พิพิธภัณฑ์วัดโชติทายการาม


ที่อยู่:
วัดโชติทายการาม เลขที่ 3 หมู่ 1 ต.ดำเนินสะดวก อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี 70130
โทรศัพท์:
08-1011-8835 พระมหาประกอบ โชติปุญโญ เจ้าอาวาส
วันและเวลาทำการ:
ติดต่อทางวัดล่วงหน้าก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดโชติทายการาม

วัดโชติทายการามตั้งอยู่ริมคลองดำเนินสะดวก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2517โดย ปู่เคลือบ มั่งมี[1]คหบดีในอำเภอดำเนินสะดวก ถวายที่ดินเพื่อสร้างวัดรวมถึงรวบรวมเงินจากชาวบ้านสร้างกุฏิหลังแรกของวัดขึ้น นอกจากนี้ยังได้มอบบ้านให้วัดนำมาซ่อมเป็นกุฏิ และยกชุดจาน-ชามเคลือบ-เขียนสี อย่างดีให้กับวัด (หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้วด้วยการทำพินัยกรรมยกให้) แม้ว่าวัดแห่งนี้จะมีสถานะเป็นวัดราษฎร์มาโดยตลอด แต่ก็เคยเป็นสถานที่รับเสด็จพระเจ้าแผ่นดินมาแล้วถึง 2 องค์ คือ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6กรกฎาคม 2447รับเสด็จคราวเสด็จประพาสต้นทางชลมาศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ศาลาท่าน้ำของวัด และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 4พฤศจิกายน 2510รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ครั้งเสด็จมาถวายผ้าพระกฐินต้นที่วัด ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของชาวบ้านคลองดำเนินสะดวก สถานที่สำคัญและวัตถุที่สำคัญอื่นๆ นอกจากพิพิธภัณฑ์ยังประกอบด้วย หลวงพ่อลพบุรีราเมศร์ พระพุทธรูปประธานที่ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ อัญเชิญมาจากวัดร้างในจังหวัดลพบุรี ศาลาการเปรียญ เคยใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มณฑป ภายในมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญของวัด และพระรัตนะ พระพุทธบาทจำลอง แต่จะเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะเฉพาะช่วงตรุษจีนเท่านั้น และพลับพลาที่ประทับเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ประวัติของพิพิธภัณฑ์
               
ดำริในการสร้างพิพิธภัณฑ์เกิดมาตั้งแต่สมัยที่เจ้าอาวาสรูปที่แล้วคือพระครูสุนทรธรรมรัต (หลวงพ่อกิมไซร) เห็นว่าข้าวของเครื่องใช้ที่บรรดาญาติโยมนำมาถวายให้กับวัดนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นมีจำนวนมากมาย บ้างก็กระจัดกระจายไปอยู่ตามกุฏิต่างๆ ไม่ได้ถูกรวบรวมและจัดเก็บไว้แหล่งเดียวกันจึงเกรงว่าจะสูญหายไป และจากประสบการณ์ของการเป็นเจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล ซึ่งต้องเป็นกรรมการในการตรวจสอบข้าวของต่างๆ เมื่อเจ้าอาวาสของวัดในเขตปกครองมรณภาพ ก็มักจะพบปัญหาข้าวของสูญหายเป็นคดีความฟ้องร้องกันอยู่เนืองๆ  เนื่องจากเจ้าอาวาสในรุ่นถัดมาไม่ทราบว่าในรุ่นก่อนๆ นั้นได้รับถวายอะไรมาบ้างจึงเป็นโอกาสให้มีผู้ฉกฉวยเอาไปได้ง่าย เหตุนี้ พระครูสุนทรฯ จึงเกรงจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นในวัด ระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตก็ได้มอบหมายให้พระเลขาฯ เป็นผู้จัดทำทะเบียนวัตถุที่ได้รับถวาย และวัตถุที่ตกทอดมาตั้งแต่เจ้าอาวาสรุ่นก่อนๆ โดยเฉพาะวัตถุมีค่าประเภทพระพุทธรูป (เช่น พระรัตนะ และพระแก้บน ที่มีมูลค่าในตลาดค้าของเก่า พระบูชาแบบตั้งโต๊ะที่หล่อด้วยโลหะ)  เครื่องถ้วยชาม เครื่องแก้ว คัมภีร์ใบลาน และในช่วงปี 2542จึงได้มอบหมายให้พระมหาประกอบ  (เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน) เมื่อครั้งยังเป็นลูกวัดเป็นผู้ดูแลในการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ จนแล้วเสร็จภายในปีเดียว ด้วยเงินงบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 5ล้านกว่าบาท ที่ได้รับบริจาคและศรัทธาบุญจากลูกศิษย์ของพระครูสุนทรฯ แต่อาคารยังสร้างไม่เสร็จพระครูสุนทรฯ ก็มรณภาพไปเสียก่อน ดังนั้น พิธีเปิดอาคารจึงถือเอาวันเดียวกับวันที่พระราชทานเพลิงศพของพระครูสุนทรฯ ในวันที่ 30เมษายน 2542และตั้งชื่ออาคารไว้เป็นเกียรติว่า “อนุสรณ์สุนทรธรรมรัต”

อาคารพิพิธภัณฑ์และวัตถุจัดแสดง

อาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความแปลกที่ไม่ได้เป็นเพียงอาคารจัดแสดงแต่มีอู่จอดเรืออยู่ใต้อาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งวัดจัดไว้ให้ชาวบ้านที่จะมาทำบุญ โดยเฉพะในวันพระมีปริมาณเรือหนาแน่นกว่าวันธรรมดา  และในวันธรรมดาก็ใช้เป็นจุดจอดเรือสำหรับชาวบ้านที่มีธุระต้องต่อรถเข้าไปในตัวเมือง เนื่องมาจากชาวบ้านในแถบนี้ยังคงใช้เส้นทางคมนาคมทางเรือเป็นเส้นทางสัญจรหลัก

ในส่วนของอาคารที่เป็นห้องจัดแสดงแบ่งออกเป็น 2ชั้น ชั้นล่างมีการใช้พื้นที่ทั้งส่วนจัดแสดง และพื้นที่ส่วนตัว ประกอบด้วย ห้องทำงาน ส่วนเก็บของ โต๊ะหมู่บูชา และห้องนอนของท่านเจ้าอาวาส (เป็นห้องนอนที่แยกต่างหากออกไป) เพราะช่วงนี้กำลังบูรณะและทำกุฏิใหม่อยู่ ส่วนของห้องจัดแสดงกินอาณาเขตทางฝั่งขวาของโถงชั้นล่างทั้งหมด (เมื่อหันหน้าเข้าอาคาร)  การจัดแสดงวัตถุค่อนข้างกระจัดกระจาย วัตถุจัดแสดงชั้นล่างอาจจะแบ่งเป็น 6 ประเภท คือ

1)เครื่องถ้วยเคลือบ-เขียนสี เครื่องสังคโลก โอ่ง ชามเบญจรงค์-น้ำทอง วัตถุที่โดดเด่นในกลุ่มนี้คือ โอ่งเคลือบสีเขียวไข่กา ที่จัดเป็นของหายากและเป็นที่ต้องการในตลาดค้าของเก่า

2) เรือพื้นบ้าน มีจำนวน 2ลำ ไม่ได้จัดแสดงไว้ด้วยกัน แต่ถูกนำไปจัดร่วมกับวัตถุอื่น (ในลักษณะที่เป็นที่วางของ)

3) ตู้จัดแสดงคัมภีร์ใบลาน

4) ตู้จัดแสดงวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ เครื่องเสวย และม้วนฟิล์มภาพเคลื่อนไหวแสดงเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ที่วัด ซึ่งได้รับมอบมาจากสำนักพระราชวัง

5)โต๊ะหมู่บูชา และรูปหล่อเหมือนพระครูสุนทรธรรมรัต เจ้าอาวาสรูปก่อนผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ แลใกล้ๆ กันมีโต๊ะหมู่วางโกฏิบรรจุอัฐิของเจ้าอาวาสรุ่นก่อนๆ

6) จิปาถะ อาทิ รูปหล่อ รูปแกะสลัก วัตถุเด่นในกลุ่มนี้คือรูปแกะสลักเจว็ด (เทวดา) ศิลปะล้านนา ที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์
 
ส่วนโถงจัดแสดงชั้นบนแบ่งออกเป็น2ส่วน คือ โถงจัดแสดงใหญ่ และห้องเล็กที่ยื่นออกไปตามโครงสร้างอาคารที่เป็นมุขเล็กๆ ด้านหน้า ถูกกั้นเป็นห้องขนาดเล็ก (จะอยู่ตรงข้ามกับบันไดทางขึ้น เมื่อขึ้นบันไดไปสู่ชั้นบนจะมองเห็นห้องนี้อย่างชัดเจน) มีลักษณะกึ่งจัดแสดงกึ่งห้องพระ เนื่องจากการจัดวางเป็นโต๊ะหมู่บูชา 3ชุด วางพระพุทธรูปหลากหลายขนาดจำนวนมาก ในส่วนของโถงจัดแสดงใหญ่ มีการติดตั้งตู้จัดแสดงบุกระจกไว้โดยรอบตลอดผนังทั้ง 4 ด้าน และมีตู้จัดแสดงไม้ ตู้กระจก และแท่นที่จัดแสดงแยกออกมาอีกหลายตู้/แท่น วัตถุจัดแสดงสามารถแบ่งประเภทออกได้เป็น

1)ชุดสำหรับใส่อาหารคาว-หวาน ที่มีลวดลายเข้าชุดกันจำนวนมากมายหลายชุด ส่วนใหญ่ถูกจัดแสดงไว้ในตู้กระจกที่ติดตั้งถาวรไว้ใกล้ผนังทั้ง 4ด้าน ของเหล่านี้ล้วนแต่ได้รับถวายมาจากชาวบ้านเขตคลองดำเนินสะดวก (ไม่ใช่การบริจาคเพื่อจัดแสดง) ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะ (ชาวจีน) และนำสำรับอาหารมาถวายเมื่อลูกหลานเข้าพิธีอุปสมบถ จึงถวายของเหล่านี้มาพร้อมอาหาร

2)ชุดเครื่องแก้ว ขวดแก้ว ที่ได้รับถวายมาแบบเดียวกับชุดใส่สำรับ           

3)พระพุทธรูป มีอยู่เป็นจำนวนมาก จนไม่มีพื้นที่จัดแสดงต้องวางไว้บนพื้นที่มุมหนึ่งของห้อง มีพระพุทธรูปบางองค์ที่ถูกแยกจัดแสดงไว้ในตู้กระจกทรง 8เหลี่ยม เป็นพระรัตนะ และพระแก้บนบุทองคำ (ที่เล่ากันว่าตกทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา)
[2]ฐานพระรัตนะ ที่ตัวพระถูกขโมยลักตัดองค์พระไปแล้ว เศียรพระที่ได้รับถวาย (บริจาค) มา

4) ภาพวาดทศชาติชาดกที่มักจะนำออกไปจัดแสดงประกอบการเทศน์มหาชาติ เป็นภาพที่วาดลงบนผ้าจัดใส่กรอบไม้กรุกระจก

5) จิปาถะ อาทิ เครื่องทองเหลือง เครื่องจักสาน เครื่องแกะสลัก เครื่องสวมศีรษะนาคในงานศพ ตุ๊กตาร้องไห้ (ในงานศพ) ชุดฆ้องพร้อมคานยึดไม้แกะสลัก จากล้านนา

สภาพของห้องจัดแสดงชั้น 2กึ่งๆ ระหว่างการจัดแสดงที่มีการวางแผน การจัดการพื้นที่ เพื่อจัดแสดง เห็นได้จากตู้จัดแสดงที่ติดตั้งแบบถาวร และตู้จัดแสดงหลายตู้ และห้องเก็บของที่เป็นผลิตภัณฑ์ของทางวัด อาทิ เอกสาร (ห่อเอกสาร/หนังสือ) จำนวนมากกองซ้อนกันหลายห่อ ปะปนกับวัตถุจัดแสดง และพระเครื่องที่สร้างขึ้นโดยทางวัด ทำให้นึกถึงความหมายที่เกิดขึ้นของอาคารหลังนี้ว่าอาจจะเป็นอาคารที่ใช้เก็บ “สิ่งของที่มีมูลค่า” ทั้งสิ่งที่เป็นโบราณวัตถุ และวัตถุที่สร้างใหม่โดยทางวัด

ปัญหาของพิพิธภัณฑ์น่าจะอยู่ที่การปิดทึบของหน้าต่าง และอาคารด้วยเหตุผลของความปลอดภัย และความไม่พร้อมของผู้จัดการดูแลวัตถุจัดแสดง (เจ้าอาวาส และพระเลขา) ที่ยังวุ่นวายอยู่กับการจัดการพื้นที่กุฎิแห่งอื่นๆ ทำให้จำเป็นต้องใช้อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่เก็บของและ ห้องทำงาน-ห้องนอน ของเจ้าอาวาส ประเด็นต่อมาคือขาดการอธิบาย หรือเรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์ แม้ว่าจะมีการจัดทำทะเบียนวัตถุมีค่าหลายๆ ชิ้น แต่ก็ขาดรายละเอียดที่จะให้แก่ผู้เข้าชม ด้วยขาดผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีความรู้มาช่วยเหลือ อีกทั้งดูเหมือนเจ้าอาวาสจะมีอคติกับเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร (ภัณฑารักษ์) อยู่พอสมควรด้วยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับการนำวัตถุของวัดอื่นไป แล้วบังคับให้ทางวัดซื้อวัตถุชุดอื่นมาจัดแสดงแทน  แต่ในขณะเดียวกันเจ้าอาวาสก็ต้องการผู้เชี่ยวชาญเข้ามาออกแบบห้องจัดแสดงเพื่อให้มีรูปแบบที่ดู “มีการจัดวางที่เหมือนกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หรือพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ แห่งอื่น” ทางวัดไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินทุนหรืองบประมาณในการจัดการดูแลอาคารพิพิธภัณฑ์ และวัตถุจัดแสดง และยังมีวัตถุอีกมากที่ยังไม่นำออกแสดง แต่ติดปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการพื้นที่ การวางแนวทางของเรื่องที่ควรเล่า

ปัญหาต่อมาคือความเชื่อมโยงระหว่างพิพิธภัณฑ์กับชุมชน  (วัตถุสะสมและห้องจัดแสดง) ทั้งๆ ที่วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่ก็ได้มาจากการถวายของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตคลองดำเนินสะดวก แต่ด้วยความที่กังวลอยู่กับเรื่องของความปลอดภัยมากจนเกินไปทำให้พิพิธภัณฑ์ไม่ค่อยได้เปิดให้ชาวบ้านได้เข้าชม หรือเท่าที่เคยเปิดให้ทางโรงเรียนใกล้เคียงพานักเรียนเข้ามาทัศนศึกษา แต่ก็เป็นช่วงเวลาไม่นาน เพราะเมื่อทางโรงเรียนได้รับการจัดสรรงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้นก็มุ่งแต่จะพานักเรียนเดินทางไปทัศนศึกษาในพื้นที่อื่นที่ไกลกว่าชุมชนของตน
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑ์ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับชุมชนนั้นเจ้าอาวาสให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ข้าวของที่จัดแสดงส่วนใหญ่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นของ “พื้นๆ” ที่สามารถหาดูได้จากภายในบ้านเอง โดยเฉพาะชุดสำรับอาหาร ในส่วนของเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อาจจะเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีเลยแม้เมื่อเริ่มจัดแสดงใน พ.ศ.2542 เอง ก็เป็นไปในลักษณะขอความอนุเคราะห์ให้คณะครูจากโรงเรียนมาช่วยจัดวางให้เท่านั้น

ลักษณะเด่นและวัตถุเด่นของพิพิธภัณฑ์

จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือ

1) เครื่องถ้วยชามสำรับที่เป็นชุดสำรับอาหารมีฝาปิด และเครื่องแก้ว จำนวนมากมายที่ได้รับและสะสมกันมาเรื่อยๆ จากการรับบวชอุปัชฌาย์ลูกหลานของชาวบ้านในคลองดำเนินสะดวกที่ส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะ ขณะบวชก็มักจะมีสิ่งของที่เป็นคู่สำหรับพระบวชใหม่และอุปัชฌาย์คู่สวด ในอดีตจะถวายเป็นพวกสำรับอาหาร ขวดน้ำ (ที่เป็นเครื่องแก้ว) ซึ่งข้าวของเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพทางเศรษฐกิจของชุมชนตามริมฝั่งคลองดำเนินสะดวกได้เป็นอย่างดี เพราะวัตถุเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นของนำเข้ามาจากต่างประเทศ หรือเป็นของที่มีราคาสูง  

2)และพระพุทธรูปขนาดตั้งแต่หน้าตักกว้างประมาณ 15-50เซนติเมตร จำนวนมาก (แต่ข้อเสียคือไม่มีสถานที่จัดเก็บที่เพียงพอ)  

3)อู่จอดเรือที่อยู่ใต้อาคารพิพิธภัณฑ์ เชื่อมต่อกับคลองดำเนินสะดวกที่ยังทำให้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ผูกพันอยู่กับการสัญจรทางน้ำ

โบราณวัตถุเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีจำนวนหลายประเภท ดังนี้

1)พระรัตนะที่มีจำนวนหลายองค์ (สร้างในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สังเกตได้จากการสลักตรงฐานเป็นลวดลายดอกพิกุล)

2) พระแก้บนบุด้วยทองคำขนาดเล็ก มีหลายองค์ที่เชื่อว่าตกทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

3)เครื่องสวมศีรษะนาคบวชใหม่ที่ใช้ในงานศพ (มีอยู่ชิ้นเดียว)

4)วัตถุที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การเสด็จพระราชดำเนินมาถวายเครื่องอัฐบริขารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9    

5) ตู้เก็บพระคัมภีร์เขียนลายทอง

6) ตู้พระไตรปิฎกเขียนลายทอง (ขณะนี้ยังไม่ได้ย้ายมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ แต่เก็บรักษาไว้ที่หอฉันเนื่องจากมีขนาดใหญ่ และมีถึง 5ใบ)
 
การเดินทาง

เดินทางด้วยรถยนต์จากกรุงเทพฯ  ใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม หมายเลข 4กรุงเทพ-นครปฐม มุ่งหน้าไปทางจังหวัดราชบุรี เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกบางแพมุ่งหน้าสู่อำเภอดำเนินสะดวกเมื่อถึงตัวอำเภอดำเนินสะดวกจะพบสามแยกที่เลี้ยวขวาไปตลาดน้ำดำเนินสะดวก วิ่งไปตามทางดังกล่าวจนผ่านตลาดน้ำไปประมาณจนกระทั่งพบสามแยกจะเห็นกำแพงวัดเลี้ยวขวาเพื่อไปเข้าที่จอดรถของวัดโชติทายการาม
 

อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล /เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 8 มิถุนายน 2555
 
อ้างอิง
เว็บไซต์
http://www.damnoensaduak.go.th/location-detail.php?id=4
(วันที่ 30 มิถุนายน 2555)


[1] ชื่อของผู้สร้างวัดยังสับสนอยู่เพราะในเว็บไซต์ของตำบลดำเนินสะดวกระบุว่าชื่อปู่มั่ง มั่งมี แต่ข้อมูลจากการสัมภาษณ์พระมหาประกอบระบุว่าชื่อปู่เคลือบ มั่งมี
[2] ทั้งพระรัตนะ และพระแก้บนบุทองคำเป็นวัตถุเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แต่พระมหาประกอบขอร้องว่าไม่อยากให้เผยแพร่ข้อมูลนี้ไปในวงกว้าง เพราะเกรงว่าจะเป็นที่หมายตาของมิจฉาชีพ อีกทั้งระบบความปลอดภัยของอาคารยังไม่แน่นหนานัก แม้จะมีคนอยู่ดูแลตลอด แต่ก็ยินดีให้เป็นการศึกษา และเก็บข้อมูล

 
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดโชติทายการาม

พิพิธภัณฑ์วัดโชติทายการาม เป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุในสมัยหลวงพ่อช่วง หลวงพ่อเชย ท่านได้ดูแลรักษาไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 โดยเริ่มจากเมื่อ พ.ศ. 2530 หลวงพ่อกิมไซร ได้ปรารภกับศิษยานุศิษย์ และกรรมการวัดเกี่ยวกับเรื่องการจัดสร้างสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุในสมัยหลวงพ่อช่วง หลวงพ่อเชย ซึ่งท่านได้ดูแลรักษาไว้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 กับทั้งสิ่งของญาติโยมที่นำมาถวายให้กับวัด เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและไว้เป็นเกียรติแก่วัดด้วย 

ท่านได้บริจาคเงินเป็นทุนก่อสร้างอาคาร จำนวน 1,000,000 บาท ในเบื้องต้นคณะกรรมการตกลงทำตามดำริ โดยเริ่มก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ "สุนทรธรรมรัตน์" ในปี พ.ศ. 2542 และก่อนอาคารเสร็จสมบูรณ์ หลวงพ่อถึงแก่มรณภาพ ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542 คณะกรรมการจึงเร่งให้ช่างดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จทันงานพระราชทานเพลิง ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2543 สิ้นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประมาณ 5,000,000 บาทเศษ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลวงพ่อ 

โดยอาคารของพิพิธภัณฑ์นั้น ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของวัดโชติทายการาม เป็นอาคาร 2 ชั้น ซึ่งด้านล่างเป็นอู่เรือของวัด

วริสรา แสงอัมพรไชย /สรุปความ

ข้อมูลจาก http://rb-tour.blogspot.com/2010/10/blog-post_6321.html [Accessed 21/02/2011]

ชื่อผู้แต่ง:
-