พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาวเวียง


ที่อยู่:
ชุมชนบ้านขนุน 27 หมู่ 3 ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120
โทรศัพท์:
081-482-8869 , 032-347-292
วันและเวลาทำการ:
ติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2544
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาวเวียง

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาวเวียงตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม ห่างจากตัวเมืองราชบุรีประมาณ 30กิโลเมตร เริ่มจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2539ลาวเวียงเป็นชื่อที่ได้มาจากชื่อกลุ่มคนที่มีเชื้อสายลาว ที่อพยพมาจากเวียงจันทร์ และมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณอำเภอโพธาราม รวมถึงในเขตตำบลบ้านเลือกแห่งนี้ด้วย ตามประวัติแล้วการอพยพของชาวลาวเวียงนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และมีการอพยพต่อมาอีกหลายระลอกในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในยุคแรกๆ ชาวลาวเวียงเข้ามาตั้งถิ่นฐานแถบริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ก่อนแล้วจึงขยับร่นออกไปเรื่อยๆ ประเด็นการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ของชาวลาวเวียงได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มชาวบ้าน ดังจะเห็นได้จากการจัดสร้างหอวัฒนธรรมลาวเวียงขึ้นบริเวณวัดโบสถ์อีกแห่งหนึ่ง และการจัดตั้งเป็นสมาคมลาวเวียง (Laovien Association) ที่ไม่ได้เพียงพยายามรื้อฟื้นประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มตน แต่ยังพยายามขยายเครือข่ายออกไปนอกประเทศ ทั้งที่เวียงจันทร์ ประเทศลาว ถิ่นฐานดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ดังที่มีการเดินทางมาเยี่ยมเยียนชุมชนลาวเวียงของ ฯพณฯ อ้วน พรหมจักร อัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปี พ.ศ.2553 และกิจกรรมของเยาวชนชาวลาวเวียงในประเทศสหรัฐอเมริกา


ประวัติ ห้องจัดแสดง และวัตถุจัดแสดง
            
คุณเสถียร (เจ้าของพิพิธภัณฑ์) กล่าวถึงประวัติของอาคารแห่งว่าเป็นเรือนไม้เก่าแก่ของคุณแม่ (ผู้ล่วงลับ) ตามธรรมเนียมของคนแถบนี้จึงมักจะให้ลูกคนเล็กเป็นผู้อยู่ดูแลพ่อ-แม่ ในยามแก่เฒ่า ดังนั้น ด้วยความที่คุณเสถียรเป็นลูกคนเล็กจึงสร้างบ้านอยู่ในบริเวณเดียวกับบ้านเดิมของแม่ และเมื่อแม่เสียชีวิตลงสิ่งที่ได้รับสืบทอดมาคือบ้านและสมบัติเล็กๆ น้อยๆ บางส่วน ตัวคุณเสถียรเองมีความสนใจ และใจรักในการเก็บสะสมวัตถุพื้นบ้านมานานแล้ว มีทั้งการเอ่ยปากขอด้วยวาจาจากเจ้าของเดิมที่ไม่ใช้วัตถุนั้นแล้ว และโดยการซื้อหา วัตถุที่เลือกมาส่วนใหญ่กำหนดจากความทรงจำวัยเด็กว่าเคยเห็นของใช้ในชีวิตประจำวันอะไรมาบ้าง แม้กระทั่งเครื่องมือในการทำนา (ทำการเกษตร) ที่คุณเสถียรไม่ได้เกี่ยวข้องมากนักเพราะครอบครัวไม่ได้ทำนา แต่ในความคิดของคุณเสถียรคือของหรือเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้นับวันก็จะสูญหายไปจากชุมชน หลังจากที่แม่เสียชีวิต คุณเสถียรเริ่มนำข้าวของที่สะสมไว้มาเก็บที่เรือนเก่าของแม่ และในปี พ.ศ.2539ได้รับทุนสนับสนุนบางส่วนจากโครงการของวัฒนธรรมจังหวัดมาปรับปรุงทำบอร์ดจัดแสดง ทาสีอาคาร ทำห้องน้ำ และปูพื้น ของอาคารใหม่ และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการ
               
ในส่วนของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มมีทั้งนักศึกษา นักวิชาการจากกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะเข้ามาผ่านเครือข่ายของจังหวัด หรือเทศบาล เป็นผู้ที่สนใจด้านศิลปวัฒนธรรม พื้นบ้าน และอีกส่วนคือหน่วยงานราชการที่มาดูงานเกี่ยวกับด้านสมุนไพรที่เข้ามาดูงานสวนสมุนไพรของคุณเสถียร ส่วนชาวบ้านในชุมชนนั้นถือว่าเป็นส่วนน้อย หรือแทบจะไม่ค่อยมีเข้ามานอกจากกลุ่มเยาวชนที่ต้องการฝึกซ้อมดนตรีสากลซึ่งคุณเสถียรอนุเคราะห์สถานที่ให้ฝึกซ้อมอยู่ และก็มีบ้างที่ได้รับทราบข่าวสารจากสื่อโทรทัศน์ที่เคยเข้ามาถ่ายทำ สัมภาษณ์คุณเสถียร

อาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีลักษณะเป็นบ้านทรงไทยประยุกต์ ของคุณเสถียร ซึ่งมีลักษณะการก่อสร้างที่ประยุกต์และไม่เหลือเค้าของเรือนแบบชาวลาวเวียงอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากลูกหลานชาวลาวเวียงในรุ่นหลังนี้ต่างก็ถูกกลืนเข้าสู่ความเป็นไทยจนแทบไม่หลงเหลืออัตลักษณ์ของชาวลาวเวียงแล้ว ด้านหน้าของอาคารเป็นสวนสมุนไพรที่คุณเสถียรเพาะเลี้ยงไว้เป็นแหล่งให้ความรู้ รวมไปถึงแหล่งเรียนรู้ของเครือข่ายด้านสาธารณสุข

ลักษณะของอาคารเป็นอาคารไม้ 2ชั้นใต้ถุนสูง ชั้นล่างมีการกั้นพื้นที่ส่วนด้านหน้าเป็น 1) ส่วนรับแขก ประกอบด้วยเคาน์เตอร์ที่และภาพถ่ายกึ่งๆ นิทรรศการเกี่ยวกับกิจกรรมที่คุณเสถียรเข้าร่วมในอดีต รวมไปถึงการรับรางวัลต่างๆ และชุดรับแขกไม้ 2)ส่วนนิทรรศการ ส่วนแรก อยู่บริเวณใต้ชายคาบ้านและติดกับพื้นปูกระเบื้องจัดแสดงเรือพื้นบ้านจำนวน 2ลำ ลำแรกเป็นเรือไม้พื้นบ้านทั่วไป วางพาดไว้ด้านบน และลำที่สองอยู่ด้านล่างนั้นเป็นเรือพื้นบ้านที่เรียกว่า “อีโปง” เป็นวัตถุเด่นที่คุณเสถียรกล่าวว่าหาดูได้ยาก เป็นเรือพื้นบ้านดั้งเดิมของชุมชนแถบนี้ สร้างขึ้นจากการนำต้นตาลทั้งต้นมาขุดเอาเนื้อตรงกลางออก ด้วยเหตุที่ว่าเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายและใช้ต้นไม้เพียงต้นเดียวจึงทำได้ง่ายและสะดวกจึงเป็นที่นิยมมากในอดีต แต่ปัจจุบันช่างที่สามารถทำเรืออีโปงได้นั้นมีจำนวนน้อย และไม่ได้อาศัยอยู่ในแถบตำบลบ้านเลือก ส่วนจัดแสดงที่สอง อยู่ใกล้กับชุดรับแขกจัดแสดงวัตถุเกี่ยวกับการเกษตร การทำนา ประกอบด้วยเครื่องสีข้าว ถังฟาดข้าว ครกตำข้าว เกวียน และผ่านไผ่ (ทำจากไม้) เป็นต้น

ส่วนจัดแสดงชั้นชนของอาคารต้องขึ้นจากบันไดไม้ที่อยู่ด้านข้าง ชั้นบนนี้สามารถแบ่งส่วนจัดแสดงออกได้เป็น 3ส่วน ด้วยกันคือ 1)ส่วนชานบ้านเป็นส่วนแรกที่จะพบเมื่อเดินขึ้นบันไดบ้านไป เป็นส่วนจัดแสดงเครื่องจักสานที่มีหน้าที่การใช้งานแตกต่างกันอาทิ เปลนอนขนาดใหญ่สานจากไม้ไผ่มีรูปร่างคล้ายเรือ กระบุงปากบาน (ที่คุณเสถียร ระบุว่าเป็นวัตถุหายากอีกชิ้นในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้) เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ชุใส่หมู และตะกร้ารูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือทำสวน อาทิ พร้า ตะกร้อเก็บผลไม้ เป็นต้น 2)ห้องจัดแสดงห้องที่สอง เป็นส่วนที่อยู่ด้านในประตูถัดจากชานบ้านเข้าไป และเป็นห้องโถงหลักของตัวเรือนด้านบน วัตถุที่จัดแสดงอาจจะสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มหลักๆ ได้ 6กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการทอผ้า อาทิ เครื่องหีบเมล็ดฝ้ายเพื่อให้ได้เส้นใย เครื่องกรอด้าย จักรเย็บฝ้า กลุ่มที่สอง เครื่องมือเกี่ยวกับการเกษตร และเครื่องมือช่าง อาทิ ที่กวาดข้าวในลานข้าว (ทำจากไม้) ที่ตักข้าวสารที่สีหรือตำแล้วเพื่อโยนขึ้นบนอากาศแล้วจึงใช้พัด พัดให้เปลือกข้าวแยกออกจากเมล็ดข้าว ระหัดวิดน้ำ ถังตวงข้าว ไขควง เลื่อย เป็นต้น ที่น่าสนใจคือ เครื่องมือช่างบางชิ้นที่จัดแสดงไว้นี้ยังสามารถนำไปใช้งานได้จริง และคุณเสถียรก็ยังนำไปใช้อยู่เป็นครั้งคราว กลุ่มที่สาม  เครื่องจักสานประเภทต่างๆ จะห้อยลงมาจากหลังคาบ้านทั่วห้องจัดแสดง กลุ่มที่สี่ กระต่ายขูดมะพร้าว มีจำนวนหลายตัว และหลายรูปแบบ กลุ่มที่ห้า เครื่องตัด/หั่นใบยาสูบ กลุ่มที่หก ภาพวาดลายเส้นฝีมือลูกของคุณเสถียร (เรียนทางด้านสถาปัตยกรรม) ส่วนใหญ่เป็นรูปวาดบุคคล และมีบางชิ้นที่คุณเสถียรวาดเองด้วย

ส่วนจัดแสดงส่วนสุดท้าย เป็นห้องที่ต่อไปจากโถงหลัก แต่เดิมคงเป็นเฉลียงของบ้านที่ยื่นออกไป แต่มีการต่อเติมจนมีลักษณะคล้ายห้อง แต่ที่ผนังด้านหนึ่งนั้นเปิดโล่งเป็นเพียงระเบียงลูกกรงที่อยู่เหนือส่วนรับแขกของใต้ถุนบ้าน วัตถุจัดแสดงในห้องนี้แบ่งออกได้เป็น 5กลุ่มคือ กลุ่มแรก เกี่ยวกับการทอผ้า อาทิ กี่ทอผ้าสภาพไม่สมบูรณ์ ไม้ที่ใช้กระแทกผ้าให้ด้ายชิดกัน เครื่องมือที่ใช้ร่วมในการทอกี่ กลุ่มที่สอง ไม้คาน ตาชั่ง กลุ่มที่สาม เครื่องมือช่าง ไขควง กลุ่มที่สี่ เครื่องดนตรีไทย อาทิ ซอ และแคนกลุ่มที่ห้า ภาพวาดลายเส้นรูปบุคคล วาดโดยลูกของคุณเสถียร

เนื้อหา และประเด็นข้อวิจารณ์
               
เนื้อหาในส่วนนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น  4ประเด็น ประเด็นแรก อัตลักษณ์ของลาวเวียง คำถามหลักๆ ก่อนเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ อะไรคือความเป็นลาวเวียงที่จะแสดงผ่านห้องจัดแสดง หรือแม้แต่การจัดวางโดยรอบอาคาร?คำตอบที่ได้คือพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญเน้นหนักไปที่อัตลักษณ์หรือเครื่องบ่งบอกความเป็นลาวเวียงนัก ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้จัด (คุณเสถียร) มองว่าชุมชนโดยรอบที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวลาวเวียงนั้นล้วนแล้วแต่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต รวมทั้งประเพณีวัฒนธรรมไปจนคล้ายกับสังคมไทยชนบททั่วๆ ไปแล้ว แต่สิ่งที่ผู้เขียนพบว่าการนิยามความเป็นลาวเวียงของคุณเสถียรนั้นมีความพยายามเชื่อมโยงเข้าสู่ความเป็นสังคมเกษตรกรรม ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนักว่าวัตถุสะสมส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเครื่องมือเกษตร (ทำนา) การทอผ้า
[1]สิ่งที่จะมีเพิ่มเข้ามาคือการจัดแสดงเรือ ที่น่าจะแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวลาวเวียงที่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำแม่กลองและลำคลองสายย่อยในพื้นที่ ในประเด็นอัตลักษณ์ลาวเวียงนี้ผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะมีความสอดคล้อง การโต้ตอบของการให้ความหมายต่ออัตลักษณ์ลาวเวียงอยู่ภายนอกห้องจัดแสดง/พิพิธภัณฑ์อยู่พอสมควร เพราะเมื่อลองสืบค้นข้อมูลของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงในพื้นที่อื่นๆ จะพบว่าพื้นที่บ้านเลือกเองน่าจะเป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวที่พยายามปลุกเร้า และกระตุ้นให้ชุมชนหันมาฟื้นฟู รวมไปถึงอนุรักษ์อัตลักษณ์ของตนขึ้นใหม่ ผ่านสื่อออนไลน์ (ที่เข้าใจว่าผู้ที่ดูแลเว็บไซต์นี้คือเยาวชนกลุ่มหนึ่ง) การจัดตั้งหอวัฒนธรรมขึ้นที่วัดโบสถ์ การจัดงานประเพณีที่ส่งเสริมให้มีการแต่งกายแบบ “ลาวเวียง” ในหมู่เยาวชน รวมไปถึงการก่อตั้งเป็นสมาคมลาวเวียง แต่ข้อสังเกตหนึ่งคือพิพิธภัณฑ์หรือคุณเสถียรเองก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบ (ในมิติของการสร้างหรือให้ความหมายต่ออัตลักษณ์ลาวเวียง) มากนักในบางช่วงเวลาของการสัมภาษณ์ยังสังเกตเห็นได้ถึงความอึดอัดที่จะแสดงตนเองในพื้นที่ชุมชน ดังเห็นได้จากเหตุผลที่ไม่จัดทำป้ายบอกทางเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ว่าจะทำให้เกิดคำครหาในหมู่ชาวบ้านว่าทำอะไรเกินผู้อื่น และโอ้อวดตนเกินไป

ประเด็นที่สองมีต่อเนื่องและขยายมาจากประเด็นแรก กล่าวคือการเมืองส่วนท้องถิ่นน่าจะมีส่วนร่วมในการผลักดันการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ลาวเวียงอยู่พอสมควร ทั้งในส่วนของหอวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาวเวียง เพียงแต่การสนับสนุนนั้นไม่ค่อยสม่ำเสมอขึ้นอยู่กับผู้บริหารแต่ละชุด ดังข้อมูลจากคุณเสถียรเกี่ยวกับผู้เข้าชมที่บางส่วนรับทราบข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ผ่านทางเทศบาล หรือการที่เทศบาลจัดให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในจุดดูงานให้กับหน่วยงานจากพื้นที่อื่น ในส่วนนี้ดูเหมือนจะเป็นการให้ความสนับสนุน แต่ถ้าพิจารณาแล้วกลับเป็นเพียงแค่เรื่องของการฉวยใช้ประโยชน์เสียมากกว่า

ประเด็นที่สาม ปัญหาในเชิงการบริหารจัดการ งบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการดูแลเป็นปัญหาสำคัญของพิพิธภัณฑ์ และเนื่องจากไม่มีการจ้างผู้ช่วยดูแลภาระทั้งหมดจึงอยู่ที่คุณเสถียรเอง ทั้งในเรื่องการทำความสะอาด การจัดแสดง ซ่อมแซมวัตถุ ถึงแม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนในเชิงความรู้ในด้านการทำทะเบียนมาจากกรมศิลปากร แต่ก็ยังติดอยู่ที่เวลา และภาระอื่นๆ ปัญหานี้ยังเป็นปัญหาเช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ ที่เจ้าของจัดพิพิธภัณฑ์ด้วยใจรักและใช้เงินส่วนตัวทั้งหมดในการจัดการพิพิธภัณฑ์
               
ประเด็นที่สี่ ประเด็นด้านการจัดแสดง วิธีการจัดแสดงนั้นมีความพยายามจัดการให้เป็นหมวดหมู่ ที่น่าสนใจคือการนำเครื่องมือช่างที่ใช้งานอยู่มาจัดวางรวมกับวัตถุจัดแสดงทั่วๆ ไปนั้น แสดงให้เห็นถึงหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์เองว่าก่ำกึ่งอยู่กับการเป็นห้องเก็บของไปด้วยในตัว หรือการนำภาพวาดลากเส้นที่วาดโดยลูกชายและคุณเสถียรมาติดไว้รอบอาคารโดยที่ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวัตถุชนิดอื่นนั้น ก็อาจจะมองได้ว่าลึกๆ แล้วความหมายของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นมากกว่าแค่สถานที่จัดแสดงความเป็นลาวเวียง แต่มีกลิ่นอายของสถานที่ที่เก็บความทรงจำ หรือของที่ระลึกในชีวิตส่วนตัว (งานฝีมือสมัยยังเป็นนักเรียนของลูก และอาคารที่เป็นเรือนเก่าของแม่) ของคุณเสถียรไว้ด้วย
               
การเดินทาง
               
เดินทางด้วยรถยนต์จากกรุงเทพฯ  ใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม หมายเลข 4กรุงเทพ-นครปฐม มุ่งหน้าไปทางจังหวัดราชบุรี เลี้ยวขวาที่สี่แยกบางแพ ที่ถ้าหากเลี้ยวขวาจะไปอำเภอโพธาราม และเลี้ยวซ้ายไปอำเภอดำเนินสะดวก หลังจากเลี้ยวขวาไปประมาณ 2.5 กม. ด้านขวามือจะเห็นป้ายโรงเรียนบ้านเลือกอยู่ริมถนนฝั่งขวามือ ให้เลี้ยวซ้ายเข้าซอยที่อยู่ตรงข้ามโรงเรียน ตรงไปจนถึงสามแยก ให้เลี้ยวไปทางซ้ายมือ ตรงไปตามทางประมาณ 150-200เมตร เลี้ยวเข้าซอยทางซ้ายมือไปตามทางถนนคอนกรีต ประมาณ 30เมตร จะเห็นป้ายของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาวเวียงอยู่ทางขวามือ เป็นถนนโรยกรวดทางเข้าบ้าน อาคารพิพิธภัณฑ์จะเป็นอาคารหลังแรกที่เห็นอยู่ทางขวามือของถนนโรยกรวด


อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล /เขียน
สำรวจภาคสนาม เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2555
 
อ้างอิง
สื่อออนไลน์
เว็บไซต์ 
http://tiny.cc/bic49w (วันที่ 27 มิถุนายน 2555)
เว็บไซต์  
http://tiny.cc/mgc49w (วันที่ 27 มิถุนายน 2555)


[1] ตามภาพอุดมคติของสังคมเกษตรกรรมก็คือการทำนาเพื่อดำรงชีพ และทอผ้าในช่วงเวลาว่างของหญิงสาว ซึ่งภาพอุดมคติเหล่านี้มักจะปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหลายแห่ง 

 
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาวเวียง

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาวเวียง เดิมเป็นที่พักอาศัยของครอบครัวนายใหม่ นางตา ตุ่นบุตรเสลา โดยปลูกสร้างเป็นโรงหลังคามุงจาก และได้รับการปรับปรุงเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 จนกระทั่งปรับปรุงครั้งสุดท้ายปี พ.ศ. 2544 เมื่อนายใหม่และนางตาเสียชีวิต นายเสถียร ตุ่นบุตรเสลา บุตรคนสุดท้องและครอบครัวซึ่งเป็นผู้ดูแลบิดา มารดา ได้ไปปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ ส่วนหลังเก่าคงสภาพเดิมไว้ โดยนายเสถียรและภรรยา มีแนวความคิดที่จะสะสมรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีพ เพื่อแสดงวิถีชีวิตชุมชน และเก็บไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ถึงเรื่องราววิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ซึ่งสะสมเรื่อยมาโดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวบ้าง และมีผู้บริจาคบ้าง 

ต่อมาสภาวัฒนธรรมชุมชนบ้านขนุนได้เล็งเห็นความมุ่งมั่นของนายเสถียร และด้วยภารกิจของสภาฯ คือ การฟื้นฟู ส่งเสริม อนุรักษ์ พัฒนาและสงวนรักษาฯ เอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งชุมชนบ้านขนุนมีประวัติเป็นชุมชนลาวเวียงเดิม ประกอบกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี ได้มีโครงการจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี ตามโครงการจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งจัดเป็นพื้นที่นำร่อง 3 แห่ง 

วัฒนธรรมชุมชนบ้านขนุน ได้ศึกษารายละเอียดหลักเกณฑ์ของการจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรมชุมชนแล้วเห็นพ้องต้องกัน จึงจัดทำโครงการนำเสนอสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี เพื่อพิจารณา 3 โครงการ และ 1 ในจำนวนนั้น คือการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชุมชนลาวเวียง ด้วยเหตุที่ชุมชนบ้านขนุนเป็นชุมชนขนาดกลางและยังไม่เป็นที่รู้จักของคนภายนอกมากนัก รวมทั้งเป็นชุมชนอีกแห่งหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน ชุมชนแห่งนี้จึงได้รับการตัดสินเป็นพื้นที่นำร่อง

นอกจากนี้ นายเสถียร นางศรีนวล ตุ่นบุตรเสลา ได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่และอาคารบ้านเรือนจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของอนุชนรุ่นหลังให้ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้เห็นคุณค่า และสืบทอดวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่ชุมชนบ้านขนุนอย่างยั่งยืนตลอดไป

วริสรา แสงอัมพรไชย /สรุปความ

ข้อมูลจาก http://rb-tour.blogspot.com/2010/10/blog-post_7704.html [Accessed 21/02/2011]

ชื่อผู้แต่ง:
-