อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


ที่อยู่:
อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม 75110
โทรศัพท์:
0-3471-5994, 03471-1996, 0-3475-1666
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 09.00-18.00 น.
ค่าเข้าชม:
ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท,ประชาชนจังหวัดสมุทรสงครามเข้าชมฟรี,เข้าชมเป็นหมู่คณะ 50 คนขึ้นไป ลด 10 เปอร์เซ็นต์, พระภิกษุ สามเณร เข้าชมฟรี
เว็บไซต์:
อีเมล:
rama2park@hotmail.com
ของเด่น:
ศิลปะวัตถุในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ความเป็นอยู่ของชาวไทยในสมัย ร.2 แบบบ้านไทยโบราณห้องครัวและห้องน้ำ
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ตู้วรรณคดีไทย ในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ชื่อผู้แต่ง: โกสินทร์ ชิตามร | ปีที่พิมพ์: 10,9(ก.ย. 36)หน้า 54-61

ที่มา: กินรี

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

โครงการก่อสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กำหนดพื้นที่ก่อสร้าง ณ ตำบลซึ่งเป็นที่พระบรมราชสมภพในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม  ซึ่งพระราชสมุทรเมธี อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม ได้กรุณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินของวัดประมาณ 11 ไร่  ทางทิศตะวันตกของบริเวณพระอาราม เพื่อเป็นประโยชน์แก่กิจการของมูลนิธิ ร.2 คณะกรรมการมูลนิธิฯ  จึงดำเนินการจัดสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งวิทยาการศูนย์กลาง ศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทย

เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเลือกตั้งเป็นองค์ประธานกรรมการมูลนิธิฯ เมื่อ พ.ศ. 2520 จึงทรงมีพระราชปณิธานที่จะดำเนินงานโครงการก่อสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ของมูลนิธิฯให้ลุล่วงไปตามเป้าหมายโดยเร็ว  เพื่อให้อุทยานฯ สามารถอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนชาวสมุทรสงครามและท้องถิ่นใกล้เคียง และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ให้แพร่ไพศาลยั่งยืนอยู่ตลอดไป ให้เป็นแหล่งวิทยาการ ศูนย์กลางศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในท้องถิ่นด้วย ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ เป็นผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง โดยร่วมมือกับท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ร้อยเอกกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา และกรรมการมูลนิธิฯอื่นๆ เช่น นายธนิต อยู่โพธิ์ นายเดโช สวนานนท์ คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และนายสุรีย์ เหมะพันธ์ สถาปนิกแห่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
 
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบริหารงานและทรงหาทุนดำเนินการก่อสร้างอุทยานฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา การก่อสร้างในส่วนสำคัญ คือ โรงละครกลางแจ้ง อาคารทรงไทยซึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์พระพุทธเลิศหล้านภาลัย และห้องสมุด(ซึ่งมอบให้กรมศิลปากร ร่วมดำเนินงานในฐานะหอสมุดแห่งชาติ สาขาสมุทรสงคราม) และสวนพรรณไม้ในวรรณคดี ต่อมาหอสมุดถูกเพลิงไหม้เมื่อ พ.ศ.2535 สูญเสียอาคารและทรัพย์สินในหอสมุด มูลนิธิฯ ได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชบัญชาให้ก่อสร้างอาคารหลังใหม่แทนและให้ใช้เป็นที่ซ้อมโขนและ เก็บเครื่องดนตรีไทย ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
 
การก่อสร้างเริ่มตั้งแต่การถมดินในพื้นที่ประมาณ 11 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นสวนผลไม้  ซึ่งการก่อสร้างอาคารทรงไทย 5 หลัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฤทัย ใจจงรัก แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ  โดยดำเนินการตามศิลปะการก่อสร้างอาคารเรือนไทยโบราณซึ่งใช้ฝาประกน เมื่อก่อสร้างเรียบร้อยมูลนิธิฯ ได้จัดงานพิธีเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์และหอสมุดพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน เมื่อวันที่ 24กุมภาพันธ์ 2528เปิดให้ประชาชน เข้าใช้บริการและศึกษาหาความรู้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2528อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้รับการพัฒนาปรับปรุงตลอดมาในปัจจุบันแบ่งพื้นที่ออกเป็น 6ส่วน

ส่วนที่หนึ่ง

บริเวณด้านหน้า ประกอบด้วยสำนักงานอุทยาน ร้านขายของที่ระลึกและอาศรมศึกษา(ปัจจุบันได้ใช้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ขนมไทย) ซึ่งมูลนิธิฯ ขออนุญาตพระอัมพวันเจติยาภิบาล เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม องค์ปัจจุบัน รื้อย้ายเรือนไทยโบราณที่ชำรุดในวัดมาปรับปรุงสร้างขึ้นใหม่
พิพิธภัณฑ์ขนมไทยในอุทยาน ร.๒  นับเป็นพิพิธภัณฑ์ล่าสุดที่เข้ามาอยู่ในการดูแลของอุทยานฯ โดยใช้พื้นที่ของเรือนไม้โบราณอายุกว่า 100ปี ที่อุทยานได้รับมอบและนำมาปรับปรุงขึ้นใหม่ในพื้นที่อุทยาน โดยมีชื่อเรือนว่า “อาศรมศึกษา” ซึ่งเดิมใช้เป็นสถานที่อ่านหนังสือสำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป และในปัจจุบันได้ใช้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ขนมไทย  โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๒ ชั้นเรือน ได้แก่

ชั้นบน  จัดแสดงขนมไทย(จำลอง) ชนิดต่างๆ และอาหารตามบทพระราชนิพนธ์ “กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน” ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่กล่าวถึงชื่ออาหารคาว 15ชนิด  อาหารหวาน 15ชนิด อาทิเช่น (ชื่ออาหาร และขนมที่นำไปแสดง) และขนมประเภทต่างๆกว่า 100ชนิด    นอกจากนี้ยังจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆที่ใช้ในการทำขนม อาทิเช่น กระต่ายขูดมะพร้าวรูปแบบต่างๆ   เช่น เต่า ตะกรวด แมว เป็ด เป็นต้น

ชั้นล่าง  จัดแสดงเรื่องราวของรูปแบบการจัดจำหน่ายขนม เช่น รถพ่วง  รถเข็น  เรือพาย

ส่วนที่สอง

โรงละครกลางแจ้ง มีเนินลดหลั่นสำหรับชมการแสดง และปลูกพันธุ์ไม้ต่างๆ เป็นที่นั่งพักผ่อนได้ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการสร้างบริเวณนี้เพื่อจัดให้เป็นลานแสดง โขน ละคร ดนตรี ตามบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นอกจากนี้ยังใช้ในการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในโอกาสต่างๆ

ส่วนที่สาม

1.    เรือนไทยหมู่ 5 หลัง จัดเป็นพิพิธภัณฑ์วิถีไทยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ 4 หลัง และพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอัมพวา อีก 1 หลัง

พิพิธภัณฑ์วิถีไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
เรือนไทยหมู่  5  หลัง  จัดเป็นพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  4 หลัง  โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 
เรือนชาย  จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของเด็กผู้ชายไทยในอดีต  ที่เล่าเรียนวิชาความรู้จากพระสงฆ์ตาม วัด  นอกจากนี้ยังจัดแสดงเกี่ยวกับการละเล่นสมัยโบราณ “หมากสกา”  เครื่องดนตรีไทย

เรือนกลาง  (เรือนประธาน)  ภายในห้องแบ่งการจัดแสดงออกเป็นห้องต่างๆ  อาทิ  ห้องพระ  ห้องนอน  ห้องนวดประคบ  และห้องแต่งตัว  ซึ่งในห้องแต่งตัวจะจัดจำลองให้เห็นถึงวิถีชีวิตของหญิงไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่รู้จักการแต่งกายให้มีความงามตามลักษณะกุลสตรีไทย  รู้จักดัดแปลงสิ่งที่ได้จากธรรมชาติมาปรุงเป็นเครื่องสำองค์ใช้ประทินผิว  เช่น  การปรุงเครื่องร่ำน้ำหอม เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังจัดแสดงศิลปวัตถุสมัยต้นรัตนโกสินทร์ในยุครัชกาลที่  2 อย่างเช่น เครื่องถ้วยเบญจรงค์

สำหรับภายนอกห้องจัดแสดงเกี่ยวกับสำรับกับข้าวคาวหวาน  ตามบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ 2
- เครื่องคาว  เช่น  มัสมั่นเนื้อ  แกงเทโพ  ก้อยกุ้ง  พล่าเนื้อสด  หลน  ล่าเตียง  ฯลฯ
- เครื่องหวาน  เช่น  ลูกตาลเชื่อม  ลูกชิดลอยแก้ว  ข้าวเหนียวมะม่วง  ฯลฯ 

เรือนหญิง  จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของเด็กหญิงในอดีตที่จะศึกษาเล่าเรียน วิชาการบ้านการเรือนและวิชาช่างฝีมืออยู่กับบ้าน  เพื่อที่จะเตรียมตัวเป็นแม่ศรีเรือน เช่น  การร้อยมาลัย  การทำบายศรี  และจัดแสดงเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก  การกล่อมลูกตามแบบโบราณ

พิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอัมพวา

เดิมเรือนกลางน้ำนี้ จัดเป็นหอสมุดพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตั้งอยู่กลางน้ำตามลักษณะหอไตร เพื่อกันปลวกมดทำลายหนังสือ ซึ่งเป็นหอสมุดแบบฉบับของไทยสมัยโบราณ เมื่อปี พ.ศ. 2530 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้หอสมุด จึงได้ก่อสร้างอาคารหลังใหม่แทน และให้ใช้เป็นที่ซ้อมโขนและ เก็บเครื่องดนตรีไทย ต่อมาจึงจัดเป็นพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอัมพวาตามลำดับ ภายในพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอัมพวา  แบ่งออกเป็น 7  เรื่อง  ได้แก่

วิถีชีวิต   ของชุมชนอัมพวาที่ยังคงเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตแบบชุมชนริมน้ำ ที่เกี่ยวพันกับการเกษตรกรรม  การค้า  และการประมงพื้นบ้าน ตลอดจนหัตถกรรม  เช่น  เบญจรงค์  หัตถกรรมจากมะพร้าว  เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีการใช้เรือประเภทต่างๆ  ได้แก่  เรือผีหลอก  เรือสำปั้น  เรือป๊าบ  หรือเรืออีป๊าบ  เรือมาด  เรือบด  และเรือกระแซง  เป็นต้น 
วัด  เป็นเหมือนศูนย์กลางของชุมชน  อัมพวาเป็นชุมชนดั้งเดิมริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง  จึงมีวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมน้ำมากมาย  ซึ่งสะท้อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมผ่านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมดังปรากฏอยู่ ในวัดต่างๆ  อาทิ  วัดอัมพวันเจติยาราม  วัดบางกะพ้อม  วัดพระยาญาติ  วัดบางแคใหญ่  วัดปากน้ำ  วัดท้องคุ้ง  วัดภุมรินทร์กุฎีทอง  เป็นต้น
บ้าน   บ้านเรือนในอัมพวามีหลายรูปแบบ คือ  เรือนไทย  เรือนแถวไม้ริมน้ำ  เรือนแพ  และเรือนพื้นถิ่น  ความพยายามในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมบริเวณสองฝั่งคลอง  ทำให้ชุมชนอัมพวาได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโกใน พ.ศ. 2551 อีกด้วย

ชุมชนริมน้ำ  เอกลักษณ์ของอัมพวา  คือ  วิถีชีวิตและความเป็นชุมชนริมน้ำของกลุ่มชาติพันธุ์และความเชื่อที่หลาก หลาย  ทั้งชาวไทยพุทธ  ชาวไทยจีน  ชาวไทยเชื้อสายมอญ  และชาวไทยมุสลิม ก่อให้เกิดชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  ชุมชนริมน้ำในจังหวัดสมุทรสงคราม  ได้แก่  ชุมชนริมคลองอัมพวา  ชุมชนแม่กลอง  ชุมชนคลองบางน้อย  ชุมชนท่าคา  ชุมชนบางนกแขวก  ชุมชนยี่สาร  เป็นต้น

การดนตรี  อัมพวามีศิลปินที่เกิดในจังหวัดสมุทรสงครามหลายท่าน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางด้านการดนตรี  เช่น หลวงประดิษฐ์ไพเราะเป็นมือระนาดเอกที่มีชื่อเสียง  ครูเอื้อ  สุนทรสนานมีความสามารถการร้อง  การแต่งเพลงไทยสากล  และได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกใน  พ.ศ. 2552  ให้เป็นบุคคลดีเด่นด้านวัฒนธรรม  ดนตรีไทยสากล  ทูล  ทองใจ  นักร้องเพลงลูกทุ่งชาวอัมพวา  เจ้าของฉายา  ”เทพบุตรเสียงกังสดาล”  เป็นต้น

อาหารและขนม อัมพวามีพืชพรรณธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์และด้วยความหลากหลาย ทางวัฒนธรรมของผู้คนในอัมพวา  จึงทำให้ชาวอัมพวาสามารถทำอาหารคาวหวานมีรสชาติอร่อย  ได้แก่ ปลาทูแม่กลอง  กุ้งแม่น้ำ  กะปิคลองโคน  กาแฟโบราณ  ขนมเปี๊ยะ  นอกจากนี้ชาวอัมพวายังมีการถนอมอาหารด้วยกรรมวิธีที่สืบทอดกันมา  เช่น  มะนาวดอง  ผักกาดดอง  หอยดอง  ไข่เค็ม  และผลไม้ดองต่างๆ

วัฒนธรรมประเพณีอัมพวามีกิจกรรมประเพณีต่างๆในรอบปีที่สำคัญ  เช่น  งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย งานแห่หลวงพ่อเขาตะเครา  งานก่อพระเจดีย์ทรายและปิดทองหลวงพ่อดำ ไหว้ศาลปู่ย่าลานนาคะวรังค์  ใส่บาตรขนมครก  งานฉลองโบสถ์อาสนวิหารแม่พระบังเกิด  ประเพณีลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลอง งานไหว้พ่อปู่เขายี่สาร เป็นต้น

2.     ร้านสำรับกลางสวน  ร้านอาหารของมูลนิธิฯ จำหน่ายอาหารคาว-หวาน

3.     อาคารทรงไทยหมู่ 9 หลัง ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และจัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระอัจฉริยะภาพในทางศิลปกรรม  วรรณศิลป์ และดนตรีไทย ซึ่งอาคารหลังนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารในวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549

ส่วนที่สี่

สวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดีนานาชนิด สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและอนุรักษ์พันธุ์ไม้ ภายในสวนมีพระที่นั่งสนามจันทร์จำลอง และประติมากรรม จากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ส่วนที่ห้า

พื้นที่ติดแม่น้ำแม่กลอง มีศาลาอเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรม มีประติมากรรมชุด ฤาษีถวายลิง และมีเรือประพาสอุทยานซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมอบให้มูลนิธิฯ เมื่อ พ.ศ. 2528เคยใช้รับรองพระราชอาคันตุกะ และบุคคลสำคัญจากหลากหลายประเทศ และบริษัทอู่รัตนสุรีย์เป็นผู้บูรณะตกแต่งให้โดยไม่คิดมูลค่า ในปัจจุบันไม่ได้เปิดให้ประชาชนขึ้นชม

ส่วนที่หก

พื้นที่สวนเกษตร ดำเนินการจัดสวนและทำสวนเกษตรตามแนวพระราชดำริ

ข้อมูลจาก:เว็บไซต์มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์(เข้าถึง 21 มกราคม 2557)
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พิพิธภัณฑ์ภายในอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จัดแสดงศิลปวัตถุในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตของชาวไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ภายในอาคารทรงไทย 4 หลัง ประกอบด้วยหอกลาง ห้องชาย ห้องหญิง ชานเรือน ห้องครัว และห้องน้ำ หอกลาง ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และจัดแสดงศิลปวัตถุสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่น เครื่องเบญจรงค์ เครื่องถ้วย หัวโขน

ห้องชาย จัดแสดงพระแท่นบรรทมซึ่งเชื่อว่าเป็นของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปีกขวาจัดแสดงความเป็นอยู่ของชายไทยที่มีความกล้าหาญพร้อมอาสาปกป้องแผ่นดิน มีพระพุทธรูปสำคัญบูชา สมุดไทยเสื้อขุนนางไทยโบราณ ดาบ โล่

ห้องหญิง จัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของหญิงไทยโบราณมีเตียงนอนแบบไทย โต๊ะเครื่องแป้ง คันฉ่อง ฉากปัก ฯลฯ ชานเรือน จัดแบบบ้านไทยโบราณ ตกแต่งด้วยกระถาง ไม้ดัด ไม้ประดับ อ่างบัว ห้องครัวและห้องน้ำ แสดงลักษณะครัวไทย มีเครื่องหุงต้ม ถ้วยชามสำรับอาหาร และห้องน้ำของชนชั้นกลาง โดยรอบร่มรื่นด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ สวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดี มีหุ่นจำลองเรื่องในวรรณคดีสังข์ทอง ไกรทองและพื้นที่ประมาณ 11 ไร่ จัดสวนและทำสวนเกษตรตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ข้อมูลจาก : แปลน รีดเดอร์ส. 100 พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ-ปริมณฑล: โลกกว้างอยู่ไม่ไกล. กรุงเทพฯ : แปลนพริ้นติ้งแอนด์พับลิงชิ่ง, 2546. หน้า 150.
ชื่อผู้แต่ง:
-