สถาบันคึกฤทธิ์


ที่อยู่:
เลขที่ 99/9 (ข้างสมาคมธรรมศาสตร์) ซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120
โทรศัพท์:
02-286-5385, 02-286-5386
โทรสาร:
02-286-5387
วันและเวลาทำการ:
วันอังคาร-วันเสาร์ เวลา 10.00 – 16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2554
ของเด่น:
นิทรรศการ 3 ห้อง
เนื้อหา:

โดย:

วันที่: 14 พฤศจิกายน 2555

โดย:

วันที่: 14 พฤศจิกายน 2555

โดย:

วันที่: 14 พฤศจิกายน 2555

โดย:

วันที่: 14 พฤศจิกายน 2555

โดย:

วันที่: 14 พฤศจิกายน 2555

โดย:

วันที่: 14 พฤศจิกายน 2555

โดย:

วันที่: 14 พฤศจิกายน 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวสถาบันคึกฤทธิ์

ในวันที่ 20 เมษายน  ปีพุทธศักราช 2554  ในวาระครบรอบ 100  ปีชาตกาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ปีพุทธศักราช 2528 ได้รับการประกาศเกียรติคุณยกย่องโดยองค์การ UNESCOเป็น “บุคคลสำคัญของโลก”จากผลงานของท่านใน 4 สาขา ได้แก่ สาขาสื่อสารมวลชน สาขาศิลปวัฒนธรรม สาขาสังคมศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์
 
ในวาระเดียวกัน สถาบันคึกฤทธิ์ก่อตั้งขึ้น ในการดูแลของมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80  ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยการน้อมนำพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระกรุณาพระราชทานแนะแนวทางที่จะเก็บรักษาปัญญาของศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ชนรุ่นหลังสามารถศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม  สถานที่ตั้งอยู่ในซอยงามดูพลี  ตัวอาคารอยู่ติดกับสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
 
คุณวัชรินทร์ ทองใบ เจ้าหน้าที่สถาบันคึกฤทธิ์ ได้พาชมสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นสถาบันคึกฤทธิ์  ส่วนแรกชั้นบน จัดทำเป็นห้องนิทรรศการ  บันไดทางขึ้นทั้ง 2 ทางของอาคารแห่งนี้ช่วยเพิ่มความสวยงามอลังการ  สถาปัตยกรรมมีการผสมผสานความเป็นไทยกับแบบสากล  มีการจำลองศาลาไทยไว้บริเวณระเบียง  มองลงไปด้านซ้ายคือ โรงละครสถาบันคึกฤทธิ์  
 
การจัดนิทรรศการของสถาบันคึกฤทธิ์แบ่งออกเป็น  3  ห้อง  แต่ละห้องคือการสั่งสมความรู้ความสามารถของท่าน  ห้องแรกเรียกว่าห้องความเป็นคึกฤทธิ์  แสดงให้เห็นความสนใจในด้านศิลปวัฒนธรรม  ท่านสนับสนุนส่งเสริมนาฏศิลป์ ดนตรีไทย มีบอร์ดเขียนตัวอักษรคำกล่าวของท่านให้คนรุ่นหลังและสถาบันการศึกษาเห็นความสำคัญของสิ่งที่เป็นของไทย  ในห้องนี้ยังแสดงให้เห็นความจงรักภักดีที่ท่านมีต่อพระบาทสมเด็จพระอยู่หัวฯอย่างสูงสุด
 
ด้านวรรณกรรม  บทประพันธ์ของท่านหลายเรื่องเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมและมีความเป็นอมตะ โดยเฉพาะเรื่องสี่แผ่นดิน  ที่โดดเด่นทางด้านวรรณศิลป์ เนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ไทย วัฒนธรรมประเพณีไทยแบบชาววัง   ห้องนี้ได้นำผลงานการประพันธ์ของท่านเป็นรูปเล่ม นำมาจัดซ้อนเรียงกันสูงขึ้นไปจนเกินความสูงของระดับคนทั่วไป  ที่เห็นเป็นแบบจำลองขนาดเล็กดูมีเรื่องราวคือการจำลองฉากในวรรณกรรมของท่าน อาทิเช่น  สี่แผ่นดิน กาเหว่าที่บางเพลง มอม  นอกจากนี้ผลงานของท่านยังมีเรื่องสั้น เรื่องแปล เรื่องศาสนา วิจารณ์การเมือง
 
ห้องต่อมาเป็นห้องประวัติชีวิต  ห้องนี้นำเสนอผ่านภาพถ่ายขยายใหญ่ ในหลากหลายบทบาทสำคัญของท่าน  ท่านเป็นนักการเมืองที่ได้ตำแหน่งสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย  เป็นนายธนาคารมืออาชีพ เป็นนักหนังสือพิมพ์  และท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งโขนธรรมศาสตร์  เป็นทั้งผู้อุปถัมภ์  ผู้อำนวยการฝึกซ้อม ผู้คัดบทและประชาสัมพันธ์  เราจะเห็นภาพท่านสวมชุดโขน ซึ่งโขนธรรมศาสตร์ปัจจุบันยังคงยืนยงอยู่อย่างสง่างาม  และครั้งหนึ่งท่านยังไปเล่นหนังฮอลลีวู๊ด โดยรับบทเป็นนายกรัฐมนตรีเมืองสารขันฑ์  ในห้องนี้มีส่วนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนั้นฉายให้ชมด้วย
 
อีกห้องหนึ่งให้ชื่อว่า ห้องนักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองที่ชื่อ “คึกฤทธิ์”  ห้องนี้จัดบรรยากาศภายในให้รู้สึกว่ามีผู้คนมากมาย  มีบทบาทของท่านช่วงที่เป็นนักการเมือง ท่านเป็นผู้ก่อตั้งพรรคกิจสังคม  มีแผ่นป้ายช่วงการหาเสียงเลือกตั้งแขวนไว้  ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย  มุมหนึ่งมีผลงานเด่นของท่านในการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน  หลังจากก่อนหน้านี้ขาดความสัมพันธ์ต่อกันมานาน  ในห้องนี้ได้คัดเอาประโยคและวลีเด่นๆของท่านมาติดไว้อย่างมากมาย ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์และการ์ตูนล้อการเมือง และยังได้จำลองบรรยากาศโต๊ะทำงานของท่านที่โรงพิมพ์สยามรัฐตอนเริ่มก่อตั้ง  มีต้นฉบับลายมือจริงและเครื่องใช้ในอาชีพนักหนังสือพิมพ์  “ซอยสวนพลู”คือคอลัมน์ที่ท่านเขียนลงในสยามรัฐ
 
หลังพานำชมทั้ง 3 ห้อง  คุณวัชรินทร์พาไปที่ห้องสมุดของสถาบันคึกฤทธิ์  ซึ่งอยู่ในช่วงของการจัดทำ  การตกแต่งสวยงามและยินดีต้อนรับผู้ที่จะมานั่งอ่านหนังสือ ค้นคว้าหาข้อมูล  ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของสถาบันคึกฤทธิ์คือ การรวบรวมผลงานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ที่มีอยู่มากมาย  ทั้งเป็นหนังสือ บทความ และตามสื่อต่างๆ นำมาเก็บรักษาและเผยแพร่ไว้ที่นี่
 
จากนั้นคุณวัชรินทร์ ได้พาเดินลงไปยังโรงละครสถาบันคึกฤทธิ์  โรงละครขนาดเล็กที่สวยงามสมบูรณ์แบบ  มีที่นั่งต่างระดับสำหรับผู้ชม 200 ที่นั่ง  เวทีการแสดงกว้างขวางสง่างาม  สามารถเปิดบานเฟี้ยมขนาดใหญ่ทำเป็นฉากหลังของเวที  เมื่อแสงสว่างส่องเข้ามาในห้อง  ด้านนอกเป็นสวนโล่งมองเห็นต้นไม้สีเขียวในสวนสาธารณะ โรงละครแห่งนี้สามารถจัดการแสดงได้ทั้งแบบกลางแจ้ง  และแบบห้องปิดใช้แสงสีเสียงในห้องปรับอากาศ  ออกจากโรงละครฝั่งสวน อีกจุดหนึ่งที่คุณวัชรินทร์พาเดินมาชมคือ บริเวณรูปปั้นขนาดใหญ่ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  กำลังนั่งในอิริยาบถสบายมองไกลออกไป
 
การดำเนินงานของสถาบันคึกฤทธิ์ ในช่วงประมาณหนึ่งปี ได้ทำกิจกรรมหลายงาน  คุณอัจฉรา คำเมือง ผู้จัดการสถาบัน และคุณตรีรัตน์ เรียมรักษ์ หัวหน้าสำนักงาน ได้มาร่วมพูดคุย  งานใหญ่ที่เพิ่งจัดผ่านไปคืองาน 100 ปีชาตกาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  วันที่ 21 เมษายน หลังวันเกิดท่านหนึ่งวัน ได้จัดมหกรรมการแสดงพื้นบ้านภาคกลาง มีเพลงทรงเครื่องโดย “ขวัญจิต ศรีประจันต์”ศิลปินแห่งชาติ ลิเกทรงเครื่อง โดยคณะวิโรจน์ ศิษย์หอมหวน ละครชาตรี จากจังหวัดเพชรบุรี และสนุกกับ จำอวดหน้าม่าน โย่ง เชิญยิ้ม
 
ทุกวันอาทิตย์ที่นี่เปิดสอนโขน ดนตรีไทย  โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  ขณะนี้มีผู้เรียนในแต่ละระดับรวมทั้งหมดประมาณ 150 คน มีตั้งแต่อายุ 7 ปีไปจนถึง 40 ปี  ดนตรีไทยที่เปิดสอนมี ขลุ่ย ขิม จะเข้ ระนาด อาจารย์ที่มาสอนท่านมาด้วยใจรัก  หลายท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ  หนึ่งในแผนงานของสถาบันคือ จะให้เด็กๆและผู้เรียนได้เปิดการแสดงในโรงละคร  ให้มีผู้เข้าชม การดำเนินงานของสถาบัน คุณอัจฉราย้ำว่าเราให้ความสำคัญกับชุมชนมาก เวลามีการแสดงในโรงละคร ได้ประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนเข้าชมฟรี ซึ่งทางธนาคารกรุงเทพ ได้นำการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมมาจัดแสดง ในนามศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กำหนดการแสดงวันเสาร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน เวลา 16.00-18.00 น. มีให้ชมฟรีไปตลอดทั้งปี มีทั้งลิเกคณะต่างๆ ละครนอกเรื่องไกรทอง ละครชาตรีเรื่องพระสุธน-มโนราห์ การแสดงวิพิธทัศนา ละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า ละครดึกดำบรรพ์เรื่องคาวี  ศิลปะการแสดงพื้นเมืองภาคต่างๆ และการบรรเลงดนตรีไทยสากลส่งท้ายปีเก่า โดย วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ นำโดย คุณโฉมฉาย อรุณฉาย
 
ในอนาคตการทำกิจกรรมของสถาบันคึกฤทธิ์  ตั้งใจที่จะประสานความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่กำลังก่อสร้างในพื้นที่ติดกัน  เพื่อเพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรมแบบสร้างสรรค์ให้กับเยาวชน และมีความพร้อมสำหรับการจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ สถานศึกษา หรือการรับจัดงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสัมมนา งานเลี้ยงสังสรรค์  งานเปิดตัวหนังสือ ภายในตัวอาคารโอ่โถงสวยงาม สามารถใช้พื้นที่โรงละคร สถานที่จอดรถกว้างขวาง
 
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนาม วันที่ 8 พฤษภาคม 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง : จากถนนพระราม 4 เข้าซอยงามดูพลี(ตรงข้ามบ่อนไก่) เข้าไปจนสุดซอยถึงกรมการบินพลเรือน  สถาบันคึกฤทธิ์อยู่ติดกัน  ในบริเวณเดียวกับสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ฝั่งตรงข้ามเป็นด้านข้างของสมาคมธรรมศาสตร์ฯ
ถ้าไปทางรถไฟฟ้าใต้ดิน ให้ลงที่สถานีสวนลุมพินี  แล้วนั่งมอเตอร์ไซด์รับจ้างต่อเข้าไปในซอยงามดูพลี
-----------------------------------------------
อ้างอิง  :  ข้อมูลการสัมภาษณ์ วันที่ 8 พฤษภาคม 2555
               แผ่นพับประชาสัมพันธ์สถาบันคึกฤทธิ์
               สถาบันคึกฤทธิ์.(2554). ค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2555, จาก http://kukrit-pramoj.org
ชื่อผู้แต่ง:
-