พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน โรงเรียนบ้านจอมบึง


ที่อยู่:
โรงเรียนบ้านจอมบึง(วาปีพร้อมประชาศึกษา)บ้านกลาง ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี 70150
โทรศัพท์:
032-261151, 032-362036
โทรสาร:
032-261151
วันและเวลาทำการ:
วันจันทร์- วันศุกร์ 08.30 – 16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน โรงเรียนบ้านจอมบึง

การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง  ใช่เป็นแต่เพียงการนำสิ่งของมาจัดวางและเขียนคำอธิบาย  การกำเนิดพิพิธภัณฑ์มาจากหัวใจรัก  มาจากความชอบ  ความตั้งใจ  ความทุ่มเท  ความร่วมแรงร่วมใจของคนที่มีชาติกำเนิด  ณ  ที่นั้น  และสิ่งนั้นได้กำลังก่อร่างขึ้นมาให้เห็นที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน  โรงเรียนบ้านจอมบึง  อำเภอจอมบึง  จังหวัดราชบุรี
การจัดแสดงสิ่งของของพิพิธภัณฑ์นี้  สิ่งของจำนวนหนึ่งได้มาจากวัดจอมบึง  ที่ในตอนนี้ไม่ได้จัดแสดงในวัด  จึงได้โอนสิ่งของมาให้กับโรงเรียน  ในการทำพิพิธภัณฑ์ที่นี่  อาจารย์สุวิมล  เหลือสมัย  ได้บอกว่าห้องนี้เพิ่งจะทำใหม่เมื่อปีที่แล้ว  โดยทำการขยายห้อง  ตัวอาจารย์เพิ่งจะย้ายมาสอนที่นี่ช่วงต้นปี  และได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการคือ  ผอ.เฉลิม  เทพสวัสดิ์  ให้ทำการสานต่อ
 
อาจารย์สุวิมล  ได้กล่าวถึงบุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์นี้  คนแรกคืออาจารย์ประสาท  อรรถกรศิริโพธิ์  อดีตอาจารย์ใหญ่ที่เสียชีวิตไปแล้ว  อาจารย์ประสาทท่านเป็นคนชอบสะสมของเก่า  ชอบสตัฟฟ์สัตว์    เนื่องจากเมื่อก่อนนี้อำเภอจอมบึงมีสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก ท่านเคยตั้งใจไว้ว่าจะทำพิพิธภัณฑ์  ถึงแม้จะล่วงลับไปแล้วท่านก็ยังได้มอบเงินส่วนตัวไว้ให้หนึ่งแสนบาท  เพื่อการจัดทำพิพิธภัณฑ์ และในห้องนี้ก็มีของสะสมของอาจารย์จำนวนหนึ่งตั้งแสดงไว้ที่นี่
 
ท่านต่อมาคือคุณพ่อของอาจารย์   อาจารย์สุรินทร์  เหลือสมัย  เมื่อก่อนท่านเคยเป็นครูสอนที่โรงเรียนนี้ ปัจจุบันได้เกษียนแล้ว  ท่านเป็นคนชอบศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นอย่างมาก   ปัจจุบันอาจารย์สุรินทร์  ได้ใช้เวลาไปกับการเขียนตำราและเป็นที่ปรึกษาให้กับสำนักศิลปะและวัฒนธรรม   มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง   ผลงานของท่านมีลงอยู่ในวารสารเมืองโบราณ  สามารถหาอ่านอย่างละเอียดได้ในเว็ปไซต์ของโรงเรียน  
 
ในการทำพิพิธภัณฑ์นี้อาจารย์สุรินทร์ได้มีส่วนเข้ามาช่วยเป็นอย่างมาก  เราจะได้เห็นผลงานและฝีมือของอาจารย์จากภาพวาดและเรื่องราวของสัตว์ป่า   ภาพของวัตถุโบราณที่ค้นพบที่จอมบึงในแต่ละยุคสมัย   ประกอบกับชิ้นส่วนวัตถุที่ค้นพบ   พร้อมกับคำอธิบาย   ยกตัวอย่างเช่น  ขวานหิน  แหวน  กำไล  ลูกปัด  เศษภาชนะดินเผา  เครื่องมือสมัยโลหะ  นอกจากนี้ยังมีภาพวาดสีน้ำมันของการทำเหมืองแร่ในสมัยก่อน  ภาพถ่ายและเรื่องราวของอำเภอจอมบึงในอดีต  ในเวลาเดียวกันตัวอาจารย์ยังได้ช่วยทำพิพิธภัณฑ์อยู่อีกแห่งหนึ่งที่วัดหนองบัวค่าย   ห่างจากที่นี่ไปประมาณ  1  กม. อาจารย์สุวิมลบอกว่ากรณีมีของซ้ำกันหลายชิ้น  เราจะมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของจัดแสดงระหว่างกัน
 
สิ่งของจัดแสดงอีกชิ้นหนึ่งที่สะดุดตาคือ  หอยแครง  ตัวโตเกือบเท่ากำปั้น  สันนิษฐานว่าในอดีตน่าจะมีการติดต่อค้าขายนำมาบริโภคของคนในสมัยนั้น    
 
อีกท่านหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่างและเป็นความจริงขึ้นมาได้คือ  ผอ.คนปัจจุบัน   ในวันนี้อาจารย์เฉลิม  เทพสวัสดิ์  ได้แวะเข้ามาคุยครู่หนึ่ง  เพราะติดธุระกับแขกที่มาเยี่ยมชมโรงเรียน  อาจารย์ได้บอกว่าต้องการให้ห้องนี้เป็นแหล่งการเรียนรู้  โดยผอ.เฉลิมได้คุยกับอาจารย์สุรินทร์ว่าอยากเน้นการนำเสนอประวัติของจอมบึง  อยากให้มีภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่  5  ในครั้งที่พระองค์ได้เสด็จประพาสมาที่นี่   และในเร็ววันนี้ก็จะนำคอมพิวเตอร์ที่มีเรื่องราวของประวัติของจอมบึงมาตั้งไว้ให้คนเข้าชมได้ค้นคว้าเรียนรู้
 
ในเรื่องการเสด็จประพาสของ ร.5 มีกล่าวอยู่ในวารสารเมืองโบราณผู้เขียนบทความคืออาจารย์สุรินทร์  เหลือสมัย  
รัตนโกสินทรศก ๑๑๔ รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสมณฑลราชบุรี แล้วเสด็จฯ ไปประทับแรมที่ตำบลจอมบึง ดัง ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒ แผ่นที่ ๓๙ วันที่ ๒๙ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๔ หน้า ๓๖๓ ลงพิมพ์ “ข่าวเสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลราชบุรี แลเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ” ว่า
 
      “วันที่ ๑๙ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงม้าพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินจากค่ายหลวงไปตามทางหลวง ผ่านทุ่งเข้าป่าแดง เวลาเช้าโมง ๑ กับ ๔๐ นาที ถึงที่ประทับร้อนปากช่องทุ่งพิทาบ เสด็จประทับเสวยเช้า ระยะทางที่เสด็จพระราชดำเนินเพียงนี้ ๓๓๕ เส้น เวลาเช้า ๔ โมงเสด็จจากที่ประทับร้อน เวลาเช้า ๕ โมงครึ่งถึงค่ายหลวงที่ประทับแรม ตำบลจอมบึง เสด็จจากม้าพระที่นั่งสู่ที่ประทับ ณ ค่ายหลวงนั้น ทางที่เสด็จพระราชดำเนินระยะนี้ ๒๘๘ เส้น รวมระยะทางแต่ค่ายหลวงหลุมดินถึงค่ายหลวงตำบลจอมบึงนี้ ๖๒๓ เส้น เวลาค่ำเสด็จออก พระยาสุรินทรฤาไชยนำพระรามบริรักษ์แลพราน แลพวกกะเหรี่ยงบ้านสวนผึ้งทางไกลจากที่นี้มาถวายของป่าต่างๆ สัตว์ต่างๆ มีพระราชดำรัสตามสมควร แล้วเสด็จขึ้น”
เล่ากันว่า ข้าหลวงเทศาภิบาลเมืองราชบุรีได้สั่งเตรียมการรับเสด็จฯ เป็นแรมเดือน เจ้าหน้าที่มาถางป่าปรับสนาม สร้างพลับพลาที่ประทับ ณ บริเวณหน้าที่ทำการเทศบาลตำบลจอมบึง เล้าขุนหมูเพื่อเตรียมรับรองข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จ 
     
โรงครัวหุงข้าวกระทะอยู่ตรงห้องแถวบ้านพักตำรวจ 
     
หน้าบ้านพักนายอำเภอปัจจุบันเป็นที่แขวนเป้าเคลื่อนที่ สำหรับทหารซ้อมยิงปืนยาวให้ทอดพระเนตร 
     
“วันที่ ๒๐ ธันวาคม เวลาเช้า เสด็จพระราชดำเนินที่พักพระสงฆ์ มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นต้น ซึ่งตามเสด็จพระราชดำเนินไปด้วย แล้วทรงม้าพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินแต่ที่พักพระสงฆ์ไปตามทางหลวง ถึงเชิงเขากลางเมือง หยุดประทับเสวยเช้าที่เชิงเขา ทางแต่ค่ายหลวงถึงเชิงเขา ๘๔ เส้น เสวยแล้วทรงพระราชดำเนินขึ้นประพาสบนเขา แลทรงพระราชดำเนินลงประพาสในถ้ำเขากลางเมืองนั้น แล้วประทับที่ปากถ้ำ โดยทรงพระราชดำริที่จะให้มีสิ่งสำคัญ เป็นเครื่องหมายที่ระลึกถึงการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ไว้สืบไปสิ้นกาลนาน จึ่งให้ทรงพระอักษรไว้ที่ปากถ้ำ คือ จ ป ร เป็นอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ แลเลข ๑๑๔ หมายปีที่เสด็จประพาส แลทรงพระอักษรพระราชทานนามถ้ำว่า “ถ้ำจอมพล” โปรดเกล้าฯ ให้ช่างสลักๆ ศิลาตามตัวอักษร แล้วทรงฉายพระรูปที่ปากถ้ำนั้น แล้วเสด็จประพาสตามระยะทางแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับค่ายหลวงตำบลจอมบึง”
 
ความที่ทุ่งจอมบึงมีประวัติศาสตร์มาเป็นเวลายาวนาน   จึงได้พบหลักฐานทางโบราณคดีในหลายยุคสมัยตั้งแต่สมัยหินกลาง  อายุมากกว่า  4000 ปี ซึ่งจะพบเครื่องมือหินกะเทาะเป็นจำนวนมาก  กระจายอยู่ตรงขอบทุ่งจอมบึง  สมัยโลหะ อยู่ในช่วง  2300-1700 ปี  มาถึงสมัยทวารวดี   หรือในช่วงสมัยอยุธยาที่ไทยรบกับพม่า ราชบุรีก็เป็นเส้นทางเดินทัพ  ในการค้นพบหลักฐานที่นี่มีหอกอยู่เล่มหนึ่งที่ผอ.เฉลิมหยิบมาให้ดู  ความสูงของหอกเกินกว่า  2  เมตร
ถ้าเป็นสิ่งของพื้นบ้านที่ชาวบ้านเคยใช้กัน  ที่นี่นำเรือมาตั้งแสดง  ภายในเรือมีกระต่ายขูดมะพร้าว  ใกล้กันมีโต๊ะวางเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันสมัยก่อนเช่น หม้อตาล    สิ่งของเหล่านี้ชาวบ้านและผู้ปกครองนำมาบริจาคให้   อย่างตัวอาจารย์ก็ได้เอาที่ทับกล้วยปิ้งมาให้ไว้ที่นี่ด้วย
 
ในการแต่งเติมพิพิธภัณฑ์   อาจารย์สุวิมลมีความคิดว่าอยากจะยกเรือที่วางอยู่กับพื้นให้สูงขึ้น  ส่วนด้านข้างที่ในตอนนี้จัดวางผลงานนักเรียนของกลุ่มสาระต่างๆที่นำมาจัดแสดงชั่วคราว  ตรงนี้อาจารย์ตั้งใจที่จะจัดแสดงสิ่งของพื้นบ้านเป็นเตาโบราณ  โดยทำให้เป็นแสง  และที่วัดบ้านจอมบึงก็ยังมีเรืออยู่อีกสองลำที่ยังไม่ได้นำมา   ในส่วนอื่นๆก็จะทยอยทำไปตามกำลังและเวลาหลังจากงานสอน  
 
ด้วยความเป็นคนท้องถิ่น  อาจารย์สุวิมลได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวความทรงจำในวัยเด็กที่ยังแจ่มใสและกระจ่างชัดมาจนถึงปัจจุบัน  ในบริเวณนี้เขาเรียกกันว่าทุ่งจอมบึง  เมื่อก่อนนี้คุณพ่อกับคุณแม่ของอาจารย์สอนที่นี่  ตัวอาจารย์เคยลุยน้ำไปเก็บฝักบัวด้านหลังโรงเรียน  ชนิดของบัวเป็นบัวหลวงทั้งหมด  ตอนนี้ก็ยังเหลือพอให้เห็นอยู่บ้าง  ถ้าใครอยากเห็นภาพเก่าและเรื่องราวของทุ่งจอมบึงในอดีต  ภายในพิพิธภัณฑ์นี้มีให้ชม
 
ถ้าย้อนอดีตไปสมัยคุณพ่อของอาจารย์  อาจารย์สุวิมลเล่าว่าในสมัยนั้นสภาพแวดล้อมของที่นี่เป็นป่าที่มีสัตว์ป่าอยู่เป็นจำนวนมาก   ชนิดที่มองไปทางหลังบ้านก็จะเห็นกระต่ายป่าวิ่งกัน ถ้าเป็นแถวถ้ำเขาบินจะมีเสือด้วย  แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว   เวลาเห็นพังพอนสักตัววิ่งผ่านหน้ารถก็ดีใจแล้ว  ถึงอย่างนั้นด้วยความที่มีวัยเด็กอยู่กับธรรมชาติ  ผลงานเมื่อครั้งอาจารย์ยังเรียนอยู่  อาจารย์เลือกที่จะทำเรื่องนกเงือกหรือที่ชาวบ้านเขาเรียกว่านกกระฮัง   และงานชิ้นนี้อาจารย์ได้นำมาใช้เป็นสื่อการสอนไว้สอนเด็กนักเรียนด้วย
 
ถึงเวลาจะผ่านไป  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  แต่สิ่งที่พิพิธภัณฑ์และคนทำพิพิธภัณฑ์ทำให้เกิดขึ้นได้คือความรู้สึกถึงการมีอยู่และการมีสายใยที่เชื่อมโยงกับอดีต   เมื่อเข้ามาที่นี่เวลาเห็นกะโหลกและเขาสัตว์แขวนอยู่  เราจะรู้สึกได้ถึงกลิ่นของป่า  เมื่อมาเจอกับวัตถุโบราณในหลายยุคสมัยเราได้เห็นความรุ่งเรืองของอารยธรรมในแต่ละช่วงเวลา   เมื่อได้เห็นภาพงานศิลปะ  เรื่องเล่า  ภาพในจินตนาการก็ค่อยปะติดปะต่อกัน   ราวกับว่าทุ่งจอมบึงเมื่อพันปีร้อยปีได้ปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง   การที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างบรรยากาศนี้ขึ้นมาได้   นั่นมาจากความพร้อมของบุคลากรที่มีความสุขและกระตือรือร้นกับสิ่งที่ทำ  
 
การเดินทาง : การเดินทางโดยรถประจำทาง  รถออกที่สถานีขนส่งกรุงเทพ(สายใต้) รถสายกรุงเทพฯจอมบึง  ประมาณชั่วโมงละหนึ่งคัน   ถ้าจะมารถตู้สามารถขึ้นรถได้ที่หมอชิต  อนุสาวรีย์ชัย  หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์(สนามหลวง)  รถออกประมาณชั่วโมงละหนึ่งคัน  ตั้งแต่เวลา  05.30 – 18.00  น. สอบถามได้ที่  084-9736136,081-6424863   พิพิธภัณฑ์บ้านจอมบึงอยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภอจอมบึงและถ้ำจอมพล
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  4  เดือนกันยายน  พ.ศ.2552
ชื่อผู้แต่ง:
-