หอศิลป์ร่วมสมัยเถ้า ฮง ไถ่ ดีคุ้น


ที่อยู่:
323 ถ.วรเดช อ.เมือง ราชบุรี 7000(ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี)
โทรศัพท์:
081-880-3600 วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
วันและเวลาทำการ:
เปิดพุธ - อาทิตย์ 10.00 -19.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
thtdkunst@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2554
ของเด่น:
งานศิลปะร่วมสมัย
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

ปั้นราชบุรีให้เป็นเมืองศิลปะร่วมสมัย

ชื่อผู้แต่ง: ปิ่นอนงค์ ปานชื่น | ปีที่พิมพ์: 19 มิถุนายน 2554

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของหอศิลป์ร่วมสมัยเถ้า ฮง ไถ่ ดีคุ้น

หอศิลป์ D Kunst(ต่อไปนี้ขอเรียกว่า หอศิลป์ฯ) เป็นอาคารเรือนไทยทรงมะนิลาที่สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ช่วงปลายของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)ลักษณะในปัจจุบันมี 3ชั้น ชั้นล่างสุดนั้นฉาบผนังทั้งด้านในและด้านนอกด้วยปูนเปลือย ไม่สามารถเข้าได้จากภายนอกต้องเดินลงจากชั้น 2ของอาคาร ส่วนชั้นที่ 2  มีบันไดทางขึ้นตรงจากหน้าร้าน ห้องด้านในถูกดัดแปลงเป็นร้านกาแฟ มีหน้าต่างกระจกใสขนาดใหญ่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของแม่น้ำแม่กลองที่ไหลผ่านด้านหน้าของร้านได้ การจัดวางโต๊ะสำหรับลูกค้ากระจัดกระจายเป็นกลุ่ม ภายในห้อง 2ห้องของชั้น 2โดยที่เก้าอี้และโต๊ะเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ทำขึ้นจากงานปั้นเซรามิก ที่เป็นผลผลิตของโรงงานเซรามิกเถ้าฮงไถ่ โรงงานโอ่งราชบุรีแห่งแรกๆ ของจังหวัด ที่ดำเนินงานมาถึง 3 ชั่วอายุคนแล้ว ศิลปินที่สร้างงานเซรามิกในร้านนี้คือเจ้าของหอศิลป์ หรือคุณวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์* และในส่วนของชั้นที่ 3เป็นแกลอรี่จัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยที่ แล้วแต่ช่วงเวลาว่าจะนำงานของศิลปินคนใดมาจัดแสดง และช่วงที่เก็บข้อมูลภาคสนามนี้ก็มีงานของ สมยศ หาญอนันทสุข ศิลปินที่สร้างสรรค์งานจิตรกรรม ในรูปแบบนามธรรมจัดแสดงอยู่**

อาคารหอศิลป์แห่งนี้ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และเป็นท่ารถโดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างอำเภอ และท่ารถสองแถวที่วิ่งในบริเวณโดยรอบอำเภอเมือง ในอดีตเคยถูกใช้เป็นอาคารท่ารถโดยสารประจำทาง ก่อนที่จะถูกขายต่อให้กับทายาทโรงงานเถ้าฮงไถ่ และในปี พ.ศ.2548 ก็ได้รับการบูรณะเสริมความมั่นคง แต่ยังคงโครงสร้างและลักษณะอาคารแบบเดิมไว้ ใช้งบประมาณในการซ่อมแซมรวมถึงมูลค่าตอนซื้อมาแล้วกว่า 10ล้านบาท เจ้าของคือคุณวศินบุรี มีจุดประสงค์ในการซ่อมแซมเพื่อให้เป็นหอศิลป์ฯ ที่จะเป็นแหล่งสำหรับการเรียนรู้ ศึกษาเกี่ยวกับงานศิลปะร่วมสมัยให้กับชุมชนในเมืองราชบุรี
 

เครือข่ายงานศิลป์และกิจกรรมศิลปะในชีวิตประจำวัน
               
กิจกรรมที่ทำให้หอศิลป์ฯ แห่งนี้เป็นที่รู้จัก สนใจ ในหมู่ผู้คนชาวราชบุรีและคนทั่วประเทศผู้ชื่นชมในงานศิลปะคือ กิจกรรมที่ชื่อ “ปกติศิลป์” (Art Normal) ด้วยแนวความคิดที่ว่า “ทุกบ้านคือแกลเลอรี่ ทุกที่คือหอศิลป์” วศินบุรี มองว่าแม้พื้นที่หอศิลป์ฯ จะเริ่มเป็นการขยับพื้นที่จัดแสดงทางศิลปะจากโรงงานเถ้าฮงไถ่ ให้เข้ามาใกล้ตัวเมืองและผู้คนมากขึ้น แต่มันก็อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการเข้าถึงผู้คน และลดความช่องว่างระหว่างศิลปะ และชีวิตประจำวันของคนในเมืองลงได้ ด้วยยังคงมีความคิดที่ว่าศิลปะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ยากจะเข้าใจ ดังนั้น จึงได้เกิดความคิดที่จะทำกิจกรรมปกติศิลป์ ที่มีพื้นฐานอยู่บนการนำพื้นที่ที่ธรรมดาสามัญมาใช้จัดแสดงงานศิลปะ และงานศิลปะเหล่านั้นก็ไม่รอการสนับสนุนจากหน่วยงาน ภาครัฐ แต่เริ่มจากการชักชวนชาวบ้าน ชุมชนท้องถิ่น และเยาวชนในราชบุรี ที่ไม่เคยทำงานศิลปะมาก่อนในชีวิต ให้เข้ามาสัมผัส มาเรียนรู้ มาทำความเข้าใจกับศิลปะในมุมมองที่สามารถค้นหาได้ในชีวิตประจำวัน กลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วมในกิจกรรมนี้มีจำนวน 8คน และกลุ่มเยาวชนอีก 2กลุ่มคือ กลุ่มที่ทำ Graffiti (กลุ่ม Jar Town) และกลุ่มจักรยาน Fixed gear (กลุ่ม Ratchaburi Fixed)*** 
กิจกรรมทางด้านศิลปะที่ชาวบ้านเข้ามาหัดทำร่วมกันนั้นมีทั้ง การถ่ายภาพ การวาดภาพ งานปั้น ภาพเคลื่อนไหว และการจัดไฟ งานศิลปะที่ชาวบ้าน เยาวชน และกลุ่มศิลปินจากภายนอกร่วมกันทำนี้ จัดแสดงไปเมื่อวันที่ 17ธันวาคม 2554โดยใช้พื้นที่ 75พื้นที่ จาก 124ศิลปิน วางอยู่ทั่วราขบุรี ทั้งร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านทำผม เขื่อนริมแม่น้ำแม่กลอง เรือข้ามฟาก รถโดยสารประจำทาง ร้านขายของชำ ร้านเช่าพระเครื่อง และร้านตัดเสื้อผ้า เป็นต้น
               
รูปแบบของการจัดงานคือผู้เข้าชมงานจะได้รับแผ่นพับแสดงแผนที่จัดแสดงงานศิลปะ เป็นภาพวาดตัวเมืองราชบุรี ที่มีการแบ่งโซน และให้รหัสของร้านหรือพื้นที่จัดแสดงไว้ พร้อมระยะทางโดยประมาณ จุดสังเกตว่าร้านค้าหรือสถานที่แห่งใดเข้าร่วมโครงการหรือไม่นั้นจะมีธงสามเหลื่ยมสีชมพู พร้อมกับสัญลักษณ์วงกลมมีตราสัญลักษณ์ของงานปกติศิลป์ พ่นไว้บนพื้นถนนด้านหน้าร้านค้านั้นๆ ซึ่งผู้เข้าชมสามารถขออนุญาตเจ้าของสถานที่เพื่อเข้าไปชมงานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ภายในรถได้ การจัดแสดงที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งคือ ภาพถ่ายที่ถ่ายโดยคุณลุงส้ม อ้นพันธ์ คนขับรถประจำทางสายราชบุรี-โป่งกระทิง ที่บอกเล่าเรื่องราวเส้นทางระหว่างราชบุรี-โป่งกระทิง และราชบุรี-สวนผึ้ง รวมไปถึงชีวิตประจำวันของคุณลุง ภาพถ่ายที่ลุงถ่ายถูกนำไปใส่กรอบและจัดแสดงไว้ที่ด้านหลังของเบาะโดยสารทุกที่นั่งบนรถที่ลุงขับ ที่จอดรถประจำหากไม่ได้ออกวิ่งของลุงคือถนนเล็กๆ ที่อยู่ระหว่างหอศิลปฯ กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ภาพถ่ายชุดดังกล่าวยังคงจัดแสดงไว้ที่เดิม ซึ่งผู้ต้องการเข้าชมงานยังสามารถขอขึ้นไปดูบนรถโดยมีลุงส้มเป็นผู้นำชม รวมไปถึงสถานที่จัดแสดงงานอื่นๆ ในราชบุรี ที่ผู้สนใจสามารถขอเข้าไปเดินชมในสถานที่เหล่านั้นได้อยู่
               
นอกจากงานปกติศิลป์แล้วยังมีกิจกรรมอื่นที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องอาทิ งานเด็กฝึกหัตถ์ งานติดศิลป์บนราชบุรี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางศิลปะอย่างต่อเนื่อง และในท้ายที่สุดงานเหล่านั้นจะนำเข้าไปสู่กิจกรรมร่วมกันในนิทรรศการปกติศิลป์ ที่ผู้จัดพยายามจะให้มีการจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี
               
หากพิจารณาในเชิงพื้นที่แล้ว ดูเหมือนหอศิลป์ฯ แห่งนี้จะมีความหมายเป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะที่ “เข้าใจยาก และซับซ้อน” ตามความเข้าใจของชาวบ้านจริงๆ เพราะงานที่จัดแสดงอยู่บนชั้น 3นั้นก็ยังคงเป็นงานของศิลปินชั้นแนวหน้าของประเทศ ที่เป็นเครือข่ายอยู่กับเจ้าของหอศิลป์ฯ แห่งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือกิจกรรมและงานศิลปะที่อยู่ภายนอกหอศิลป์ คือการทำงานที่หอศิลป์ฯ (เจ้าของหอศิลป์ฯ) ขยายตัวเองออกไปสู่ชุมชนโดยรอบ ในแง่หนึ่งเป็นข้อดีที่หอศิลป์ได้พาตัวเอง และความคิดเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยออกไปภายนอกให้ผู้คนได้สัมผัส แต่ในอีกแง่หนึ่งก็คือ “งานศิลปะ” ที่หอศิลป์ฯ แห่งนี้จัดแสดงก็ยังคงจำกัดตัวเองอยู่ใน “พื้นที่แสดงศิลปะที่ยากจะเข้าถึง” อยู่ดี ทว่าในเชิงของเครือข่าย ก็นับได้ว่าประสบความสำเร็จอยู่พอสมควรที่ทำให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบยอมรับงานศิลปะเหล่านี้เข้าไปไว้ในสถานที่สามัญในชีวิตได้ ถึงแม้ว่าบางคนอาจไม่ได้ลงมือทำงานศิลปะด้วยตนเองแต่ยินยอมให้ใช้พื้นที่
 

การบริหารจัดการ
               
ปัญหาการบริหารจัดการของหอศิลป์ฯ แห่งนี้ก็เหมือนกับที่อื่นๆ คือปัญหาเรื่องเงินทุนสนับสนุน และการเลี้ยงตนเองของหอศิลป์ฯ แม้ว่าจะเปิดให้บริการเครื่องดื่มและเบเกอรี่ควบคู่กันไป แต่ก็พอเพียงค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในร้าน/หอศิลป์ฯ เท่านั้น (บางเดือนก็ยังขาดทุน) ในส่วนของกิจกรรมต่างๆ จำเป็นต้องใช้ทุนของเจ้าของหอศิลป์ฯ เอง หรือได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายส่วนตัวกับบริษัทต่าง อาทิ บริษัทโซนี่ มติชน สี TOAหรือคนในแวดวงศิลปะด้วยกัน และในส่วนของหน่วยงานราชการหรือหน่วยงาน/องค์กรอื่น ก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากนัก ซึ่งในระยะยาวก็คงไม่เป็นผลดีต่อหอศิลป์ นัก
 

การเดินทาง

การเดินทางด้วยรถยนต์จากกรุงเทพฯ วิ่งไปตามถนนเพชรเกษม สาย 4กรุงเทพ-นครปฐม มุ่งหน้าไปทางจังหวัดราชบุรี เข้าตัวเมืองจังหวัดราชบุรี โดยเลี้ยวซ้ายสู่ถนน 330ที่แยกจากถนนเพชรเกษม ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง (จุดสังเกตคือสะพานนี้จะขนานไปกับสะพานข้ามแม่น้ำที่เป็นทางรถไฟสีดำ ชาวบ้านเรียกกันว่า “สะพานดำ” เลี้ยวขวาที่สี่แยกแรกหลังจากลงสะพาน เลี้ยวขวาที่วงเวียนขนาดเล็ก วิ่งไปจนกระทั่งพบถนนเลียบแม่น้ำแม่กลอง เลี้ยวซ้ายวิ่งไปจนกระทั่งพบสามแยกเล็กๆ อาคารตรงหัวมุมสามแยกทางซ้ายมือคือหอศิลป์ d Kunst


อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล /เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 10 มิถุนายน 2555


---------------------------
*เป็นศิลปินที่ได้รับร่างวัลศิลปาธร ปี พ.ศ. 2553 สาขาการออกแบบ และในปี พ.ศ.2550รางวัล Designer of the year 2007สาขาการออกแบบเครื่องปั้นดินเผา จบการศึกษาด้านศิลปะจากประเทศเยอรมนี เป็นคนจังหวัดราชบุรี และเป็นทายาทของโรงงานเครื่องปั้นดินผาเถ้าฮงไถ่ 
**งานนี้จัดแสดงระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม 2555 – 12สิงหาคม 2555
*** รายละเอียดและรายชื่อของงานทุกชิ้นในนิทรรศการปกติศิลป์ 2554อยู่ในหนังสือเรื่อง ปกติศิลป์ 2554 โดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ (บรรณาธิการอำนวยการ), นนทบุรี:สำนักพิมพ์ MAKEBOOK, 2554. 



 
ชื่อผู้แต่ง:
-

หอศิลป์ร่วมสมัยเถ้า ฮง ไถ่ ดีคุ้น

หอศิลป์ร่วมสมัย Tao Hong Tai d Kunst เกิดจากการปรับปรุงอาคารเดิม ซึ่งเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น มีใต้ถุนโล่ง และมีเรือนเล็ก 2 หลัง คือเรือนครัว และเรือนเก็บของ หลังคาทรงปั้นหยา มุขด้านหน้าเป็นหลังคาจั่ว ประดับซุ้มจั่วด้วยลวดลายไม้ฉลุ ลายพันธุ์พฤกษา หน้าต่างเป็นบานเกล็ดไม้ ด้านบนเป็นช่องแสง อาคารหลังนี้ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนวรเดช ตัดกับถนนสฤษดิ์เดช จากเอกสารโฉนดที่ดิน พบว่าพื้นที่นี้ได้รับการออกโฉนดในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่สันนิษฐานว่า อาคารหลังนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 โดยผู้ครอบครองเดิม คือทนายแช่ม สัมพันธารักษ์ ใช้งบประมาณค่าแรงในการก่อสร้างเป็นจำนวน 70 บาท
 
อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ศิลปินแห่งชาติได้กล่าวไว้ในหนังสือ “แบบแผนบ้านเรือนในสยาม” ระบุว่า รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้ได้รับอิทธิพลจากบ้านยุคกลางของยุโรป ผสมกับเรือนพื้นถิ่นแบบบังกะโลของเอเชีย ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา อาคารหลังนี้ได้ถูกดัดแปลงเป็นสำนักงานทนายความ คลินิกแพทย์ บริษัทท่ารถเมล์ และต่อมาถูกทิ้งร้างไว้นานหลายปี จนมีสภาพทรุดโทรม แต่ยังคงรักษาลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าเอาไว้ได้
ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 คุณวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ และคุณพ่อ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานโอ่งมังกร เถ้า ฮง ไถ่ จังหวัดราชบุรี ได้ซื้ออาคารนี้จากเจ้าของเดิม เพื่อใช้ทำเป็นหอศิลป์ร่วมสมัยแห่งแรกของจังหวัดราชบุรี โดยจะใช้เป็นสถานที่สำหรับให้ความรู้ทางด้านศิลปะแก่ชุมชน และเป็นที่แสดงงานของศิลปินไทยและต่างชาติ โดยสถาปนิก และทีมผู้ออกแบบทำการศึกษารายละเอียดในการบูรณะ และปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยของอาคารเดิมให้เป็น “หอศิลป์ร่วมสมัย Tao Hong Tai d Kunst” และได้มีพิธีเปิดใช้อาคารนี้ อย่างเป็นทางการในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
 
แนวคิดของสถาปนิกผู้บูรณะหอศิลป์ร่วมสมัยแห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารไม้ที่มีลักษณะทาง สถาปัตยกรรมที่สวยงาม โดยคงรูปแบบดั้งเดิมของอาคารไว้ได้ และสามารถปรับเปลี่ยนการใช้สอยภายในใหม่ โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างมากนัก ถือว่าเป็นการช่วยรักษามรดกทางประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าของเมืองราชบุรี ในการบูรณะ ได้รื้ออาคารเล็ก 2 หลังออก และปรับผังอาคารใหญ่ ต่อเติมเป็นรูปตัวแอล (L) โดยส่วนต่อเติมใหม่ เปลี่ยนให้เป็นอาคารสูง 3 ชั้น ที่เกิดจากการยกอาคารไม้ 2 ชั้นเดิม ให้สูงจากพื้นถนนประมาณ 2 เมตร พื้นที่ใช้สอยชั้นที่ 1 ประกอบด้วยส่วนจัดแสดงงาน ห้องเตรียมอาหาร และห้องพักผู้ดูแลอาคาร ชั้นที่ 2 ประกอบด้วยห้องจัดแสดงงาน ส่วนขายเครื่องดื่มและของที่ระลึก และห้องน้ำ ชั้นที่ 3 ประกอบด้วยห้องจัดกิจกรรม ห้องพักและห้องน้ำสำหรับศิลปิน ด้านหน้าอาคารมีบันไดคอนกรีตขึ้นมาที่ชั้น 2 พื้นที่ระหว่างอาคารไม้ 2 ชั้นเดิม และส่วนต่อเติมด้านหน้าเป็นสวน ประตู และหน้าต่างบานเกล็ดไม้ ส่วนต่อเติมใหม่เป็นแบบร่วมสมัย เพื่อให้เกิดความผสมผสานระหว่างความมีคุณค่าของอาคารเดิมกับอาคารใหม่
 
ข้อมูลจาก: http://www.facebook.com/THT.dKunst[accessed 20110624]
ชื่อผู้แต่ง:
-

เถ้า ฮง ไถ่ ใส่ใจทุกการสร้างสรรค์ ต่อยอดความฝันจากโอ่งมังกร

โรงงานเถ้า ฮง ไถ่ นั้นเปิดให้เข้าชมขั้นตอนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทต่างๆ รวมไปถึงสามารถเยี่ยมชมผลงานชิ้นโบว์แดงของที่นี่ซึ่งเคยสร้างทูลเกล้าฯ ถวายสำหรับใช้ตกแต่งในพระราชวัง พร้อมกับการเลือกซื้อผลงานที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์อีกมากมาย และในส่วนของหอศิลปะร่วมสมัยนั้นถือว่าเป็นหอศิลป์แห่งเดียวของจังหวัด เป็นทั้งแกลลอรี่และร้านกาแฟในที่เดียวกัน
ชื่อผู้แต่ง:
-

ศิลปะสู่ชุมชน: เถ้าฮงไถ่ : ดีคุ้น

เมืองราชบุรี เมื่อวานฉันได้มีโอกาสกลับไปจังหวัดราชบุรีอีกครั้ง ซึ่งราชบุรีเป็นบ้านเกิดที่ฉันภูมิใจ และฉันได้พาเพื่อนร่วมทางไปด้วยกันในครั้งนี้ แต่จะทำอย่างไรเล่าที่จะทำให้เพื่อนของฉันรู้จักบ้านเกิดเมืองนอนที่ฉันภูมิใจในเวลาจำกัด
ชื่อผู้แต่ง:
-