พิพิธภัณฑ์ตรอกบ้านจีน


ตรอกบ้านจีนเป็นชุมชนค้าขายที่มีอายุมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่สอง มี วัดน้ำหัก หรือ วัดสีตลาราม เป็นศูนย์รวมจิตใจ บ้านเรือนเรียงตัวอยู่ร่วมกับภูมินิเวศของแม่น้ำปิงที่อุดมสมบูรณ์ ทำเลที่ตั้งเป็นทั้งจุดยุทธศาสตร์การรบในอดีต และเป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางการค้าขึ้นเหนือ คือ ล้านนาและเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่าที่อยู่ทางตะวันตก ส่งผลให้ผู้ที่เติบโตจากตรอกบ้านจีนประสบความสำเร็จในชีวิตหน้าที่การงานเป็นใหญ่เป็นโต ทั้งภาคธุรกิจ ราชการและการเมือง ตั้งแต่ในอดีตจวบจนปัจจุบัน ดังจะเห็นความมั่งคั่งรุ่งเรืองได้จาก เรือนพ่อค้า เรือนคหบดี ขุนนาง ที่มีความวิจิตร งดงาม และมีเอกลักษณ์ ทั้งเรือนไทย เรือนขนมปังขิง เรือนค้าขายที่ผสมระหว่างเรือนภาคกลางและเรือนภาคเหนือ เรียงรายอยู่ในตรอก ในพ.ศ. 2551 ลูกหลานตรอกบ้านจีนทั้งที่กรุงเทพและในตรอกบ้านจีน ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ ได้กลับมาร่วมกัน รวมกลุ่มตั้ง "ชมรมตรอกบ้านจีน" โดยมีคุณหญิง ทิพาพร สิตปรีชา เป็นประธานชมรม เพื่อดูแลรักษา ฟื้นฟูซ่อมแซมสมบัติของปู่ย่าตายายให้กลับมามีชีวิตชีวา โดยมี บริษัท สถาปนิก สุข จำกัดร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำการสำรวจเก็บข้อมูลคุณค่า และองค์ประกอบทางประวัติศาสตร์ของชุมชนและสถาปัตยกรรม เป็น แผนอนุรักษ์และฟื้นฟูตรอกบ้านจีน โดยได้รับการมีส่วนร่วมระบุปัญหา แนวคิดจากชาวชุมชนตรอกบ้านจีน เพื่อรักษาไว้ซึ่งชุมชนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเป็นชุมชนที่มีความน่าอยู่อย่างยั่งยืน ทุกวันนี้ ตรอกบ้านจีน ได้กลับมาเป็นที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ที่เป็นจุดเริ่มของเมืองตากในปัจจุบัน ที่ผู้คนจะยังพบเห็น ลักษณะเฉพาะของ “ตรอก” ที่ถูกขนาบด้วยสถาปัตยกรรมเรือนค้าขายที่ผสมผสานความเป็นภาคกลางและภาคเหนือ เรือนคหบดี เรือนพ่อค้า ที่เจ้าของรุ่นหลานรุ่นเหลนยินดีเปิดให้เข้าชม

ที่อยู่:
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ชุมชนตรอกบ้านจีน 764 ถ.ตากสิน ต.ระแหง อ.เมือง จ.ตาก 63000
โทรศัพท์:
055-511 631 ติดต่อ คุณหน่อย,คุณอุ๊,คุณจิ้งหรีด หรือโทร 055-511 665 ติดต่อ คุณวรรณ
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2548
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ตรอกบ้านจีน

บ้านจีน เป็นแหล่งชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต โดยมีชาวจีนชื่อ "จีนเต็ง" ได้ขยายกิจการค้าขายจากเมืองเชียงใหม่ลงมาถึงเมืองตาก และได้เข้าหุ้นส่วนค้าขายกับพ่อค้าอีก 2 คนคือ "จีนบุญเย็น" และ "จีนทองอยู่" ต่อมาได้เข้าไปอยู่ในระบบราชการไทยคือ กล่าวคือ "จีนบุญเย็น" ได้รับแต่งตั้งให้เป็น "หลวงนราพิทักษ์" ปลัดฝ่ายจีนเมืองตาก แล้วได้รับแต่งตั้งให้เป็น "หลวงจิตรจำนงวานิช" สังกัดกรมท่าซ้าย ส่วนจีนทองอยู่ได้เป็น "หลวงบริรักษ์ประชากร" กรมการพิเศษเมืองตาก อากรเต็งและหุ้นส่วนทั้งสองใช้ยี่ห้อการค้าว่า "กิมเซ่งหลี" ห้างกิมเซ่งหลีได้เข้ารับช่วงผูกขาดการจัดเก็บภาษีอาการ ที่เมืองเชียงใหม่จึงได้นำพวกคนจีนเข้ามาอยู่ละแวกบ้านนี้ หมู่บ้านนี้จึงมีแต่ลูกหลานจีนดำเนินการค้าขาย ปลูกบ้าน ร้านค้า เริ่มมีถนนหนทางแต่เป็นเพียงทางเดินเท้า ร้านค้าจะมีของขายทุกอย่าง ในซอยตรอกบ้านจีนจะมุงหลังคาบ้านชนกัน จึงเป็นที่ร่มใช้เดินถึงกันได้ตลอด มีร้านขายถ้วยชาม ร้านผ้า ร้านหนังสือเรียน ร้านเครื่องอัฐบริขารในการบวชพระ สถานที่ควรพูดถึงในสมัยนั้น คือ สะพานทองข้ามปากคลองน้อยซึ่ง "คุณย่าทอง ทองมา" เป็นผู้สร้าง 

ต่อมาปี 2495 ทางเทศบาลได้รื้อสะพานทองและถมเป็นถนน เริ่มมีรถยนต์ใช้ และหมู่บ้านก็เริ่มกั้นเขตแดนล้อมรั้ว ในปี 2497 มีรถยนต์เล็กๆ วิ่งเข้าออกได้ ตรอกบ้านจีนจึงเริ่มซบเซาลงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2484 ร้านค้าเปิดอพยพไปอยู่ที่อื่น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง การค้าขายจึงได้ขยายขึ้นไปทางทิศเหนือ ปัจจุบันบ้านจีนจึงเหลือแต่บ้านเก่าๆ ซึ่งยังคงลักษณะของสถาปัตยกรรมเดิมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ เหมาะสำหรับเดินทางเที่ยวชมสภาพบ้านเรือนโดยรอบและวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของ ชุมชนตรอกบ้านจีน1
   
สำหรับการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ตรอกบ้านจีน เกิดขึ้นจากความร่วมมือจากนักวิชาการและประชาชน โดยนางเกษร ชาวชุมชนระแหงได้ยกบ้านของตนในการใช้เป็นที่จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ

ข้อมูลจาก: เวบไซต์พิพิธภัณฑ์ชุมชนตาก [http://www.cmtak.com/index.php?menu=museum&museum_id=5 accessed 20090224]
ชื่อผู้แต่ง:
-