โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
ชื่อผู้แต่ง: ดุสิต ลิมปวัฒนากร | ปีที่พิมพ์: 6/5/2547
ที่มา: ข่าวสด
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: ศิระภัทร โกมลรุจินันท์ | ปีที่พิมพ์: 01-06-2544 หน้า5
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์ทหารช่าง ค่ายภาณุรังษี
ภายในบริเวณค่ายภาณุรังษี ใกล้กับสโมสรทหารช่าง หัวรถจักรไอน้ำรถไฟในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองตั้งแสดงอยู่ ใกล้กันมีรถทหารช่างสมัยก่อน แต่ละคันมีขนาดใหญ่ เหล็กหนา มีทั้งรถตักบรรทุก รถถากถาง รถเกลี่ย รถสะพาน รถปั้นจั่น รถบดล้อเหล็ก เรือยนต์สร้างสะพาน ส่วนนี้คือส่วนจัดแสดงกลางแจ้งของพิพิธภัณฑ์ทหารช่าง ค่ายภาณุรังษี
ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์ในวันนี้คือ พ.ท.หญิง เพียงรำไพ ทองบัว ประจำสำนักงานเลขานุการกองทัพบก ช่วยราชการกองวิทยาการ กรมการทหารช่าง และ พ. ท. นิรันดร์ รัตวงศ์ หัวหน้าแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ กองวิทยาการ กรมการทหารช่าง ในขณะที่ทั้งสองท่านนำชมพิพิธภัณฑ์ เป็นเวลาเดียวกับที่นักเรียนนายสิบประมาณหนึ่งกองร้อยได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ในส่วนของวิชาประวัติศาสตร์ บรรยากาศของพิพิธภัณฑ์จึงดูได้บรรยากาศของทหารมากขึ้นไปอีก
นอกจากรถคันใหญ่แล้วยังมีรถโยกคันเล็กจอดอยู่ ความสำคัญของรถโยกคันนี้คือ พระบิดาของเหล่าทหารช่างคือ พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ท่านได้เคยใช้ในการตรวจการสร้างทางรถไฟในสมัยก่อน และใกล้กันนั้นจะมีปืนใหญ่ตั้งอยู่ ปืนใหญ่นี้มีความสำคัญตรงที่เคยรักษาเมืองราชบุรีในช่วงปีพ.ศ. 2360
สำหรับการจัดแสดงในตัวอาคารมีอยู่ 3 อาคารคือ อาคารชั้นเดียว (อาคารรูปตัวแอล) อาคารสองชั้น(อาคารจัสแมก) และอาคารแปดเหลี่ยม ส่วนของอาคารชั้นเดียวจะแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 7 ห้อง เริ่มจากห้องแรกคือ ห้องจัดแสดงภาพและประวัติเจ้ากรมการทหารช่างท่านแรกจนถึงท่านปัจจุบัน ท่านเจ้ากรมการทหารช่างคนปัจจุบันคือ พล.ท.ทวนชัย พันธ์เพิ่มศิริ ห้องที่สองเป็นห้องทหารช่างในอดีต ห้องนี้มีการจัดแสดงเครื่องมือช่างสมัยสงครามโลกที่สอง เป็นพวกขวาน พลั่ว ลิ่มเหล็ก กบไสไม้ กรรไกรตัดลวด มีด เคียว ปากกาไม้ คราดเหล็ก เป็นต้น และยังมีเครื่องมือแบบเก่าอย่างเครื่องตรวจหาทุ่นระเบิด กล้องสำรวจ เครื่องยนต์ใช้สำหรับเลื่อยไม้
ในห้องที่สองนี้ยังรวมเรื่องราวเกี่ยวกับกิจการรถไฟในอดีต ซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบว่าการก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือเพื่อขึ้นไปเชียงใหม่ โดยเฉพาะการขุดอุโมงค์ขุนตานนั้น เป็นฝีมือของทหารช่าง สิ่งที่ท้าทายในการก่อสร้างคือต้องขุดอุโมงค์จาก 2 ด้านให้มาชนกันพอดี ซึ่งเหล่าทหารช่างสามารถดำเนินการได้จนสำเร็จ
ห้องที่สาม ห้องทหารช่างกับการพัฒนาประเทศ สำหรับทหารช่างแล้ว ในยามศึกเรารบ ยามสงบเราพัฒนา โครงการต่างๆที่ทหารช่างเข้าไปมีส่วนร่วมได้แก่ โครงการอีสานเขียว โครงการฮารับบันบารู โครงการก่อสร้างเส้นทางเพื่อความมั่นคง บ้านปอน-บ้านห้วยโก๋น จังหวัดน่าน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็นต้น ในห้องนี้จะเป็นภาพถ่ายและแบบจำลองสภาพพื้นที่ประกอบคำอธิบาย หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีหรือส่วนจัดแสดงหมีแพนด้า ทหารช่างก็เป็นคนทำ
ห้องที่สี่เป็นห้องทหารช่างกับการช่วยเหลือประชาชน ในห้องนี้เราจะได้เห็นภาพการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามที่ต่างๆ ส่วนที่จัดแสดงในนี้คือบางส่วนเท่านั้น เหตุการณ์ภัยพิบัติที่ทหารช่างได้เข้าไปช่วยเหลือ เช่น วาตภัยใต้ฝุ่นเกย์ จังหวัดชุมพร อัคคีภัยชุมชนคลองเตย ตึกถล่มที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น
ห้องที่ห้า ห้องทหารช่างช่วยเหลือประชาชนและรักษาสันติภาพ จัดแสดงภาพโครงการกำจัดผักตบชวาพัฒนาลุ่มน้ำนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม การปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพที่ประเทศอัฟกานิสถาน อิรัก บุรุนดี การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่อิหร่าน
ห้องที่หก ห้องเกียรติศักดิ์ทหารช่างไทยในกัมพูชา จัดแสดงภาพการปฏิบัติงานกองพันทหารช่างที่ประเทศกัมพูชาปี พ.ศ. 2535 - 2536 ในภารกิจนี้พันโทนิรันดร์คือ นายทหารหนึ่งท่านหนึ่งในกองพันที่ได้ไปปฏิบัติภารกิจที่นั่น พันโทนิรันดร์ได้เล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้นมีทุ่นระเบิดและกับระเบิดเป็นจำนวนมาก พวกเราไปกันครั้งแรกก็ไปเปิดช่องทาง ซึ่งเป็นเรื่องเสี่ยงอันตราย ในช่วงนั้นทางสหประชาชาติต้องการจะอพยพผู้ลี้ภัยจากประเทศไทยกลับเข้าไปในประเทศกัมพูชา โดยคาดการณ์ว่าเหตุการณ์น่าจะสงบ สามารถกลับไปเลือกตั้งได้ ทหารช่างจึงมีภารกิจในการทำเส้นทางเพื่อให้คนกลุ่มนี้กลับไป
อาคารสุดท้ายคือ อาคารแปดเหลี่ยม อาคารนี้มีทางเดินเชื่อมชั้นบนกับอาคารจัสแมก จัดแสดงประวัตินายทหารช่าง ที่สร้างชื่อเสียงและนำความภาคภูมิใจมาสู่เหล่าทหารช่าง เช่น ห้องเทิดเกียรติพลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดปี พ.ศ. 2547 พลเอกธวัช เกษร์อังกูร ปลัดกระทรวงกลาโหม ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้น
ในการเช้าชมพิพิธภัณฑ์ทางวิทยากรทุกท่านยินดีต้อนรับ ที่ผ่านมากลุ่มผู้เข้าชมจะมีหลากหลาย ไม่เพียงแต่ทหาร นักเรียนนักศึกษาก็มาชมเช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีของบุคคลทั่วไปที่จะได้เข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศแบบทหาร และได้รู้ว่าทหารมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่มากมายหลายอย่าง อันนอกเหนือไปจากการจับปืนป้องกันรักษาประเทศ
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
การทหารและสงคราม สึนามิ ทหารช่าง ค่ายภาณุรังษี อุโมงค์ขุนตาน
หอศิลป์ร่วมสมัยเถ้า ฮง ไถ่ ดีคุ้น
จ. ราชบุรี
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง
จ. ราชบุรี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
จ. ราชบุรี