พิพิธภัณฑ์ไทยพวน วัดมาบปลาเค้า


ที่อยู่:
หมู่ 3 ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี 76130
โทรศัพท์:
0-3245-2447,081-1904308 ติดต่อผู้ใหญ่เบี้ยว คำเพ็ง
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2539
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ไทยพวน

ชื่อผู้แต่ง: วิชญดา ทองแดง | ปีที่พิมพ์: ปีที่26ฉบับที่ 3 ก.ค. - ก.ย. 2543

ที่มา: เมืองโบราณ

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ไทยพวน วัดมาบปลาเค้า

บรรพบุรุษของคนไทยพวน ที่มาบปลาเค้า จังหวัดเพชรบุรี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่เมืองพวน เชียงขวาง ประเทศลาว แล้วถูกกวาดต้อนเข้ามาในไทยตั้งแต่ในสมัยกรุงธนบุรี บางส่วนกระจายตัวตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ อุดรธานี พิจิตร แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี  และสระบุรี
 
คนไทยพวนที่มาบปลาเค้า ยังเป็นชุมชนที่ยังรวมกลุ่มได้อย่างเหนียวแน่น อาจารย์อุทัย เล็กกี้ หนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งและดูแลพิพิธภัณฑ์เล่าให้ฟังว่า สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความเป็นลูกหลานพวนที่นี่ คือ นามสกุล ที่มักจะขึ้นต้นได้ด้วยคำว่า "คำ" เช่น คำเนตร หรือ คำเกต  บ้านไทยพวน มาบปลาเค้า เริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขึ้นก็เมื่อได้รับคัดเลือกให้เป็นชุมชนวัฒนธรรมนำร่องที่มีสภาวัฒนธรรมตำบลเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในอำเภอท่ายาง ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการรื้อฟื้นและส่งเสริมประเพณีและกิจกรรมอื่น ๆ ตามมาในชุมชน อาทิ การก่อตั้ง "ศูนย์เยาวชนทอผ้าวัฒนธรรมไทยพวน"  การก่อตั้งโรงสีข้าวซ้อมมือภายในพื้นที่วัด กิจกรรมดังกล่าวกลายเป็นอีกสิ่งที่หนึ่งที่ไว้ "รับแขก" สำหรับคนที่สนใจเข้ามาชมหรือดูงาน 
 
การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ไทยพวน เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันประมาณปี 2539 โดยมาจากความตั้งใจของชุมชนที่จะต้องการให้พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่เก็บรักษาและอนุรักษ์วัตถุโบราณ และข้าวของที่เกี่ยวกับคนพวน ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป อาคารพิพิธภัณฑ์ไทยพวน ตั้งอยู่ในวัดมาบปลาเค้า เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว ชื่ออาคาร "พุ่มไสว" ที่ตั้งตามนามสกุลของผู้บริจาคทุนก่อสร้าง 
 
สิ่งของจัดแสดงอยู่บนชั้นเหล็กขนาดสูง 4 ชั้น ของส่วนใหญ่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านที่ปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว ของบางชิ้นมีป้ายบอกชื่อเรียกว่าคืออะไร โดยจัดหมวดหมู่ไว้อย่างคร่าว ๆ เพื่อความเข้าใจเบื้องต้นของผู้ชม อาทิชั้นจัดแสดงที่ติดป้ายว่าเป็น เครื่องใช้ในครัวเรือน บนชั้นก็จัดแสดงของจำพวก  หมอทะนน คนโท ไห ตะเกียง  พานทองเหลือง กระต่ายขูดมะพร้าว เต้าปูน เชี่ยนหมาก รองเท้าหนังควาย เตารีดถ่าน ส่วนจำพวก เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ  ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้า อาทิ ฟืม สวยทอผ้า ตะกอสำหรับกี่ทอผ้า เครื่องแต่งกายนางรำเก่า อาทิ ชฎา เสื้อผ้า โม่หิน และเครื่องมือช่างจำพวก เครื่องชั่งแบบหิ้ว สว่านโกรกกราก(ใช้เจาะไม้) ขวานถาก นอกจากนี้ยังมีสมบัติของวัด อาทิ ธรรมาสน์เก่า แผ่นศิลาจารึกจากโบสถ์หลังเก่าของวัด สมุดไทย ลูกนิมิตรเก่าจากวัดเขากระจิว หม้อต้มสำหรับการย้อมผ้าพระสงฆ์  เครื่องลายคราม เป็นต้น มุมหนึ่งอีกด้านหนึ่งจัดแสดงเครื่องดนตรีไทย อาทิ กลองยาว ระนาด ฆ้องวง ตะโพน ที่ทางชุมชนยังใช้ในงานต่างๆ  อยู่
 
ภาษาไทยพวน ถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่ชาวบ้านพยายามรักษาไว้ ทางพิพิธภัณฑ์จึงร่วมสืบสานภาษาพวนโดยทำป้าย "ไทยพวนวันละคำ" พร้อมคำแปล ติดไว้บริเวณกำแพงด้านนอกของพิพิธภัณฑ์ ที่ติดกับถนนในหมู่บ้าน โดยหวังว่าอย่างน้อยลูกหลานชาวไทยพวนในหมู่บ้านที่ผ่านไปผ่านมา จะสามารถจดจำคำต่าง ๆ เหล่านี้ได้บ้าง 
 
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือพิพิธภัณฑ์ของชาวบ้านหลายแห่ง ไม่ได้เปิดประตูรอผู้เข้าชมตลอดทั้งวันเหมือนกับพิพิธภัณฑ์ทั่วไปที่เรามักคุ้นเคย เพราะผู้ดูแลก็มีภาระกิจอื่น ๆ ที่ต้องทำด้วย เพื่อความสะดวก ผู้สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์ไทยพวนควรติดต่อล่วงหน้ากับผู้ใหญ่เบี้ยว คำเพ็ง และอาจารย์อุทัย เล็กกี้ อาจารย์ประจำโรงเรียนวัดมาบปลาเค้า ซึ่งเป็นผู้ดูแลหลักของพิพิธภัณฑ์ 
 
ข้อมูลจาก: 
สำรวจภาคสนาม วันที่ 2 พฤศจิกายน 2548
วิชญดา ทองแดง. "พิพิธภัณฑ์ไทยพวน." เมืองโบราณ. 26: 3 (ก.ค. - ก.ย. 2543),113-118.
ชื่อผู้แต่ง:
-