พิพิธภัณฑ์วัดภุมรินทร์กุฎีทอง


ที่อยู่:
วัดภุมรินทร์กุฏีทอง ต.สวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม 75110
โทรศัพท์:
0-3475-1492
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 8.30 - 16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2538
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดภุมรินทร์กุฎีทอง

วัดภุมรินทร์กุฎีทองตั้งอยู่ปากคลองประชาชมชื่น ฝั่งตะวันตกมีกุฎีทองขนาดใหญ่สร้างโดยสมเด็จพระชนกนาถของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระอัครมเหสีในรัชกาล ที่ ๑ เพื่อถวายเจ้าอาวาสวัดบางลี่บน ต่อมาบริเวณที่ปลูก กุฎีทองถูกน้ำเสาะจนตลิ่งพังจึงต้องย้ายกุฎีทองมาไว้ที่วัดภุมรินทร์  วัดภุมรินทร์นี้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.๒๔๓๑โดยนางภู่เถ้าแก่โรงหีบอ้อย ได้บริจาคทรัพย์ร่วมกับลูกหลานซื้อที่ดินสร้างวัด และจึงได้ตั้งชื่อว่า"วัดภุมรินทร์"หลังจากกุฎีทองจากวัดบางลี่บนมา ไว้ที่วัดนี้จึงเรียกชื่อรวมกันว่า "วัดภุมรินทร์กุฎีทอง"  ภายในมีอาคารคอนกรีตสองชั้น สำหรับจัดแสดง โบราณวัตถุนอกจากนี้ยังมี บ้านดนตรีไทย ซึ่งใช้อาคารโรงเรียนวัดภุมรินทร์กุฎีทองเป็น ที่สอนดนตรีไทยและศิลปะการแสดงพื้นบ้าน และการเชิดหุ่นกระบอกเพื่อฟื้นฟูส่งเสริมมรดก วัฒนธรรมท้องถิ่นของชุ่มชนตำบลสวนหลวงและในจังหวัด 
 
ปัจจุบันวัดภุมรินทร์กุฎีทอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวหลายกลุ่มและเดินทางมาด้วยหลายรูปแบบ เพื่อมาแวะเที่ยวมาแวะชมกันอย่างเนืองแน่นโดยเฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์   พระครูสถิตสมุทรคุณ เป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ  ก่อนหน้าที่ท่านจะมาจำพรรษาที่วัดภุมรินทร์กุฎีทองนี้  วัดว่างสมภารอยู่ระยะหนึ่ง  และทำท่าจะเป็นวัดร้าง เมื่อท่านพระครูสถิตสมุทรคุณ มาจำพรรษาอยู่ก็ ได้เริ่มปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง แต่ท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2538 
 
ในช่วงที่ท่านพระครูอดีตสถิตสมุทรคุณ อดีตเจ้าอาวาสยังไม่มรณภาพนั้น ท่านได้เก็บสะสมเครื่องของต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับกิจกรรมของพระภิกษุ และฆารวาส ไว้จำนวนมาก และได้มีการจัดถสานที่คล้ายกับจะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นภายในวัด บนศาลาการเปรียญแห่งนี้ เพื่อจัดวางเข้าของที่สะสมไว้และมีคนถวายมาเพิ่มเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ได้มีการจัดหมวดหมู่ใด ท่านอดีตเจ้าอาวาสก็จะเป็นผู้ดูแลทั้งในเรื่องของความสะอาดและความปลอดภัยของสิ่งของเหล่านั้นด้วย  
 
หลังจากที่ท่านพระครูสถิตสมุทรคุณมรณภาพ เป็นเวลาประมาณ 10 ปี  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้นำกฐินมาทอดที่วัดและได้มีการพูดคุยกับท่านเจ้าอาวาสถึงเรื่องของพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากททท.ต้องการจะสนับสนุนให้วัดนี้เปิดเพื่อตอบรับกระแสการท่องเที่ยววิถีชีวิตชาวบ้าน  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเชิญสำนักงานศิลปากรจังหวัดราชบุรี  มาช่วยทางวัดจัดทำทะเบียนสิ่งของจัดแสดงที่มีอยู่และนำเอาตู้โชว์มาจัดวางข้าวของต่างๆ 
 
ส่วนใหญ่สิ่งของจัดแสดงภายในมีการจัดวางไว้ในตู้กระจก เป็นระเบียบสวยงาม  เมื่อขึ้นบันไดมาก็จะเห็นทิวแถวของตู้กระจก มากมายวางอยู่จนถึงอีกฟากของตัวตึก   พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์นั้นใช้เฉพาะชั้น 2 ของศาลาการเปรียญของทางวัด  ตลอดทั้งชั้น  มีการแบ่งหมวดหมู่ตู้จัดแสดง ดังนี้ 1.เครื่องถ้วยชามกระเบื้องเคลือบ  2. เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์  3.เครื่องแก้ว  4. เครื่องใช้ทองเหลือง  5. เครื่องเบื้องดินเผาทั้งแบบทั่วไปและที่งมได้จากแม่น้ำแม่กลอง  6.พระพุทธรูปและพระเครื่องสมัยต่างๆ 7. เครื่องมือทำมาหากิน 8.สมุดไท 9.เงินเหรียญและธนบัตร และ10. หมวดอื่นๆ (ผู้เขียนแบ่งจำพวกตามที่เห็นแยกจัดใส่ในตู้) 
 
เครื่องกระเบื้องเคลือบ  ที่จัดแสดงนั้น มีทั้งเครื่องกระเบื้องเคลือบจากจีน  หลายๆลายเช่น ลายผัดกาด ลายเทวดา ฯลฯ บางชิ้นก็เป็นลวดลายสมัยใหม่ที่มีลุกศิษย์ลูกหาของพระที่ในวัดนำมาถวาย  เครื่องปั้นดินเผาเก่าๆ ที่ชาวบ้านงมได้จากหน้าวัดหรือในแม่น้ำแม่กลองบริเวณอื่นๆ ก็นำมาจัดแสดงด้วย บ้างก็มีพวกข้าวของเครื่องใช้ที่สำหรับใช้ในเรือเวลาที่ออกทำมาหากินในแม่น้ำ ที่จัดแสดงนี้ มีโม่หินจำนวนหลายตัวอยู่ที่มีพระเนรมิต อาภาธโร เล่าว่า เมื่อแต่ก่อนที่วัดจะมีงานประจำปี งานมงคลหรืองานอวมงคลต่าง หรือแม้กระทั่งตามบ้านชาวบ้านที่มาจัด ก็จะมายืมข้าวของเครื่องใช้จากที่วัดไปใช้  ต่อเมื่อมาถึงปัจจุบันงานเหล่านี้ลดน้อยลงแต่ไม่ได้แปลว่าที่วัดไม่มีการจัดงานประจำปีหรืออะไรอีก หากจะหมายถึงว่ามีเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีความสำเร็จรูปเข้ามาใช้ที่วัดมากมาย เช่นรับเหมาทำอาหารถวายพระ โดยที่เจ้าภาพไม่ต้องทำเอง หรือว่า เอามาจากข้างนอกเลย เป็นโต๊ะจีน เครื่องปั่นเครื่องบดก็มี  พวกเครื่องใช้ต่างๆ เหล่านี้จึงค่อยๆถูกลืม ไม่มีคนใช้จนต้องมาอยู่กันในพิพิธภัณฑ์ในที่สุด
 
ขันข้าวทองเหลืองและเครื่องทองเหลือง  ใบหนึ่งทำให้ผู้เขียนต้องตกใจเล็กๆเพราะว่ามีขนาดใหญ่มากประมาณหนึ่งคนโอบได้  พระเนรมิตท่านก็เล่าให้ฟังว่าเป็นขันข้าวที่บ้านท่านเอง พ่อท่านใช้เวลาที่คดข้าวมาถวายที่วัด เวลาเอามาทีหนึ่งก็จะมีข้าวมาเกือบเต็มขันข้าวใบนั้น และคนโบราณเองก็ค่อนข้างตัวใหญ่และแข็งแรงจึงไม่ลำบากเท่าไหร่ที่จะเทอญขันข้าวใบเท่านั้นมาที่วัดได้  นอกจากขันข้าวขนาดมหึมาแล้วยังมีเครื่องทองเหลืองประเภทอื่นๆที่ใช้ในวัดจัดวางให้ได้ชมทั้งถาดทองเหลือง ทัพพี ถ้วยชาม พาน ระทะนอกจากนี้ยังมีเครื่องสูบลมทองเหลือง เชี่ยนหมากทองเหลืองและที่น่ารักสำหรับเครื่องทองเหลือง คือกระปุกออมสินเป็นรูปหมูที่ทำจากทองเหลือง น่ารักและแข็งแรงต่อการล้วงแคะแกะเอาเงินออมออกมาได้ยากอยู่เช่นกัน 
 
เครื่องเบญจรงค์  ภายในตู้จัดแสดงนั้น มีทั้งเครื่องเบญจรงค์ศิลปะต้นรัตนโกสินทร์จนมาถึงช่วงเวลาปัจจุบัน  การสังเกตความแตกต่างของเครื่องเบญจรงค์สมัยต้นรัตนโกสินทร์กับเครื่องเบญจรงค์ในช่วงเวลาปัจจุบันนั้นสังเกตได้จากการเคลือบหรือเขียนลายทองเป็นการตัดสินระหว่างลาย  ต้นรัตนโกสินทร์นั้นเครื่องเบญจรงค์จะไม่มีการตัดเส้นด้วยสีทอง ส่วนของช่วงเวลาปัจจุบันนั้นจะมีการเติมสีทองเป็นการตัดเส้นเผื่อให้เครื่องถ้วยชามมีความสวยงามและหรูหรามากขึ้น  เครื่องเบญจรงค์ศิลปะต้นรัตนโกสินทร์ที่ทางวัดได้จัดแสดงไว้นั้นมีทั้งเป็นเครื่องเบญจรงค์ไทยที่ผลิตในสยามและส่งไปผลิตมาจากเมืองจีน ซึ่งก็มีความแตกต่างของสองแหล่งผลิตนี้อีก คือ เครื่องเบญจรงค์ที่ผลิตจากสยาม - ลวดลายเทพพนม องค์ของเทวดานั้นจะระหงส์มีเอวมีอก  ส่งเครื่องเบญจรงค์ที่ผลิตมาจากจีน – ตามความเชื่อของคนจีนคนที่มีรูปร่างท่วมมีพุงนิดหน่อยหรือเจ้าเนื้อนิดหน่อยนั้นจะดูดีมีราศี เทพพนมของจีนองค์เทวดาจึงค่อนข้างออกไปทางอ้วนเจ้าเนื้อ
 
พระพุทธรูปและพระเครื่อง  เกือบครึ่งของห้องจัดแสดงนั้นจัดวางพระพุทธรูปศิลปะสมัยต่างๆตั้งแต่เชียงแสน สุโขทัย อยุธยาตอนต้น มาจนถึงรัตนโกสินทร์ มีทั้งเป็นองค์พระไม้แกะสลักและองค์พระสำริด ส่วนใหญ่จะมาจากการถวายจากญาติโยมและลูกศิษย์ของหลวงพ่อเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันและอดีตเจ้าอาวาสทีได้มรณภาพไปแล้ว นอกจากพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขนาดหน้าตักหลายศอกแล้วยังมีพระพุทธรูปขนาดเล็กหน้าตักตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไปอยู่หลายองค์ จากคำสัมภาษณ์พระเนรมิตนั้นท่านได้บอกว่า พระเหล่านี้ได้มาจากการรื้อหลังคาโบสถ์เก่าของวัดบางนางลี่บนที่ได้เพพังลงน้ำไปแล้ว เช่นเดียวกับกุฏีทองที่เป็นชื่อเสียงและสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของที่วัดนี้นั้นก็ย้ายมาจากวัดบางนางลี่บนที่ตลิ่งของวัดถูกน้ำกัดเซาะมาเรื่อยๆ จนต้องย้ายโบสถ์และอาคารต่างๆมาก่อตั้งวัดใหม่กลายเป็นวัดภุมรินทร์ หลังจากการรื้อสร้างคราวนั้นก็ได้พบกับพระพุทธรูปองค์เล็กและพระเครื่องอีกจำนวนหนึ่งท่านเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆจึงเก็บรวบรวมเอาไว้ และเมื่อมีพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นจึงได้นำมารวบรวมไว้
 
เหรียญและธนบัตร  ส่วนใหญ่ทั้งเหรียญและธนบัตรที่จัดแสดงอยู่นั้นจะได้มาจากการบริจาคหรือว่าการเดินทางไปศึกษาเรียนรู้ตามยังต่างประเทศของทั้งท่านอดีตเจ้าอาวาสและเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน  รวมทั้งพระลูกวัดด้วยเช่นกัน
 
นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้แล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีจั่วและใบระกาของพระอุโบสถวัดบางนางลี่บนที่ได้กล่าวถึงข้างต้นจัดแสดงอยู่ด้วย ชามกระเบื้องลายฝรั่งที่นำเข้ามาจากต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5- 6 เครื่องปั้นดินเผาที่งมได้จากหน้าวัดหรือตามเส้นทางแม่น้ำแม่กลองแล้วชาวบ้านเอามาถวายที่วัด มีทั้งรูปแบบหม้อตาล ไหสี่หู  แจกัน ถ้วยชาม และโอ่งที่ใช้ในอดีตทั้งแบบที่เป็นโอ่งเขียวไข่กา โอ่งราชบุรี ไหกระเที่ยว อ่างกะปิ อ่างทำข้าวเหนียวมูล ที่วัดก็จัดแสดงไว้ให้ชมด้วย
 
การบริหารจัดการภายในวัดนั้น ท่านเจาอาวาสองค์ปัจจุบันได้จัดแบ่งให้พระลูกวัดรับผิดชอบดูแลออกเป็น 3 ส่วน มีอาคารกุฎีทอง  อาคารพิพิธภัณฑ์วัดภุมรินทร์และอุทยานการศึกษา  อาคารพระอุโบสถ นอกเหนือจากนั้นท่านเจ้าอาวาสจะเป็นผู้ดูแลอีกทอดหนึ่ง
 
เนื่องจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและจังหวัดสมุทรสงครามได้จัดให้วัดภุมรินทร์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่มีการโปรโมทและสนับสนุนทั้งในเรื่องการเงินและการประชาสัมพันธ์  ทำให้ในช่วงวันเสาร์–อาทิตย์ มีขบวนรถเมล์ปรับอากาศของบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (ขสมก.)พานักท่องเที่ยวที่ซื้อทัวร์มาท่องเที่ยวไหว้พระเก้าวัด  ท่องเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา และสถานที่อื่นๆ ภายในหนึ่งวัน  ทำให้ทางวัดมีรายได้จากการมาทำบุญของประชาชนจากกรุงเทพมหานครและที่มาเที่ยวกับเองแบบครอบครัว งบประมาณในการทำนุบำรุงวัดและดูแลมาถึงพิพิธภัณฑ์จึงไม่ขาดแคลน  
 
แต่ปัญหาที่พบในตอนนี้ของพิพิธภัณฑ์ก็คือ ยังขาดป้ายความรู้ที่จะทำให้การนำเที่ยวพิพิธภัณฑ์สะดวกขึ้น  แต่พระเนรมิตก็ได้ให้ข้อคิดว่า การที่ยังไม่มีป้ายอธิบายความรู้มาติดก็ทำให้ท่านได้มีปฏิสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาเที่ยวชมในพิพิธภัณฑ์  ได้สร้างกิจกรรมระหว่างกลุ่มนักเรียนที่มาเที่ยววัดและพิพิธภัณฑ์ไปด้วยในตัว  ผลลัพธ์ท่านก็ได้มีโอกาสสอดส่องความปลอดภัยของสิ่งของจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ไปพร้อมกันด้วย  นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมที่วัดนั้นถือได้ว่ามีจำนวนมากพอสมควร ในช่วงวันหยุดจะมีประมาณ เกือบ 300-400 คน แต่ในส่วนของพิพิธภัณฑ์นั้นยังไม่มากเท่าที่ควรเนื่องจากอาคารที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นั้น อยู่แยกออกมาจากตัวกุฎีทองและพระอุโบสถของทางวัด  แต่จริงๆก็ห่างกันไม่มาก และยังมีป้ายบอกเส้นทางอย่างชัดเจนภายในวัด กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาชมพิพิธภัณฑ์แบบเป็นกลุ่มก้อนก็จะเป็นนักเรียน นักศึกษาภายในจังหวัด ที่ทางโรงเรียนจัดพาทัศนศึกษานอกสถานที่ เมื่อมีกลุ่มนักเรียนมาทัศนศึกษา  พระเนรมิต อาภาธโรผู้ดูแลในส่วนของพิพิธภัณฑ์ก็จะเป็นผู้นำชมและให้ความรู้แก่เด็กๆ ก่อนที่จะปล่อยให้เดินดูสิ่งของจัดแสดงกันเอง
 
เมธินีย์ ชอุ่มผล เรื่องและภาพ
สำรวจวันที่ 11 กรกฎาคม 2552
ชื่อผู้แต่ง:
-