พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม


พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมสายใยชุมชนตำบลนครชุม ตั้งอยู่ภายในวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง ตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมและการจัดแสดงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น โดยแยกประเภทของเรื่องราวมรดกวัฒนธรรมไว้ดังนี้ โบราณสถาน อาทิ วัดซุ้มกอ วัดหนองพิกุล วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดพรเจดีย์ทอง เป็นต้น โบราณวัตถุและข้าวของเก่า อย่างเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากิน เครื่องใช้ภายในครัวเรือน และเครื่องประดับ รวมถึงเรื่องราวของบุคคลสำคัญของตำบลนครชุม และเรื่องราวของอดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ

ที่อยู่:
วัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร 62000
โทรศัพท์:
055-799218(วัด),081-7853826(เจ้าอาวาส),084-6888138(อ.สุภิตรา)
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน 07.30-17.30 น. หากต้องการผู้นำชมหรือยุวมัคคุเทศก์ กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม(มีตู้รับบริจาค)
ปีที่ก่อตั้ง:
2546
ของเด่น:
พระบรมธาตุนครชุม,เครื่องสังคโลก,พระกรุเมืองกำแพงเพชร,นิทรรศการเมืองโบราณนครชุม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

เมืองโบราณนครชุมและพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดพระบรมธาตุ

ชื่อผู้แต่ง: ธีระวัฒน์ แสนคำ | ปีที่พิมพ์: 2553;2010

ที่มา: เอกสารหมายเลข 1 ชมรมเรารักกำแพงเพชร เมืองมรดกโลก.จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระศรีวชิราภรณ์ รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชวชิรเมธี

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 06 มีนาคม 2557

ค้นพบใหม่จากพิจิตร: จารึกการสร้างหลวงพ่อเพชรจำลอง วัดนครชุม

ชื่อผู้แต่ง: ธีระวัฒน์ แสนคำ | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 37 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค. 2554;Vol.37 No.1 Jan-Mar 2011

ที่มา: วารสารเมืองโบราณ

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 03 ธันวาคม 2556

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม วัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร

ชื่อผู้แต่ง: ธีระวัฒน์ แสนคำ | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 36 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2553;vol. 36 No.4 October-December 2010

ที่มา: วารสารเมืองโบราณ

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 20 มิถุนายน 2557


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม

เมื่อพูดถึงกำแพงเพชร หลายคนคงนึกถึงเมืองโบราณเก่าแก่ ที่มีโบราณสถานที่เป็นเอกลักษณ์และน่าสนใจมากมาย จนได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ร่วมกับสุโขทัยและศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และแน่นอนโบราณวัตถุสำคัญที่มีการค้นพบในการขุดแต่งโบราณก็ต้องถูกเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

เช่นเดียวกันหากพูดถึงเมืองโบราณนครชุม เมืองโบราณเก่าแก่เท่าสมัยกับอาณาจักรสุโขทัย ที่สร้างอยู่ริมแม่น้ำปิง ฝั่งตรงกันข้ามกับเมืองกำแพงเพชร เราท่านทั้งหลายก็ต้องคงนึกถึงพระบรมธาตุนครชุม โบราณสถานที่สำคัญและเป็นพระมหาธาตุประจำเมืองนครชุม 

เมืองโบราณนครชุม เป็นเมืองที่มีกำแพงดิน 3 ชั้น ขนานกับแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตกและคลองสวนหมาก กำแพงเมืองด้านกว้าง ประมาณ 500 เมตร ด้านยาวประมาณ 2,900 เมตร ปัจจุบันกำแพงเมืองเหลือเพียงบางตอน ภายในกำแพงเมืองถูกรื้อและปรับพื้นที่เป็นบ้านเรือนราษฎรเกือบหมด คงเหลือโบราณสถานภายในกำแพงเมืองไม่กี่แห่ง ที่สำคัญคือวัดพระบรมธาตุนครชุม โบราณสถานสำคัญของเมือง ที่ปัจจุบันเป็นเจดีย์แบบพม่า 

นอกจากโบราณสถานภายในเมืองแล้ว ยังมีโบราณสถานในเขตอรัญญิก ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองได้รับการบูรณะให้อยู่ในสภาพดีขึ้นหลายแห่ง เช่น วัดซุ้มกอ วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดหนองลังกา วัดหม่องกาเล และป้อมทุ่งเศรษฐี หลังจากการบูรณะขุดแต่งโบราณสถานภายในเมืองโบราณนครชุมของกรมศิลปากรเสร็จสิ้น ทำให้เกิดการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเมืองโบราณแห่งนี้เพิ่มมากขึ้น องค์กรต่างๆ ในท้องถิ่นก็ต่างเล็งเห็นความสำคัญของโบราณสถานและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ 

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม เกิดจากดำริของท่านเจ้าคุณพระศรีวชิรา ภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร (มหานิกาย) ที่ได้เล็งเห็นว่าการอนุรักษ์และรวบรวมโบราณวัตถุและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ไว้ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งของอนุชนรุ่นหลัง ท่านจึงได้รวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดพบภายในวัดและที่พุทธศาสนิกชนนำมาบริจาคให้ทางวัด จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้น นอกจากนี้ยังรับบริจาคเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตของชาวนครชุมในอดีตจากพุทธศาสนิกชน ทำให้มีผู้นำสิ่งของมาบริจาคเป็นจำนวนมากด้วย

โบราณวัตถุต่างๆ ถูกนำมาจัดแสดงไว้ที่อาคารทรงไทย 2 ชั้น 3 หลังเชื่อมติดกัน ชั้นบนเป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ อาทิเช่น ขวานหินขัดและภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เครื่องสังคโลก เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องเขิน ภาชนะทองเหลือง พระกรุเมืองกำแพงเพชร-นครชุม ฉัตรพระบรมธาตุสมัยรัชกาลที่ 5 พัดรองที่ระลึก เงินโบราณ ตราชั่งโบราณ ตราสัญลักษณ์และอุปกรณ์ไปรษณีย์โทรเลข เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวนครชุมในอดีต รวมถึงการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองโบราณนครชุมและการเสด็จประพาสต้นของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5

ส่วนชั้นล่างถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นห้องโถงใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและจัดกิจกรรมต่างๆ ส่วนที่ 2 เป็นห้องที่ใช้สำหรับการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับเมืองโบราณนครชุม วัดพระบรมธาตุและพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสำหรับผู้มาเยือนที่มาเป็นหมู่คณะและต้องการฟังบรรยายข้อมูล ในบางครั้งก็ใช้เป็นที่ประชุมของพระสังฆาธิการในจังหวัดกำแพงเพชรด้วย ส่วนที่ 3 อยู่ด้านหลังเป็นห้องน้ำที่มีอยู่กว่าสิบห้อง ไว้สำหรับบริการผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน

นอกจากนี้สถานศึกษาในชุมชนยังมียุวมัคคุเทศก์ซึ่งได้ผ่านการอบรมยุวมัคคุเทศก์โดยวิทยากรจากกลุ่มประวัติศาสตร์สองข้างทาง ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คอยทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวแทนชุมชนรอต้อนรับนักท่องเที่ยวและแขกผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในช่วงปิดภาคเรียนและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ด้วย 

ที่มา: ธีรวัฒน์ แสงคำ. “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม”.ใน ก้าวไปด้วยกัน จุลสารเพื่อชุมชนพิพิธภัณฑ์. ศูนย์มานุษยาวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 มิถุนายน-กันยายน 2553

ชื่อผู้แต่ง:
-