พิพิธภัณฑ์บ่อน้ำพระพุทธมนต์ วัดปราสาทสิทธิ์


ที่อยู่:
326 หมู่ 5 วัดประสาทสิทธิ์ ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี 70130
โทรศัพท์:
087-065-4526
วันและเวลาทำการ:
เปิดให้เข้าชมทุกวันพระและวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08:00-18:00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์บ่อน้ำพระพุทธมนต์ วัดปราสาทสิทธิ์

วัดปราสาทสิทธิ์ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองดำเนินสะดวก ที่ขุดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ความยาวของคลองดำเนินสะดวกนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เริ่มวัด ตามคำสัมภาษณ์ของพระสุชาตินั้นกล่าวว่ามีความยาว 33,600 เมตร (หรือ 33.6 กิโลเมตร) แต่ละ 100เส้น หรือ 4 กิโลเมตรจะมีเสาหินปักไว้เป็นหลักบอกระยะทาง และวัดปราสาทสิทธิ์ตั้งอยู่บริเวณหลักที่ 5 จึงถือว่าอยู่ตรงจุดกึ่งกลางคลองดำเนินสะดวก ผู้ที่อำนวยการสร้างคลองดำเนินสะดวกและเป็นผู้ที่ก่อตั้งวัดแห่งนี้คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระปราสาทสิทธิ์ จุดประสงค์ในการขุดคลองครั้งนี้ก็เพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างกรุงเทพ และจังหวัดสมุทราสงคราม และราชบุรีให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยการขุดคลองแห่งเชื่อมแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลองเข้าด้วยกัน การขุดคลองนั้นใช้ทั้งแรงงานทหาร ข้าราชการ ชาวบ้าน และ แรงงานที่เข้ามารับจ้างขุดคลองคือชาวจีนที่ในภายหลังก็ตั้งถิ่นฐานอยู่เขตในอำเภอดำเนินสะดวกจำนวนมาก วัดปราสาทสิทธิ์สร้างเสร็จและผูกพัทธสีมาเมื่อราว พ.ศ.2488               

ประวัติพิพิธภัณฑ์
               
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณใต้ถุนของของวิหารหลวงพ่อไตรรัตน์ อาคารหลังนี้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2540โดยสมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาเป็นประธานเปิด ใช้เวลาในการก่อสร้าง 2ปี 6เดือน 18วัน งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างประมาณ 15ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นเงินที่ได้จากการบริจาค ข้อมูลจากการสัมภาษณ์พระสุชาติ อภิชาโต ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งนี้กล่าวว่าสาเหตุการสร้างวิหารหลังนี้มีที่มาจากญานบารมีที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้มาปรากฏตนในลักษณะที่เป็นนิมิตให้ญาติโยมทั้งหลายมาร่วมกันสร้างวิหารหลังนี้ รวมไปถึงนิมนต์สมเด็จพระสังฆราชให้มาเป็นประธานเปิดวิหารด้วยองค์ท่านเองด้วย
               
อาคารหลังนี้เป็นอาคารปูนทรงจตุรมุข 2ชั้น ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อไตรรัตน์โรจนฤทธิ์ พระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากวัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา และเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีรูปหล่อที่เป็นรูปเหมือนของเจ้าอาวาสรูปก่อนๆ ของวัด และพระอริยสงฆ์ที่เป็นที่รู้จักทั่วไป อาทิ หลวงปู่ทวด หลวงพ่อสด และสมเด็จโต เป็นต้น ชั้นบนนี้เป็นจตุรมุขเปิดโล่งมีบันไดขึ้น 4ด้าน ให้ประชาชนสามารถเดินขึ้นไปสักการะพระพุทธรูปและรูปหล่อได้
               
อาคารชั้นล่างมีลักษณะปิดทึบเป็นส่วนใต้ถุนอาคาร มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว ภายใต้อาจจะแบ่งได้เป็น  2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นห้องกระจกที่มีประตูทางเข้าเป็นสัดส่วนและเข้าได้เฉพาะพระสงฆ์หรือผู้ชายที่ได้รับอนุญาต (ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้า) ภายในห้องกระจกได้สร้างบ่อน้ำพระพุทธมนต์รูป 8เหลี่ยม และที่มุมหนึ่งมีรูปหล่อของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ในท่านั่งบริกรรมคาถา ประดิษฐานอยู่ด้วย (ในความหมายนี้คือน้ำมนต์ที่อยู่ในบ่อนี้ผ่านการบริกรรมของสมเด็จฯ โต แล้ว) ญาติโยมหรือประชาชนที่มาสามารถนำน้ำมนต์ในบ่อกลับไปบูชาที่บ้านได้โดยทางวัดได้บรรจุใส่ขวดน้ำพลาสติกเตรียมไว้ให้แล้ว แต่ไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าไปตักเองหรือใช้มือจ้วงลงไปในบ่อน้ำมนต์เพื่อนำมาล้างหน้าหรือดื่ม บ่อน้ำพระพุทธมนต์แห่งนี้มีการจำลองมาจากบ่อน้ำพระพุทธมนต์ที่วัดอินทรวิหาร ในกรุงเทพฯ แต่ขนาดของบ่อน้ำฯ ที่นี่เป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีรูปหล่อของสมเด็จฯ โต นั่งบริกรรมคาถากำกับอยู่รวมถึงมีขนาดใหญ่ที่สุดด้วย (พระสุชาติ, สัมภาษณ์ วันที่ 9 มิถุนายน 2555) ส่วนที่สองเป็นส่วนจัดแสดงวัตถุของพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับบริจาคมาจากญาติโยม และศรัทธาวัด โดยส่วนใหญ่ได้จากการเปิดรับบริจาคมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540พร้อมๆ กับการเปิดวิหาร ซึ่งเมื่อสร้างบ่อน้ำพระพุทธมนต์เสร็จแล้วก็เห็นว่าพื้นที่เหลือโดยรอบนั้นควรจะจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์จึงเริ่มรับบริจาคจากญาติโยม ซึ่งวัตถุที่จัดแสดงนั้นก็ไม่ได้เจาะจงเลือกประเภท หรืออายุสมัย มีบ้างบางชิ้นที่เจาะจงขอมาด้วยเห็นว่าเป็นของหายาก
 
วัตถุสะสมและชุดจัดแสดง
               
ผังของห้องจัดแสดงมีลักษณะล้อกันไปกับตัวอาคารจตุรมุข เพียงแต่ใต้ถุนด้านล่างนี้ลดขนาดลงเป็นเพียงมุข 3ด้านเท่านั้น ตู้จัดแสดงติดตั้งไว้รอบผนัง พื้นที่ตรงกลางของห้องจัดแสดงเป็นห้องกรุกระจกที่มีบ่อน้ำพระพุทธมนต์อยู่ภายใต้ ด้านหน้าของห้องกระจกนี้มีส่วนจัดแสดงอีกส่วนที่ถูกกั้นไว้อย่างแน่นหนาด้วยลูกกรงโลหะภายใต้จัดแสดงเก้าอี้ที่สมเด็จพระสังฆราชประทับเมื่อครั้งเสด็จมาเปิดวิหารเมื่อ พ.ศ.2540และยังคงตั้งอยู่ตำแหน่งเดิม ส่วนวัตถุอื่นๆ ที่จัดแสดงร่วมไว้นั้นเป็นพระพุทธรูป และภาชนะ อื่นๆ ปะปนกัน (ดูเหมือนว่าจุดประสงค์ของการกั้นลูกกรงนั้นอยู่ที่เก้าอี้เพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ชมเข้าไปแตะต้อง อีกทั้งเก้าอี้นี้ก็วางอยู่บนแท่นจึงทำให้ดูโดดเด่น นำสายตากว่าวัตถุอื่น)  การจัดแสดงวัตถุส่วนใหญ่จะใส่ไว้ในตูไม้กรุกระจกที่ติดตั้งไว้ชิดกับผนังรอบด้านของโถง แต่ละตู้มีกุญแจสำหรับล็อค และมีอีกบางส่วนที่วางไว้นอกตู้จัดแสดง หรือเหนือตู้จัดแสดง
               
การจัดแสดงไม่ได้แบ่งเนื้อหาหรือเรื่องเล่า แต่จัดแบ่งไว้ตามประเภทของวัตถุ หรือในบางส่วนก็จัดแสดงร่วมกันหลายประเภท เมื่อสอบถามถึงจุดประสงค์ของการจัดวางเมื่อแรกเริ่มเป็นการขอแรงจากคณะครูให้มาช่วยจัดแสดง ซึ่งเกณฑ์ที่จัดวางก็ดูจากความเหมาะสมหรืออยู่ในหมวดเดียวกัน แต่ในภายหลังเมื่อเริ่มมีการบริจาควัตถุเข้ามามากขึ้นจึงใส่เพิ่มเข้าไว้ตามพื้นที่ว่างต่างๆ วัตถุที่จัดแสดงอาจสามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ได้เป็น กลุ่มแรก เครื่องทองเหลืองและเครื่องใช้โลหะ ที่มีทั้งภาชนะ รูปหล่อขนาดเล็ก ตะเกียง เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน กลุ่มที่สอง ภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอยู่จำนวนน้อย (ดูตามแผนผัง) กลุ่มที่สาม รูปหล่อสำริด สมัยรัตนโกสินทร์ เป็นชุดหมู่นักดนตรี กลุ่มที่สี่ ภาชนะเคลือบ (เครื่องเคลือบ) ทั้งแบบเคลือบสีน้ำตาล ชามเบญจรงค์ ชุดสำรับอาหารมีฝาปิด และภาชนะที่ใช้รับพระผู้ใหญ่เมื่อครั้งเปิดวิหาร กลุ่มที่ห้า เครื่องแก้ว กลุ่มที่หก จิปาถะ อาทิ เครื่องมือช่าง เปลือกหอย รูปปั้นเศียรปัญจวคีทั้ง 5 เป็นต้น
               
วัตถุเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในความคิดของพระสุชาติคือบ่อน้ำพระพุทธมนต์ที่มีองค์สมเด็จฯ โต นั่งบริกรรมคาถา ด้วยเหตุที่ว่าเป็นของที่มีอยู่เพียงที่เดียวในประเทศไทย ส่วนวัตถุประเภทอื่นนั้นจะเป็นประเภทที่หายาก อาทิ หม้อต้มนมของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวโซ่ง เตาฟูด (เตาที่ใช้ในร้านกาแฟ และดัดแปลงมาจากไดชาร์จของเครื่องบิน) คีมคีบไม้สักใช้ในการจับขอบกระด้งขณะสาน ชุดโถเครื่องแป้ง สมัยรัชกาลที่ 4เป็นต้น
 
ประเด็นเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และการจัดแสดง
               
ห้องจัดแสดงที่ค่อนข้างทึบเพราะเป็นห้องใต้ถุนที่ไม่มีหน้าต่าง ประกอบกับการมีบ่อน้ำพระพุทธมนต์และรูปหล่อของสมเด็จฯ โต อยู่ในห้องร่วมด้วยทำให้บรรยากาศนั้นดูราวกับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วัตถุจัดแสดงนั้นมีระยะห่างกับผู้ชมอยู่มาก แม้ว่าวัตถุบางชิ้นจะเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ด้วยการใช้กระจกกั้น และการนำชมที่คอยเตือนผู้ชมไม่ให้แตะต้องวัตถุ  ทำให้อารมณ์ของการเยี่ยมชมนั้นอยู่กึ่งๆ ระหว่างความเคารพต่อสถานที่/ความเงียบ และการมองอยู่ห่างๆ โดยที่ไม่ได้เข้าไปปฏิสัมพันธ์วัตถุจัดแสดงเท่าใดนัก*

               
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ความรู้สึกของการเป็นวัตถุสะสมส่วนบุคคลมาก แม้ว่าวัตถุที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของที่ได้รับบริจาคจากศรัทธา อีกทั้งมีความสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบน้อยแม้ว่าขณะนำชมนั้นผู้ดูแลจะให้ความสำคัญและน้ำหนักของการเป็นส่วนหนึ่ง และเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของวัดต่อคลองดำเนินสะดวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตลาดน้ำคลองดำเนินสะดวกที่เคยมีชื่อเสียง ผู้สร้างวัดที่เป็นคนเดียวกับผู้อำนวยการขุดคลอง และตำแหน่งของวัดที่อยู่บริเวณกึ่งกลางของระยะทางทั้งหมดของคลอง แต่วัตถุจัดแสดงหรือเรื่องเล่าที่ปรากฏอยู่กลับไม่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชนโดยรอบ หรือความเป็นมาของวัด ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในแง่โลกทัศน์ของผู้จัดที่เป็นพระภิกษุ เรื่องเล่าสำคัญของอาคารหลังนี้คือที่มาซึ่งมาจากญานบารมีของสมเด็จฯ โต ทำให้ศูนย์กลางของห้องจัดแสดงนั้นพุ่งไปที่บ่อน้ำพระพุทธมนต์มาก ส่วนวัตถุจัดแสดงอื่นๆ นั้นอาจเป็นความคิดในช่วงหลังที่ไม่ต้องการให้โถงชั้นล่างนั้นโล่งจนเกินไปนัก หรือต้องการให้เป็นส่วนที่ให้ความเพลิดเพลินกับผู้เข้าชม หลังจากสักการะรูปเคารพ หรือพระพุทธรูปที่ชั้นบนแล้ว
 
การเดินทาง

เดินทางด้วยรถยนต์จากกรุงเทพฯ  ใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม หมายเลข 4กรุงเทพ-นครปฐม มุ่งหน้าไปทางจังหวัดราชบุรี เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกบางแพมุ่งหน้าสู่อำเภอดำเนินสะดวกเมื่อผ่านสามแยกที่จะเลี้ยวไปตลาดน้ำดำเนินสะดวกไปประมาณ 200เมตร จะมีป้ายบอกทางเล็กๆ ที่ซอยทางซ้ายมือ เลี้ยวเข้าซอยและวิ่งไปตามซอยซึ่งจะขนานไปกับคลองดำเนินสะดวกไปประมาณ 7กิโลเมตร จะพบกับวัดปราสาทสิทธิ์ซึ่งอยู่ริมคลองดำเนินสะดวก

อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล /เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 9 มิถุนายน 2555


*ความหมายของการปฏิสัมพันธ์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการแตะต้อง แต่อาจเป็นในลักษณะของการเล่าเรื่อง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ชมเกี่ยวกับวัตถุ ซึ่งสังเกตได้จากผู้ชมที่เข้ามาเยี่ยมชมช่วงเวลาเดียวกับผู้เขียน เป็นกลุ่มผู้ปกครองและเด็กเล็กๆ 4 คน ซึงต่างก็เยี่ยมชมเงียบๆ มีการพูดคุยกันบ้างเกี่ยวกับวัตถุที่เห็นแต่ค่อนข้างน้อย 





 
ชื่อผู้แต่ง:
-