พิพิธภัณฑ์ปานถนอม


พิพิธภัณฑ์ปานถนอมก่อตั้งโดยอาจารย์ถนอม คงยิ้มละมัย ผู้มีเชื้อสายไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง อดีตครูโรงเรียนอำเภอเขาย้อย โดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งในบริเวณบ้านของตนเองจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ มรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรษชาวไทยทรงดำ หรือเรียกกันในอีกหลายชื่อว่า ไทยดำ ไทดำ โซ่ง ลาวโซ่ง เป็นต้น ภายในพิพิธภัณฑ์มีวัตถุเครื่องใช้ของคนไทยทรงดำที่อาจารย์เก็บสะสมไว้และบางส่วนสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ อาทิ เครื่องจักสานจำพวกเครื่องมือหาปลา กระบุง ตะกร้า ซึ่งติดป้ายชื่อเรียกในภาษาไทยทรงดำ ผ้าซิ่นลายแตงโมที่เป็นเอกลักษณ์ เสื้อฮี ปานเผือน(สำรับอาหาร) หมอนที่มีลวดลายในแบบไทยทรงดำ เครื่องประดับ เครื่องเงิน ข้าวของเครื่องใช้ในพิธีกรรมต่างๆ นอกจากนี้อาจารย์ถนอม ยังรวมตัวกับชาวบ้านในชุมชนจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ประเพณีวิถีวัฒนธรรมของไทยทรงดำที่สืบต่อและเรียนรู้ประเพณีที่ดีงามของชุมชนเอาไว้

ที่อยู่:
เลขที่ 8/1 หมู่ 1 บ้านหนองจิก ต.หนองปรง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี 76140
โทรศัพท์:
093-197-8492, 088-6545099
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
netnapha2424@gmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2542
ของเด่น:
เครื่องแต่งกายไทยทรงดำ, เครื่องใช้ในครัวเรือน, ผ้าทอ, งานหัตถกรรมไทยทรงดำ
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ปานถนอม

พิพิธภัณฑ์ปานถนอมก่อกำเนิดจากความตั้งใจของอาจารย์ถนอม คงยิ้มละมัย  ลูกสาวชาวโซ่งและเป็นคนเมืองเพชรบุรีมาแต่กำเนิด  อาจารย์ถนอมได้มีโอกาสเรียนหนังสือและจบมาทำงานเป็นครูในโรงเรียนที่อำเภอเขาย้อย  ด้วยความที่มีเชื้อสายชาวโซ่งอาจารย์ถนอมเห็นว่า แม้กลุ่มผู้ใหญ่ยังจะเหนียวแน่นในเรื่องขนบประเพณีเดิมของชาวไทยโซ่ง  แต่เด็กในปัจจุบันที่จะรู้จักประเพณีวัฒนธรรมและสามารถจดจำเรื่องราวรายละเอียดต่างๆของชาวโซ่งอยู่ได้นั้น หาได้ยากและน้อยลงเต็มที   จึงเชื่อว่าการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์น่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีเกี่ยวกับเรื่องวิถีชีวิตของชาวลาวโซ่ง  วัฒนธรรม  ความเชื่อและประเพณีปฏิบัติของชาวโซ่งได้  อาจารย์จึงเริ่มสร้างพิพิธภัณฑ์ในเขตบ้านของตนเอง 
 
ในโอกาสวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2542  วันครบรอบวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เป็นฤกษ์ดีอาจารย์ถนอมและอาจารย์ปานศักดิ์(สามี)  จึงถือโอกาสเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการ ช่วงเวลา 11 ปีที่ผ่านมา อาจารย์ถนอมก็ค่อยๆ ปรับปรุง รูปแบบการจัดแสดง ตัวอาคารและภูมิทัศน์โดยรอบไปเรื่อยๆ จนในขณะนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ค่อนข้างครบครันในเรื่องของเนื้อหา และพื้นที่สำหรับการจัดแสดงวัตถุสิ่งของ และการแสดงประเพณีต่างๆ ของชาวโซ่งที่จัดให้กับผู้เข้าชมที่มาเป็นหมู่คณะที่ได้ติดต่อล่วงหน้าเอาไว้แล้ว

ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ประดับด้วยธงผ้าฝ้ายสีต่างๆ ย้อมสีแบบที่ชาวโซ่งชอบใช้ เป็นธงนำให้สะดุดตา รั้วหน้าบ้านเขียนเอาไว้ว่า บ้านวงศ์ยิ้มละมัย ซุ้มทางเข้าเป็นซุ้มหลังคามุงแฝก สูงประมาณ 3-4 เมตร อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารโล่ง หลังคามุงกระเบื้อง มีจั่วขอแบบโซ่ง  การจัดแสดงแบ่งออกเป็น 7 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 เป็นส่วนที่วางอยู่กับพื้น  กล่าวถึงเรื่องของการเลี้ยงเด็ก เปลเด็ก และเครื่องเล่นของเด็กแบบโซ่ง  นอกจากนี้ยังมีหุ่นจำลองผู้ชาย-ผู้หญิง-เด็กชาย-เด็กหญิง แต่งกายแบบโซ่ง ผู้หญิงทั้งเด็กและผู้ใหญ่นั้นนุ่งผ้าถุงลายแตงโม แต่งตัวด้วยผ้าฝ้ายสีดำ และสีทึบ 

ส่วนที่ 2 ริมผนังของอาคาร เป็นส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องใช้ในบ้าน  กระติ๊บใส่ข้าวทั้งที่ทำจากไม้ไผ่และท่อนไม้ที่แกะเป็นรูปทรงกระติ๊บใส่ข้าว   “โบมส่ายข้าว” หรือ ถาดไม้สำหรับคนข้าวเหนียว กะเหล็บ เล็กใหญ่สำหรับใส่ของ ฟักมีดพกของผู้ชาย ตะเกียงน้ำมัน ครก 

ส่วนที่ 3 กล่าวถึง การทำบุญถึงบรรพบุรุษ หรือที่เรียกว่า การเสนเรือน  การจัดสำรับอาหารสำหรับประกอบพิธีกรรม ที่เรียกว่า ปานเผือน ซึ่งแยกเป็น ปานเผือนผู้ใหญ่  กับปานเผือนผู้น้อย  สำรับการเสนเรือนหรือการทำบุญให้บรรพบุรุษ ที่เรียกว่า การเสนเรือน ก็มีทั้งเสนผู้น้อย และเสนผู้ใหญ่   และอีกพิธี คือการทำขวัญ การจัดสำรับสำหรับการทำขวัญ เรียกว่า ปานขวัญ อาหารที่ใช้ในการประกอบพิธีก็มีไก่ต้ม  ผลไม้  ขนม  และอาหารแบบชาวโซ่ง เช่นแกงหน่อไม้ส้มดองกับหมูหรือไก่ ก็ต้องมีในสำรับนั้นด้วย

ส่วนที่ 4 กล่าวถึง เป็นเวทีสำหรับการแสดงเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมของชาวโซ่ง  
ส่วนที่ 5 กล่าวถึงงานหัตถกรรมงานฝีมือของชาวโซ่ง ประเภทหมอนขวาน  หมอนสามเหลี่ยม เบาะรองนั่ง ผ้าปัก ลายต่างๆ มุ้งสีดำที่มีลวดลายแบบงานฝีมือ  เครื่องจักสาน ย่าม หมวกงอบ  ฝักด้ามมีด

ส่วนที่ 6 กล่าวถึง อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในงานพิธีต่างๆ และการละเล่นของเด็กๆ ขมุกสำหรับเก็บผ้า  และข้าวของมีค่าของชาวไทยโซ่ง  ส่วนใหญ่ขมุกนี้จะเก็บไว้ในห้องผีเรือน หรือห้องนอนใหญ่ของบ้านชาวโซ่ง  โดยทั่วไปแล้ว บ้านของชาวโซ่ง จะมีห้องเพียงห้องเดียวเท่านั้น  ส่วนใหญ่บริเวณที่นอนก็จะกระจายออกไป อย่างผู้หญิงก็จะมีส่วนที่ใกล้กับครัว  แต่แยกส่วนออกมาเป็นที่นอน ลูกผู้ชายก็จะนอนห่างออกมาหรือนอนกลางบ้าน  โดยผูกมุ้งเรียงกันไป  ส่วนห้องนอนที่มีอยู่นั้น จะเป็นห้องผีเรือน 1 ห้อง  ส่วนถ้าบ้านไหนมีอีกห้องก็จะเป็นห้องของพ่อแม่หรือเจ้าของเรือน

ส่วนที่ 7 เป็นส่วนที่เกี่ยวกับพิธีศพ ข้าวของเครื่องใช้ในงานศพ  รูปภาพของการประดับตกแต่ง หอให้กับผู้ตายเพื่อส่งไปเมืองแถง ซึ่งเป็นเมืองเดิมบ้านเกิด ถิ่นของชาวโซ่ง นอกจากนี้ที่เมืองเขาย้อยยังมีความเชื่อว่า เป็นเมือง 5 ไห คือ ในดินแดนของเขาย้อย จะมีความอุดมสมบูรณ์ ไหที่ 1 คือ เกลือ ไหที่ 2 คือ หน้อส้ม (หน่อไม้ดอง)  ไหที่ 3 คือ ไหปลาร้า  ไหที่ 4 คือ ไหมะขามเปียก  ส่วนใหสุดท้ายคือ ไหเงิน  ไหทั้ง 4 ใบแรกนั้น ใช้ในการประกอบอาหารทั้งอาหารทานเองและอาหารที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ของชาวโซ่ง  ส่วนไหที่ 5 เนื่องจากว่าตั้งแต่อดีตมาชาวโซ่งโดนกวาดต้อนมาจากเมืองลาวบ้านช่องก็ไม่มีที่เก็บให้มิดชิดใดๆ เมื่อไม่มีที่เก็บทรัพย์สมบัติของตนเอง จึงต้องเอาเงินที่หามาได้ใส่ไหแล้วฝังดินเอาไว้ 

อาจารย์ถนอมเล่าให้ฟังว่า อาจารย์ทำพิพิธภัณฑ์ด้วยความรัก  อยากสืบสานความเป็นชาวโซ่งให้ลูกหลานและคนที่สนใจได้เรียนรู้ แต่ด้วยเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวก็ต้องพยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์ของตนเองอยู่รอดให้ได้ โดยมีการรวมตัวกันของกลุ่มหญิงโซ่งที่อาจารย์รู้จักเป็นอย่างดี  จัดการแสดงโดยมีเด็กๆในหมู่บ้านเข้ามาร่วมด้วย เมื่อมีใครมาเชิญให้ไปแสดงหรือเผยแพร่ความรู้ก็ยินดี  


ข้อมูลจาก: การสำรวจวันที่ 21 พฤศจิกายน 2552
ชื่อผู้แต่ง:
-