พิพิธภัณฑ์วชิรปราสาท วัดเพชรพลี


วัดเพชรพลี เดิมชื่อว่าวัดพริบพลี เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดเพชรบุรีที่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งขึ้นที่อาคารวชิรปราสาท เกิดขึ้นจากความตั้งใจของพระครูพิศิษฐศิลปาคม อดีตเจ้าอาวาส ที่ได้นำวัตถุโบราณของเจ้าอาวาสรูปก่อน ๆ มารวบรวมและเก็บรักษาไว้ที่เดียวกัน ซึ่งมีทั้งพระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ และโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่จัดไว้เป็นหมวดหมู่ ส่วนที่สำคัญคือบุษบกประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ 5 พระองค์ ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุฉัพพัณรังสี พระบรทันตธาตุ พระเสมหธาตุ พระบรมสารีริกธาตุขนาดต่าง ๆ แลพระธาตุของพุทธสาวกอรหันต์ ซึ่งบุษบกสามรถเคลื่อนขึ้นลงได้ด้วยการชักลอก (ภายหลังเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้า) ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า พระธาตุลงลิฟต์

ที่อยู่:
วัดเพชรพลี ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
โทรศัพท์:
032-425001
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2516
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วชิรปราสาท วัดเพชรพลี

วัดเพชรพลี หรือ วัดพริบพรี ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา  เป็นวัดที่สร้างขึ้นและมีชื่อตามชื่อเมืองนี้มาก่อน  ซึ่งแต่ก่อนนี้จังหวัดเพชรบุรี  มีชื่อว่า เมืองพริบพรี   ที่วัดเพชรพลีแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะว่ามีเสาชิงช้า และเทวสถานโบสถพราหณ์ ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ภายในบริเวณวัด กล่าวได้ว่าบริเวณเมืองเพชรบุรีเป็นสถานที่สำคัญของทั้งสองศาสนาคือ ศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ด้วย ดั่งในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ที่กล่าวถึงเสาชิงช้าและโบสถพราหมณ์ในบริเวณเมืองด้วย
 
พิพิธภัณฑ์วชิรปราสาท เป็นความตั้งใจของอดีตเจ้าอาวาสวัดคือ ท่านพระครูพิศิษฐศิลปาคม (เจ้าอาวาสรูปที่ 5 ของวัดเพชรพลี ตามหลักฐานที่ได้บันทึกไว้  ในช่วง พ.ศ. 2490 – 2524) ที่ได้นำเอาวัตถุโบราณ และพระพุทธรูปที่มีค่าของที่เจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ ได้รวบรวมไว้ มาจัดเก็บไว้ในที่เดียวกัน ท่านจึงได้สร้างอาคารแห่งนี้ขึ้น เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น กว้าง 9 เมตร ยาว 22 เมตร มีรูปยอดประดับเป็นองค์เจดีย์ มีมุข 12 มุข ได้รับประทานนามจากสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ว่า วชิรปราสาท เป็นที่รวบรวมเอาวัตถุโบราณ พระพุทธรูป สำคัญปางต่างๆ มาจากหลายยุค พระบรมสารีริกธาตุ เครื่องถ้วยชามสังคโลก และเครื่องเบญจรงค์ ตั้งแต่ก่อนหน้าสมัยสุวรรณภูมิจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ 
 
จุดเด่นของอาคารพิพิธภัณฑ์คือ บุษบกที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  บุษบกได้ออกแบบให้สามารถยกขึ้น-ลงจากฐานเจดีย์ได้ด้วยระบบไฮโดรลิค ท่านเจ้าอาวาสกล่าวว่า จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงมาในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและวันงานประเพณีสำคัญต่างๆ  เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันสงกรานต์ วันลอยกระทง เป็นต้น  นอกจากนั้นถ้าผู้เข้าชมอยากจะชื่นชมหรือสักการะ  ก็สามารถแจ้งแก่ท่านเจ้าอาวาสขอให้อัญเชิญลงมาได้  ภายในของอาคารพิพิธภัณฑ์ แบ่งออกเป็นส่วนๆ คือ พระพุทธรูปที่ทำจากแก้วพระพุทธรูปปางประทับยืน  พระพุทธรูปปางประทับนั่ง  พระพุทธรูปที่ปางแตกต่างออกไปจากที่เราเห็นหรือหน้าตาที่ต่างออกไป เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีหมวดพระเครื่องทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ 
 
ท่านเจ้าอาวาสกล่าวว่าในหมู่พระพุทธรูปที่มีอยู่ในอาคารนี้มีองค์หนึ่งที่เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่มากที่สุดมีมูลค่ามากที่สุด  แต่ด้วยความน่ากลัวของมิจฉาชีพในปัจจุบัน ท่านเจ้าใช้วิธีการวางแบบไม่ได้จัดระเบียบด้านมูลค่าและความแท้จริงของข้าวของ
 
พระพุทธรูปที่ถือได้ว่าเป็นพระประธานรองจากพระบรมสารีริกธาตุ  คือ พระพุทธรูปธรรมโมรา เป็นพระพุทธรูประทับยืน ปางขอฝน ทำด้วยเนื้อทองโมรา ซึ่งเป็นทองที่ผสมระหว่างทองคำกับดีบุก สูง 22 นิ้ว เจ้าอาวาสของวัดเพชรพลี พระครูพิศิษฐศิลปาคม ได้ไปพบที่วัดเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และขุดพบที่วัดสามพิหารอีกหนึ่งองค์ที่มีลักษณะเดียวกัน  ปัจจุบันได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่อาคารวชิรปราสาทแห่งนี้
 
นอกจากพิพิธภัณฑ์จะมีพระพุทธรูปสวยงามหลายๆองค์ ที่เจ้าอาวาสองค์ก่อนได้เก็บสะสมไว้แล้ว  ยังมีเครื่องกระเบื้องเคลือบสังคโลก  เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์สมัยต้นรัตนโกสินทร์  ที่มีลูกศิษย์ลูกหาของเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันและองค์ก่อนๆ ได้นำมาถวายไว้ ก็ได้นำมาจัดแสดงเอาไว้ด้วย
 
บริเวณด้านซ้ายของทางเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์นี้ มีแผ่นกระเบื้องจาร สมัยสุวรรณภูมิ ที่ได้มาจากแหล่งโบราณสถานบ้านคูบัว  จัดแสดงให้ได้ชมด้วย  แต่ยังไม่สามารถแปลความได้ว่าจารไว้ว่าอย่างไรบ้าง
 
นอกจากนี้ภายในวัดยังส่วนอื่นๆที่สามารถเที่ยวชมได้อีก  เช่น พระอุโบสถ  พระสุวรรณเจดีย์ ที่บูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ในสมัยของพระครูพิศิษฐศิลปาคม ในปี พ.ศ. 2492   บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณเป็นบ่อน้ำที่จะมีน้ำซึมออกมาตลอดเวลา  และน้ำจากบ่อน้ำแห่งนี้ก็จะนำไปประกอบในพิธีกรรมต่างๆเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ และความขลังของพิธี  นอกจากนี้ในวัดยังมีกังสดาล เป็นแผ่นหินขนาดใหญ่ที่เมื่อตีหรือกระทบเพียงเบาๆ ก็จะเกิดเสียงที่ไพเราะคาดว่าจะใช้ในการประกอบพิธีพราหมณ์ในอดีต  สถานที่ใหม่ที่สุด แต่ว่าจริงๆ แล้วมีอยู่คู่วัดมานานก็คือ เสาชิงช้า  เสาสีแดงรูปแบบเดียวกับเสาชิงช้าในกรุงเทพฯ ก็มีปรากฏในวัดเพชรพลีเช่นกัน แต่ในปัจจุบันนี้ได้รับการปรับปรุงบูรณะใหม่แล้ว ก่อนการบูรณะเสาชิงช้าเดิมมีสภาพชำรุดอย่างมาก จนเมื่อที่กรุงเทพมหานครมีดำริจะเปลี่ยนเสาชิงช้าใหม่และได้ไม้สักทองมาจากอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และวัดเพชรพลีทราบมาว่า ท่อนไม้ที่กรงุเทพฯ ได้จองไว้นั้น ได้คืนการจองแล้ว ทางวัดจึงได้ขอซื้อไม้สักทองท่อนนั้นมาแทน ได้มา 6 ท่อน จึงได้มีการบูรณะเสาชิงช้าเดิม และทางวัดได้ทำพิธียกเสาชิงช้าเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2550  
 
ในบางโอกาสก็จะมีทัวร์ของลูกศิษย์วัดหรือว่า คนที่รู้จักวัดเพชรพลี มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ปฏิบัติกิจถือศีลกันอยู่เป็นประจำ  และในปัจจุบันมีทัวร์ของ ขสมก. มาด้วยรถบัสสีส้มเดินทางมานมัสการและทำบุญที่วัดเพชรพลีอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็จะมีการติดต่อมาก่อนทุกครั้งเพราะในบางทีท่านเจ้าอาวาสหรือกรรมการวัดที่เป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์อาจจะมีธุระ หรือกิจนิมนต์อื่นๆ ไม่อยู่วัด  ทำให้ไม่สามารถเข้าชมได้ เพราะฉะนั้นการเขาชมพิพิธภัณฑ์วชิรปราสาทควรมีการติดต่อก่อนล่วงหน้า
 
ข้อมูลจาก:  
การสำรวจภาคสนามวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552
ผศ.ชำนาญ  งามสมบัติและผศ.อุดม กำแหงหาญ. ชยธมฺโม  งานทำบุญอายุวัฒนมงคล 60 ปี 20 กันยายน 2552 พระมหาศุภชัย ชยธมฺโม. เพชรบุรี: เพชรภูมิการพิมพ์, 2552. หน้า 46-47.
ชื่อผู้แต่ง:
-