พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


อาคารพิพิธภัณฑ์แต่เดิมใช้เป็นโรงกษาปณ์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  เป็นอาคารที่มีรูปแบบตะวันตก ใช้ผลิตเงินตราใช้ในประเทศ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2525 ได้มีการบูรณะปฎิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้งพระอาราม  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเป็นแม่กองอำนวยการบูรณะ จึงได้ขอพระราชทานอาคารโรงกษาปณ์แห่งนี้ มาจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ แสดงศิลปวัตถุต่าง ๆ ที่พระมหากษัตริย์และประชาชนได้ถวาย ให้แก่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ชื่อเรียกอื่น:
พิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว
ที่อยู่:
พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์:
0-2222-0094, 0-2222-2208
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 8.30-15.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2525
ของเด่น:
เครื่องทรงทั้ง 3 ฤดู ของพระแก้วมรกต, ฉากลายรดน้ำรูปพระราชพิธีอินทราภิเษก, เครื่องแก้วเจียระไนและเครื่องถมอันสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระแก้วมรกต
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ชื่อผู้แต่ง: แน่งน้อย ศักดิ์ศรี | ปีที่พิมพ์: 2543

ที่มา: กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ จำกัด

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

คู่มือชมศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย: วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง เรื่องรามเกียรติ์สังเขปจากจิตกรรมฝาผนัง

ชื่อผู้แต่ง: นิดดา หงษ์วิวัฒน์ | ปีที่พิมพ์: 2541

ที่มา: กรุงเทพฯ: แสงแดดเพื่อนเด็ก

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

อาคารพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อใช้เป็นโรงกษาปณ์ผลิตเงินตราขึ้นใช้ในประเทศ คราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2525 ได้มีการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้งพระอาราม ในระหว่างนั้นมีชิ้นส่วนเครื่องตกแต่งของอาคารที่ชำรุดเสียหายจำนวนมาก แต่เป็นฝีมือชั้นครูที่น่าจะเก็บรักษาไว้เป็นตัวอย่างให้กับอนุชนรุ่นหลัง นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปกับสิ่งของที่พระมหากษัตริย์และประชาชนได้ถวายพระแก้วมรกตอีกจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเป็นแม่กองอำนวยการบูรณะจึงได้ขอพระราชทานอาคารโรงกษาปณ์แห่งนี้มาจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงศิลปวัตถุดังกล่าว

ชั้นล่าง จัดแสดงโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพระบรมมหาราชวัง อาทิชิ้นส่วนเครื่องตกแต่งสถาปัตยกรรมไทย พระพุทธรูป และรูปจำหลักหินที่เคยประดับสวนรอบพระอุโบสถ โดยมากเป็นตัวละครจากวรรณคดีไทย เช่น เจ้าเงาะกับนางรจนาจากเรื่องสังข์ทอง มโนราห์และพระสุธนจากเรื่องมโนราห์ สุพรรณมัจฉาและหนุมานจากเรื่องรามเกียรติ์ นางวิมาลาและไกรทองจากเรื่องไกรทอง รูปจำหลักทั้งหมดนี้ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้ย้ายมาจัดแสดงในอาคารแห่งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายจากดินฟ้าอากาศ นอกจากนี้ยังจัดแสดงกระดูกช้างเผือก สัตว์คู่พระบารมีขององค์พระมหากษัตริย์ไทย ห้องจัดแสดงชั้นล่างนี้ยังมีปืนใหญ่โบราณที่เคยตั้งอยู่ตามป้อมรอบพระบรมมหาราชวังมาเก็บรักษาไว้ด้วย

ชั้นบน บริเวณมุขด้านหน้าของอาคารจัดแสดงหุ่นจำลองของพระมหาราชวังซึ่งมีอยู่ 2 แบบ แบบหนึ่งแสดงอาคารจำลองในสมัยรัชกาลที่ 1 และอีกแบบแสดงถึงอาคารในรัชกาลปัจจุบัน ด้านหลังจัดแสดงพระพุทธรูปปางต่างๆ ตลอดจนเหรียญพระแก้วมรกตที่สร้างขึ้นเมื่อบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ส่วนข้างบันไดทางขึ้นไปสู่ห้องโถงกลางมีพระแท่นขนาดเตี้ย ประดับมุกเรียกว่า พระแท่นทรงสบายตั้งอยู่ ซึ่งนำมาจากพระที่นั่งพิมานรัตยา เคยใช้เป็นที่ประทับทรงสบายและบางครั้งให้ขุนนางเฝ้าอย่างไม่เป็นทางการ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ปลายสุดของห้องโถงกลางตั้งพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ ที่ประทับของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงอัญเชิญมาจากสุโขทัย ระหว่างทรงผนวชในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ริมผนังทั้งสองด้าน ตั้งพระพุทธรูปจำหลักหินภูเขาไฟแบบชวาปางต่างๆ 4 องค์ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงอัญเชิญมาจากพุทธสถานบนเกาะชวา พระพุทธรูปเหล่านั้นเคยตั้งอยู่ที่ 4 มุมของพระมณฑป 

สองข้างโถงกลางแบ่งเป็นห้อง 4 ห้อง ห้องด้านขวามือของพระแท่นมนังคศิลาอาสน์เป็นห้องเก็บเครื่องทรงทั้ง 3 ฤดู ของพระแก้วมรกตกับพระพุทธรูปสำคัญ อีกทั้งเครื่องเงินเครื่องทอง เชี่ยนหมากยอดทองคำ เป็นต้น ห้องตรงข้ามแสดงฉากขนาดใหญ่เป็นลายรดน้ำรูปพระราชพิธีอินทราภิเษก ซึ่งเคยตั้งอยู่ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระฉากนี้นับเป็นงานประณีตศิลป์ฝีมือยอดเยี่ยมที่สุดชิ้นหนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อเดินกลับมายังห้องจัดแสดงห้องแรก ผู้ชมจะได้ชมเครื่องแก้วเจียระไนและเครื่องถมอันสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระแก้วมรกต ห้องสุดท้ายแสดงพระพุทธรูปขนาดเล็กทำด้วยหินน้ำค้างมีเครื่องประดับพระเศียร พระพุทธรูปงาและพระพุทธรูปสำริดที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายเป็นพุทธบูชาจำนวนมากมาย

ข้อมูลจาก : แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คจำกัด, 2543.
ชื่อผู้แต่ง:
-