ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ


ที่อยู่:
2/1 หมู่ 7 ต.แควอ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม 75110
โทรศัพท์:
034-702064,084-0034194
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 8.00-16.00น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
banmaewthai@gmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2544
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ

กำนันปรีชา พุคคะบุตร  ถือได้ว่าเป็นปราญช์ทางด้านแมวคนหนึ่งในเมืองไทย เพราะท่านศึกษาหาความรู้เรื่องเกี่ยวกับแมวพันธุ์ต่างๆ  การผสมพันธุ์แมว  การผสมสายพันธุ์แมวให้ได้พันธุ์แท้  มาหลายสิบปี    ท่านก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์แมวไทยเมื่อปี พ.ศ.2544  โดยในปีนั้นจังหวัดสมุทรสงครามจัดให้ปีท่องเที่ยวของจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดและปศุสัตว์จังหวัดช่วยมาจัดการให้ที่นี่ได้เปิดเป็นศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ  การจัดวางโรงเรือนในช่วงแรก  ยังไม่มีโรงเรือนใหญ่ ต่อมากำนันจึงทำโครงการขอลานจอดรถกับโรงเรือนจากทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อความสะดวกของนักท่องเที่ยว  โรงเรือนของศูนย์แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ โรงเรือนสำหรับโชว์แมวพันธุ์ต่างๆ มีป้ายชื่อของแต่ละตัวรวมทั้งรายละเอียด เพศ อายุ ปรากฏอยู่อย่างชัดเจน และจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับแมว ความรู้เรื่องแมว  อีกส่วนคือโรงเลี้ยงแมว ทั้งผสมพันธุ์แมวและแมวป่วยเป็นโรคต้องแยกไปรักษา 
 
เล่ากันว่า แมวเป็นสัตว์ที่ปรากฏในโลกมาประมาณ 50 ล้านปีแล้ว เมื่อก่อนนี้(ในสมัยบรรพกาล) แมวตัวใหญ่มาก ตัวขนาดเท่าเสือไซบีเรียได้ แต่วิวัฒนาการของแมวมาจนถึงปัจจุบันขนาดตัวแมวเล็กลงจนเท่าที่เห็น  เนื่องจากว่าการผสมพันธุ์ในหมู่สายเลือดที่ชิดกันมากเกินไป ทำให้การพัฒนาของขนาดร่างกายของแมวเล็กลง  ในโลกนี้มีแมวทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ 1. แมวอาบีสซาเนีย   2.แมวอียิปต์  และ 3.แมวไทย    โดยแมวไทยนั้น มีหลักฐานเรื่องความรู้เกี่ยวกับแมวของไทยในสมุดข่อยสมัยสุโขทัย ได้มีการกล่าวถึงแมวไทยว่ามีทั้งหมด 23 ชนิด เป็นแมวให้โทษ 6 ชนิด และแมวให้คุณหรือแมวมงคล 17 ชนิด แต่ในปัจจุบันแมวให้คุณซึ่งเป็นแมวไทยโบราณพันธุ์แท้ สูญพันธุ์ไปแล้วถึง 13 ชนิด เหลืออยู่เพียง  4 ชนิด คือ แมววิเชียรมาศ  แมวโคราช(สีสวาด)  แมวศุภลักษณ์ แมวโกญจา  
 
ส่วนอีกพันธุ์หนึ่งที่ปรากฏในปัจจุบันซึ่งกำนันกล่าวว่าเป็นแมวที่เกิดขึ้นในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์นี้เองคือ แมวขาวปลอด หรือ แมวขาวมณี ซึ่งเป็นแมวพันุ์ที่น่ารัก น่าเลี้ยงมาก นอกจากความโดดเด่นของสีขนแล้ว ดวงตาของแมวพันธุ์นี้จะมีสองสี คือ สีฟ้า กับ สีเหลือง  ถ้าแมวพันธุ์นี้ตาสีฟ้าทั้งสองข้างจะตาดี แต่หูหนวก แต่ถ้าตาสีเหลืองทั้งสองข้างตาดี หูไม่หนวก แต่ถ้ามีตาสองสีคือ ข้างหนึ่งสีเหลือง อีกข้างสีฟ้าในตัวเดียว ตาสีฟ้าจะตาบอดข้างหนึ่ง  กำนันเล่าว่าที่แมวขาวมณีมีสีขาวนั้น เนื่องจากว่าแมวในอดีตกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร อาหารกินเองก็มีพยาธิเข้าไปในตัวจากนั้นมีลูกมาอีก พยาธิก็ไปรอที่ลำไส้แย่งเอาสารอาหารไปหมด เมื่อลูกแมวเกิดมาก็มีลักษณะพิการขาดสารอาหารทำให้หางคดหางงอ บางตัวต่อมสร้างเม็ดสีพิการ พอผ่านมาหลายรุ่น ต่อมสร้างเม็ดสีพิการถาวร ไม่สามารถสร้างสีดำกับสีแดงได้ ขนเลยออกมาไม่มีสี เป็นสีขาวไป เลยกลายเป็นแมวขาวปลอด “ขาวมณี” 
 
ในประวัติศาสตร์ แมวกลายเป็นสัตว์ที่มีบทบาทในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับประเทศตะวันตก กล่าวคือ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5  พระองค์ก็จะพระราชทานแมวสีสวาดให้เป็นของกำนัล โดยแมวไทยสีสวาดคู่แรกที่ได้ไปอยู่ต่างประเทศคือ เมื่อปี พ.ศ.2427 ได้พระราชทานให้แก่กงศุลอังกฤษที่ครบวาระต้องกลับไปอังกฤษชื่อ นายโอเวน กุล เขาได้นำแมวคู่นี้ไปฝากน้องสาวเลี้ยงที่อังกฤษเนื่องจากว่าเขาต้องไปปฏิบัติหน้าที่ที่อื่นๆ อีก และในปีต่อมา พ.ศ.2428 ที่เมืองคริสตัลพาเลสได้มีการจัดประกวดแมวโลกขึ้นโดยแยกประเภทเป็นตัวผู้และตัวเมีย น้องสาวของอดีตกงศุลอังกฤษประจำไทยก็ส่งเจ้าแมวสีสวาดสองตัวนี้เข้าประกวดและได้รางวัลชนะเลิศ ทำให้แมวสีสวาด หรือ Siamese cat กลายเป็นแมวที่โด่งดัง ถึงกับมีการตั้งสมาคมแมวสยามขึ้น    
 
การที่กำนันต้องเลี้ยงแมวในกรงไว้  ก็เพื่อกันมันจะไปผสมกันเองทำให้เกิดแมวไม่มีเชื้อสายได้  อีกอย่างคือแมวเป็นสัตว์ชอบเที่ยว ถ้าไม่เอาใส่กรงไว้เวลานักท่องเที่ยวมา อาจจะไม่ได้เห็นเพราะมันจะชอบแอบไปนอนในที่เย็นๆ และเพื่อความปลอดภัยของแมวเองเนื่องจากว่าที่อัมพวาเป็นสวนและพื้นที่ชุ่มน้ำมักจะมีงูเหลื่อมซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจกับแมวมาเยี่ยมเยียนเป็นประจำ
 
งบประมาณของศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการ ส่วนใหญ่เป็นทุนทรัพย์ของกำนันเอง โดยที่ศูนย์ก็มีการตั้งตู้รับบริจาคเงินบำรุงสถานที่ เงินค่าอาหารแมวบ้าง ตามแต่ใจศรัทธาของของนักท่องเที่ยว  แต่รายได้ส่วนใหญ่ของศูนย์ฯ ได้มาจากการขายแมว บางคนที่อยากได้แมวพันธุ์ดี ก็จะมาขอซื้อแมวจากที่นี่ไปเลี้ยงด้วย  ที่ศูนย์นอกจากเปิดให้ชมแมวพันธุ์ไทยต่างๆ แล้ว ยังเป็นแหล่งให้ความรู้ ให้คำปรึกษาปัญหาแมวๆ แก่บุคคลทั่วไป
 
เมธินีย์  ชอุ่มผล  เรื่องและภาพ
สำรวจวันที่ 14 มีนาคม 2552
ชื่อผู้แต่ง:
-