ศูนย์วัฒนธรรมไทย-กะเหรี่ยง บ้านหินสี


ที่อยู่:
ป่าชุมชน หมู่ที่ 4 ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2557
ของเด่น:
บ้านจำลองกะเหรี่ยง กลุ่มบ้านพุหวาย
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมไทย-กะเหรี่ยง บ้านหินสี

การตั้งชุมชน ก่อนปี 2526 มาตั้งที่นี่ประมาณสองสามครอบครัว แต่มีบ้านเลขที่ประมาณปี 2526 ย้ายจากหมู่บ้านใหญ่ บ้านหินสี จริง ๆ ตรงนี้เป็นหมู่ 4 อยู่ แต่รวมกลุ่มเรียกว่า กลุ่มบ้านพุหวาย

พ่อพรชัย ทองไร่ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูวัฒนธรรมไทย-กะเหรี่ยงบอกเล่าถึงการตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านพุหวาย ซึ่งเป็นชุมชนที่แยกตัวมาจากบ้านหินสี หรือที่ในภาษาชาวบ้านเรียกว่า “บ้านใหญ่” กลุ่มบ้านพุหวายตั้งอยู่ใกล้กับป่าชุมชน “เป็นโซนวัฒนธรรม 19 ไร่” ภายในเป็นสถานที่ตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทย-กะเหรี่ยง ที่จัดตั้งขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2557 เมื่อผู้เขียนถามต่อไปว่า เหตุใดจึงจำเป็นต้องก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทย-กะเหรี่ยง คำตอบที่ได้คือ “...ฟื้นฟูวัฒนธรรม” แม้จะมีประเพณีที่สืบทอดกันมาหลงเหลือคือ ประเพณีการกินข้าวห่อ หรือการกินข้าวใหม่ที่คนในหมู่จะมาเฉลิมฉลองร่วมกันในเดือนเก้า

...พิธีข้าวห่อใช้เวลาสามวันถึงจะได้กิน วันที่สี่ถึงจะได้กิน ...พิธีเรียกขวัญมีสองช่วง ช่วงแรก หนึ่งทุ่ม สองทุ่ม เรียกเตือน ยังไม่ทำพิธี แล้วพอตีห้า ก็เริ่มพิธี เริ่มจากการมัดแขน [ข้อมือ]คนในบ้านก่อน ครบแล้ว แล้วจากนั้นเป็นแขกเหรื่อที่มา หากเขามาขอให้เรามัดแขนเราก็จะมัด

ส่วนหนึ่งคนที่เกิดเดือนสิงหาคม หรือ เดือนเก้า จะมีการมัดข้อเท้าด้วย ถือว่าคนนั้นพิเศษ เกิดในเดือนเก้า ก็มัดข้อเท้าด้วย ใช้ด้ายสีแดง แล้วก็มีการเรียกขวัญไประหว่างการมัด เหมือนเป็นการให้ศีลให้พร เป็นการบายศรีสู่ขวัญ ของที่จะใช้ มีข้าวห่อ กล้วยสุก ยอดไม้ดาวเรือง ส่วนมากนิยมเป็นดาวเรือง อ้อย น้ำกะทิ ขูดมาจากมะพร้าว เคี้ยวกับน้ำตาล เพื่อจิ้มข้าวห่อ วันนั้นทั้งวันเลี้ยงกันตั้งแต่เช้าจนกว่าข้าวห่อจะหมด


มุนิตา เฉลิมลาภก่อเกียรติ ประธานศูนย์วัฒนธรรมไทย-กะเหรี่ยง ซึ่งเป็นลูกหลานคนจีนที่มาตั้งรกรากอยู่ในบ้านหินสี อำเภอปากท่อ ได้ขยายความเกี่ยวกับการฟื้นฟูวัฒนธรรมที่หมายถึงประเพณีหลายอย่างที่สำคัญ แต่สูญหายไปจากการปฏิบัติให้กลับมามีชีวิตและนำมาสู่การปฏิบัติสืบต่อไป

แต่อีกหลายอย่างหายไป เช่นเวียนศาลา ที่ตรงอื่นก็ยังมีอยู่ ...เวียนศาลา เป็นพิธีเกิดขึ้นมา เป็นสิ่งดี ๆ ...เริ่มแรก เมื่อต้องการฟื้นฟูจะต้องเชิญคนจากหมู่อื่นให้มานำพิธี มีการทำน้ำมนต์ เดินวน สิ่งดี ๆ อาจจะมีดนตรีมาประกอบ เอาพระพุทธรูปนำ ไม่มีการนิมนต์พระสงฆ์ อย่างเรามีเจดีย์มีของเก่า ของมีค่า พระพุทธต่าง ๆ เงินบ้าง ทองบ้าง เป็นสิ่งดีเพื่อบรรจุ คือปัจจุบันนี้ ชาวบ้านบริจาคมา มารวมกัน แล้วบรรจุเจดีย์ เจดีย์ก่อก่อนมีศูนย์ประมาณหนึ่งปี เราฟื้นฟูเวียนศาลาแล้ว

จึงเห็นได้ว่า การก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทย-กะเหรี่ยงเริ่มต้นจากมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพและสูญหายไปแล้วจากชุมชน แต่ด้วยการติดต่อสัมพันธ์กับกะเหรี่ยงกลุ่มอื่น ๆ นับเป็นแรงกระตุ้นให้กะเหรี่ยงกลุ่มบ้านพุหวายกลับมาให้ความสำคัญกับประเพณีอีกหลายอย่างที่ต้องการฟื้นฟู เพื่อให้สมาชิกเกิดการรวมตัวกันในวาระสำคัญ ๆ และถ่ายทอดขนบประเพณีให้กับคนรุ่นต่อไป นอกเหนือจากการฟื้นฟูประเพณี ภายในศูนย์วัฒนธรรมไทย-กะเหรี่ยงเอง ยังปรากฏการฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมที่เป็นกายภาพอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

ลุงพรชัยนำชมบ้านจำลอง ซึ่งเป็นเรือนที่ได้รับการอ้างอิงว่าเป็นรูปแบบบ้านที่เคยปลูกสร้างกันในบ้านหินสี ก่อนการเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ บ้านจำลองดังกล่าวตั้งอยู่ข้างอาคารชั้นเดียว ที่ระบุไว้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แม้ภายในบ้านจะไม่มีการจัดแสดงนิทรรศการเช่นเดียวกับในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แต่ลุงพรชัยอธิบายพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของเรือน เรือนนั้นยกสูงจากพื้น

ภายในประกอบด้วยอาณาบริเวณ 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ โถง ห้องใน และห้องครัว ลุงพรชัยอธิบายว่า กรณีที่บ้านใดมีลูกสาว ลูกสาวจะต้องนอนอยู่ในห้องในสุด และพ่อแม่จะนอนบริเวณที่เป็นโถงหลักของเรือน ส่วนหากบ้านใดมีลูกชาย พ่อกับแม่จะนอนอยู่ในห้องในสุด และลูกชายจะนอนอยู่ที่โถงหลักของเรือน ส่วนห้องครัวนั้นจะอยู่บนเรือน มีผนังที่แยกห้องครัวเอาไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ภายในไม่ได้จำลองรูปแบบของครัวไฟ ลุงพรชัยอธิบายเพียงสั้น ๆ ว่า ห้องครัวก็ใช้กะบะดินและมีก้อนเสาเตาไฟในการประกอบอาหาร

จากนั้น เมื่อลงจากเรือนจำลองเข้าสู่อาคารปูนชั้นเดียว ภายในพอจะแบ่งบริเวณต่าง ๆ ไว้สักสามส่วน ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับงานผ้าทอมือ ซึ่งดั้งเดิมแล้วผ้าทอมือของชาวกะเหรี่ยงใช้กี่เอวในการทอ นับเป็นการทอที่ผูกเส้นยืนด้านหนึ่งไว้กับหลัก ใช้ไม้กลมสอดเส้นยืนให้เส้นยกและข่มแยกกัน แล้วใช้ไม้แบนสอดเปิดเส้นยืนให้ยกสลับกัน จากนั้น ใช้ไม้คีบเส้นพุ่งผ่านระหว่างเส้นยืนที่สลับกับการก้มและยืดหลังของผู้ทอ การทอผ้าด้วยกี่เอวนี้จะได้ผ้าหน้าแคบ แต่ในปัจจุบัน ได้มีหน่วยงานของทางราชการมาให้การอบรมและจัดสรรหูกหรือกี่ทอผ้าขนาดใหญ่ จำนวน 2 หลัง ไว้ให้กับศูนย์วัฒนธรรมไทย-กะเหรี่ยงแห่งนี้ จึงทำให้การทอผ้านั้นได้หน้ากว้างมากขึ้น แต่สีสันและลวดลายคงลักษณะของผ้าแบบกะเหรี่ยงที่เป็นริ้วสี สำหรับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานทอนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์จากผ้าทอ เช่น ถุงย่าม เสื้อสวมศีรษะแบบกะเหรี่ยงไว้จำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ

ใกล้กันนั้น เป็นการจัดแสดงเครื่องจักสาน ซึ่งจัดทำขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นสิ่งจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ลุงพรชัย ยกตัวอย่างของวัสดุซึ่งโดยส่วนใหญ่ทำจากไม้ไผ่ประกอบการสาธิตวิธีการใช้งานเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ และระบุชื่อเรียกในภาษากะเหรี่ยงด้วย

อันนี้เรียกหน้าไม้ สมัยก่อนกะเหรี่ยงใช้อันนี้ล่าสัตว์ แต่อันนี้ใช้ไม่ได้ แค่เอามาให้ดู ตรงนี้เป็นเชือก เหมือนเวลาง้าวขึ้นมาแล้ว ใส่ลูกดอกแล้วก็จะยิง อันนี้เชือกมันขาด ไว้ใช้ล่าสัตว์ สมัยก่อนไม่มีปืนจะใช้อันนี้แทน

อันนี้เรียกขาหยั่ง [หรือ ไม้ไผ่ทำเป็นขาเดิน 2 ข้าง คล้ายเป็นขาเทียม เพื่อใช้ก้าวย่างเดินจะทำให้ตัวสูงขึ้น]ใช้ย่องสาว ไม่ต้องเหยียบให้ถึงพื้น เวลาเดินขึ้นบันได้ จะได้ไม่มีเสียงดัง ย่องสาวคือต้องผ่านพ่อแม่ไปยังห้องลูกสาว เราเข้าไปคุยในห้องเขา ไปคุยกันตัวต่อตัว แต่ผมเดินให้ดูไม่ได้ อันนี้ เรียก “ขังย่อง” ในภาษากะเหรี่ยง

อันนี้ กระด้ง ใช้ฝัดข้าว ส่วนอันนี้ใช้วีข้าว “นุงมุ้ย” ในภาษากะเหรี่ยง เป็นการนวดข้าวบนห้างข้าวที่ได้จากการนวดจะตกลงสู่ข้างล่าง เราใช้ขานวดเท้าให้เม็ดมันหลุด เป็นห้างข้าวสองชั้น แล้วคนที่อยู่ข้างล่างใช้ “นุงมุ้ย” วีเอาเปลือกออก

อันนี้ เรียก “ไน” [คล้ายกระบุงขนาดเล็ก]สำหรับการเก็บผัก เป็นลูกเล็ก ไว้เดินเก็บผัก อันนี้ เรียก “หวูก” [ไม้เนื้อแข็งที่เหลาให้ได้รูปทรงคล้ายกับขอ]สะพายของหนัก ๆ หากเราเจ็บบ่า จะใช้สายเทินหัว อันนี้ เรียก “ยี่ฉะ”
ส่วนอันนี้เรียก “พ่ง” ใช้สำหรับดักปลา ทิศทางที่จะเอาปลาขึ้นปลาลง ส่วนอันนี้เหมือนอีจู้ เรียก “กระต้ง” ต้องใช้เหยื่อ  ส่วน “พ่ง” ไม่ใช้เหยื่อล่อปลา


ในส่วนสุดท้ายเป็นบริเวณที่ใช้จัดเก็บอัลบั้มภาพและโต๊ะเก้าอี้สำหรับการประกอบกิจกรรม แม้ศูนย์วัฒนธรรมไทย-กะเหรี่ยง บ้านหินสี จะเป็นสถานที่ที่ตั้งอยู่ไกลจากอำเภอปากท่อ แต่ได้รับความสนใจจากนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยที่เข้ามาช่วยในการพัฒนาฐานเจดีย์ นอกจากนี้ หน่วยงานราชการได้ให้ความสนใจในการพัฒนาและคณะมาศึกษาดูงาน เช่นการส่งเสริมงบประมาณในการดูแลปรับปรุงภูมิทัศน์ การส่งเสริมการฝึกอาชีพ รวมถึงการมีคณะศึกษาดูงานจากต่างประเทศ

หัวใจสำคัญคือการจัดงานประเพณีวัฒนธรรม เช่นประเพณีการกินข้าวห่อ ประเพณีการแห่ต้นทะเดิ่ง ซึ่งเป็นงานที่สูญหายไปเช่นเดียวกับพิธีเวียนศาลา นอกจากนี้ ในเดือนหก ยังมีการจัดงานเซ่นเจ้าพ่อทองดำ คล้ายกับศาลหลักเมืองที่จะมีการเซ่นไหว้ปีละครั้ง “มีหัวหมูสองหัว ไก่สองตัว เหล้า ไข่ต้ม ขนม นมเนย สำหรับหัวหมู เราเก็บเงินและรวมกันซื้อถวาย ส่วนของเสริม แล้วแต่บ้าน สำหรับหมู ดอกไม้ ธูปเทียน ใครจะเอาอะไรมาเสริมก็ได้ แต่หัวหมูไม่ให้เสริมแล้ว กำหนดไว้แค่สองหัว เพราะหากว่าเราเพิ่มก็ต้องเพิ่มทุกปี”


มุนิตากล่าวว่าในวันข้างหน้า หากสามารถทำได้คือการพัฒนาอาคารที่แยกเป็นกิจจะลักษณะระหว่างพิพิธภัณฑ์กับงานอาชีพเช่นการทอผ้า

ลุงพรชัยกล่าวว่า เมื่อมีบริเวณในการนำเสนอวัฒนธรรมมากขึ้น พิพิธภัณฑ์มีอาคารที่แยกเป็นอิสระตั้งใจเอาไว้ว่า

หากใครเข้ามาดูตรงนี้ ก็อยากมีทุกอย่างให้เขาดู มีคนเฝ้าอยู่ตรงนี้ ต่อไปจะมีคนอยู่ที่นี่ ถามได้ตอบได้ วิถีชีวิตคนกะเหรี่ยงเป็นแบบนี้ ๆ

ตอนนี้ขาดทั้งงบฯ หลายอย่าง สำหรับการนำเสนอความเป็นอยู่ บ้านเรือน ยังต้องมีการจัดแสดงกะล่อมข้าวของกะเหรี่ยง ซึ่งไม่ใช้ไม้ลวกสาน แต่ตอนนี้ ยังมาไม่ถึง แล้วก็อยากจะให้รู้ภาษากะเหรี่ยงสักสี่ห้าคำ คนเข้ามาในนี้ รู้สักสามสี่อย่าง อย่างน้อยสิบคำก็ยังดี “ลี้จ้าน” แปลว่า ไปเที่ยว “ไฮเล่ย” แปลว่า กลับบ้าน “หมี่จ้าน” แปลว่า กินข้าว
หากลูกหลานกะเหรี่ยงเห็นแล้วก็เล่าต่อได้ เมื่อออกไปนอกชุมชน ก็สามารถเล่าให้ผู้อื่นฟังแล้วก็อยากมาดูที่นี่


ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ เขียน
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามวันที่ 27 มกราคม 2561
ชื่อผู้แต่ง:
-