พิพิธภัณฑ์วัดดาวโด่ง


ที่อยู่:
วัดดาวโด่ง หมู่ 4 ต.คลองเขิน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม 75000
โทรศัพท์:
034-752268-9, 034-753193, 081-9442547
ปีที่ก่อตั้ง:
2538
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดดาวโด่ง

ดินแดนสมุทรสงครามหรือเมืองแม่กลองเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อยู่อย่างมากมาย แม่กลองเป็นทั้งเมืองท่าค้าขาย  เมืองแห่งขนมหวาน  เมืองแห่งผลไม้  แล้วยังเป็นเมืองที่บันทึกในประวัติศาสตร์ไทยว่าเป็นเมืองประสูติของพระมหากษัตริย์ไทย คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
 
เมื่อก่อนที่การสัญจรทางเรือยังเป็นวิธีหลักในการเดินทางของชาวแม่กลอง ตลาดน้ำก็มีขึ้นมากมายตามจุดนัดพบ หน้าวัด  ตลาดริมน้ำ เช่น ตลาดอัมพวา ตลาดท่าคา ตลาดบางน้อย ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จนเมื่อมีถนนตัดผ่านหมู่บ้าน จังหวัด ทำให้การเดินทางทางเรือค่อยๆลดความสำคัญลงไป แต่ตลาดน้ำก็เพียงแค่ฟุบไปตามกระแส ในขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมที่จะย้อนกลับสู่วิถีเก่าๆที่อดีตของเราได้บันทึกไว้ ตลาดน้ำเก่าๆ ได้รับการปลุก ปัดฝุ่นเสียใหม่ จนกลายเป็นที่นิยมในการท่องเที่ยวแบบสบายๆ ของคนกรุงไปแล้ว
 
นอกจากสวนผลไม้ ตลาดน้ำ เมืองแม่กลองยังมีวัดดังๆ หลายวัดด้วยกัน เช่น วัดเพชรสมุทร  วัดราษฎรศรัทธาธรรม  วัดอินทราราม ฯลฯ ในจำนวนนี้ วัดดาวโด่ง  เป็นวัดหนึ่งที่สร้างขึ้นในช่วง ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 24  อายุรวมกว่า 200 ปี ของวัดนั้นทำให้มีลูกศิษย์ลูกหาวัดมากมายหลายรุ่น ประชาชนญาติโยมที่ศรัทธาต่างนำของมาถวายวัดหลายจำพวกหลายประเภท ท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเห็นว่า ของที่ท่านได้รับการถวาย หรือที่ทางวัดยังเหลือไว้อยู่นั้น ที่ต้องใช้คำว่าเหลืออยู่นั้นก็เพราะว่า เวลาที่เจ้าอาวาสแต่ละรูปมรณภาพไป ไม่ได้จัดการเรื่องข้าวของและทรัพย์สินให้ชัดเจนว่า ของวัดหรือของท่าน ญาติพี่น้องก็มียกไปๆ ใน
 
ปี พ.ศ. 2538 ท่านพระครูไพศาลสมุทรกิจ  เจ้าอาวาสวัดดาวโด่ง มีดำริที่จะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อนำเอาข้าวของของทางวัดและของท่านมาจัดแสดงให้เรียบร้อยสวยงามและกันข้อครหาจากคนนอกได้ จึงได้ใช้พื้นที่ว่างในส่วนของกุฎิเจ้าอาวาสซึ่งก็เป็นอาคารเดียวกับกุฏิสงฆ์นั่นเอง จัดการดัดแปลงติดลูกกรง และจัดหาตู้กระจกมาเพื่อจัดนำสิ่งของเก่า และของที่ทางวัดมีอยู่มาจัดเก็บให้สวยงาม เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาดูและชื่นชม แต่เนื่องจากติดปัญหาบางประการ จึงยังไม่ได้ทำการเปิดพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม    
 
ปัจจุบันวัตถุจัดแสดง ยังไม่ได้มีการลงทะเบียนรายละเอียดสิ่งของต่างๆ ไว้แต่อย่างใด แต่ท่านเจ้าอาวาสใช้ความจำกับการดูแลอย่างใกล้ชิดของท่านเองเป็นการรักษาสิ่งของเหล่านี้ไว้  แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ถูกโขมยไปจนได้ คือ ตู้พระไตรปิฎกเก่าของทางวัดที่ท่านเจ้าอาวาสให้ลูกศิษย์วัดยกออกจากพิพิธภัณฑ์เพื่อทำความสะอาดครั้งใหญ่ ก็ถูกขโมยไปภายในวันสองวัน  ท่านก็เลยต้องระวังเป็นพิเศษ ในช่วง 3- 4 เดือนที่ผ่านมาตัวท่านเองมีกิจนิมนต์มากมายจึงไม่มีเวลามาดูแลเรื่องการทำความสะอาดมากนัก  สภาพในวันที่ไปสัมภาษณ์จึงค่อนข้างมีฝุ่นจับตามพื้นและตู้ต่างๆ พอสมควร 
 
สิ่งจัดแสดงส่วนใหญ่นั้นจะเป็นเครื่องพานทองเหลือง หลายขนาด ปิ่นโตทั้งที่เป็นสังกะสีเคลือบสี ปิ่นโตสังกะสีเคลือบขาว ปิ่นโตสแตนเลสแบบเก่า   ชุดชามอาหารใช้เวลาประเคนถวายพระ  ขันใส่ข้าวที่ทำจากทองเหลือง จำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีเครื่องปั้นดินเผาที่ได้มาจากแม่น้ำแม่กลองที่ยังมีเปลือกหอยติดอยู่ในเนื้อของเครื่องปั้นดินเผา  ไหและโถสำหรับใส่อาหาร หรือน้ำปลาที่ใช้ภายในวัด  นอกเหนือจากนี้ ในพิพิธภัณฑ์มีตู้เก็บพระธรรม สองหลังที่ยังสวยงาม เป็นลายลงรักปิดทอง กระโถนกระเบื้องเบญจรงค์และกระเบื้องเคลือบอยู่จำนวนหลายสิบใบ
 
สมุดไทยที่ทางวัดมีการจัดแบ่งหมวดหมู่ไว้แล้วนั้น ก็ได้ลงทะเบียนและจัดแยกเป็นหมวดหมู่ มีหมวดอักษรศาสตร์ หมวดคณิตศาสตร์ หมวดตำรายา  หมวดตำราพิไชยสงคราม หมวดเวชศาสตร์ สมุดไทยขาว สมุดไทยดำ
อีกตู้ที่จัดแสดงเงินตรา เหรียญกษาปณ์ของหลายประเทศ  เหรียญบาท ห้าบาท  เหรียญสลึงและห้าสิบสตางค์ สมัยก่อนที่ยังมีขนาดใหญ่อยู่จำนวนเป็นร้อยเหรียญ ธนบัตรสกุลเงินต่างๆ หลายประเทศทั้งที่ได้รับถวายมาและหลวงพ่อเดินทางไปมาเองบ้าง จำนวนหลายสิบฉบับ
 
ด้วยความอนุเคราะห์จากศาสตราจารย์คุณหญิง ไขศรี ศรีอรุณ ซึ่งในขณะนั้นท่านได้ดำรงตำแหน่งในกระทรวงวัฒนธรรม ได้เดินทางมาที่วัดเนื่องจากได้ทราบมาว่าที่วัดมีตำราใบลานเก่า ทั้งสมุดไทยด้วยอยู่เป็นจำนวนมาก และได้เข้ามาช่วยในเรื่องของการลงทะเบียนสมุดไทยเหล่านั้นให้เป็นหมวดหมู่ แต่ในส่วนของวัตถุจัดแสดงอื่นๆนั้น ไม่ได้เข้ามาทำการจัดการลงทะเบียนให้กับทางวัด บรรดาสมุดไทยและคัมภีร์ใบลานของทางวัดจากการทำทะเบียนของสำนักหอสมุดแห่งชาตินั้น รวบรวมแล้วมีประมาณ 122 เล่ม โดยแบ่งออกเป็นสมุดไทยดำ   สมุดไทยขาว  คัมภีร์ใบลาน  ในส่วนของหนังสือชุดสมุดไทยนั้น ยังแยกออกเป็นแขนงวิชา  เวชศาสตร์  ไสยศาสตร์  คณิตศาสตร์  วรรณคดี  ธรรมคดี  จดหมายเหตุ  ตำรายา  ตำราพิไชยสงคราม กฏหมาย ซึ่งถือได้ว่าตำราเหล่านี้มีคุณค่าที่ควรแก่การเก็บรักษาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากได้บรรจุเอาความรู้มากมายหลายแขนงทั้งความรู้ที่มีอยู่นั้น เป็นศาสตร์ที่เกิดจากภูมิความรู้ของคนไทยเอง  ไม่ใช่ความรู้ที่มาจากต่างชาติต่างภาษา
โดยรอบของอาคารจัดแสดงนั้นเป็นหมู่กุฏิของพระในวัดดาวโด่ง  ซึ่งในวันที่ได้ไปสัมภาษณ์ท่าเจ้าอาวาสนั้น  ที่วัดเพิ่งผ่านพ้นช่วงของเทศกาลสงกรานต์ไป และประจวบกับเป็นช่วงปิดเทอมของเด็กๆในละแวกใกล้เคียงกับวัด จึงมีเณรมาบวชเรียนที่วัดในช่วงปิดเทอมจำนวนมาก ความคึกคักของเณรเด็กๆ ประจวบกับ มีตลาดนัดภายในเขตวัดทำให้ที่วัดดาวโด่งไม่เหงาเหมือนอย่างวัดในอีกหลายจังหวัดพี่เคยพบมา
 
เมธินีย์ ชอุ่มผล เรื่องและภาพ
สำรวจวันที่ 26 เมษายน 2552
ชื่อผู้แต่ง:
-