พิพิธภัณฑ์กัลยาณวุฒิกร วัดเขากระจิว


ที่อยู่:
วัดเขากระจิว(วัดบรรพาตาวาส) หมู่ 6 ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี 76130
โทรศัพท์:
032-461026
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2535
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์กัลยาณวุฒิกร วัดเขากระจิว

พิพิธภัณฑ์กัลยาณุวุฒิกร หรือพิพิธภัณฑ์วัดเขากระจิว ก่อตั้งขึ้นตามความตั้งใจของพระครูกัลป์ยาณุวุฒิกรเจ้าอาวาสองค์ก่อนของวัด  เนื่องจากว่า ท่านชอบสะสมของเก่าของโบราณ  ซึ่งได้มาจากการซื้อบ้างหรือว่ามีคนนำมาถวาย หลวงพ่อก็สะสมของมาเรื่อยๆ ในกุฏิหลังเก่า  จากนั้นเมื่ออาคารพิพิธภัณฑ์หลังนี้สร้างเสร็จในปี 2535 ก็ได้ย้ายเอาข้าวของต่างๆที่ได้สะสมไว้ใเข้ามาจัดวางในส่วนจัดแสดงทั้งสองชั้นของอาคารหลังนี้
 
ชุมชนบริเวณวัดเขากระจิว มีอายุการก่อตั้งมาเป็นเวลากว่าร้อยปี  ก่อนหน้าที่จะมีถนนเพชรเกษมผ่านด้านหน้าของวัดมุ่งลงใต้  ชุมชนวัดเขากระจิวและชาวท่ายางใช้การเดินทางทางน้ำ และรถไฟเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางไปยังอำเภออื่นๆ  ส่วนใหญ่การทำมาหากินของชาวท่ายางมีการทำอาชีพอยู่ 2 ประเภทคือ อาชีพประมง ในบริเวณที่อยู่ใกล้ทะเลเนื่องจากมีคลองผ่านลงไปถึงทะเลได้ ก็มีการประมงขนาดเล็กเกิดขึ้นในหมู่บ้าน  อีกอาชีพหนึ่งคือ อาชีพการทำนา  แต่พื้นที่การทำนาของชาวท่ายางนั้นมีน้อยเนื่องมาจากมีเทือกเขาขนาบอยู่อีกข้างหนึ่งของพื้นที่  
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  ท่ายางกลายเป็นเมืองผ่านของทหารญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกที่อ่าวมะนาว อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์   ชาวท่ายางเองก็ได้รับผลกระทบจากภาวะศึกสงครามเช่นกัน ต้องคอยระวังตัวจากการเดินทัพด้วยรถไฟของทหารญี่ปุ่นเพื่อจะเดินทางไปยังกาญจนบุรีและเดินทางเข้าพม่า พร้อมกับการนำเชลยศึกเดินทางมาด้วยเพื่อเป็นแรงงานในการทำทางรถไฟเข้าสู่พม่า  วัตถุจัดแสดงหลายชิ้นในพิพิธภัณฑ์จึงมีอาวุธและอุปกรณ์ที่เป็นของทหารญี่ปุ่นจัดแสดงอยู่ด้วย เช่น ปืนยาว  ดาบปลายปืน  ดาบญี่ปุ่น  หมวก เป็นต้น
 
  ในช่วงเวลานั้น ฝั่งตรงข้ามกับทางเข้าวัดเขากระจิวนั้น เคยเป็นสนามบินเก่ามาก่อนตั้งแต่สมัยสงครามโลกแล้ว  แต่ในปัจจุบันเรามองไปก็ไม่หลงเหลือสภาพของสนามบินให้เห็นแล้วนอกจากจะเป็นลานดินแดงโล่ง ขนาดใหญ่ 
บริเวณของวัดเขากระจิวมีเนินเขาลูกย่อมๆ อยู่ด้านหลัง และเป็นที่ประดิษฐานของเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ด้านบน  และมีฝูงลิงตัวเล็กตัวน้อย เป็นประชากรส่วนใหญ่ของเนินเขาลูกนั้น  ในช่วงเทศกาลจะมีประชาชนเข้ามากราบไว้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุบนเขาตลอด 
 
อาคารกัลยานุวุฒิกรชื่อเดียวกับพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ภายในอาคารชั้นล่างนั้นเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเครื่องกระเบื้องเคลือบทั้ง เครื่องสังคโลก  เครื่องเบญจรงค์ทั้งรูปแบบต้นรัตนโกสินทร์และรูปแบบในยุคปัจจุบัน    เครื่องปั้นดินเผาที่มีอายุมากกว่า 500 ปี  หลายชิ้นพบจากบริเวณเทือกเขาใกล้ตัวเมืองท่ายาง  และหลายชิ้นหลวงพ่อก็ได้มาจากการเดินทางไปต่างจังหวัด เช่น กาญจนบุรีเป็นต้น  ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีโลงไม้ที่ได้มาจากชาวกะเหรี่ยงที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งโลงไม้นี้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “โลงผีแมน”  พระพงศ์พัฒน์ ผู้ให้สัมภาษณ์เล่าว่า หลวงพ่อ เห็นว่าชาวกะเหรี่ยงเขาเอาโลงนี้ไปทำรางข้าวหมู ท่านเห็นว่ามันมีความเก่าแก่ ไม่น่าจะอยู่อย่างนี้ก็เลยขอซื้อจากเจ้าของมา ประมาณ 800 บาท ในความเข้าใจของหลวงพ่อตอนแรกนั้น ท่านเข้าใจว่าโลงไม้นี้คือ เรือที่ขุดจากไม้ขนาดใหญ่มาก 
 
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องทองเหลืองและเครื่องถ้วยต่างๆ ที่ได้รับถวายมาจากประชาชนที่มีจิตศรัทธาฯ ข้าวของเหล่านี้นอกจากจะมีคนนำมาถวายที่วัดแล้ว เมื่อหลวงพ่อท่านได้รับกิจนิมนต์ บางครั้งท่านสังเกตเห็นวัตถุที่มีคุณค่า ท่านก็จะเอ่ยปากกับเจ้าของว่า ถ้าไม่รู้ว่าจะเอาไว้ที่ไหนหรือเก็บไว้ทำไมก็นำมาให้ที่วัดได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีของที่ได้รับถวายมาอยู่เป็นประจำ
 
บริเวณบนฝาผนังจะมีเขาสัตว์  กระดองเต่า  หัวของสัตว์หลายประเภทแขวนประดับอยู่โดยรอบ  ประกอบกับมีตะเกียงแขวนแบบโบราณ ที่บางชิ้นก็สมบูรณ์ บางชิ้นก็มีรอยแตกร้าว จัดแสดงเอาไว้ด้วย
 
ชั้นสองของอาคาร  เป็นส่วนที่จัดแสดงพระเครื่องและพระพุทธรูปขนาดต่างๆ ที่ทางวัดได้จัดทำขึ้นในโอกาสสำคัญต่างๆ และมีพระพุทธรูปที่มีอยู่แล้วภายในวัด นอกจากนี้ก็จัดแสดงของมีค่าที่ทางวัดมีอยู่  ด้านนอกของอาคารชั้นสองจะเป็นระเบียงสามารถเดินได้รอบ พระพงศ์พัฒน์ที่นำชมได้ชี้ให้ชม หน้าบันของอาคารแห่งนี้ ซึ่งเป็นลายปูนปั้นทาสี  เป็นเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญของราชอาณาจักรไทย 4 ด้านนั้นประกอบด้วย ลายสือไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหง  การทำยุทธหัตถีสมัยพระนเรศวรมหาราช  การเลิกทาสสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ด้านสุดท้ายเป็นรูปของพรานล่าเนื้อ(กวาง) ที่เอาขวานเขวี้ยงไปโดนตัวกวางจนสามารถล่ามันได้สำเร็จ  เมื่อพรานได้กวางตัวนั้นไปแล้วก็นำเอาขวานหินอันนั้นมามาถวายหลวงพ่อ  ท่านจึงเอาขวานหินนั้นมาทำเป็นหน้าบันของอาคารเป็นเรื่องราวของการล่าของป่า ล่าเนื้อซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมที่ปรากฏให้เห็นในที่แถบนี้
 
การเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นั้น จะต้องติดต่อกับทางวัดก่อนเพื่อจะได้จัดพระที่สามารถบรรยายเกี่ยวกับข้าวของภายในได้  แต่พระพงศ์พัฒน์ท่านบอกว่าท่าเองก็ยังไม่มีความรู้เรื่องข้าวของอะไรมากนัก รู้แค่ว่า ได้มาจากที่ไหน ใครถวายเป็นต้น  แต่ถ้าในเรื่องวิชาการเองก็ยังไม่มีความรู้ที่แตกฉาน  ในช่วงวันเสาร์ – อาทิตย์นั้นจะมีนักท่องเที่ยวจากทัวร์ของ ขสมก. เดินทางมาพร้อมกับรถของขสมก. มาเที่ยววัดและเข้าชมพิพิธภัณฑ์ด้วยเกือบทุกอาทิตย์ แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องมีการประสานงานกับทางวัดมาก่อนทุกครั้ง  โรงเรียนใกล้ๆ หรือโรงเรียนในเขตท่ายางก็มีกิจกรรมพานักเรียนมาเที่ยวชม หาความรู้จากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่บ่อยครั้ง  แต่ปัญหาที่เกิดมากกับทางวัดคือ การรักษาความปลอดภัย  แม้ว่าจะมีการตีลูกกรงเหล็กดัด และใส่กลอนอย่างแน่นหนาแล้ว ก็ยังปรากฏว่ามีของสูญหายอยู่บ้าง  แต่ในช่วงหลังก็มีความพยายามที่จะช่วยกันดูแลทั้งพระที่มีหน้าที่รับผิดชอบเองและพระลูกวัดรูปอื่นๆ ด้วย
 
ภายในวัดนอกจากจะสามารถชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้แล้วยังมี สถานที่อื่นๆให้ชมได้อีกเช่น วิหารเก่าของวัดที่เพิ่งบูรณะใหม่ แต่ก็ยังคงรูปแบบของตัวอาคารและการตกแต่งไว้อย่างเดิมซึ่งอยู่ด้านข้างของตัวอาคารพิพิธภัณฑ์  มีบันไดทางขึ้นเขาไม่ไกลมากนักให้เดินขึ้นไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุบนเจดีย์ของทางวัด  ภายในวัดยังมีทั้งลานกิจกรรมที่มักมีเยาวชนทั้งเด็กวัดและเด็กข้างนอกมาเล่นกีฬากันเป็นประจำ ทำให้วัดไม่เหงาและไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด  ด้านหลังก็มีเนินเขาที่ส่วนใหญ่เป็นที่ฝังศพและสุสานของทางวัดหากใครไม่กลัวก็น่าสนใจเพราะพระท่านบอกเล่ามาว่า มีการพบวัตถุโบราณประเภทถ้วยชามรามไหโบราณอยู่บ่อยครั้ง  
 
สำรวจวันที่ 21 พฤศจิกายน 2552
ชื่อผู้แต่ง:
-