พิพิธภัณฑ์อาวุธและการสู้รบ (ฐานยิงสนับสนุนอิทธิ)


ที่อยู่:
ต.เขาค้อ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ 67270
โทรศัพท์:
0-5672-1934-6 ต่อ 3120
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน 7.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม:
คนละ 10 บาท
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2527
ของเด่น:
อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการสู้รบ เหตุการณ์ในยุทธภูมิเลือดเขาค้อ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

      ฐานอิทธิ ตั้งอยู่บนเขาค้อ บ้านสิมารักษ์ หมู่ 3 ตำบลทุ่งสมอ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีลักษณะกายภาพทั่วไป เป็นภูเขาล้อมรอบ มีลำน้ำเข็ก และอ่างเก็บน้ำโครงการในพระราชดำริห้วยลึกซึ่งเป็นน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภค แต่ทว่าในพื้นที่ฐานอิทธิเป็นพื้นที่อยู่บนยอดเขา ต้องใช้ระบบดูดขึ้นมา 4 จุด และพักน้ำไว้เป็นบ่อ จำนวน 4 บ่อ อีกทั้งต้องใช้ร่วมกับหมู่บ้านข้างล่าง (หมู่บ้านสิมารักษ์) จึงทำให้การดึงน้ำขึ้นมาใช้มีความยากลำบาก นอกจากนั้นบริเวณดังกล่าวมีอนุสรณ์สถานผู้เสียสละ พระตำหนักเขาค้อ และหอสมุดนานาชาติเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบ
 
      พื้นที่ชุมชนส่วนใหญ่เป็นภูเขาหัวโล้น โดยรอบๆ พื้นที่ติดกับเขานี้จะเป็นสวนสัตว์ที่ส่วนราชการได้ทำการอนุรักษ์ไว้ ซึ่งกำลังมีการประกาศพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ประชาชนส่วนใหญ่คือชาวเขาเผ่าม้ง และมีบางกลุ่มมาจากจังหวัดนครสวรรค์ มีอาชีพการทำไร่ข้าวโพด พื้นที่ชุมชนส่วนใหญ่เรียกว่าเขาค้อ ซึ่งเป็นชื่อเรียกรวมบริเวณเทือกเขาน้อยใหญ่ ของเทือกเขาเพชรบูรณ์ จนอาจพูดได้ว่าเป็นทะเลภูเขา เช่น เขาค้อ เขาย่า เขาใหญ่ เขาตะเคียนโง๊ะ เขาหินตั้งบาตร เขาห้วยทราย เขาอุ้มแพร เป็นต้น มีต้นไม้มีลักษณะแหลกคือ ต้นค้อ ซึ่งเป็นต้นไม้ในตระกูลปาล์ม มีลักษณะต้นและใบคล้ายต้นตาล แต่ออกผลเป็นทลายคล้ายหมาก ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในบริเวณเขาค้อ สภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี    ตามประวัติความเป็นมาของเพชรบูรณ์จึงเห็นได้ว่า เขาค้อมีความสมบูรณ์ มีป่าหนาแน่น และเป็นที่ตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศใหญ่ในอดีต            
 
      
มรดกวัฒนธรรมชุมชน/ภูมิปัญญา ที่โดดเด่นของชุมชน

       ประเพณีหรือภูมิปัญญาของคนแถวนี้มีลักษณะเป็นประเพณีพื้นบ้านทั่วๆ ไป เอกลักษณ์เด่นๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นของคนชนเผ่าม้ง แถวตำบลเข็กน้อยที่มีกิจกรรมวันปีใหม่ช่วงวันที่ 10ธันวาคมของทุกปี มีการละเล่น ศิลปวัฒนธรรมมีลักษณะพิเศษ มีการจับคู่  แต่ถ้าเป็นคนไทยก็จะมีประเพณีเหมือนของคนไทยทั่วไป ได้แก่ การทำบุญเข้าพรรษา เป็นต้น
 
       ในส่วนตำนานเรื่องเล่าส่วนมากจะเป็นประวัติการสู้รบ มีผู้เสียชีวิตล้มตายจำนวนมาก ซึ่งในอดีตตั้งแต่ พ.ศ. 2511 – 2524 พื้นที่เขาค้อ เป็นฐานที่อันสำคัญยิ่งของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มาอย่างยาวนาน นับ 10 ปี มีทั้งกำลังพลเรือน ทหาร ตำรวจที่ส่งเข้ามาประจำการเพื่อปราบปรามกวาดล้าง กลุ่ม ผกค. จนเกิดการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนาน ต้องสูญเสียทั้งกำลังคน อาวุธ ทรัพยากรของชาติมากมายทั้งสองฝ่าย เรียกว่าเป็นการทำสงครามที่มีระยะเวลายาวนานพอสมควร
 
       และต่อมาในปี 2524 รัฐบาลในสมัยนั้นได้ดำเนินยุทธวิธีการเมืองนำการทหาร พร้อมกับดำเนินการทางทหารอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง จนสามารถยึดพื้นที่เขาค้อทั้งหมดได้ คงเหลือไว้แต่ประวัติศาสตร์การสู้รบอันห้าวหาญ และวีรกรรมของวีรบุรุษ อยู่ ณ ที่ตั้งสถานที่สำคัญในการสู้รบของทั้งสองฝ่าย ร่องรอยของการต่อสู้ที่มีอยู่มากมายเกลื่อนกลาดไม่ว่าจะเป็นสุสานของทหารกล้า และผู้เสียสละ อนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงผู้จากไป ฐานที่มั่นที่สู้รบกันอย่างหนักหน่วง สถานที่อยู่อาศัยของฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายเรา ร่องรอยการทำลายเผาระเบิด จึงจะเห็นว่าเมื่อขับรถขึ้นไปอีกจะพบอนุสรณ์สถาน ที่มีรายชื่อผู้เสียชีวิต รวมทั้งหมดเกือบพันกว่าคน ซึ่งเป็นประวัติให้คนรุ่นหลังรู้ถึงวีรบุรุษของชาติไทยได้ต่อสู้เพื่อรักษาพื้นที่นี่ไว้ไม่ให้ตกเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และคอยตอกย้ำเตือนใจคนไทยทั้งหลายให้เกิดความรักความสามัคคีกลมเกลียวกันในชาติตลอดไป
 
 
ว่าด้วยพิพิธภัณฑ์

      ฐานอิทธิ (พิพิธภัณฑ์อาวุธ) บริเวณนี้เคยเป็นฐานปืนใหญ่ยิงสนับสนุนการสู้รบ เป็นฐานสำคัญฐานหนึ่งในเข้ายึดพื้นที่ ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ อยู่ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย ฐานอิทธินี้มีประวัติการสู้รบมายาวนานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา ฝ่ายรัฐบาลต้องสูญเสียกำลังพลและยุทโธปกรณ์ไปเป็นจำนวนมากเพื่อล้มล้างอิทธิพล ผกค. บริเวณเขาค้อ การปฏิวัติฝ่ายเราสามารถยึดเขาค้อได้ภายใต้การยิงสนับสนุนของปืนใหญ่จากฐานฯยิงสมเด็จ (ฐานยิงสนับสนุนสมเด็จนี้เป็นฐานของ พัน.ป.3403 จัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์จาก ป.พัน.4) นครสวรรค์และป.พัน.104  พิษณุโลก ฐานยิงฯสมเด็จอยู่ห่างจากเขาค้อประมาณ 7 กิโลเมตร ความสำเร็จของยุทธการนี้ทำให้ฝ่ายเราก่อสร้างทางและขยายอิทธิพลเข้ามาในดินแดนของ ผกค. อย่างรวดเร็ว การที่จะเอาชนะ ผกค. ในเขตงานเขาค้อให้ได้โดยเด็ดขาดนี้ จำเป็นต้องใช้กำลัง ฝ่ายเราที่มีอยู่ทั้งหมดเข้าโจมตีที่มั่นของ ผกค. บริเวณห้วยทรายทุ่งสะเดาะพง เขาตะเคียนโง๊ะ เขาปูและบ้านหนองแม่นา ดังนั้น พตท.1617 จึงมีนโยบายที่จะเปิดยุทธการเผาเมืองเผด็จศึก 2 ขึ้นเพื่อเข้าโจมตีที่มั่นของ ผกค. และได้ย้าย ป.จากฐานยิงฯสมเด็จมาตั้งบนเขาค้อ คือบริเวณฐานยิงฯ อิทธิในปัจจุบัน
 
      ฐานอิทธิสนับสนุนแห่งนี้ทำการยิงให้กับหน่วยดำเนินกลยุทธ์ในพื้นที่จนสามารถยึดและทำลายที่มั่น ผกค. ได้อย่างสิ้นเชิง ต่อมาฐานแห่งนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า ฐานยิงสนับสนุนอิทธิ (พิพิธภัณฑ์อาวุธ) ตั้งชื่อตาม พันเอก อิทธิ สิมารักษ์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ยึดพื้นที่เขาค้อคืนจาก ผกค. ในปี 2524 ปัจจุบันจัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง มีอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ใช้ในการสู้รบอยู่ตั้งมากมาย เช่น เครื่องบินขับไล่ เอฟ 5  รถสายพานลำเลียงพล ปืนใหญ่ ปืนใหญ่ขนาด 105 มม. จำนวน 2 กระบอก ปืนใหญ่ ขนาด 155 มม. ยิงได้ไกล 11 กิโลเมตร 1กระบอก ฯลฯ
 
      ภายในฐานอิทธิแห่งนี้ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ มีดอกไม้เมืองหนาวบานสะพรั่งสวยงาม มองเห็นทิวทัศน์เมืองเขาค้อได้อย่างสวยงามและในมุมกว้างอากาศเย็นสบาย มีลมพัดตลอดเวลา และเมื่อเข้าไปในอาคารมีห้องบรรยายสรุปเกี่ยวกับเหตุการณ์ในยุทธภูมิเลือดเขาค้อ มีห้องจัดนิทรรศการ เกี่ยวกับอุปกรณ์ เครื่องใช้ เสื้อผ้า อาวุธของคอมมิวนิสต์ ส่วนด้านนอกอาคารยังมีฐานอาวุธ จัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น ซากปืนใหญ่ รถถัง รถแทรกเตอร์ บังเกอร์หลบภัย
 
      ปัจจุบันการบริหารจัดการโดนกองพลทหารม้าที่ 1 (เป็นเครือข่ายใหญ่) โดยได้มอบหมายให้กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 30หรือ ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นผู้ดำเนินการ และทุกๆ หนึ่งปีจะมีการผลัดเปลี่ยนชุดดูแล เข้ามาทำงานเพื่อทำการเฝ้าทั้งฐานอิทธิ และอนุสรณ์สถาน มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 15 – 16คน
 
      ปัญหาอุปสรรคของการจัดการฐานยิงสนับสนุนอิทธิ ไม่ค่อยมี เนื่องจากพื้นที่ในส่วนนี้เป็นเขตทหาร ค่อนข้างจะเงียบ ไม่ค่อยมีใครเข้ามารบกวน และทางฝ่ายเราก็ทำหน้าที่ดูแลยุทธโธปกรณ์ ซึ่งไม่มีปัญหาใดๆ ในส่วนของความต้องการของที่นี่จะเป็นส่วนของนโยบายของผู้บังคับบัญชามากกว่า ซึ่งสำหรับความสัมพันธ์ของชุมชนที่นี่มีการพึ่งพาอาศัยกันค่อนข้างดี เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทางชุมชนก็จะช่วยดูแล ด้วยเพราะว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ของที่นี่ทำการเกษตรและมักจะขึ้นมาขายของให้นักท่องเที่ยว
 
 
ว่าด้วยงานสะสมและการจัดแสดง
       
      งานแสดงที่นี่ส่วนหน้าจะเป็นซากของรถถัง รสพ.113 ของ ร.4 พัน 2 ที่ถูกจรวด RPGของ ผกค.ยิงในการคุ้มกัน ถัดมาจะเป็นหอตรวจการ ฮต.-13 (OH-13) ถัดมาเป็นฐานยิงอินทรีย์กลืนช้าง เป็นปืนใหญ่บากกระสุนยิงวิถีโค้ง 95 ขนาด 105 มม. ลูกยิงขนาดใหญ่มาก ตามมาด้วยฐานยิงพระยาตานี เป็นปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้ง ลูกยิงใหญ่กว่าฐานแรก ต่อจากนั้นก็จะมีรถแทรคเตอร์ตีนตะขาบ หุ้มเกราะคันนี้ใช้ในการเปิดเส้นทางให้กับทหารของเรา ติดกันจะเป็นห้องแสดงประวัติของการรบที่เขาค้อมีรูปภาพให้ดู ห้องจำลองของหน่วยแผนที่ ห้องฟังบรรยาย ห้องแสดงอาวุธที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ของเหล่าทหารที่เสียสละชีพในการปฏิบัติในครั้งนั้น นอกจากนั้นก็จะมีเบิมที่เป็นห้องป้องกันมีกระสอบทรายวางประมาณ 5-6 จุด
       
ส่วนกิจกรรมที่มีในพื้นที่นี่คือ การให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทำกิจกรรมศึกษาประวัติศาสตร์ นอกจากนั้น เป็นการจัดกิจกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลทุกปี
 

ว่าด้วยเครือข่าย
 
        ฐานยิงสนับสนุนอิทธิไม่ค่อยได้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายมากนัก นอกจากจะไปยืมอุปกรณ์จากทางอบต.เข้ามาทำกิจกรรม และถ้าเป็นในส่วนของทางโรงเรียนทุ่งสะเดาะพงษ์ ก็จะเป็นการนำนักท่องเที่ยว โดยให้เด็กนักเรียนเป็นผู้นำเที่ยวเป็นมัคคุเทศก์น้อย เป็นการมาฝึกงานซึ่งเป็นการเสริมรายได้ทางหนึ่ง
       
      ในทุกๆ ปีจะมีการเปลี่ยนหมุนเวียนของชุดทหารที่เฝ้าดูแลรักษาฐานยิงสนับสุนอิทธินี้จึงทำให้ทางเราไม่ค่อยทราบในรายละเอียดนัก
 
นนทชา ชัยทวิชธานันท์ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 20 กรกฎาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง:
-

พิพิธภัณฑ์อาวุธและการสู้รบ เขาค้อ(ฐานอิทธิ) เป็นพิพิธภัณฑสถานที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติวีรกรรมของทหารตำรวจและพลเรือนที่ปฏิบัติงานในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งปฏิบัติการในเขตรอยต่อระหว่าง 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย ในช่วง พ.ศ.2511 - 2525 ส่วนชื่อ ฐานอิทธิ หรือเนิน 1122 เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พันเอกอิทธิ สิมารักษ์ ผช.ผอ. พตท. 1617 ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติการทางทหารบริเวณเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2523 เมื่อการรบที่เขาค้อสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2525

กองทัพบกได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ฐานอิทธิเพื่อจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑสถานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในช่วงการรบที่เขาค้อ โดยเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ พ.ศ.2527 พิพิธภัณฑ์มีส่วนจัดแสดงกลางแจ้ง ที่แสดงรถถัง เฮลิคอปเตอร์ หลุมหลบภัย ซึ่งใช้ในการรบ และส่วนจัดแสดงในอาคาร ประกอบด้วยอาคารจัดแสดง จำนวน 2 หลัง อาคารจัดแสดงที่ 1 เป็นอาคารชั้นเดียว โดยส่วนล่างของอาคารเจาะพื้นลงไปเป็นห้องใต้ดิน รูปทรงอาคารที่ปรากฏจึงมีเพียงครึ่งส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินภายในเป็นห้องโถง จัดแสดงอาวุธ เครื่องแบบทหาร ภาพถ่ายและคำบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับการรบที่สมรภูมิเขาค้อ อาคารจัดแสดงที่ 2 เป็นอาคารศูนย์อำนวยการยิงตามสภาพการใช้งานเดิม ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว ภายในอาคารจัดแสดงเครื่องมือบรรทัดตารางการยิง กระสุนปืนใหญ่ หัวชนวนปืนใหญ่หุ่นจำลองเขตปฏิบัติการทางทหารที่เขาค้อ ฯลฯ พร้อมรายละเอียด คำบรรยายเป็นภาษาไทย

ข้อมูลจาก: กรมศิลปากร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. นามานุกรมพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย ภาคเหนือ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546. หน้า 46.
ชื่อผู้แต่ง:
-