อู่เรือจิ๋วบ้านปากมาบ


ที่อยู่:
กลุ่มสตรีและเยาวชนสหกรณ์ประมงบางจะเกร็ง-บางแก้ว(อู่เรือจิ๋ว) 28/2 หมู่ที่ 8 ถ.บางบ่อ-ดอนหอยหลอด ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม 75000
โทรศัพท์:
: 034-769-877 , 081-308-9020 , 080-4358116 คุณพจนา สายทอง
โทรสาร:
034-769-877
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน ต้องการข้อมูลอู่เรือจิ๋วหรือต้องการท่องเที่ยวดูวิถีชาวประมงพื้นบ้าน ให้ติดต่อนัดหมายล่วงหน้าประมาณหนึ่งอาทิตย์
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
boonyuen_siri@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2539
ของเด่น:
เรือประมง เรือพื้นบ้านจังหวัดสมุทรสงคราม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของอู่เรือจิ๋วบ้านปากมาบ

จากการฝักใฝ่เรียนรู้  ได้กลายมาเป็นอาชีพ  จนกระทั่งนำไปสู่การพัฒนาสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง  อู่เรือจิ๋วบ้านปากมาบ  ในการบริหารดูแลของกลุ่มสตรีและเยาวชนสหกรณ์ประมงบางจะเกร็ง-บางแก้ว(อู่เรือจิ๋ว) ประธานกลุ่มคือคุณบุญยืน  ศิริธรรม 
       
คุณพจนา สายทอง เจ้าหน้าที่กลุ่มฯ พูดถึงการดำเนินงานว่า ตอนนี้มีคนมาสั่งทำเรือจิ๋ว คิวยาวเป็นปี ในการสั่งต่อเรือ ช่างสามารถต่อเรือได้ทุกชนิดถ้ามีแบบมีรูปมาให้ ช่วงนี้ช่างกำลังต่อเรือที่ทำยากมากคือ เรืออเมริกันเฟรชเชอร์ เรือรบในตำนานของอเมริกา ต่อเป็นเรือบังคับขนาดเมตรเก้าสิบ จะใช้ปืนแบบบีบีกัน อุปกรณ์การต่อเรือจิ๋วก็จะมีปั๊มลม เครื่องเลื่อยไม้ แท่นเจีย และก็อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆอีกมากมาย  
 
เนื่องจากยังไม่มีอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรือจิ๋วโดยเฉพาะ จึงได้นำเรือจิ๋วมาจัดแสดงไว้ห้องเดียวกับห้องทำปลาหยองของกลุ่มฯ โดยมุมด้านหนึ่งจัดแสดงเรือจิ๋ว อีกด้านหนึ่งสมาชิกกลุ่มแม่บ้านก็กำลังขะมักเขม้นกับการผลิตปลาหยอง  ซึ่งผลิตมาจากปลายี่สน ปลากระเบนชนิดหนึ่งที่นำมาทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ผัดฉ่า แกง  ทอดกรอบ ปลาวง ปลาหวาน รสชาติอร่อย  เป็นของกินของฝากสินค้าขึ้นชื่อของชุมชน
 
เรือจิ๋วที่จัดแสดงในตู้  ได้แก่ เรือสำเภาจีน  เรือข้างกระดาน เรือด่วน  เรือหลวงสมุย เรือตังเก เรืออวนรุน  เรือมาดเก๋ง เรือมาดประทุน  เรืออีป๊าบ  เรือผีหลอก เป็นต้น  ในการทำเรือจิ๋ว  ช่างทำเรือได้มีการค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียด  นอกจากแบบของเรือแล้ว  ช่างต่อเรือจิ๋วยังได้ทำข้อมูลรายละเอียดของเรือพื้นบ้านไว้เป็นแผ่นป้าย  อย่างเช่น เรืออีแปะ/เรืออีมาดหมู  เป็นเรือที่ใช้ลำเลียงพืชผลตามร่องสวนต่างๆ ใช้เป็นเรือไปมาหาสู่กันในระยะใกล้ๆ นิยมใช้กันในชนบท คล้ายกันแต่มีชื่อต่างกันเพราะรูปร่างและลักษณะของเรือ  เรืออีแปะยังพอมีให้เห็นในปัจจุบัน  แต่เรืออีมาดหมูหาดูได้ยากมาก  ส่วนเรืออีป๊าบสวน เป็นเรือที่ใช้ขนถ่ายพืชผลในแม่น้ำลำคลองและร่องสวนต่างๆ และได้นำมาประยุกต์ใช้ในการบรรทุก  เช่น นำเครื่องหางยาวมาคีบท้ายเรือ เพื่อนำผลผลิตไปจำหน่ายอย่างรวดเร็ว  ส่วนเรืออีป๊าบทะเล เป็นเรือที่มีรูปร่างคล้ายเรืออีป๊าบสวน แต่เรียวบางกว่า  สามารถโต้คลื่นลมได้ดีกว่า  เมื่อนำเครื่องหางยาวมาคีบท้ายจะแล่นได้เร็วกว่า  สามารถหนีลมพายุได้ทัน  ชาวประมงพื้นบ้านภาคกลางนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในอดีตและปัจจุบัน
 
ด้วยความคิดก้าวหน้า คุณพจนา สายทอง จึงเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ด้านการอนุรักษ์แบบยั่งยืน  คุณพจนาบอกว่า  เป้าหมายของกลุ่มคือ ต้องการที่จะให้ที่นี่มีอาคารพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงได้เต็มรูปแบบ พร้อมกับจัดให้มีการจำหน่ายของฝาก ตลาดปลาชุมชน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ อย่างเรือจิ๋วนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนได้ดีและมีความน่าสนใจ  ยกตัวอย่าง เรืออวนรุน  เมื่อดูเรืออวนรุนจิ๋วแล้ว  ให้เดินไปที่สะพานปลาใกล้ๆนี้  จะมองเห็นหมู่บ้านประมงบ้านปากมาบ  เรืออวนรุนของจริงจอดอยู่ให้เห็นต่อหน้า 
 
หรืออย่างเรือผีหลอก เรือประมงแบบพื้นบ้าน  ตอนนี้ไม่ได้ใช้กันแล้ว เนื่องมาจากทุกวันนี้มีแสงไฟมากมาย  เรือผีหลอก จัดได้ว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของคนไทยเราที่คิดค้นด้วยความฉลาด จับปลาได้โดยไม่ต้องลงไปในน้ำหรือ ใช้เบ็ด ใช้แห ใช้อวนให้เสียเวลาแค่พายเรือไปกลับ ก็ได้ปลามาเต็มลำเรือแล้ว เรือผีหลอกส่วนใหญ่จะเป็นเรือมาดมีทั้งที่เป็นเรือขุด และ เรือต่อ โดยมีลักษณะท้องเรือค่อนข้างแบน โดยจะทาสีไม้กระดานให้เป็นสีขาวแล้ววางให้เอียงลงไปในน้ำ ส่วนอีกฝั่งจะขึงด้วยตาข่ายเป็นแนวยาวตลอดลำเรือสูงจากกาบเรือประมาณ 2 ศอก บนเรือจะมีไม้กรีดน้ำ สำหรับกรีดน้ำให้ปลาตกใจ สมัยก่อนในยามค่ำคืนชาวประมงพื้นบ้านจะพายเรือเลาะริมตลิ่งแล้วใช้ไม้กรีดน้ำ กรีดลงไปในน้ำ กระดานสีขาวกับไม้กรีดน้ำ จะทำให้ปลาตกใจ กระโดดขึ้นมาบนเรือที่มีตาข่ายขึงอยู่อีกฝั่งของกาบเรือ ปลากระโดดไม่พ้น สุดท้ายก็ตกลงมาในเรือ
 
อู่เรือจิ๋วนี้เกิดขึ้นมาในปี พ.ศ. 2539   ช่วงนั้นชาวบ้านไม่มีงานทำ สาเหตุมาจากน้ำทะเลเน่าเสีย จึงได้รวมกลุ่มกันไปเรียนทำเรือจิ๋วกับอาจารย์กมล วิบูลกิจธนากร ที่หมู่บ้านบัวขาว เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ กลับมามีคนที่มีความสามารถทำเป็นอาชีพได้และได้ฝึกสอนคนอื่น  จึงได้ช่างเพิ่มขึ้น จากนั้นก็ทำเรือจิ๋วจำหน่ายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ส่วนปลาหยองนี้เริ่มทำปี พ.ศ. 2541  โดยต้องใช้เวลาเป็นปีที่จะต้องคิดค้นสูตรให้อร่อย 
 
ช่วงนี้การดำเนินงานของกลุ่มฯ  ได้ก้าวหน้าไปอีกขั้น  ด้วยการเริ่มจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์  ให้ชื่อว่า โรงเรียนชาวประมง อู่เรือจิ๋ว นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านอย่างแท้จริง จะได้นั่งเรือไปเก็บหอยแครง  ไปเที่ยวดอนหอยหลอด  ได้เล่นน้ำ   ไปปลูกป่าชายเลนที่ผู้ใหญ่แดงใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านริเริ่มในการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน  โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาล  ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาคลื่นเซาะชายฝั่งทำให้ตลิ่งและบ้านพัง  นักท่องเที่ยวจะได้พักโฮมสเตย์ในบ้านปากมาบ  ได้รับประทานอาหารทะเลเมนูแบบพื้นบ้าน
       
คุณพจนาให้ความเห็นว่า  การท่องเที่ยวไม่ควรเข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือทำลายชุมชน  ทั้งเรื่องของวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อม ขณะคุยไปคุณพจนาได้ชี้ให้ดูชายคนหนึ่งกำลังเดินถือตะขอหาปูอยู่ที่ริมฝั่ง  วิธีการของเขาจะใช้ตะขอล้วงรูปู ให้กล้ามปูหนีบแล้วดึงตัวออกมา  และชี้ให้ดูหอยนางรมเกาะอยู่ที่เสาของสะพานปลา  คนที่นี่เวลาเขาจับปลาเขาสามารถดำน้ำงมลงไปจับปลาดุกทะเลที่อยู่ในเลนด้วยมือเปล่า  บรรยากาศของที่นี่ในช่วงฤดูหนาว  ตอนเย็นจะมีนกกระยางมาเกาะอยู่เต็มไปหมด  สิ่งเหล่านี้คือความอุดมสมบูรณ์ที่ยังคงมีมาจนถึงทุกวันนี้  การมาท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตของคนที่นี่  ควรมีความเข้าใจและเปิดใจ  อย่างการออกเรือหาปลาจับสัตว์น้ำ  วิถีชีวิตของชาวประมงเขาจะต้องดูน้ำขึ้นน้ำลง  การจับกุ้งหอยปูปลาก็จะมีฤดูกาลมีช่วงเวลาของมัน  นักท่องเที่ยวก็ต้องรอเวลาการออกเรือตามวิถีที่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ
 
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนาม วันที่ 16 กันยายน 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง : ทางไปอูเรือจิ๋วบ้านปากมาบ  เป็นเส้นทางเดียวกับไปดอนหอยหลอด ตำบลบางแก้ว จังหวัดสมุทรสงคราม ก่อนถึงดอนหอยหลอดจะมองเห็นป้ายพิพิธภัณฑ์อู่เรือจิ๋วบ้านปากมาบ แล้วเป็นสะพานข้ามคลอง  อู่เรือจิ๋วฯอยู่ตรงเชิงสะพานเป็นอาคารไม้เก่า(ตอนนี้ปิดไปไม่ได้ใช้)ด้านหลังมีอีกหลัง  เรือจิ๋วจัดแสดงอยู่ภายในห้องเดียวกับห้องผลิตปลาหยองของกลุ่มสตรีและเยาวชนสหกรณ์ประมงบางจะเกร็ง-บางแก้ว(อู่เรือจิ๋ว)
-----------------------------------------------
อ้างอิง  :  ข้อมูลการสัมภาษณ์ วันที่ 16 กันยายน 2555
                คลับคนรักเรือ.(2554).เรือผีหลอก.ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2555,จาก http://thaiboatclub.com/
                       39/articles/              
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-