ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมไทยทรงดำ โรงเรียนเขาย้อยวิทยา


ที่อยู่:
โรงเรียนเขาย้อยวิทยา ต.เขาย้อย อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี 76140
โทรศัพท์:
0-3244-6442, 0-3256-2512, 0-3256-1200
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันจันทร์-ศุกร์ กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2539
ของเด่น:
“ข้องยักษ์,” เรือนจำลองไทยทรงดำ, เครื่องประกอบพิธีเสนเรือน, การแสดงเล่นแคนและการฟ้อนแคน
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

สุภาษิตไทยดำ จากสองเฮา

ชื่อผู้แต่ง: ถนอม คงยิ้มละมัย | ปีที่พิมพ์: 2547

ที่มา: ที่ระลึกในงานเกษียณอายุราชการ 2547 อ.ปานศักดิ์ และอ.ถนอม คงยิ้มละมัย

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ที่ระลึกพิธีเปิดศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง) และภูมิปัญญาท้องถิ่นเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก

ชื่อผู้แต่ง: โรงเรียนเขาย้อยวิทยา | ปีที่พิมพ์: 2540

ที่มา: เพชรบุรี: มปพ.

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมไทยทรงดำ โรงเรียนเขาย้อยวิทยา

ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมไทยทรงดำฯ โรงเรียนเขาย้อยวิทยา มีความน่าสนใจอยู่หลายประการ เพราะเป็นศูนย์วัฒนธรรมฯ ไม่กี่แห่งที่ยังคงจัดแสดงวัตถุวัฒนธรรมจำนวนมาก เพราะให้แหล่งอื่นๆ มักประสบเหตุของอัคคีภัย เช่น เรือนไทยทรงดำเดิมของศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเขาย้อย หรือศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทยทรงดำ โรงเรียนวัดหนองปรง (บุญมานุสรณ์) แม้ในปัจจุบัน ศูนย์วัฒนธรรมฯ จะยังอยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียนเขาย้อยวิทยา แต่ระดับของการดูแลและการใช้ประโยชน์จากศูนย์วัฒนธรรมก็เป็นไปอย่างจำกัด

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอภาพของศูนย์วัฒนธรรมที่ในลักษณะของพัฒนาการ ตั้งแต่การก่อตั้งจนถึงรูปลักษณ์ของศูนย์ฯ ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน โดยมีข้อมูลจากทั้งเอกสารที่ตีพิมพ์ไว้ในท้องถิ่น และการสัมภาษณ์อาจารย์ผู้รับผิดชอบศูนย์ฯ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ใส่ใจกับการสืบสานวัฒนธรรมการแสดงไทยทรงดำ ทั้งในฐานะของครูที่ต้องรับผิดชอบการเรียนการสอนด้านการแสดง และในฐานะของศิษย์ที่เคยจบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ ในระยะที่โรงเรียนได้ก่อตั้งศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมไทยทรงดำ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ฉะนั้น ภาพที่เราจะได้เห็นจากการพูดคุย จะแสดงให้เห็นจากความทรงจำของครูเมื่อครั้งยังเยาว์วัย และความมุ่งมาดตั้งใจเจือด้วยความลังเลสงสัยกับความเป็นไปของศูนย์วัฒนธรรมแห่งนั้นในวันข้างหน้า


1. ความเป็นมาของอาคารและศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมไทยทรงดำและภูมิปัญญาท้องถิ่น
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ ตั้งอยู่ในโรงเรียนเขาย้อยวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาประจำอำเภอ ตามบันทึกของ นายแม้นไทย เชื่อมชิต ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเขาย้อยวิทยา เมื่อ พ.ศ. 2536-2540 ในหนังสือที่ระลึกงานฉลองอายุ 95 ปี พระครูโสภณพัชรธรรม (เย็น จนฺทโชติ) ท่านได้กล่าวถึงอาคารในโรงเรียนหลังหนึ่ง “บรรพตศีลคุณ” (หลวงปู่เอ๋ย) ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2502  “เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว ฐานล่างและผนังก่ออิฐถือปูน เครื่องบนเป็นไม้ ได้ทุนทรัพย์จากการบริจาคทั้งสิ้น เช่น คณะกรรมการวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชน และข้าราชการให้ความอุปถัมภ์” (ยุทธ นุชสวัสดิ์, บรรณาธิการ 2554: 76) ท่านพระครูโสภณพัชรธรรม หรือ “หลวงพ่อเย็น” ได้ให้อรรถาธิบายถึงชื่ออาคารเรียนหลังแรกหลังนี้ ไว้ในหลังสือที่ระลึก พิธีเปิดศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมไทยทรงดำและภูมิปัญญาท้องถิ่น เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก วันที่ 30 พฤษภาคม 2540 ว่า “ ‘บรรพตศีลคุณ’ คือชื่อตึกอาคารเรียนและถนนจากสี่แยกวัดยางถึงวัดท้ายตลาด เอานามนี้มาจากสมณศักดิ์ของพระครูบรรพตศีลคุณ (เอ๋ย) อดีตเจ้าอาวาสวัดยางและเจ้าคณะอำเภอเขาย้อย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนเขาย้อยวิทยาเป็นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอแห่งแรก” (โรงเรียนเขาย้อยวิทยา 2540: 7)

ในบันทึกของ พนม เชื่อมชิต และสุทธิชัย รีทาสศรี เรื่อง “52 ปี เขาย้อยวิทยา” กล่าวถึงยุคต่างๆ ของโรงเรียนเขาย้อยวิทยาไว้ 4 ช่วงด้วยกัน โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงครูใหญ่หรือผู้อำนวยการโรงเรียนในแต่ละยุคสมัย เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ จากเนื้อหาดังกล่าว “ยุค” ที่เกี่ยวข้องกับอาคารศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมไทยทรงดำ และภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ “ยุคแรก (พ.ศ.2500 - พ.ศ. 2513)” ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากบันทึกของนายแม้ไทย เชื่อมชิต เกี่ยวกับนโยบายของการขยายโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษา ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ราว พ.ศ. 2500 และได้ระบุถึงเนื้อที่ที่ “หลวงพ่อเอ๋ย” หรือพระครูบรรพศีลคุณ เจ้าอาวาสในขณะนั้นในการแบ่งที่ดิน จำนวน 21 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา ให้เป็นที่จัดสร้างโรงเรียน (ยุทธ นุชสวัสดิ์, บรรณาธิการ 2554: 58)

นอกจากนี้ ภาพอีกประการหนึ่งที่สำคัญของการก่อสร้างอาคารเรียนแรก ซึ่งต่อมาเป็นศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมฯ  คือภาพที่ชาวบ้านได้มาช่วยกันในการหาวัสดุในการก่อสร้างอาคาร ทั้งไม้จากป่าและทรายจากห้วย “เจ้าอาวาสวัดยางเขาย้อย พร้อมด้วยพระปลัดเย็น จันทโชติ รองเจ้าอาวาสวัดยางเขาย้อยในขณะนั้น (ปัจจุบันคือ หลวงพ่อเย็นเจ้าอาวาสวัดยาง) ได้เริ่มนำชาวบ้านในเขตหมู่ 3 โดยเฉพาะบ้านห้วยและบ้านห้วยกระแทก... ไปชักลากไม้ซุงโดยใช้วัวเทียมเกวียนเป็นยานพาหนะเพื่อนำไม้ซุงเหล่านั้นมาสะสมไว้ที่วัดยางเขาย้อยให้เพียงพอเพื่อการก่อสร้างส่วนต่างๆ ของอาคารเรียน... การก่อสร้างเริ่มในปี 2501 และแล้วเสร็จ ในต้นปี 2502 เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียวเครื่องบนเป็นไม้ หลังคาทรงไทย ความกว้าง 8 เมตร ความยาว 48 เมตร” (ยุทธ นุชสวัสดิ์, บรรณาธิการ 2554: 59) อาคารดังกล่าวนี้ยังคงถูกใช้งานต่อเนื่องมา และมีการสร้างอาคารของโรงเรียนอย่างต่อเนื่องอีกหลายอาคารในช่วงทศวรรษ 2520-2530
 
เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างทางกายภาพภายนอก อาคารชั้นเดียวหลังนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาคารราชการหลายแห่งที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันคือ ทศวรรษ 2500 ที่เป็นอาคารปูนชั้นเดียวมีบันไดขึ้นด้านหน้าประมาณสามสี่ขั้น และมีประตูบานไม้จำนวนสี่ห้าประตูอยู่ด้านหน้าอาคารเป็นระยะ เมื่อเข้าไปภายในอาคาร เป็นอาคารเพดานสูงประมาณสามเมตรกว่า และมีหน้าต่างอยู่อีกแถบด้านหนึ่งที่ตรงข้ามกับประตู ลักษณะภายใน สันนิษฐานว่า น่าจะได้รับการปรับปรุงเพื่อให้เป็นศูนย์วัฒนธรรม เพราะไม่ปรากฎผนังที่เคยกั้นเป็นห้องเรียน ทำไมอาคารหลังนี้จึงได้รับการปรับปรุงเป็นห้องจัดแสดงหรือศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

อาจารย์สุดารัตน์ เอี๊ยะแหวด ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการและการใช้ประโยชน์ของศูนย์ฯ ตามประสบการณ์ ได้อธิบายว่า “เมื่อโรงเรียนได้ขยายอาณาบริเวณและนักเรียนที่มีจำนวนมากขึ้น อาคารดังกล่าวจึงไม่ได้ใช้งาน ต่อมาในช่วงประมาณ 2538 หรือ 39 ได้รับการปรับปรุงเป็นศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมไทยทรงดำ” (สุดารัตน์ เอียะแหวด, สัมภาษณ์) และในหนังสือที่ระลึกพิธีเปิด นายแม้นไทย เชื่อมชิต ผู้อำนวยการในยุคนั้นกล่าวถึงนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ปี พ.ศ. 2537-2540 เป็น “ปีรณรงค์และสืบสานวัฒนธรรมไทย” และในปี 2537 เป็นปีกาญจนาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีผู้บริจาคทุนทรัพย์สำหรับการปรับปรุงหลักสองสามท่าน รวมทั้ง “หลวงพ่อเย็น” และคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน วันที่เปิดศูนย์ฯ คือ 30 พฤษภาคม 2540  “มีการจัดนิทรรศการ การแข่งขันทักษะ การแสดงศิลปะไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง) ของชาวบ้านและนักเรียนไม่น้อยกว่า 300 คน โดยมีนายอาทร จันทรวิมล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นประธาน พร้อมผู้มีเกียรติรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี (สมบัติ สืบสมาน) ผู้ช่วยอธิการสามัญศึกษา (วินัย พิพัฒนรัตน์) คุณแม่บุญรวม เสนาดิสัย” (ยุทธ นุชสวัสดิ์, บรรณาธิการ 2554:73-75)

ในเบื้องต้นนี้ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไว้สองสามประการเกี่ยวกับการพัฒนาให้อาคารเรียนหลังแรกเป็น “ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมไทยทรงดำ และภูมิปัญญาท้องถิ่น เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก” บริบทของการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียนโดยผนวกเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าไว้ในเนื้อหาของการศึกษา นัยหนึ่งคือการเปิดพรมแดนของ “ความเป็นไทย” ที่หยิบยกเอาความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาเป็นเงื่อนไขหรือเป็นคำอธิบายเพื่อรับรองกับความเป็นโซ่งนั้นผนวกเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งกับวัฒนธรรมไทย อีกนัยหนึ่งคือ ความเป็นทางการที่เกิดจากการจัดตั้งศูนย์ฯ ที่รวบรวมข้าวของและเล่าเรื่องราวต่างๆ แสดงให้เห็นความพยายามในการสร้างความยอมรับในหน่วยงานระดับชาติ เพราะหากเราพิจารณา “โรงเรียน” ในฐานะหน่วยงานทางการศึกษาที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนและบุคลากรที่ได้รับการอบรมตามแนวทางของรัฐ การก่อตั้งศูนย์ฯ ที่บอกเล่าเรื่องราวของความเป็นท้องถิ่นเช่นนี้ ย่อมหมายถึงการสร้างความชอบธรรมให้กับการแสดงตัวตนหรือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่อาศัยวัตถุวัฒนธรรม

อนึ่ง หากพิจารณาในบริบทที่กว้างมากขึ้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเขาย้อย ซึ่งตั้งห่างจากโรงเรียนไม่ไกลนัก ทั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเขาย้อย ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในความดูแลของเทศบาล และศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมไทยทรงดำ และภูมิปัญญาท้องถิ่น โรงเรียนเขาย้อย ได้รับการพัฒนาในช่วงเวลาเดียวกัน คือในช่วงปลายทศวรรษ 2530 ต่อต้นทศวรรษ 2540 ซึ่งเป็นช่วงเวลาประเทศไทยเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ นโยบายของการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยอาศัยวัฒนธรรมเป็นฐานหรือทุนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว


2. การบอกเล่าวัฒนธรรมไทยทรงดำด้วยสื่อนิทรรศการ
เมื่อผู้เขียนเข้าไปในอาคาร “ความประทับใจแรก” คือขนาดของอาคารเรียนที่ใหญ่และบรรจุข้าวของที่แสดงให้เห็นประเพณีและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างชัดเจน แต่สภาพโดยรวมที่สัมผัสทางสายตานั้น บอกได้ว่า ศูนย์ดังกล่าวไม่ได้มีการใช้งานมาระยะหนึ่งหรือไม่มีผู้เยี่ยมชมมาเป็นระยะหนึ่ง เนื่องเพราะฝุ่นที่จับอยู่บนตู้ เรือนลาวจำลอง หรือข้าวของบางส่วนที่วางระเกะระกะอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม หมวดหมู่ของวัตถุเหล่านั้น สามารถบอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ “ด้านโน้นเป็นวีถีการเกิด และใช้ชีวิตในปัจจุบัน จนถึงเสียชีวิต... หนูเรียกว่าการเกิด เพราะว่ามันเป็นบ้าน คือคนเราเกิดมามีบ้าน อย่างตรงนั้นเป็น ‘ขอกุด’เขาแสดงถึงเขาควาย ควายเป็นสัตว์คู่การทำมาหากิน แสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง อย่างคนโซ่งให้ความสำคัญกับควายมาก ไม่เห็นว่าควายโง่เหมือนกับคนไทย เขาเห็นถึงความมีอยู่มีกิน เห็นถึงความเจริญรุ่งเรือง” (สุดารัตน์ เอี๊ยะแหวด, สัมภาษณ์)
 
โครงเรื่องหลักของนิทรรศการอาจจัดอยู่ในประเภทการบอกเล่าวิถีชีวิตชาวบ้าน คือไล่เรียงตั้งแต่การเกิด การเลี้ยงดู การหาอยู่หากิน การเกษตรกรรม การแต่งงาน เรื่อยไปจนถึงการตาย การนำเสนอผ่านการจัดแสดงแบ่งได้ใน 3 ลักษณะได้แก่ การจัดเป็นฉากตอน เช่น เฮือนลาวจำลอง การอยู่ไฟ การเลี้ยงหม่อนไหมและการทอผ้า การเสนเรือน ประเภทต่อมาคือการใช้ภาพวาดที่สีน้ำมันบนผนังห้องที่แสดงให้เห็นประเพณีในอดีต หรือภาพถ่ายจากการสาธิตวัฒนธรรม เช่น เสนแก้เคราะห์ ทำข้าวจี่และตำข้าวเม่า การทำเอื้อแส่ว (งานฝีมือของสตรีไทยทรงดำที่สะท้อนให้เห็นความพร้อมในการออกเรือน) และการจัดกลุ่มวัตถุไว้เป็นพวกๆ เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักสาน
 
ในระหว่างที่เดินชมศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมไทยทรงดำฯ อาจารย์สุดารัตน์ชวนผู้เขียนดูภาพถ่ายภาพหนึ่ง แล้วถามผู้เขียนว่า ดูออกหรือไม่ว่ารูปใคร ผู้เขียนตอบว่า สมเด็จฯ แล้วอาจารย์สุดารัตน์อธิบายที่มาของภาพเพิ่มเติม “ตอนที่เสด็จที่บ้านดอนทราย ตำบลเขาย้อย ถัดจากตรงนี้ไป 4 กิโลฯ นี่เป็นชุดโซ่งเป็นเสื้อโซ่ง พระองค์ท่านตรัสถามชาวบ้าน อยากให้ทำอะไร ทีนี้ ชาวบ้านบอกว่าไม่อยากได้อะไร อยากให้พระองค์ท่านทรงชุดไทยทรงดำที่ถวาย พระองค์กลับไปที่พระราชวัง แล้วก็ทรงชุดนี้ คนที่ได้รูปมาเป็นแม่ของอาจารย์ที่นี่ แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นปีไหน ส่งรูปกลับมา” ผู้เขียนคิดอยู่ในใจเช่นกัน ว่าเหตุใดอาจารย์สุดารัตน์เลือกที่จะบอกเล่าประวัติของภาพนี้ ทั้งๆ ที่เป็นเพียงมุมเล็กๆ ความภาคภูมิใจที่สัญลักษณ์บางอย่าง (ในที่นี้ ชุดแต่งกาย) เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญอันเป็นสัญลักษณ์ของชาติ อาจช่วยอธิบายเรื่องเล่าในระหว่างการนำชมของอาจารย์สุดารัตน์ก็อาจเป็นได้?
 
ผู้เขียนถามถึงกระบวนการเรียนรู้เรื่องเล่าต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ของอาจารย์สุดารัตน์ “ตอนนั้น ที่ใครมาดูศูนย์ฯ หนูจะชอบเดินตาม อาจารย์ถนอม อาจารย์ท่านอธิบายของแต่ละอย่าง แล้วหนูเดินตาม... มานั่งคิดในใจ เพราะเราเดินตามท่าน ท่านอธิบาย เราดู เรามอง เราจำ บางส่วน บางสิ่ง บางอย่าง อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น มีอุปกรณ์เครื่องใช้ มาเทียบเคียงว่า ของนี้ ยายเราก็ใช้ เช่น กระบวยตักน้ำที่ทำจากกะลามะพร้าวเอาไม้ใส่เป็นด้าม... หนูคิดว่าตัวเองโชคดีที่เกิดมาตรงนี้ ที่บ้านก็มี และที่โรงเรียนก็มี เราสามารถเอามาเป็นแบบแผนโดยไม่ยาก”
 
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้เขียนถามถึงสถานการณ์ของศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมไทยทรงดำฯ อาจารย์สุดารัตน์แสดงความเห็นถึงความไม่ต่อเนื่องในการดูแลและการใช้งานของศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ “อาจารย์วไลภรณ์ เป็นอาจารย์ที่ดูแลอยู่เดิม เป็นอาจารย์สอนหนู แต่พักหลังๆ งานการแสดงเยอะ แล้วไม่มีใครทำ อาจารย์ถนอมท่านเกษียณไป ไม่มีใครมาดูแลศูนย์ฯ... เมื่อปลาย 50 มี ผอ.พจน์ เผ่าเจริญ ซึ่งตอนนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ท่านสั่งให้หนูไปนั่งที่ศูนย์ฯ ด้วยเหตุที่บ้านหนูก็ใกล้ แต่ตอนนั้น รู้สึกว่า ทำไมให้ไปอยู่คนเดียว ฉะนั้น การที่มาเป็นครู ไม่ใช่ว่าทำงานแปดโมง เลิกสี่โมงเย็น สี่โมงครึ่ง ไม่ใช่แล้ว ต้องไปโน้นมานี่

“จนถึงปัจจุบัน ก็ประจำที่นี่อยู่ แต่ว่าไป ศูนย์ฯ ปิด ไม่มีคนดู เปิดไว้ ก็ไม่มีคนเข้าไป พอหนูมาอยู่ ในแนวคิดท่าน ให้เปิดศูนย์ ให้ดูว่า ไม่ใช่ศูนย์ฯ ร้าง พอเปิดประตูมา เพิ่งจะรู้ว่านักเรียนรุ่นหลัง ไม่เคยได้เข้าไปดู เพราะไม่มีใครดูแล พอเปิดประตูไปนักเรียนก็ว่า หนูไม่เคยเข้ามาในนี้เลย ตอนหนูเรียนที่นี่สามปี พอดูเสร็จ ก็ว่า [วัตถุบางชิ้นในศูนย์ฯ – ผู้เขียน] นี่ที่บ้านหนูก็มี แสดงว่า หนูได้เรียนจากนักเรียนอีกแบบว่า ‘บ้านหนูก็มีสิ่งนี้’แสดงว่าเขาเป็นโซ่ง เราก็เรียนรู้กันไปโดยที่สามารถให้เรารู้กันได้รู้เรื่อง ทำให้รู้อุปนิสัย พื้นเพ อันนี้คือญาติพี่น้อง นั่นเป็นความรู้สึกในวันแรกที่มาสอน

“ส่วนนักเรียนที่เป็นคนไทย ก็บอกว่า อาจารย์ครับ ผมอยากบอกรู้เรื่องตรงนี้ วันแรกที่เข้ามาสอนแปดชั่วโมง ไม่ได้สอนเลย แต่เราจะอธิบาย เหมือนพาเด็กเยี่ยมชมศูนย์ฯ อันนี้ เรารู้เรา ก็บอกกับเด็ก หลังจากนั้นมา เด็ก ม.1 ที่เข้าใหม่ก็อยากไปดูบ้าง หลังๆ มาก็เปิดให้เข้าไปดู เด็กก็จดใส่สมุด ตอนนั้น เรียนทัศนศิลป์ ก็อนุญาตให้เขาจด พอตอนหลังมา มีโครงการของ สปฐ ทำหลักสูตรท้องถิ่น มีแต่ว่า ชื่อโครงการแต่ละปีไม่เหมือนกัน หลักสูตรปี 51 เน้นหลักสูตรสถานศึกษา เอาแหล่งเรียนรู้อยู่ในวิชาเรียนด้วย ครั้งหนึ่ง สักปี 52 เขาย้อยวิทยา เคยเสนอผลงานที่ราชภัฎฯ “เขาย้อยวิทย์ฯ รักษ์ถิ่นไทยทรงดำ” เป็น ‘เบสต์ แพรกทิส’เป็นผลงานที่อาจารย์ทำรวมกัน

“โดยเน้นการสอน ที่เป็นการบูรณาการเกี่ยวกับท้องถิ่น เช่นวิชาสังคม สอดแทรกพื้นเพดั้งเดิมของไทยทรงดำ หรือวิชาเพิ่มเติมนาฏศิลป์ จะไม่สอนนาฏศิลป์ไทยอย่างเดียว อันดับแรกเลย จะสอนการรำไทยทรงดำให้นักเรียน นี่เป็นวิชาที่หนูเปิดเอง แล้วสอนรำไทยเสริม มีอยู่ปีหนึ่ง ให้เด็กหาข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้ในโครงการ ‘ยุววิจัยเรื่องการทำลายผ้าเปียว’เราได้รับงบประมาณจากมหาวิทยาลัยมหิดล อย่างตอนนี้ ‘มหิดล’กับ ‘เขาย้อยวิทยา’เป็นพันธมิตรกันร่วมทำวิจัยเรื่องภาษา” (สุดารัตน์ เอี๊ยะแหวด, สัมภาษณ์)

ภาพที่อาจารย์สุดารัตน์บอกเล่าแก่ผู้เขียนช่วยขยายให้เห็นถึงข้อจำกัดหลายประการเกี่ยวกับการใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน นั่นแสดงให้เห็นว่า ในกรณีที่ผู้บริหารโรงเรียนบางยุคสมัยให้ความสำคัญกับศูนย์วัฒนธรรมฯ ก็จะให้การส่งเสริมหรือสนับสนุนการจัดกิจกรรม และเงื่อนไขอีกประการหนึ่ง คือพันธกิจหลักๆ ของสถานศึกษายังคงเน้นการเรียนการสอนหลักสูตรในระบบ แม้จะมีการส่งเสริมเรื่องหลักสูตรท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริง ความสม่ำเสมอในการใช้หลักสูตรกลับเป็นไปอย่างจำกัด อย่างไรก็ดี แม้ศูนย์วัฒนธรรมฯ อาจไม่สามารถทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยตลอด แต่กิจกรรมการแสดง เช่นการฟ้อนแคน หรือการฝีมือที่เกี่ยวข้องกับไทยทรงดำเช่น การทำหน้าหมอน เอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์เหล่านั้น ยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และแลดูเป็นกระบวนการสร้างสำนึกของท้องถิ่นได้มากกว่าศูนย์วัฒนธรรม

 
3. กิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรม ที่มี “ชีวิตชีวา”
อาจารย์สุดารัตน์เท้าความถึงสมัยที่ตนเองเป็นนักเรียนของโรงเรียนเขาย้อยวิทยา และเข้าร่วมกิจกรรมการแสดงต่างๆ “ครั้งหนึ่ง เคยไปที่ราชภัฏฯ งานที่เป็นวิชาการ จำได้ว่า หันมาพูดกับ อาจารย์ถนอม ว่ารำจนเท้าพอง เพราะว่าหินเกร็ดเพิ่งเอามาลง แดดร้อนอย่างนี้ ไม่ได้เงิน ไม่เคยบ่น ตอนนั้น อาจารย์ถนอม ยังพูดถึงทุกวันนี้ มีรุ่นมันนี่แหละที่รำจนเท้าพอง แล้วไม่ได้ตังค์ สมัยนี้ เวลาที่ นร. ออกแสดง บอกว่า งานนี้ได้เท่าไร มันต่างกันมาก พออาจารย์ถนอมได้ยินก็ว่า รุ่นมันตอนรำสักบาทหนึ่งไม่ได้ ไม่เห็นบ่นเลย วิถีชีวิตเปลี่ยน

“ตอนนี้ การจัดงานแต่ละครั้งมีงบประมาณ อย่างงานพระนครคีรี ต้องได้งบประมาณ เราจะจัดสรรปันส่วน อันที่หนึ่งเลย คือตัวเด็ก ตอนหลังมา เราพยายามเน้นกับเด็กว่า การที่เราเผยแพร่วัฒนธรรม เงินไม่ใช่ปัจจัยหลัก การที่เราได้ไปเห็น ไปเผยแพร่ความรู้ และการที่เราไปโดยไม่ต้องเสียอะไร อันนั้นน่าภาคภูมิใจกว่า เช่นไปรำที่ระยอง เด็กบางคนบอกว่า ‘ไม่มีโอกาสไปเที่ยวระยอง’เราก็พาไป... นอกจากนี้ หากมีงานบวช งานอะไร ก็มีการเอาไทยทรงดำไปรำ ทุกคนทำได้ พยายามที่จะทำให้ได้ เพราะว่าหากคนอื่นรำได้ เราก็ต้องอยากรำได้ ประจวบกับการที่โรงเรียนทำตัวศูนย์กลาง มีนักแสดงร้อยกว่าคน”

นอกจากนี้ อาจารย์สุดารัตน์ยังเล่าถึงความทรงจำในสมัยที่ยังเป็นนักเรียน ที่มีโอกาสร่วมสาธิตวัฒนธรรม โดยสมมติเป็นเจ้าสาวในพิธีการแต่งงานแบบไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง กิจกรรมในครั้งนั้น จัดขึ้นที่เรือนไทยทรงดำของเทศบาล หรือศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเขาย้อย และเป็นการสาธิตเพื่อการบันทึกเทปโทรทัศน์ ทั้งหมดที่ได้ยกตัวอย่างมานี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการนำเสนอวัฒนธรรมการแสดงหรือการสาธิตประเพณีสู่สาธารณะ ไม่ต่างจากการจัดกิจกรรมของศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเขาย้อย แน่นอนว่า ความภาคภูมิใจในการแสดงเอกลักษณ์ชาติพันธุ์สู่สาธารณชน น่าจะเป็นปัจจัยในอันดับต้นๆ ส่งเสริมให้เกิด “การจัดแสดงวัฒนธรรม” แต่ผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจเอง เป็นปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามได้เช่นกัน

ในเอกสารประกอบการสอน วิชา ส 071 ท้องถิ่นของเรา 1 (อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี) โดย อาจารย์ถนอม คงยิ้มละมัย หมวดสังคมศึกษา พ.ศ. 2544 ยังได้กล่าวถึงกิจกรรมงานฝีมือที่เรียกเอื่อแส่วที่สอนกันในโรงเรียนเขาย้อยวิทยา โดยระบุว่า “กาทำเอื่อแส่ว...สอนโดยอาจารย์วไลภรณ์ มุลกุณี และอาจารย์สมชัย จำปาเทศ ซึ่งเป็นครูที่มีสายเลือดไทยทรงดำ อาจารย์วไลภรณ์ มุลกุณี จะสอนเน้นไปทางเย็บปักปะ ท่านกล่าวว่าทำเอื่อแส่วเหมือนศิลปะของภาคอีสาน อาจารย์สมชัย จำปาเทศสอนเอื่อแส่ว โดยเน้นให้เด็กออกแบบลายและฝึกตามแบบ โดยยึดภูมิปัญญาเดิมเป็นหลัก นอกนั้นสอนเดินเส้น ซึ่งเดินเส้นเพื่อทำเป็นลายขอกุด ลายหวาย เป็นลายมาตรฐานการทำผ้าเปียวของชาวอำเภอเขาย้อย” (ถนอม คงยิ้มละมัย 2544: 353)

ผู้เขียนหยิบยกเรื่องของกิจกรรมอื่นๆ เช่น หลักสูตรท้องถิ่น การทำวิจัยร่วมกับหน่วยงานภายนอก และการสอนหัตถกรรมให้กับนักเรียน เพื่อแสดงให้เห็นถึงรูปแบบของการถ่ายทอดความรู้และการสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่น มีช่องทางอื่นๆ นอกเหนือจากการรวบรวมวัตถุวัฒนธรรมไว้ในศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมไทยทรงดำฯ 

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ /เขียน
สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  12  เมษายน 2555
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรมไทยทรงดำ โรงเรียนเขาย้อยวิทยา

เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวบ้านในอำเภอเขาย้อย ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง ที่ถูกกวาดต้อนและอพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวไทยทรงดำในเขาย้อยเป็นอีกชุมชนที่ยังพยายามสืบสานและรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของตนเอาไว้ด้วยความภาคภูมิใจ 

พิพิธภัณฑ์ไทยทรงดำ โซ่งเขาย้อย หรือศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง) และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นอีกหนึ่งความพยายามของชุมชนที่ต้องการถ่ายทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบไทยทรงดำไว้ในลูกหลานรุ่นหลังได้รู้จักและศึกษาค้นคว้า อาคารจัดแสดงคือ "ตึกบรรพตศีลคุณ" อาคารเรียนหลังเก่าของโรงเรียนเขาย้อยวิทยา ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2500 โดยพระครูบรรพตศีลคุณ (หลวงปู่เอ๋ย) เจ้าคณะอำเภอเขาย้อย เจ้าอาวาสวัดยางในสมัยนั้น โดยมีพระปลัดเย็นตลอดถึงชุมชนและกำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้สร้างขึ้น และมอบให้กรมสามัญ เมื่อ พ.ศ.2502 

ในปี 2539 วาระฉลองปีกาญจนาภิเษกเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระครูโสภณพัชรธรรม เจ้าคณะอำเภอเขาย้อย เจ้าอาวาสวัดยาง ชาวบ้าน อาจารย์ ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเขาย้อยวิทยา หางบประมาณ รับบริจาคเงิน เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมอาคารนี้ โดยซ่อมเพดานหลังคา ปรับพื้น ผนังอาคาร ทำการทาสีและติดตั้งไฟฟ้าใหม่ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง) และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยผู้บริจาคทุนทรัพย์หลัก ได้แก่ ป้าคลอจิตต์ ฤทธารมย์ แม่บุญรวม เสนาดิสัย และพระครูโสภณพัชรธรรม 

ภายในจัดแสดงเครื่องใช้ในวิถีชีวิต จำลองประเพณีต่างๆ ในรูปแบบของนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวประเพณีเกี่ยวเนื่องกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย มีภาพวาดฝีมือครูอาจารย์ นักการ นักเรียน และคนในชุมชน แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของไทยทรงดำ เช่น เด็กหนุ่มต้องฟั่นเชือกวัวเชือกควาย สานกะเหล็บ และผู้หญิงต้องทำเสื้อแส่วได้จึงสมควรออกเรือน 

นอกจากนี้ทางโรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริงโดยเปิดเป็นวิชาเลือกเสรี และกิจกรรมชุมนุม เช่น ช่างผลิตภัณฑ์จากวัสดุท้องถิ่น ช่างอาหารพื้นเมือง การเป่าแคน ทอผ้า หรือการจัดตั้งชุมนุมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ออกเผยแพร่ตามชุมชนแหล่งท่องเที่ยว และงานประจำปีของจังหวัดและมีการสาธิตการละเล่นของท้องถิ่นให้ผู้มาเยี่ยมชมอีกด้วย

ข้อมูลจาก: 
1. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จุลสารก้าวไปด้วยกัน. ปีที่1 ฉบับที่ 1 (ตุลาคม-ธันวาคม 2547), หน้า 17-18.
2. http://www.geocities.com/khaoyoiwittaya/khaoyoi18.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2549
3. http://www.culture.go.th/research/hall/template_c14.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549

หมายเหตุ : อาคารอยู่ระหว่างการปรับปรุงและเปลี่ยนหลังคา ขณะที่ศูนย์ฯ ไปสำรวจ
ชื่อผู้แต่ง:
-