก็บค่าบริการ และให้ประชาชนทั่วไปมาใช้ประโยชน์ได้

 
4. ว่าด้วยงานสะสมและการจัดแสดง
           

ลักษณะและประเภทของวัตถุที่จัดแสดง จะมีการจัดนิทรรศการแสดงแบ่งเป็น 6ส่วน ได้แก่ ห้องประวัติศาสตร์ ซึ่งจัดแสดงสิ่งของโบราณวัตถุในยุคต่างๆและเรื่องของเมืองเพชรบูรณ์ ตั้งแต่ พ.ศ.2486 – 2487 ห้องภาพเก่าเล่าอดีต มีการฉายภาพเก่าในอดีตที่สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงจากอดีตถึงปัจจุบันของเพชรบูรณ์ ห้องสมุด ซึ่งมีหนังสือสำคัญเกี่ยวกับจังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อบริการให้ประชาชนทั่วไปได้มาใช้บริการสืบค้นข้อมูล  ห้องบุคคลสำคัญ จัดแสดงบุคคลสำคัญที่ทำคุณประโยชน์ให้จังหวัดเพชรบูรณ์ ห้องวัฒนธรรม จัดแสดงเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีอุ้มพระดำน้ำและโบราณวัตถุ เครื่องดนตรี สุดท้ายคือห้องนอนเจ้าเมือง จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ศาสตราวุธ โบราณวัตถุและในครั้งอดีต ห้องนี้เคยเป็นห้องนอนของเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีส่วนจัดแสดงอยู่ภายนอกตัวบ้านด้วย ซึ่งวัตถุที่ใช้จัดแสดงจะเป็นวัตถุขนาดใหญ่และเครื่องใช้ในอดีต เช่น หินโม่แป้ง เครื่องสีข้าว ไม้พายเรือ เป็นต้น

           

ลักษณะการจัดแสดง มีการให้เนื้อหาโดยมีป้ายข้อมูลติดลงกับบอร์ด การจัดแสดงของชิ้นสำคัญ จะจัดแสดงไว้ในตู้กระจก และวางไว้กับโต๊ะ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มองเห็นได้ง่าย ของสำคัญและโบราณวัตถุ จะแสดงในตู้กระจกเพื่อป้องกันการสูญหาย เช่น ตำราพิชัยสงคราม ซึ่งถือว่าเป็นโบราณวัตถุที่ยังมีความสมบูรณ์อย่างมากและถือว่าเป็นของชิ้นสำคัญมากชิ้นหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

           

การจัดการวัตถุ ได้มีการทำทะเบียนวัตถุต่างๆที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ และมีการทำทะเบียนภาพไว้เพื่อป้องกันการสูญหายและเป็นการจัดระเบียบวัตถุให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งสภาพของการจัดแสดงจะมีทั้งนิทรรศการภายในตัวบ้าน และภายนอกตัวบ้าน โดยมีป้ายบอกข้อมูลต่างๆที่จำเป็น เช่น ชื่อวัตถุ ชื่อแหล่งที่มา ชื่อผู้บริจาค และยังมีการนำเสนอในรูปแบบอื่นๆคือ การนำเสนอภาพฉายเป็นวิดีโอ ภายในห้องภาพเก่าเล่าเรื่อง โดยมีภาพเรื่องราวเกี่ยวกับเพชรบูรณ์ในอดีต กว่า 50ภาพให้ประชาชนรุ่นใหม่ได้ศึกษา

           

การจัดกิจกรรมเพื่อการเข้ามาใช้สถานที่ของคนกลุ่มอื่นๆในชุมชน ทางพิพิธภัณฑ์ ได้มีห้องสมุดไว้บริการสืบค้นข้อมูล และมีคอมพิวเตอร์เก็บภาพสำหรับประชาชน นักเรียน นักศึกษาที่สนใจอยากขอข้อมูล ในส่วนของสวนสาธารณะรวมทั้งลานกิจกรรม มีประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆได้เข้ามาติดต่อขอใช้สถานที่อยู่เรื่อยๆในช่วงเวลาเย็น ถือว่าเป็นสถานที่ที่ประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ให้ความนิยมมาใช้บริการอยู่เสมอ

           

กลุ่มคนที่เข้ามาใช้บริการ ค่อนข้างที่จะหลากหลายในแต่ละกิจกรรม ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา มหาวิทยาลัย ผู้ใหญ่ นักท่องเที่ยวในจังหวัดและต่างจังหวัด สนใจเข้ามาชมและทำกิจกรรมต่างๆ เป็นประจำ

 
5. ว่าด้วยเครือข่าย
           

ทางหอประวัติศาสตร์เพชบุระ ได้มีการประชาสัมพันธ์อยุ่ในการท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ และมีการทำเว็บไซต์และเฟชบุ๊คเพื่อประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชมได้

 
ณัฐช์นิชา ตั้งวีรัตน์กร / เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 13 กรกฎาคม 2555
 
ชื่อผู้แต่ง:
-