ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านหัวเขาจีน


ที่อยู่:
หมู่ 1 ต.ห้วยยางโทน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี
โทรศัพท์:
081-995-1843 (สมหวัง) , 084-316-5536 (วิภา)
วันและเวลาทำการ:
ติดต่อก่อนเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2545
ของเด่น:
ผ้าขาวม้าร้อยสี ผ้าย้อมคราม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 03 กรกฎาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านหัวเขาจีน

“เฮือนลาว” ที่ตอบสนองการใช้งานในปัจจุบัน

“เมื่อแยกจากถนนเพชรเกษม ผมขับรถยนต์เรื่อยไปตามถนนสู่ทางเข้าหมู่บ้านหัวเขาจีน อำเภอปากท่อ ผ่านทุ่งนา สลับกับวัดและหมู่บ้านอื่นๆ แต่สิ่งที่ ‘เตะตา’ มากๆ คือป้ายไวนิวที่พิมพ์ภาพของบ้านหัวเขาจีนมีแตกต่างกันสี่ห้าแบบ ทั้งภาพของไหห้าใบ ภาพของผู้หญิงแต่งกายเป็นไทยทรงดำ หรือกระทั่งเศรษฐกิจพอเพียง!เมื่อขับรถยนต์เข้าใกล้สถานที่อันเป็นที่ตั้ง โรงเรียนบ้านหัวเขาจีนและศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ผมได้ยินเสียงกระทบของฟืมดังมาเป็นระยะ แต่สิ่งที่แปลกใจมากกว่าคือ หลังคาของเฮือนลาว กลับมีส่วนหนึ่งที่เป็นสังกะสี และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นหญ้าแฝก ต่อเมื่อจอดรถยนต์และเดินเข้าไปยังอาคาร เพื่อขอเข้าสัมภาษณ์กับพี่ที่เป็นหัวหน้ากลุ่มแม่บ้านที่ได้นัดหมายไว้ล่วง หน้า ผมก็เห็นแม่บ้านนั่งทอผ้าเป็นจำนวนมาก มีกี่ทอผ้าราวสิบถึงสิบห้าหลัง บ้างทอผ้าขาวม้า บ้างทอผ้าฝ้ายย้อมคราม
 
“ความสงสัยของผมเกี่ยวกับเฮือนลาวของบ้านหัวเขาจีนที่ดูแปลกตา นอกจากเรื่องวัสดุที่ใช้ทำหลังคา ยังมีเรื่องความสูงของใต้ถุนที่ค่อนข้างสูงมากกว่าสัดส่วนของเรือนที่เคยพบเห็นที่อื่น จากอาคารที่มีลักษณะเป็นเฮือนลาว ยังมีอาคารชั้นเดียวใกล้เคียงกัน แต่มีห้องกระจกกันไว้เป็นสัดส่วนด้านใน ส่วนด้านหน้าเป็นลาวโล่งใต้หลังคา ไม่มีผนังรอบตัวอาคาร และถัดไปเป็นอาคารที่สาม เป็นห้องกระจกขนาดประมาณหกเมตรคูณสี่เมตร ด้านใจเห็นหุ่นพลาสติกทันสมัยอย่างที่พวกห้างขายเสื้อผ้าใช้ในการนำเสนอลูกค้า แต่คราวนี้ กลับเป็นเสื้อผ้าแบบประเพณีของไทยทรงดำ มีหุ่นชายหนึ่งตัว หนุ่มหญิงหนึ่งตัว หุ่นเด็กชายหนึ่ง และหุ่นเด็กหญิงอีกหนึ่ง ส่วนด้านหน้าอาคารเป็นลานปูนกว้าง พร้อมมี ‘สแตนด์’คล้ายกับอัฒจันทร์ที่ต่อขึ้นจากโครงเหล็กอยู่ด้านข้าง”

ผู้เขียนเริ่มต้นแนะนำศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำแหล่งสุดท้ายนี้ด้วยภาพประทับใจ เมื่อต้องเดินทางไปสำรวจและสัมภาษณ์ผู้ที่รับผิดชอบจากคำแนะนำของอาจารย์สุดารัตน์ เอี๊ยะแหวด ที่กล่าวว่า “ทางปากท่อเขาก็มีพิพิธภัณฑ์ เขารวมกลุ่มทอผ้ากันคึกคักทีเดียว” ความประทับใจที่เกิดขึ้นในระหว่างเดินทางเข้า ก่อนเข้าถึงศูนย์วัฒนธรรม ทำให้ผมตระหนักในเบื้องต้นว่า ศูนย์วัฒนธรรมฯ หรือกลุ่มแม่บ้าน ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับหน่วยงานราชการเป็นอย่างดี ดังจะสังเกตเห็นจากการใช้ คำว่า “OTOP” ในป้ายไวนิวข้างทาง เสมือนสัญลักษณ์ที่ประกันคุณภาพของสินค้า

อาณาบริเวณของศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ ตั้งอยู่ในโรงเรียนบ้านหัวเขาจีน ตั้งอยู่ที่สนามด้านหน้า ศูนย์ฯ ดังกล่าวประกอบด้วยหมู่อาคาร 3 หลัง ที่มีหลังคาทรงกระดองเต่าเป็นโครงสร้างที่บ่งชี้เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทยทรงดำดังที่ปรากฏในหลายตำบลของอำเภอเขาย้อยจังหวัดเพชรบุรี สำหรับอาคารหลักที่มีกี่ทอผ้าจำนวนหลายสิบหลังใต้ถุนนั้น สัดส่วนของใต้ถุนนั้นมีลักษณะที่สูงกว่าสัดส่วนของเรือนในที่อื่นๆ ที่ผู้เขียนเคยพบเห็บ เมื่อเดินเข้าไปยังบันไดที่ใช้เป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่สองของเรือน ผู้เขียนสังเกตเห็นบันไดเหล็กที่มีราวจับ 2 ข้าง ในขณะที่จะเดินขึ้นไปยังชั้นสอง จะต้องรีบเดินอย่างรวดเร็วเพราะความร้อนที่อยู่ในเหล็ก 
 
ชานเรือนเป็นส่วนแรกที่ผู้เขียนสัมผัส มีลักษณะที่เหมือนกับชานเรือนของไทยทรงดำ คือมีพื้นที่ต่ำกว่าพื้นเรือนหลัก และมีผ้าใบที่ใช้ในการกั้นฝนสาดเข้ามายังตัวอาคาร 
ผนังด้านหนึ่งแสดงเครื่องมือที่ใช้ในการทำมาหากิน โดยมีการใช้ป้ายเขียนคำเรียกชื่อวัตถุ ประกอบด้วยภาษไทยกลาง อักษรไทดำ และภาษาอังกฤษ เช่น พัดโบก / วี (ลักษณะอักษรคล้ายอักษรไทในเวียดนาม) / fan for blowing rice, คราดนา ขานนา (ลักษณะอักษรคล้ายอักษรไทในเวียดนาม) rake นอกจากนี้ ยังมีไหอีกจำนวนหนึ่งที่ตั้งอยู่ที่พื้น และมีป้ายแสดงชื่อเรียกของวัตถุเช่นกัน

นอกจากการนำเสนอ “ภาพของวิถีชีวิต” ด้วยการจัดแสดงวัตถุพร้อมป้ายบรรยาย การนำเสนอเรื่องราววัฒนธรรมผ่านการจัดแสดงยังใช้รูปแบบของการจำลองฉาก เพื่อสะท้อนให้เห็นกิจกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นในเรือน เรื่องเล่า 2 เรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งคือ “ปากท้อง” และ “ผีบรรพบุรุษ”  วัตถุวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของชาวไทยทรงดำ ที่นำเสนอด้วยฉากจำลองคือ เตาไฟ ที่มักจะใช้กะบกที่มีดินและทรายเป็นฐานรอง เพื่อป้องกันความร้อนจากไฟที่ใช้ในการทำครัว ร้อนถึงพื้นเรือน โดยมีก้อนหินสามเส้าและเทินภาชนะที่ใช้ในการปรุงอาหารไว้ด้านบน
 
อีกมุมหนึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับความเชื่อที่ประกอบด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผีบรรพบุรุษ หิ้งที่ประกอบขึ้นสำหรับการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า “หิ้งมด” นั่นคือผู้ประกอบพิธีจะต้องเป็นผู้ “มด” หรือหมอผีที่จะทำหน้าที่เป็นผู้บอกกล่าวเมื่อเกิดร้าย เพื่อขอขมา หรือเป็นการบูชาเมื่อพรที่ขอไว้สัมฤทธิ์ผล อีกส่วนหนึ่งเป็นห้องกั้นด้วยไม้ไผ่ในลักษณะที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่เรียกว่า “กะล้อห่อง” หรือห้องผีบรรพบุรุษ มีการตั้งเชี่ยนหมาก และไม้ไผ่ที่ตีเป็นแผ่นคล้ายกับหิ้งสำหรับ พี่วิภา จันก่ำ อธิบายว่า ในปัจจุบัน ในกรณีที่มีการออกไปแสดงทางวัฒนธรรมนอกชุมชน หรือมีกลุ่มนักศึกษาที่จะมาเข้าพัก จะต้องมีการบ่นบานศาลกล่าว เพื่อให้กิจกรรมนั้นๆ สัมฤทธิผล
 
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ภาพบุคคลที่ปรากฏภายในเรือน ภาพหนึ่งเป็นภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นภาพเจ้าจอมแส ขนาดใหญ่ประมาณเมตรครึ่งคูณสองเมตร ภาพดังกล่าวจัดวางไว้หน้า “กะล้อห่อง”โดยมีการจัดโต๊ะบูชาไว้ แจกันดอกไม้ แก้วน้ำ และเครื่องเซ่นในจาน ภาพดังกล่าวเป็นภาพทำซ้ำขาว-ดำ ฉายภาพในฉากการจัดไว้

ใต้ถุนเรือนเป็นบริเวณที่กลุ่มแม่บ้านใช้ตั้งกี่ทอผ้า โดยมีแม่บ้านหมุนเวียนมาทำงานกันทุกวัน นอกจากนี้ยังมีอาคารชั้นเดียวเพื่อใช้เป็นที่ทำการประชุมของหมู่บ้าน รูปลักษณ์ของหลังคายังมีลักษณะเป็นทรงกระดองเต่าเพื่อให้สอดคล้องกับเรือนที่เป็นอาคารหลัก และอาคารอีกหลังหนึ่งที่ใช้แสดงการแต่งกาย และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้าน โดยมีลานปูนอยู่เบื้องหน้าสำหรับการสาธิตวัฒนธรรม ทั้งนี้ มีป้ายแสดงให้เห็นที่มีของโครงการ “ลานวัฒนธรรมภายใต้โครงการแปดเสน่ห์ราชบุรี แปดวิถีไทยสายใยเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ งบพัฒนาจังหวัดประจำปีงบประมาณ 2554 จำนวน 170,000 บาท”
 
อย่างไรก็ดีเมื่อสังเกตการณ์ใช้พื้นที่บนเรือน กลุ่มแม่บ้านจะใช้ในกิจกรรมของการเตรียมด้ายสำหรับทอ นั่นคือการจูงด้าย กับหลักด้าย ที่เก็บไว้ในเรือนชั้นบนของอาคารหลักในศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ฉะนั้น พื้นที่บนเรือนจึงมิใช่พื้นที่เฉพาะสำหรับการจัดแสดงวัตถุวัฒนธรรม แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ใช้ในกิจกรรมของกลุ่มแม่บ้าน นี่เองที่ชี้ให้ผู้เขียนเห็นถึง “ชีวิต” ของศูนย์วัฒนธรรมในอีกลักษณะหนึ่ง และเมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มแม่บ้าน จึงทำให้ตระหนักถึงพัฒนาการหรือการเติบโตของศูนย์ฯ ดังกล่าวนี้ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับศูนย์การเรียนรู้หนองจิก จ.เพชรบุรี ด้วยเพราะเกิดขึ้นจากการสนับสนุนของหน่วยงานราชการ แต่การสร้างสรรค์โครงการจนกลายเป็นศูนย์วัฒนธรรมที่ต้อนรับผู้คน มีลักษณะเฉพาะโดยมีรายละเอียดที่ผู้ที่จะได้กล่าวถึงในหัวข้อถัดไป


กลุ่มพัฒนาอาชีพสู่การสร้างศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านหัวเขาจีน

“สมัยก่อนนะ... นี่มีเขาอยู่ตรงนี้ แต่ว่าตอนนี้ เป็นฝั่งเพชรฯ ไปแล้ว ตรงนี้เป็นราชบุรี มีห้วยขั้นกลาง สมัยก่อนรวมกัน แต่ตอนนี้แบ่งแยกกันแล้ว เห็นปู่ย่าเล่าให้ฟังว่า คนจีนพายเรือมา สมัยก่อนน้ำท่วม พายเรือมาร่ม คนจีน ล่มที่เขา แล้วเขาว่ามีถ้วยชามหม้อของเก่า เขาว่ามีที่เขาของเรือล่ม เลยเรียกหัวเขาจีน” ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยคำถามของความอยากรู้อยากเห็นว่า เหตุใดจึงมีชื่อบ้านว่า “หัวเขาจีน” พี่สมหวัง หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มแม่บ้าน ให้คำตอบตามตำนานที่ได้ยินมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จากนั้น จึงได้เริ่มต้นบทสนทนาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมฯ

“จะเล่าถูกไหม... แรกๆ กลุ่มของเราอยู่ข้างบ้านกำนัน เป็นศูนย์เก่า ตอนนั้น เราเริ่มตั้งเป็นศูนย์ทอผ้า มีกี่ประมาณสี่ห้าตัว มีคนทอประมาณสองสามคน  ตั้งแต่รุ่นสาวๆ เป็นสาวน้อยๆ อยู่ ช่วงก่อนนี้ มีพัฒนากรอำเภอมาช่วยสอนทอผ้า อยู่ประมาณปีสองปี แล้วก็ล้มไป แล้วตอนเป็น... ปีที่ได้งบจาก เอส เอ็ม แอลเข้ามา ให้เอาเงินเข้ามาสนับสนุนเป็นล้าน เราเลยตั้งกลุ่ม

“เราทอผ้ามากันตั้งแต่รุ่นยายย่า เราทอผ้าเพื่อใช้กัน เราไม่ได้ซื้อผ้าใช้ เราย้อมครามอะไรเอง เลี้ยงหม่อนไหมเอง ทอผ้าเอง ตัดเสื้อผ้าเอง นอกจากนี้ ปู่ย่าตายายเราเป็นอยู่ เราก็อยากทอผ้าบ้าง มีกันสองคนสามคน มาทอกันพักหนึ่งบ้าง กลับบ้านบ้าง ทำไปทำมา จนเดี๋ยวนี้กลุ่มใหญ่แล้ว กี่ยี่สิบกว่าตัว” (สมหวัง ไชยสมัคร, สัมภาษณ์) ผู้เขียนเกิดข้อสงสัยขึ้นในใจ หากการทอผ้าคือสิ่งที่สืบทอดมาแล้ว ทำไม่จะต้องให้ “พัฒนากรอำเภอ” มาสอน (หมายถึงหาวิทยากรมาสอน ในโครงการของพัฒนากรอำเภอ) พี่สมหวังไขความกระจ่าง “อยากได้ลวดลายใหม่ แล้วผ้าเราทอ ก็ไว้ยอมครามสีดำใช้ ตอนนี้ เราอยากทอผ้าขาวม้า ก็อยากให้หาอาจารย์มาสอน ตั้งลาย ทำลวดลาย ตอนนี้ก็เป็นกันแล้ว”

จากนั้น ผู้เขียนเริ่มสนทนาต่อเนื่องถึงอาณาบริเวณต่างๆ ของศูนย์ฯ ทั้งการก่อสร้างเรือนไทยทรงดำ การสร้างลานวัฒนธรรม
 
ชีวสิทธิ์: แล้วอย่างไร ถึงเอาเรื่องของเรือนลาวผนวกเข้าไปได้

สมหวัง: เราก็เป็นไทยทรงดำ เราก็อยากตั้งกลุ่มเป็นบ้านของไทยทรงดำไว้ เป็นรักษาวัฒนธรรมของเรา...
    
[นอกจากกลุ่มแม่บ้านแล้ว]ยังมีผู้ใหญ่ กำนัน อ.ที่โรงเรียนเป็น ผอ. โรงเรียนบ้านหัวเขาจีน อยู่ด้านหลัง คณะกรรมการหมู่บ้าน [ร่วมสนับสนุน]กว่าจะเป็นอย่างนี้ ล้มลุกคลุกคาน

ชีวสิทธิ์: พอได้งบฯ

สมหวัง: ก็สร้าง หากเป็นบ้านไทยทรงดำ จะต้องสูง ต้องเป็นหลังคาแบบนี้ ตอนเริ่มแรกเป็นหญ้าคาหมด แล้วตอนหลังเราค่อยมาขอเปลี่ยน ตอนแรกเป็นหญ้าคาหมดทั้งสองหลัง แล้วค่อยมาเปลี่ยนเป็นโครงเหล็ก เป็นกระเบื้อง เพราะเราซ่อมแซมไม่ไหว ปีหนึ่งต้องซ่อมแซม แล้วหาซื้อหญ้าคายากมาก มันไม่มี เลยต้องเอาด้านหน้า อนุรักษ์ไว้ เวลาใครไปมา ก็เห็นด้านหน้า ด้านหลังไม่ใช่ ต้องช่วยกันซ่อม วานกันบ้าง จ้างบ้าง กว่าจะเป็นบ้านได้ ส่วนของใช้ คนนั้นให้โน้นนี่มา ต้องมาช่วยกันตั้งโชว์ไว้

ชีวสิทธิ์: เห็นมีเครื่องที่ใช้สำหรับการทำด้าย

สมหวัง: เรียกว่า จูงด้าย มีใครว่างให้ไปถ่ายรูปก่อน เดี๋ยวจะเก็บลงมาหวี มาม้วนข้างล่าง

ชีวสิทธิ์: ตอนที่จัดสินใจสร้างตัวบ้าน อยากให้ตัวบ้านเล่าอะไร

สมหวัง: ก็อนุรักษ์สืบสานประเพณีของเรา บ้านไทยทรงดำ คือต้องสูงอย่างนั้น ด้านล่างมีคอกวัวคอกควาย ทำใต้ถุนให้สูง มีกี่ทอผ้าไว้ตัวหนึ่ง มีคอกวัวคอกควายสมัยโบราณ อยู่ใต้ถุนหมด

ชีวสิทธิ์: ในประสบการณ์คุณพี่เอง เคยอยู่บ้านลักษณะนี้ไหม

สมหวัง: ไม่ใช่แล้ว บ้านพ่อแม่เป็น บ้านโบราณแบบนี้รื้อไปหมดนี้ สมัยก่อนมีกระไดขึ้นมีชานบ้าน แต่สมัยนี้ หาไม่ได้ พังกัน ลูกหลานทำบ้านปูน แต่ตรงนี้ ก็จะอนุรักษ์ไว้ บางคนผ่านไป เห็นบ้านแปลกๆ ก็แวะมา ก็มาดูว่าไม่เคยเห็น ดีใจที่เขามาเที่ยวมาชม ว่าดีสวย เราก็ขายของ ขายผ้าได้ เราก็ดีใจ มาจากกรุงเทพฯ มาบ่อย บางคนว่ามาจากเว็บไซต์ เข้ามาเรื่อย
 
คำบอกเล่าของพี่สมหวังช่วยสะท้อนให้เห็นที่มาที่ไปของศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่สัมพันธ์กับการพัฒนาท้องถิ่น ในกรณีนี้ คือการพัฒนากลุ่มทอผ้า ที่อาศัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น การทอผ้าข้าวม้า ทั้งนี้ การเลือกรูปลักษณ์ของศูนย์ฯ ที่อาศัยบ้านแบบตั้งเดิม ก็เกี่ยวข้องกับแนวคิดของ “การอนุรักษ์วัฒนธรรม” อย่างไรก็ดี การอนุรักษ์ดังกล่าวมีนัยของการปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม ดังเช่นความต้องการในการพัฒนาลายผ้าทอ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด หรือการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบบางอย่างของเรือน ดังเช่นการใช้กระเบื้องลอนแทนหญ้าคาในการมุงหลังคา เพราะต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนวัสดุ

เมื่อผู้เขียนสอบถามถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนาโดย “พัฒนากร” ที่กลายมาเป็น “เอกลักษณ์ผลิตภัณฑ์” ของกลุ่ม เขาเรียกผ้าขาวม้าร้อยสี คล้ายๆ ที่หนองขาว... ผ้าขาวม้าร้อยสีเหมือนกัน แต่คนละที่ ใช้ด้ายไหมประดิษฐ์เหมือนกัน เคยไปซื้อด้ายไหมประดิษฐ์ของเขามาทอ แล้วผ้าที่นี่ เป็นผ้าลายแตงโม แล้วก็เป็นผ้าดำ เสื้อผู้ชายที่กำนันใส่ (หุ่น) มีกระดุมเป็นแถว ส่วนตรงโน้น ลายนั้นสองร้อยปีแล้ว เรามาประยุกต์ทำใหม่ ดูได้ในกี่ทอผ้ามี ผืนละพันห้า ทอแทบไม่ทัน มัด ย้อม แล้วก็มาทอ แต่ละเส้นกว่าจะดึงได้ เป็นการศึกษาลายเดิม ลายตาหมี่ ไม่ใช่มัดหมี่ ‘ผ้าซิ่นตาหมี่’ งานตัวอื่น เช่นกระเป๋าเหน็บ มีลายปัก ก็เรียกดอกมะลิ เป็นสมัยโบราณ งานเย็บด้วยมือ ใส่กระจกแว็บๆ ข้างใน คนแก่ๆ จะเย็บ”

นอกจากศูนย์วัฒนธรรมจะเป็นศูนย์รวมในการทอผ้าของแม่บ้านแล้ว ยังใช้ประกอบกิจกรรมอีกหลายลักษณะ เช่น การสอนให้เด็กๆ ในโรงเรียนที่สนใจบางส่วนทอผ้า และการจัดเป็นหมู่บ้าน “โฮมสเตย์” อย่างกรณีที่มีกลุ่มดูงานมาถึงที่ศูนย์ฯ ผู้เขียนขอให้พี่สมหวังลำดับการจัดกิจกรรมว่าเป็นอย่างไร “มาถึง ก็มีคนที่ทำขวัญ รุ่นพ่อรุ่นตา มาขับมาร้อง เรียกขวัญผูกข้อไม้ข้อมือ แปงขวัญ แล้วก็จะเสนอเรามาว่าอยากเห็นพิธีอย่างนั้นอย่างนี้ พิธีแต่งงาน เสนบ้าน แล้วเราจะจัด มีค่าใช้จ่าย เขาจะให้มา ว่าทำตรงนี้เท่าไร ตรงนี้เท่าไร เราจะบอกเขาไป เวลาเขาเข้ามา เราก็ไม่ได้ทอผ้า เราแต่งชุดไทยทรงดำทั้งหมดรอต้อนรับ นักศึกษามาพักค่าย เราก็อยู่ที่นี่ต้อนรับ นอนตามบ้านชาวบ้านด้วย ถ้านักเรียนเล็กๆ อาจารย์เขาจะไม่แยกไป เขาจะให้นอนที่นี่ ถ้าคนใหญ่ ไปนอนโฮมสเตย์ตามหมู่บ้านแยกไป เช้ามาก็มารวมที่นี่กินข้าว แล้วทำกิจกรรมที่นี่ แล้วก็ไปดูจุดต่างๆ คุ้มจักสาน คุ้มเลี้ยงหม่อนไหม คุ้มห้าไห” ผู้เขียนขอให้พี่สมหวังอธิบายเสริมความหมายของ “ห้าไห”

“ห้าไหของไทยทรงดำคือ เริ่มแรกมีไหข้าวสาร เกลือ มะขามเปียก หน่อไม้ดอง ปลาร้า จะต้องห้าไหมีทุกบ้านจึงจะอยู่ได้ อันนี้คืออาหารของเรา การทำมาหากินของเรา แต่ละบ้านต้อนรับ คุ้มเลี้ยงหม่อนเลี้ยงไหม ไปดูการสาวไหม ไปดูการเลี้ยง ดูจริงๆ เก็บใบหม่อนให้หนอนกิน สาวไหมได้เลย คุ้มจักสาน ก็จักสานให้ดู หรือลองจักสานได้ คุ้มตรงสามแยก ทำเกี่ยวกับอาหาร มีแกงหน่อไม้ดองและผักจุ๊บ อาหารที่ขึ้นชื่อของเรา ใครมาก็อยากทาน” พี่สมหวังกล่าวว่าจำนวนนักศึกษาที่เคยรับสูงสุด มีถึงร้อยหรือร้อยห้าสิบคน ค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณสองถึงสามร้อยบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนคืนที่พักและจำนวนมื้ออาหาร ในช่วงกลางคืน อาจมีกิจกรรมการเล่นแคนฟ้อนแคนเสริมด้วย ผู้เขียนสอบถามต่อเนื่องว่า การจัดเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์อย่างเป็นระบบเช่นนี้ ก่อตั้งกันมานานหรือยัง
 
สมหวัง: ไม่นานเท่าไร เราเพิ่งได้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเมื่อไวๆ นี้

ชีวสิทธิ์: ใครเป็นคนให้

สมหวัง: ทางจังหวัด

ชีวสิทธิ์: ผมเห็นมีป้ายงบประมาณแสนกว่า

สมหวัง: เราก็มาทำเพิ่ม ทำลานและอาคารตรงนี้ (ลานวัฒนธรรมที่มีห้องแสดงสินค้าด้านใน) วัฒนธรรมจังหวัดให้มา สแตนให้นั่งดูการแสดง กลางวัน เราแสดงให้ดูได้เลย มีรุ่นนักเรียน รุ่นป้าก็แสดง มีแคน ร่วมสนุกกันได้เลย สแตนก็นั่งชมได้

ชีวสิทธิ์: เราชอบไหมมีคนมาดู

สมหวัง: ที่เขามา เขาก็บอกว่าไม่เคยเห็นที่ไหน เขาก็ว่าดี เขาจะชมเราบ้างเราก็ดีใจ เราต้อนรับ เราแต่งตัวเต็มยศ เราจะทำทรงผม แบบนี้ ที่จะไปงานไทยทรงดำ ไปกันทุกวัน ใช้แรงทุกวัน ไม่ได้หยุดกันเลย บางวันมีสามที่ แบ่งสาย รถสามคัน ชายบ้างหญิงบ้างช่วยกันไป

ชีวสิทธิ์: เวลาบอกว่าไปใช้แรง คือไปทำอะไร

สมหวัง: ไปรำ เอาตังค์ใส่ซองไป แต่ละที่ก็ใส่ซองไปหนึ่งพัน เวลาเขามาก็ใส่หนึ่งพันหนึ่งร้อย หนึ่งพันสองร้อย เขามาช่วยงาน

ชีวสิทธิ์: แล้วอย่างบ้านเราไป เอาเงินกองกลางหรือ...

สมหวัง: มีเงินกองกลาง ไม่ได้เอาเงินส่วนตัวเราออก มีค่ารถมีอะไรให้ ออกแต่แรง อดนอนเอา เราไม่ได้เสียตังค์
 
พี่สมหวังยังกล่าวถึงว่า ในระยะใกล้นี้ มีการส่งหมู่บ้านเข้าประกวดกับหน่วยงานของราชการอีกหลายประเภท หากได้รางวัลจะนำเงินมาพัฒนา ขยายที่ทาง เพราะการที่จะต้องใช้บนเรือนสำหรับการจูงด้ายนั้น อาจเสียพื้นที่ในการทำกิจกรรมโฮมสเตย์ในกรณีที่มีนักศึกษาเข้าพักจำนวนมาก ทางหมู่บ้านจึงมีโครงการขยายบริเวณทำกิจกรรมของกลุ่มแม่บ้าน นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้พูดคุยกับสมาชิกคนอื่นๆ ของกลุ่ม อย่างพี่วิภา จันก่ำ พี่วิภากล่าวเสริมเกี่ยวกับโครงการสร้างรูปปั้นบรรพบุรุษสามตระกูลใหญ่ที่บุกเบิกบ้านหัวเขาจีน โดยจะอาศัยทั้งคำบอกเล่าและภาพถ่าย เพื่อประกอบการก่อสร้างรูปบุคคล

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเปรียบเทียบศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำบ้านหัวเขาจีน และศูนย์การเรียนรูชุมชนหนองจิก ผู้เขียนพบว่า ทั้งสองแห่งมีลักษณะร่วมกันก็คือ การก่อตัวขึ้นจากโครงการพัฒนาของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกวดหมู่บ้านกับหน่วยงานต่างๆ เป็นปัจจัยหรือตัวกระตุ้นสำคัญให้เกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมของทั้งผู้นำชุมชนและชาวบ้าน อย่างไรก็ดี พิจารณาถึงการสร้างเรือนไทยทรงดำ เพื่อเป็นหลักหมายของการเป็นศูนย์วัฒนธรรม คำอธิบายเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบเรือนมีลักษณะที่แตกต่างกัน

ประการแรก ทั้งสองแห่งปรับเปลี่ยนเรือน เพื่อตอบสนองการใช้งานในยุคปัจจุบัน สำหรับบ้านหัวเขาจีน เรือนดังกล่าวจะต้องเป็นเรือนที่กลุ่มแม่บ้านใช้ในการทอผ้า ดังนั้น สัดส่วนใต้ถุนเรือนจึงสูงการเรือนลาวในแหล่งอื่นๆ ส่วนที่บ้านหนองจิก เรือนลาวได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ “จัดแสดง” หรือต้อนรับแขกที่มาเยือน ในการศึกษาดูงาน

ประการต่อมา วิธีการสร้างคำอธิบายถึงการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์หรือวัสดุในการสร้างเรือน ที่บ้านหัวเขาจีน จะใช้ความสะดวกในการจัดการ นั่นคือ เมื่อหญ้าแฝกที่ใช้ในการมุงหลังคา มีมูลค่าที่สูงขึ้นก็สามารถเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนได้ สะดวกสำหรับการดูแล ในขณะที่บ้านหนองจิก แม้จะมีการปรับเปลี่ยนเรือนอย่างไร การอธิบายจะมุ่งให้เห็นถึงการอนุรักษ์ลักษณะของเรือนตามประเพณี

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ /เขียน
สำรวจภาคสนาม เมื่อวันที่ 14  เมษายน 2555
ชื่อผู้แต่ง:
-