พิพิธภัณฑ์วัดสามชุก


ที่อยู่:
วัดสามชุก เลขที่ 3 หมู่ 1 ตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
โทรศัพท์:
035-571791
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2536
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดสามชุก

พิพิธภัณฑ์วัดสามชุก ตั้งอยู่ภายในวัดสามชุก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เป็นวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับตลาดสามชุกอันเลื่องชื่อ แต่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำและมีอายุเก่าแก่กว่าตลาดร้อยปี นับย้อนไปถึงถึงสมัยอยุธยาเลยทีเดียว ทะเบียนวัดของสำนักงานศึกษาการอำเภอสามชุก ประมาณว่าสร้างราว พ.ศ. 2300 เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดอัมพวัน มาเปลี่ยนเป็น วัดสามชุก ภายหลัง เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2481
 
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดจากความตั้งใจของหลวงพ่อพระสมุห์ใส ติกขวีโร ได้ขอบริจาคสิ่งของจากญาติโยมและรวบรวมจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วยใจรัก จุดเริ่มต้นคือหลวงพ่อไปเห็นพิพิธภัณฑ์ของหลวงพ่อเดิมที่ จ.นครสวรรค์ และอยากทำพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ภายในวัดบ้าง จึงเริ่มกลับมาทำพิพิธภัณฑ์ที่วัดสามชุกบ้าง ของสิ่งแรกที่หลวงพ่อเริ่มเก็บก็คือระฆังเก่าแก่ 3 ใบของวัด
 
นับจากวันนั้นปัจจุบันหลวงพ่อพระสมุห์ใส ติกขวีโร ท่านก็เป็นผู้เฝ้าพิพิธภัณฑ์ตลอดจนนำชมให้แก่ผู้สนใจ ที่เข้ามาเที่ยวชมและสอบถามข้อมูล หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังว่ารวบรวมและจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาได้ราว 17 ปีโดยประมาณ โดยนำสิ่งของที่ได้รับบริจาคมาหรือของเก่าที่มีอยู่แล้วในวัดมาจัดแสดงเป็นส่วนเล็กๆ ใต้กุฏิ ต่อมาเมื่อของมากขึ้น จึงได้ขยับขยายกุฏิทำหลังคาเพิ่มบริเวณชั้น 1 และได้ทำกุฏิหลังนี้ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเต็มรูปแบบ
 
หลวงพ่อเล่าว่าความเก่าแก่ของวัดนี้ว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยามีหลักฐานสำคัญคือ หงส์สำริด ปูนปั้นประดับอาคารแบบอยุธยา ซึ่งปัจจุบันอาคารในวัดได้สร้างใหม่หมดแล้ว รอยพระพุทธบาทในวัดก็เช่นกัน บริเวณชั้น 1 ส่วนที่ใกล้ประตูจะมีตู้จัดแสดงก่อนประวัติศาสตร์ เช่น หม้อไหต่างๆ ลูกปัดโบราณยุคทวาราวดีที่เจอในแม่น้ำสุพรรณบุรี และพบตามพื้นดินภายในวัด ถัดไป เป็น ตู้สะสมแสตมป์และแบงค์นานาชาติที่มีผู้บริจาคมาทั้งสิ้น โครงกระดูกมนุษย์ที่พระเอาไว้ปลงสังเวช และพระเครื่อง พระพิมพ์รุ่นต่างๆ รูปถ่ายของพระรุ่นต่างๆ ที่เคยจำพรรษาอยู่ในวัด
 
สิ่งที่ดูแล้วแปลกตาน่าตื่นเต้นก็คือตะบันหมากอันมโหฬาร ใหญ่จนเกือบเท่าร่ม หลวงพ่อเล่าว่าเป็นสมบัติของเจ้าอาวาสวัดสามชุกคนแรก อายุประมาณ 300 ปีมาแล้ว หม้อไหโบราณที่ขุดพบในแม่น้ำ บางชิ้นก็มีผู้นำมาบริจาค บางชิ้นหลวงพ่อก็ซื้อมาเก็บไว้ด้วยความเสียดาย ถัดไปเป็น ระฆัง 3 ใบที่เป็นจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อาวุธมีด ดาบ โบราณที่ชาวบ้านขุดเจอหรือบางอันหลวงพ่อบอกว่าได้มาจากค่ายบางระจันของแท้ อุปกรณ์ที่น่าสนใจและมีป้ายติดเอาไว้ตัวโตว่า “แม่แรงมหาศาล” หลวงพ่อเล่าว่าเป็นแม่แรงที่ใช้ดีดยกศาลาไม้สมัยก่อน ลองยกดูปรากฏว่าหนักมากยกไม่ขึ้นหลวงพ่อยิ้มและบอกว่าต้องใช้แรงผู้ชายหลายคนช่วยกันยก ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว
 
อีกด้านหนึ่งหลวงพ่อได้นำเรือขุดขนาดยาวมาตั้งตู้จัดแสดงพระพุทธรูปและหม้อไหโบราณได้อย่างน่าดู  ถัดมาเป็นตู้วางเตารีดถ่าน ใกล้กับบันไดทางขึ้นชั้นที่ 2 และตู้เก็บเหรียญสำคัญต่างๆ ก่อนขึ้นไปชั้นสอง มีตู้จักแสดงเครื่องกระเบื้องลายครามสวยๆ ชามตราไก่ และเครื่องปั้นดินเผา มากมาย
 
เมื่อขึ้นไปบนชั้นสอง ก็จะพบกับตู้จัดแสดงสิ่งของจำนวนมากอีกเช่นกัน ส่วนแรกคือเครื่องเคลือบเขียวไข่กา กาน้ำชาโบราณ หมอนสูบฝิ่น และอาวุธโบราณที่ชาวบ้านขุดเจอและนำมาบริจาค ถัดไปเป็นหีบวางเรียงตั้งแต่ใบใหญ่ไปจนถึงใบเล็กที่สุด จากพื้นจรดเพดาน เครื่องบดยา โอ่งไหต่างๆ และจักรยานโบราณที่ติดชื่อเจ้าของและเบอร์ติดต่อไว้พร้อม ด้านในมีตู้พระเครื่องหายากซึ่งหลวงพ่อบอกว่าเคยมีผู้แฝงตัวมาเข้าชมและแอบขโมยไป หลวงพ่อจึงต้องติดกล้องวงจรปิดจึงค่อยคลายกังวล ด้านในมีตู้แสดงเปลือกหอยทะเล เขากวางหายาก ด้านในสุดเก็บจัดแสดงพระพุทธรูปโลหะปางต่างๆ และพระคัมภีร์ ใบเสมาหินเก่าแก่ของวัดและเครื่องไม้เครื่องมือมากมาย นับว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีข้าวของหลากหลาย แต่เมื่อหลวงพ่อพระสมุห์ใส ติกขวีโร ได้กรุณานำชมก็ทำให้เราเพลิดเพลินไปกับการดูข้าวของต่างๆ 


หลวงพ่อบอกว่าตอนนี้ที่ตลาดสามชุก และวัดสามชุกร่วมกันทำเรือท่องเที่ยว นำนักท่องเที่ยวจากตลาดสามชุกล่องเรือตามแม่น้ำสุพรรณบุรีมาที่วัด และมีมัคคุเทศก์น้อยที่ฝึกมา  อย่างดีนำชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้อย่างคล่องแคล่วผ่อนแรงหลวงพ่อไปเยอะ ถ้าหากใครมาเที่ยวที่ตลาดสามชุก ทุกวันเสาร์-อาทิตย์สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานตลาดสามชุก ส่วนพิพิธภัณฑ์ที่วัดสามชุกเปิดทุกวัน ตามเวลาราชการ

ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนามวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553
ชื่อผู้แต่ง:
-