หอวัฒนธรรมลาวเวียง วัดโบสถ์


ที่อยู่:
วัดโบสถ์ ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
โทรศัพท์:
089 453 2902 (รังสรรค์), 032 231 355 (เจ้าอาวาส)
วันและเวลาทำการ:
วัน-เวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2552
ของเด่น:
หนังสือธรรม, เครื่องใช้พื้นบ้าน, ข้อมูลพิธีกรรมภายในท้องถิ่น
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

หอวัฒนธรรมลาวเวียง

ลุงรังสรรค์ เสลาหลัก เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับชุมชนลาวเวียง บ้านเลือก จังหวัดราชบุรีให้กับผู้มาเยือน และมีส่วนในการจัดตั้ง “หอวัฒนธรรมลาวเวียง” ซึ่งตั้งอยู่ในวัดโบสถ์ อำเภอโพธาราม

คนลาวมาจากเวียงจันทน์ ประมาณปลายรัชกาลพระเจ้าตากสิน ต้นรัชกาลที่ 1 ตอนนั้น รัชกาลที่ 1 เป็นแม่ทัพหลวงตีเมืองเวียงจันทน์ ตีแตกแล้วกวาดต้อนผู้คนมาเป็นกำลัง ไม่ได้เอามาเป็นเชลย ไม่ใช่การร้อยเอ็นร้อยหวาย ...กลุ่มไหนอยากอยู่ตรงไหนก็อยู่ จุดแรกราชบุรี มาเรื่อยมา มามีมากอยู่ ตามราชบุรี เริ่มตั้งแต่บ้านโป่ง หนองปลาดุก บ้านเลือก บ้านเลือกเริ่มจุดแรกที่หมู่ 3 ทำไมเข้าใจว่าที่หมู่ 3 เพราะธรรมเนียมลาว ไปที่ไหนจะตั้งศาล เรียกศาลปู่ตา เจ้านาย คำว่า ปู่ตา คือเป็นญาติ แล้ว เจ้านาย ทำงานราชการ พอสร้างศาลเสร็จอัญเชิญดวงวิญญาณมาสิงสถิตย์ในศาลให้ปกป้องคุ้มครอง พวกเราที่โดนกวาดต้อนมา ขยับขยายไปเรื่อยไปตัดไม้ถางพงทำนา

ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงเดือน 6 ทุกปี ชาวบ้านจะร่วมพิธีเบิกบ้านและอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนที่สถิต ณ ศาลปู่ตาเจ้านาย ซึ่งตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน หมู่ 3 ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เพื่อปกป้องคุ้มครองลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข ปลอดจากภัยธรรมชาติ เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ในเอกสารที่ลุงรังสรรค์รวบรวมความรู้เกี่ยวกับประเพณีนั้น ให้คำอธิบายไว้ว่า “ศาลปู่ตาเจ้านาย” หมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย และเจ้านาย หมายถึง ข้าราชการ ซึ่งเรียกอย่างย่นย่อในปัจจุบันว่า “ศาลปู่ตา”

นอกเหนือกจากการรักษาประเพณีบุญเบิกบ้านแล้ว ชาวลาวเวียงในบ้านเลือกยังรักษาและปฏิบัติประเพณีอีกหลากหลาย เช่น ประเพณีใต้น้ำมัน ที่เป็นการทำบุญออกพรรณนา ด้วยทำขนมอีตุ๋ยเพื่อตัวบาตรเช้าและในตอนเย็นมีพิธีใต้น้ำมัน ด้วยการนำมะละกอมาแกะเป็นรูปกบนำเชือกฝ้ายมาทำเป็นไส้ เรียกว่า ตีนกา เพื่อจุดไฟในน้ำมันมะพร้าว รับเป็นการสักการะบูชาและส่องทางให้พระพุทธองค์เสด็จลงจาสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากโปรดโยมมารดาบนสวรรค์

ความเป็นมาของ “หอวัฒนธรรมลาวเวียง” ณ วัดโบสถ์

การเกิดขึ้นของหอวัฒนธรรมลาวเวียง ณ วัดโบสถ์นั้น เกี่ยวข้องกับกับกระบวนการองค์กรชุมชน ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนมีส่วนในการสนับสนุน “แรงคิด” และได้รับความเห็นชอบของเจ้าอาวาสและชาวบ้าน จนได้คัดเลือกให้ศาลาการเปรียญหลังเดิม ภายในวัดโบสถ์นั้น ได้รับการแปลงสภาพเป็น “หอวัฒนธรรม” นอกจากนี้ ยังใช้ประโยชน์เป็นสถานที่สำหรับการศึกษาหาความรู้ จากการสนับสนุนจัดตั้งพื้นที่เรียนรู้ในระดับชุมชนโดยความร่วมมือของอุทยานการเรียนรู้ จึงทำให้หอวัฒนธรรมลาวเวียงแห่งนี้ เป็นทั้งสถานที่ในการเก็บรักษาสิ่งแสดงอัตลักษณ์ลาวเวียงและแหล่งของการหาความรู้เพิ่มเติมในยุคที่มีความรู้นั้นเพิ่มเติมไม่หยุดหย่อน

ลุงรังสรรค์กล่าวว่า พ.ศ. 2552-2553 หลังจากที่ได้มีการระดมความคิดเห็นของสมาชิกในชุมชนแล้ว ยังได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีในการจัดตั้งหอวัฒนธรรมให้เป็นรูปธรรม ในข่าวความเคลื่อนไหวการพัฒนา “หอวัฒนธรรมลาวเวียง บอกเล่าที่มาของชาวชุมชนตำบลบ้านเลือก”[1] ระบุไว้ว่า

ทุกวันนี้ชาวลาวเวียงที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ลืมความเป็นคนลาวเวียง ในเรื่องภาษา วัฒนธรรมการแต่งกาย ทิ้งไว้เพียงแต่คนรุ่นปู่ รุ่นย่าต้องคอยเป็นเสมือนนาฬิกาที่คอยปลุกจิตสำนึกคอยเตือนไปวันๆ หากแม้นสิ้นปู่ย่ายังไม่รู้ว่า  ลาวเวียงลูกหลานจะยังจำได้หรือเปล่า

     การอนุรักษ์วัฒนธรรม  เริ่มต้นง่ายๆ โดยการปลูกฝังถ่ายทอดข้อมูลให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีการรณรงค์ให้มีการแต่งกายชุดประจำถิ่นอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งวัน เพื่อให้คนลาวเวียงได้มีโอกาสชื่นชมและย้อนอดีตของตนเองและมีการบรรจุหลักสูตรวัฒนธรรมลาวเวียงให้เป็นหลักสูตรท้องถิ่น ลูกหลานได้ศึกษา เริ่มต้นที่โรงเรียนสู่ชุมชน จากเด็กส่งผ่านถึงผู้ปกครอง

การฟื้นฟูวัฒนธรรมดังกล่าวได้มีการหารือในเวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก  ได้ข้อสรุปร่วมกันในการสร้างหอวัฒนธรรมลาวเวียงขึ้น    เพื่อการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวชุมชน โดยมีพระครูโพธารามพิทักษ์ หรือชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า หลวงปู่เขียน เจ้าอาวาสวัดวัดโบสถ์เจ้าและคณะอำเภอโพธาราม ได้ยกศาลาการเปรียญซึ่งเป็นศาลาสถาปัตยกรรมของลาวเวียงให้ดำเนินการจัดทำหอวัฒนธรรมลาวเวียง

ภายในหอวัฒนธรรมลาวเวียง

ภายในหอวัฒนธรรมแบ่งพื้นที่เป็น 2  ส่วน ได้แก่ พื้นที่ด้านล่างและพื้นที่ด้านบน

ด้านล่างหรือใต้ถุนศาลาการเปรียญเดิม มีบริเวณสำคัญ 3 ด้วยด้วยกัน ส่วนหนึ่ง เป็นกลุ่มหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการของอุทยานการเรียนรู้ มีลักษณะคล้ายกับห้องสมุดขนาดย่อมที่เปิดโล่ง หนังสือเด็ก เยาวชน สารคดี พร้อมให้ความรู้กับผู้ที่สนใจได้หยิบมาอ่านและใช้ประโยชน์ตามอัธยาศัย

ส่วนที่สอง เป็นนิทรรศการเกี่ยวกับ “คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” ซึ่ง ลุงรังสรรค์กล่าวไว้ว่า ส่วนนิทรรศการนี้ได้ขอรับมอบมาจากการจัดนิทรรศการในวาระของการจากไปของคุณไพบูลย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมขององค์กรชุมชน จึงทำหน้าที่เหมือนการระลึกถึงบุคคลภายนอกที่มีบทบาทในการสร้างศักยภาพความเข้มแข้งให้กับชุมชนต่าง ๆ ในตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม

ส่วนที่สาม เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนบ้านเลือก ประกอบด้วยแผนที่แสดงขอบเขตของบ้านเลือกขนาดสูงจากพื้นถึงเพดาน และป้ายไวนิลแสดงกิจกรรมของชุมชนที่ดำเนินการร่วมกับองค์กรภายนอก เช่น สถาบันอุดมศึกษาที่เข้ามาศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารพื้นถิ่นลาวเวียง เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในระดับชุมชน อีกส่วนหนึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสีฝัด เครื่องจักสาน ตะกร้าหาบและคานไม้ เครื่องสีข้าวด้วยมือ เครื่องมือดักปลา เช่น ข้อง ไซ แอก คันไถ ไม่มีการจัดหมวดหมู่อย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่ใช้การจัดวางไว้ที่มุมหนึ่งของใต้ถุนศาลาการเปรียญเดิม

ในส่วนชั้นบน คงเป็นศาลาการเปรียญที่ใช้ในวาระสำคัญทางศาสนา ที่สมาชิกอาวุโสของชุมชนจะมาในวันพระ แต่คงปรากฏวัตถุสิ่งของที่สำคัญ ๆ เช่น คัมภีร์ใบลาน สมุดไทย ซึ่งจัดเก็บไว้ในตู้กระจกอย่างเป็นระเบียบ ถึงแม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอย่างสำคัญของชุมชนชาวลาวเวียง เพราะในเอกสารโบราณเหล่านั้นมีการใช้อักษรธรรมอีสานจารึกไว้ นอกจากนี้ ยังมีผ้าห่อคัมภีร์ที่มีคุณค่าอย่างสูงเพราะแสดงให้เห็นวัฒนธรรมของการทอผ้าและทำบุญถวายให้กับวัดเพื่อเป็นพุทธบูชา ลุงรังสรรค์กล่าวว่า แม้ในปัจจุบัน ยังไม่มีการปริวรรตและถอดความในคัมภีร์อย่างเป็นระบบ แต่หวังว่าจะมีหน่วยงานภายนอกจะมาให้การสนับสนุน เพื่อเข้าใจและสามารถถ่ายทอดเนื้อหาดังกล่าวให้กับชนรุ่นหลังได้

นอกจากคัมภีร์ใบลานแล้วยังมีตาลปัตรของเจ้าอาวาสและภาพถ่ายที่บันทึกการเดินทางของท่านไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางไปยัง สปป.ลาว เพื่อการทัศนศึกษาและการสร้างความสัมพันธ์ของพี่น้องลาวเวียงอันเป็นแหล่งกำเนิดของลูกหลานในบ้านเลือก อำเภอโพธาราม นอกจากนั้น ยังมีพระพุทธรูปและเครื่องบูชาต่าง ๆ จัดเรียงไว้ในตำแหน่งที่พร้อมสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจ แม้จะมีการจัดเตรียมตู้ไม้สำหรับการพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเต็มรูปแบบ แต่ยังไม่อยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะรูปแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่นั้น คงใช้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชุมชนควบคู่ไปกับการเป็นทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมและอนุรักษ์เรื่องราวของชุมชนลาวเวียง

ในปัจจุบัน หอวัฒนธรรมลาวเวียง ณ วัดโบสถ์ ยังปรากฏการจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบมากนัก แต่ก็ปรากฏ “หน่ออ่อน” พร้อมที่จะเติบโตเป็นสถานที่ที่จะถ่ายทอดความรู้ของชุมชนสู่คนรุ่นใหม่ เพราะลุงรังสรรค์กล่าวเอาไว้ในช่วงท้ายของการสนทนาว่า ยังคงมีคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่ให้ความสนใจงานวัฒนธรรมและน่าจะทำหน้าที่สืบทอดความรู้และการปฏิบัติต่าง ๆ รวมทั้งน่าจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและดูแลหอวัฒนธรรมลาวเวียงต่อไปในภายภาคหน้า.

สัมภาษณ์

รังสรรค์ เสลาหลัก, วัดโบสถ์ ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี, วันที่ 15 กันยายน 2561.



[1]เผยแพร่เมื่อวันที่26 มกราคม 2553 จาก http://www .codi.or .th/2015 -08-04 -11-01 -52/11030 -2010-01 -26-07 -04-58 เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561.


ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ