พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป


พิพิธภัณฑ์วัดพระรูปเกิดขึ้นจากดำริของพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (ดี จตฺตมโล) หรือหลวงพ่อดี และชาวบ้านชุมชนย่อยวัดพระรูป ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2533 เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น ในครั้งนั้นเมื่อสร้างอาคารเสร็จจึงได้ปรับพื้นที่ชั้นบนเป็นที่จัดแสดงพระพุทธบาทไม้และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไว้เป็นเบื้องต้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 จึงได้เริ่มกระบวนการฟื้นฟูการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปขึ้น จากความประสงค์ของกลุ่มประชาคมวัดพระรูป ภายใต้การนำของพระครูสังฆรักษ์วุฒิพันธุ์ สิริธโร (เพ็งสุวรรณ) เจ้าอาวาสวัดพระรูป คณะกรรมการวัดพระรูป ชาวชุมชนวัดพระรูป ตลอดจนเครือข่ายชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ ที่ต้องการจะฟื้นฟูและสืบสานงานพิพิธภัณฑ์ที่เคยริเริ่มไว้ตั้งแต่สมัยพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) โดยได้รับการสนับสนุนงานทางด้านวิชาการจากคณะนักวิจัย สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในจัดแสดงประวัติความเป็นมาของวัด โบราณวัตถุที่สำคัญที่เป็นสมบัติเก่าแก่ของวัด อาทิ พระพุทธบาทไม้ พระพิมพ์ดินเผา พระพุทธรูปสมัยต่างๆ คัมภีร์ใบลาน เป็นต้น

ที่อยู่:
วัดพระรูป ถ.ขุนช้าง ต.ท่าพี่เลี้ยง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72000
โทรศัพท์:
086-0684-065, 089-1095-650, 035-543052, 081-9211783
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
museum@watphrarup.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2530
ของเด่น:
พระพุทธบาทไม้ พระพุทธรูปสมัยสุพรรณภูมิ พระพิมพ์
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

ผังจัดแสดงพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป...

โดย: พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

วันที่: 18 สิงหาคม 2565

พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป...

โดย: พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

วันที่: 18 สิงหาคม 2565

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

ชื่อผู้แต่ง: ศรัณย์ ทองปาน | ปีที่พิมพ์:

ที่มา: วารสารเมืองโบราณ

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


การจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

        พิพิธภัณฑ์วัดพระรูปเกิดขึ้นจากดำริของพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (ดี จตฺตมโล) หรือหลวงพ่อดี และชาวบ้านชุมชนย่อยวัดพระรูป ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2533 เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น ในครั้งนั้นเมื่อสร้างอาคารเสร็จจึงได้ปรับพื้นที่ชั้นบนเป็นที่จัดแสดงพระพุทธบาทไม้และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไว้เป็นเบื้องต้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 จึงได้เริ่มกระบวนการฟื้นฟูการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปขึ้น จากความประสงค์ของกลุ่มประชาคมวัดพระรูป ภายใต้การนำของพระครูสังฆรักษ์วุฒิพันธุ์ สิริธโร (เพ็งสุวรรณ) เจ้าอาวาสวัดพระรูป คณะกรรมการวัดพระรูป ชาวชุมชนวัดพระรูป ตลอดจนเครือข่ายชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ ที่ต้องการจะฟื้นฟูและสืบสานงานพิพิธภัณฑ์ที่เคยริเริ่มไว้ตั้งแต่สมัยพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) โดยได้รับการสนับสนุนงานทางด้านวิชาการจากคณะนักวิจัย สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
       
ในปี 2563 คณะนักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับทุนสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสภาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ให้ดำเนินการจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เหมาะสมกับสังคมไทยในศตวรรษที่ 21” (Research and Development of Temple Museum for Promoting a Lifelong Learning Center in the 21 Century: A Case Study of Wat Phrarub Museum, Suphan Buri Province) ประจำปีงบประมาณ 2563-2564
       
โครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายสำคัญคือ การจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปเป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์วัดที่เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เกิดจากความร่วมมือของคณะนักวิจัย คณะสงฆ์ และคนในชุมชน โดยมีคณะสงฆ์และคนในชุมชนเป็นผู้ถือครองพิพิธภัณฑ์และความรู้ท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต ผ่านการทำงานด้วย “กระบวนทัศน์ใหม่” (New Paradigm) ที่ใช้การวิจัยเป็นตัวนำ มุ่งเน้นการจัดทำพิพิธภัณฑ์ตามหลักวิชาการ มีการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ มีการเชื่อมโยงพิพิธภัณฑ์เข้ากับแหล่งเรียนรู้อื่นในพื้นที่ และมีการถอดบทเรียนกระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดตามกระบวนทัศน์ใหม่ โดยออกแบบการวิจัยให้อยู่ในลักษณะของกิจกรรมย่อย 7 กิจกรรม ที่ดำเนินงานภายใต้กรอบการวิจัย “3 สร้าง” ได้แก่ การสร้างองค์ความรู้ การสร้างนวัตกรรม และการสร้างคน
       
จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป นอกเหนือจากโบราณวัตถุศิลปวัตถุชิ้นสำคัญที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แล้ว คือการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่นำเสนอข้อมูลจากการวิจัยตามหลักวิชาการ ผ่านบทนิทรรศการที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์สำหรับผู้เข้าชมทุกเพศทุกวัย ผู้เข้าชมที่สนใจจริงยังสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในหนังสือคู่มือแหล่งเรียนรู้ประกอบการชมพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์วัดพระรูปนับเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เหมาะสมกับสังคมในยุคปัจจุบัน

ที่มา: https://watphrarup.com/

ชื่อผู้แต่ง:
พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

ตามคำบอกเล่าต่อๆกันมา  มีพระพุทธบาทไม้ที่แกะสลักจากไม้ประดู่ลอยมาตามน้ำ  แล้วชาวบ้านก็ช่วยกันนำขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระรูป  วัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอู่ทองตอนปลาย
 
พระพุทธบาทไม้ดังกล่าวคือ  สิ่งจัดแสดงอันล้ำค่าของพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป  จังหวัดสุพรรณบุรี โดยทางวัดนำไปอัดใส่กรอบกระจกทั้งด้านหน้าด้านหลังแล้วติดตั้งไว้บนเสาสองด้าน พิพิธภัณฑ์นี้มีพระสนั่น  ศรีอ้อมน้อย  เป็นผู้ดูแลและนำชม  ที่นี่เปิดให้เข้าชมทุกวัน  เพียงแจ้งความประสงค์กับพระสงฆ์ผู้ดูแล   พระสนั่นได้ชี้ให้ดูพระพุทธบาทไม้ที่ตั้งจัดแสดงไว้กลางห้องพิพิธภัณฑ์  ท่านบอกว่าการใส่กรอบกระจกไว้เพื่อป้องกันความเสียหาย  พระพุทธบาทไม้นี้ลอยมาตามน้ำแล้วมีผู้พบเห็นจึงได้ช่วยกันนำขึ้นมาจากน้ำ   ในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านให้ดูที่กระดานดำที่เขียนบอกไว้ว่า
 
"ฉันได้รับข่าวเล่ากันต่อๆมาว่า  ฝ่าพระพุทธบาทนี้ลอยน้ำมาแต่เหนือกับพระพุทธรูปหนึ่งองค์นี้ก่อนกรุงเก่า  พระแจงวินัยจรผู้จัดการชักชวนสัปรุษสร้างมณฑปขึ้นที่วัดพระรูปเมื่อขึ้นสิบเอ็ดค่ำเดือนสี่ปีฉลู  พระพุทธศักราชล่วง 2455 พรรษา  มาสำเร็จขึ้นสามค่ำเดือนเจ็ด  ปีมะโรง  พระพุทธศักราชล่วง 2459  พรรษา..."
 
ในความเป็นมาของวัดนี้  พระสนั่นบอกว่าไม่ได้มีการเขียนบอกไว้  ถ้าจะดูความเก่าแก่  ให้ดูได้จากพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่อยู่ด้านหน้าวัด  ปัจจุบันมีการสร้างอาคารคลุมไว้  พระพุทธรูปองค์นี้มีพระพักตร์งดงาม  มีความยาวจากเศียรถึงพระบาท  13 เมตร  ความสูง  3  เมตร  โดยชาวบ้านจะเรียกว่า  เณรแก้ว  และจากหลักฐานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป  เจดีย์  ได้มีผู้สันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอู่ทอง
 
พระพุทธรูปที่จัดแสดงมีทั้งพระพุทธรูปเก่าและใหม่  นอกจากนี้ก็มีตู้พระไตรปิฎก  ใบเสมาของโบสถ์หลังเก่า  ซึ่งจะมีจำนวนหนึ่งที่เป็นของโบสถ์เก่าหลังที่เป็นแบบมอญ  หลังนี้เมื่อก่อนอยู่กลางน้ำ  ในเวลาต่อมาเกิดความชำรุดทรุดโทรมจึงได้รื้อออก  ในส่วนของตู้เก็บเครื่องถ้วยชามเครื่องใช้  ส่วนนี้เป็นของใหม่เป็นของใช้ของหลวงพ่อดีในช่วงก่อนที่ท่านจะมรณภาพ  หลวงพ่อดีมรณภาพไปเมื่อปีที่แล้วขณะที่มีอายุ  97 ปี   ในช่วงที่หลวงพ่อดีท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่นี่   พระสนั่นบอกว่าท่านจะไม่ชอบให้มีงานมหรสพจัดกันภายในวัด   
 
สิ่งของจัดแสดงอื่นๆในพิพิธภัณฑ์นี้ได้แก่  ชามกระเบื้อง  เครื่องลายคราม  บาตรพระ  โอ่งดินเผา  โอ่งเขียว  ชุดน้ำชา  ตะเกียง  พาน  กล่องเก็บคัมภีร์  และในตู้กระจกตู้หนึ่งที่ดูสะดุดตา   อยู่ในบาตรพระจนเกือบเต็มคือเปลือกหอยจักจั่น  สมัยตอนที่ท่าน(พระสนั่น)ยังเป็นเด็กอายุประมาณสิบขวบ (ปัจจุบันท่านอายุ 72 ปี)  เด็กๆในสมัยนั้นยังมีเปลือกหอยจักจั่นร้อยเชือกห้อยไว้ที่คอ  โดยมีความเชื่อว่าจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุและภัยต่างๆที่จะเกิดกับเด็กๆได้  ซึ่งสมัยนี้ความเชื่อนั้นไม่มีแล้ว  โดยธรรมชาติเราจะพบหอยจั๊กจั่นในบริเวณป่ารก
 
ปัจจุบันวัตถุโบราณที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้  ทางกรมศิลปากรได้มาขึ้นทะเบียนไว้หมดแล้ว  ซึ่งทางวัดจะนำไปไว้ที่อื่นไม่ได้  แต่การดูแลยังเป็นของทางวัดเหมือนเดิม  ในอนาคตอันใกล้  ทางวัดมีแผนงานที่จะต่อเติมอาคารพิพิธภัณฑ์  โดยจะขยายอาคารไปทางด้านหน้า   และจะทำทางขึ้นพิพิธภัณฑ์ทางด้านหน้าของอาคาร  เพราะว่าปัจจุบันทางขึ้นมาชมพิพิธภัณฑ์อยู่ทางด้านข้าง   ทำให้บางคนไม่ทราบว่าที่นี่มีพิพิธภัณฑ์ 
 
ในเรื่องการเก็บรักษาวัตถุโบราณในพิพิธภัณฑ์    ก่อนหน้านี้ทางวัดไม่ได้ปิดล็อคกุญแจ  พิพิธภัณฑ์จึงเปิดอยู่ตลอด  โดยจะมีเฉพาะคนที่ให้เช่าวัตถุมงคลอยู่ด้านล่าง  ซึ่งวัดนี้จะมีชื่อเสียงในการเป็นกรุพระเครื่องขุนแผน  ทำให้พระพุทธรูปองค์หนึ่งหายไป   เป็นพระพุทธรูปยืน  สูงประมาณ 50 ซม. ในเวลาต่อมาท่านจึงได้รับมอบหมายให้ดูแลพิพิธภัณฑ์   โดยจะเปิดล็อคกุญแจห้องเมื่อมีคนมาติดต่อขอเข้าชม   ที่ผ่านมากลุ่มคนที่มาเยี่ยมชมส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่มากันเป็นหมู่คณะ  ในการประชาสัมพันธ์ได้มีสถานีโทรทัศน์มาถ่ายทำรายการอยู่หลายครั้ง  
 
ในช่วงปีสองปีมานี้คนมาวัดกันน้อยลง  ซึ่งท่านก็ไม่ทราบสาเหตุ  คนที่มาวัดก็จะมาถวายสังฆทาน  ส่วนที่มาดูพิพิธภัณฑ์มักจะมาเป็นหมู่คณะเพื่อมาศึกษาหาความรู้  ส่วนใหญ่มักจะโทรมาบอกล่วงหน้า
 
พระสนั่นเล่าให้ฟังว่า  เมื่อก่อนชาวบ้านยังใช้เรือโดยสารไปตามที่ต่างๆ ใกล้กับวัดนี้มีแม่น้ำสุพรรณไหลผ่าน  ปัจจุบันไม่มีเรือแล้ว  แม่น้ำก็ดูจะแคบและตื้นเขิน  เห็นได้จากหญ้าที่ขึ้นรุกเข้ามาทั้งสองฝั่ง
 
จากการนำชมพิพิธภัณฑ์ของพระสนั่น  สิ่งที่เราสัมผัสได้จากวัตถุโบราณที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์คือ  การเก็บรักษาร่องรอยของอดีตไว้พร้อมกับเรื่องราว  ไม่ว่าจะเป็นความเป็นมาของพระพุทธบาทไม้ที่ลอยมาตามน้ำ  หรือเป็นเรื่องความเชื่อในเรื่องการนำหอยจักจั่นมาห้อยคอเด็กๆ เพื่อป้องกันอันตราย   ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะผ่านไปโดยไม่ย้อนคืนมา  แต่ภาพในจินตนาการเหล่านี้   เมื่อนำมาประกอบกับภาพอื่นๆ ของมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดสุพรรณบุรี  การค่อยๆ เก็บเกี่ยวเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนในอดีต  ภาพของชุมชนโบราณจะค่อยๆ กระจ่างชัดขึ้น  นั่นจะสร้างความรู้สึกประทับใจและอยากเก็บรักษาสืบทอดสิ่งเหล่านี้ให้ยาวนานต่อๆไป
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  9   เดือนมกราคม  พ.ศ.2553
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
สาวิตรี ตลับแป้น

พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

โบราณวัตถุสำคัญของวัดพระรูป คือ พระพุทธบาทไม้จำหลัก ซึ่งปัจจุบัน เก็บรักษาไว้ในหอสวดมนตร์ ที่กั้นเป็นห้องกระจก ปิดกุญแจล็อคไว้ ทำเหมือนเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ของวัดกลายๆ องค์พระพุทธบาทเป็นแผ่นไม้ แกะสลักทั้งสองด้าน ด้านหน้ามีพระบาทที่มีลายมงคล ๑๐๘ อยู่กึ่งกลางในรูปวงกลมซ้อนๆ กัน ทั้งสี่มุมมีรูปเทวดาถือพระขรรค์ ซึ่งเข้าใจกันว่าหมายถึงเทวดารักษาทิศ หรือจตุโลกบาล
ชื่อผู้แต่ง:
-