เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์


ที่อยู่:
ร.ร.เบญจมราชูทิศ ราชบุรี ถ.มนตรีสุริยวงศ์ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี 70000
โทรศัพท์:
0-3233-7302 ต่อ 130, 098-2600021 ครูกมลภัทร ตนุเลิศ
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-ศุกร์ 08.30-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
p.giftkamon@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2525
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเริ่มต้นได้ที่โรงเรียน

ชื่อผู้แต่ง: กุศล เอี่ยมอรุณ | ปีที่พิมพ์:

ที่มา: นิตยสารสารคดี

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของเบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์

เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์ เริ่มต้นมาจากชมรมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ร.ร.เบญจมราชูทิศ ที่ตั้งขึ้นเป็นทางการเมื่อปีพ.ศ.2525 โดยอาจารย์ธำรงค์ เตียงทอง กิจกรรมของชมรมคือการสำรวจพื้นที่ในจังหวัดราชบุรี ทำให้ทราบว่าราชบุรีเป็นแหล่งโบราณคดีทั้งก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ อาจารย์จึงได้เกิดความคิดที่จะอนุรักษ์และเก็บรักษาหลักฐานโบราณคดีต่างๆ เอาไว้ เพราะเห็นว่าถ้าปล่อยไว้หลักฐานต่างๆ อาจจะถูกทำลายเนื่องจากการพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ทำกินของราษฎร เป็นไร่อ้อย ไร่มัน และบางส่วนมีการทำเหมืองแร่ ในการเก็บรวบรวมวัตถุโบราณ อาจารย์ได้ประสานงานกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี โดยมีเด็กนักเรียนเข้ามาช่วย ทั้งนี้การเก็บวัตถุโบราณจะเก็บเฉพาะที่อยู่บริเวณผิวดินอันเกิดมาจากรอยไถในเขตพื้นที่การทำเหมืองแร่ บริเวณที่พบมากจะอยู่แถวอำเภอสวนผึ้งและอำเภอจอมบึง สิ่งของอีกส่วนหนึ่งที่เก็บในพิพิธภัณฑ์ มาจากการบริจาคของเด็กนักเรียน โดยอาจารย์มีเงื่อนไขว่าจะต้องเต็มใจมอบให้ ไม่ซื้อมาส่ง และต้องไม่ผิดกฎหมาย 
 
ลักษณะการจัดห้องพิพิธภัณฑ์ แบ่งออกเป็นมุมต่างๆ โดยหลักได้แก่ ส่วนที่หนึ่งด้านหน้าจัดแสดงของที่ระลึกจากการชุมนุมลูกเสือโลก/ลูกเสือแห่งชาติ ส่วนที่สองเป็นประวัติความเป็นมาของโรงเรียน  ที่ในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จฯมาทรงประกอบพิธีเปิดและพระราชทานนามว่า "เบญจมราชูทิศ” ส่วนนี้มีพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทาน ภาพเสด็จเปิดโรงเรียนของพระองค์สมุดเซ็นเยี่ยมเล่มแรก เป็นต้น  ส่วนที่สามเป็นมุมนิทรรศการร่วมสมัย ได้แก่ สิ่งของต่างๆในสมัยก่อนอย่างเช่น วิทยุ กล้องถ่ายรูปรุ่นโบราณ โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า จานเสียง ปั้นชา ส่วนที่สี่เป็นมุมก่อนประวัติศาสตร์ เริ่มจากกำเนิดจักรวาล กำเนิดโลก โยงมาเรื่องของมนุษย์ว่ามนุษย์มาจากไหน มีวิวัฒนาการอย่างไร สิ่งที่มนุษย์สร้างมีอะไรบ้าง โดยแบ่งเป็นยุคหินเก่า ยุคหินกลาง และยุคหินใหม่ โดยจะมีตัวอย่างเป็นหินแร่ต่างๆ ประกอบภาพและคำบรรยาย มีโครงกระดูกลิงมีขวานหินโบราณทั้งยุคหินเก่าและยุคหินใหม่ อยู่ในช่วงเวลา 500,000-10,000 ปี ส่วนที่ห้านำเสนอวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งมีความโดดเด่นตรงความเป็นท้องถิ่นในอดีต สิ่งของที่จัดแสดงแยกเป็นหมวดหมู่ เช่น เครื่องครัว เครื่องจักสาน เครื่องยา เครื่องถ้วย 
 
ใกล้กันและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำแม่กลองคือ ส่วนจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้รวบรวมมาจากแหล่งโบราณคดีบ้านคูบัว วัตถุเหล่านี้เด็กนักเรียนช่วยกันเก็บมาจากไร่นา มีพวกแหวน ตุ้มหู เงินเหรียญสมัยทวารวดี ลูกปัดทองคำ ลูกปัดแก้ว อย่างเงินเหรียญสมัยทวารวดีจะมีจารึกอักษรเป็นภาษาแถบอินเดียใต้ แล้วยังมีตุ๊กตาปั้นตัวเล็ก 
นอกจากวัตถุโบราณที่จัดแสดงอยู่ในห้อง ถ้าเราสังเกตให้ดีจะมีบางสิ่งที่สะดุดตาตั้งแต่แรกก่อนจะเดินเข้ามา มองครั้งแรกคล้ายเรือ ของสิ่งนี้ตั้งอยู่กลางแจ้งหน้าห้องพิพิธภัณฑ์ เมื่อถามอาจารย์ธำรงค์ อาจารย์บอกว่านั่นคือโลงศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งเดิมอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ทหารของราชบุรีไปพบอยู่ในถ้ำบนภูเขาสูง ทหารคนนั้นเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อไผ่ล้อม ซึ่งหลวงพ่อท่านชอบสะสมของเก่า ลูกศิษย์คนนั้นจึงนำมาถวายให้ เมื่ออาจารย์ธำรงค์ได้ไปที่วัดไผ่ล้อมจึงได้ขออนุญาตหลวงพ่อนำมาจัดแสดงเพื่อเป็นสื่อการสอนให้กับเด็กนักเรียน
 
กิจกรรมของชมรมนอกจากการออกค่ายปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมแล้ว พวกเขายังมีหน้าที่ในการดูแลรักษาพิพิธภัณฑ์ด้วย โดยจะมีการแบ่งกลุ่มเปลี่ยนเวรกันมาเป็นมัคคุเทศก์นำชม และดูแลทำความสะอาด เมื่อถามถึงการเข้ามาเยี่ยมชมของบุคคลภายนอก อาจารย์บอกว่ามีไม่มากนัก กลุ่มที่มาเยี่ยมชมส่วนใหญ่เป็นคณะครูจากจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในกลุ่มสาระสังคม บางโรงเรียนมีความตั้งใจที่จะทำพิพิธภัณฑ์ก็จะมาดูมาศึกษากันอย่างจริงจัง คณะครูเหล่านี้มีทั้งจากจังหวัดใกล้เคียงเช่น สมุทรสงคราม นครปฐม มาจากทางภาคอีสานและที่อื่นๆ
 
ในเรื่องงบประมาณการดำเนินงาน จะมีงบสนับสนุนจากทางโรงเรียนปีละประมาณ 10000 – 20000 บาท ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการทำโครงการขอเรื่องวัสดุอุปกรณ์ ส่วนงานพิพิธภัณฑ์นี้จะขึ้นตรงต่อฝ่ายวิชาการ สิ่งที่อาจารย์ธำรงมีความกังวลอยู่ในตอนนี้คือ ตัวอาจารย์ใกล้จะเกษียน แต่ยังไม่มีคนที่จะรับงานตรงนี้ให้มีความต่อเนื่อง 
ถึงแม้การจัดแสดงของที่นี่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ แต่ข้อจำกัดนี้ก็ไม่อาจหยุดการเติบโตของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ ด้วยความรู้ที่นักเรียนได้รับ ด้วยความรู้สึกและจิตสำนึกที่อาจารย์ธำรงค์ได้ปลูกฝังให้กับเด็กๆ มีบางคนสัญญากับครูของเขาว่าสักวันเมื่อเรียนจบจากที่นี่จะไปเรียนโบราณคดีและกลับมาช่วยอาจารย์ทำพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าคำสัญญานั้นจะเป็นจริงหรือไม่ แต่ความชื่นใจนั้นได้อยู่ในใจของอาจารย์ธำรงค์อย่างเต็มเปี่ยม
 
สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน 
 
อวยพร ระเบียบธรรม/ถ่ายภาพ
 
ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 4 เดือนมิถุนายน พ.ศ.2552
ชื่อผู้แต่ง:
-