ตลาดน้ำบางน้อย อยู่บริเวณปากคลองบางน้อยที่มาบรรจบกับแม่น้ำแม่กลอง สันนิษฐานว่าเริ่มมีและเฟื่องฟูในช่วงที่ชาวจีนอพยพมาอาศัยและสร้างร้านค้าริมน้ำเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว คุณธวัชชัย พิเสฎฐศลาศัย เจ้าของพิพิธภัณฑ์ตั้งเซียมฮะ ทายาทรุ่นที่สองของครอบครัวจีนที่เข้ามาค้าขายในตลาดบางน้อยรุ่นแรก เล่าว่าเตี่ยอพยพมาจากเมืองจีน มาอาศัยและค้าขายนนเรือนแพ ต่อมายกแพขึ้นบกบริเวณปากคลองบางน้อย หน้าวัดเกาะแก้ว ทำเป็นเรือนแถวริมน้ำค้าขายผ้าและเครื่องบวชที่รับมาจากกรุงเทพฯ ตั้งชื่อร้านว่า "ตั้งเซียมฮะ" แรกเริ่มพิพิธภัณฑ์ตั้งเซียมฮะ ตั้งอยู่ในตึกแถวหน้าวัดเกาะแก้ว ของสะสมมาจากความชื่นชอบของท่านเจ้าของ ที่ตั้งแต่วัยเยาว์บ้านอยู่ริมน้ำเห็นการประดาน้ำหาของเก่าใต้แม่น้ำมาโดยตลอด วัตถุส่วนใหญ่ได้จากทางหน้าค่ายบางกุ้ง และตามแม่น้ำในเขตบางคนทีและอัมพวา สิ่งของจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์มีมากกว่า 3,000 ชิ้น ส่วนใหญ่จะเป็นหม้อตาล และเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ อาทิ ไหสี่หูขนาดใหญ่ เครื่องสังคโลก กระปุกชนิด ต่างๆ หม้อทะนน หม้อปูน เป็นต้น ต่อมาเมื่อตลาดน้ำบางน้อยได้รับการฟื้นฟูเป็นแหล่งท่องเที่ยวของอัมพวา พิพิธภัณฑ์จึงได้ย้ายวัตถุมาจัดแสดงไว้ที่ห้องแถวเดิมที่เคยเป็นร้านค้าของครอบครัวในตลาดน้ำบางน้อย เพื่อให้สาธารณชนเข้าถึงและรองรับผู้ชมกลุ่มนักเรียนที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในแถบแม่กลอง
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์ตั้งเซียมฮะ (บ้านไหพันใบ)
การเริ่มขึ้นของพิพิธภัณฑ์ตั้งเซียมฮะนั้น ก็เมื่อประมาณ 20-30 ปี ก่อนนี้ ในช่วงที่คุณธวัชชัยยังอยู่ในวัยเยาว์บ้านยังตั้งอยุ่ที่ร้านตั้งเซียมฮะหัวมุมริมน้ำแม่กลองนี้เอง บ้านอยู่ริมน้ำก็จะเห็นกิจกรรมทางน้ำหลายอย่างที่เกิดขึ้นในแม่น้ำแม่กลอง กิจกรรมหนึ่งที่เห็นและให้เกิดความสนใจ รวมทั้งคุณพ่อของธวัชชัยก็เห็นความสำคัญและสนใจด้ย ก็คือ กิจกรรมการประดาน้ำหาของเก่าใต้ท้องน้ำแม่กลอง
“เมื่อก่อนขึ้นจากน้ำเมื่อไหร่เป็นได้ของมาทุกครั้ง เล็กบ้างใหญ่บางก็ต้องมีได้มา”
จากนั้นมาคุณธวัชชัยก็เฝ้าดูการประดาหาของเก่าและเริ่มที่จะซื้อ – ขาย สะสมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนใหญ่ของที่งบมาได้นั้นจะได้จากทางหน้าค่ายบางกุ้ง และตามแม่น้ำในเขตบางคนทีและอัมพวานี่เอง จนทุกวันนี้สิ่งของจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์มีมากกว่า 3,000 ชิ้น ส่วนใหญ่จะเป็นหม้อตาล มีทั้งขนาดเล็กไปจนเป็นหม้อดินทรงสูง ในบางครั้งก็งมได้มาเป็นไหสี่หูขนาดใหญ่ คุณธวัชชัยก็ซื้อเอามาเก็บไว้ มากๆเข้าใครก็เลยเรียกที่นี่ว่าเป็น “บ้านไหพันใบ” จนคุณธวัชชัยย้ายบ้านไปอยู่ข้างบน คือขยับไปอยู่บริเวณสี่แยกวัดเกาะ ก็ได้ขนเอาหม้อตาล และไห รวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาต่างๆที่เก็บเอาไว้ในโกดังหลังบ้านมาจัดวางให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น การจัดวางหม้อ –ไหที่มีก้นกลมนั้นถ้าจะวางเฉยๆโดยไม่มีฐานก็อันตรายของจะเสียหาย พอดีกับธุรกิจที่บ้านของคุณธวัชชัยนั้น เป็นธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า มีชิ้นส่วนของโฟมอยุ่เป็นจำนวนมากจึงได้ดัดแปลงมาเป็นฐานรองหม้อตาลและไหต่างๆและยังใช้มาจนทุกวันนี้
จากการสังเกตุนั้นหม้อตาลทั้งเล้กใหญ่แต่ละใบมีลวดลายที่ต่างๆกับก็ได้รับการบอกเล่าจากคุณธวัชชัยว่า ที่ลวดลายต่างกันนั้นก็หมายถึงเป็นหม้อดินเผาหรือว่าเป้นหม้อตาลคนละเจ้า คนละยี่ห้อกันนั่นเอง ผู้ขายก็ทำลายของตนเองเอาไว้เพื่อให้ลูกค้าจดจำได้จะได้มาซื้อกันอีก และทำไมถึงเจอหม้อตาลเยอะนักในแม่น้ำแม่กลอง เหตุหนึ่งก็อาจจะมาจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมน้ำแม่กลองพอใช้น้ำตาลหมดหม้อเล็กก็โยนลงน้ำไป หม้อตาลก็ถูกพัดพาตามกระแสน้ำมาเรื่อยๆก็เลยทำให้นักล่าสมบัติทั้งหลายเจอหม้อตาลมากมายอย่างที่เห็น
สิ่งของจัดแสดงภายในนั้น ประกอบด้วย เครื่องสังคโลก มีทั้ง ไห ชาม และกระปุกชนิด ต่างๆ หม้อทะนนเป็นภาชนะที่ใช้สำหรับหุงต้ม มีใช้ในสมัยอยุธยา หม้อตาลเป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำตาลมะพร้าว มีใช้ในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หม้อปูนเป็นภาชนะสำหรับใส่ปูนแดงกินกับหมาก มีใช้ในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เตาเชิงกราน เป็นเตาฟืนสำหรับหุงหาอาหาร มีใช้ในสมัยอยุธยา นอกจากนี้ ยังมี ไหกระเทียมเป็นภาชนะที่ใส่เหล้ามาจากประเทศจีน แต่คนไทยใช้ดองกระเทียม มีใช้ในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และยังมีโอ่ง ถ้วยชาม กระถาง เรือบดไม้สัก ขวดน้ำมะเน็ต และอื่นๆอีกมากมายที่ถ้าสนใจหรือมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องถ้วยชามโบราณในสมัยต่างๆก็จะสนุกสนานกับการค้นหาดูว่ามีศิลปะหรือเครื่องดินเผายุคไหนมาบ้าง
สภาพภายในพิพิธภัณฑ์ในวันที่ได้เข้าไปเยี่ยมชมนั้น ปิดเอาไว้ คุณธวัชชัยจะเป็นผู้มาเปิดประตูให้เข้าชม การจัดเรียงภายในเป็นไปอย่างง่ายๆ คือ คุณธวัชชัยจะจัดโต๊ะไม้ยาวประมาณ 1.5 x 1 เมตร เรียงต่อกันสองตัวความยาวตามขนาดห้อง 3 แถว แต่ละแถวจะจัดวางหม้อตาลขนาดต่างๆ อีกแถวหนึ่ง ก็จะจัดวางไหเหล้าจีนที่คนไทยดัดแปลงไปเป็นไหน้ำปลา กระถางที่ด้านในเคลือบสีเขียวไขกา ส่วนด้านผนังก็จะทำชั้นไม้เพื่อวางหม้อตาลเป็นชั้นๆประมาณ 3-4 ชั้น ด้านล่างก็วางเครื่องฟั่นดินเผาขนาดใหญ่ไว้ เช่น โอ่งตีนช้างที่มีไว้ใช้ในเรือต้องมีฐานที่กว้างกว่าโอ่งปรกติเพื่อความมั่นคงเวลาเดินเรือเรือโครงเครงจะน้ำได้ไม่หกเสียหายไป การดูแลทำความสะอาดภายในนั้นคุณธวัชชัยก็จะมาทำความสะอาดเรื่อยๆ เนื่องจากว่าไม่ได้เปิดให้เข้าชมทุกวันจึงไม่ค่อยสกปรกรกรุงรังมากนัก เรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการดูแลอย่างดี
พิพิธภัณฑ์ตั้งเซียมฮะไม่เก็บค่าเข้าชม แต่ก็มีกล่องรับบริจาคเพื่อนำเงินของผู้เข้าชมทุกท่านที่บริจาคให้มาใช้ในการทำนุบำรุงพิพิธภัณฑ์และสิ่งจัดแสดงภายในต่อไป แต่จำนวนเงินที่ได้รับบริจาคจากนักท่องเที่ยวนั้นก็ไม่ได้มากมายนัก ส่วนใหญ่งบประมาณในการทำนุบำรุงก็มาจากเจ้าของเองทั้งหมด
ในขณะนี้ชาวบ้านในตำบลกระดังงา รวมทั้งหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆร่วมมือกันเพื่อปลุกตลาดบางน้อยขึ้นมาอีกครั้ง ในวันเสาร์ – อาทิตย์ ตลาดน้ำบางน้อยจะกลับมาคึกคักอีกครั้งและเป็นทางเลือกของนักท่องเที่ยวทั้งหลายที่อยากเที่ยวตลาดน้ำที่ไม่แออัดและอากาศปลอดโปร่งอีกแห่งหนึ่งในสมุทรสงคราม
เมธินีย์ ชอุ่มผล เรื่องและภาพ
หมายเหตุ ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ตั้งเซียมฮะ ได้ย้ายจากตลาดน้ำบางน้อยมายังอาคารพาณิชย์ริมถนน บริเวณสี่แยกวัดเกาะแก้ว ก่อนถึงตลาดน้ำบางน้อย
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
เครื่องปั้นดินเผา ไห อัมพวา ตลาดน้ำบางน้อย หม้อตาล ตั้งเซียมฮะ
พิพิธภัณฑ์วัดดาวโด่ง
จ. สมุทรสงคราม
ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ
จ. สมุทรสงคราม
หอวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม
จ. สมุทรสงคราม