ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทยทรงดำ โรงเรียนวัดหนองปรง


ที่อยู่:
หมู่ที่ 2 บ้านหนองปรง ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี 76140
โทรศัพท์:
032-446-624
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2536
ของเด่น:
การแสดงฟ้อนแคน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 04 กรกฎาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทยทรงดำ โรงเรียนวัดหนองปรง

ผู้เขียนเริ่มต้นบอกเล่าถึงศูนย์วัฒนธรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง ด้วยการแนะนำให้รู้จักกับเรือนลาวที่วัดหนองปรง ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ด้วยเหตุผลสองสามประการ นั่นคือ เมื่อใดที่ผู้ให้สัมภาษณ์หรือชาวบ้าน กล่าวถึงการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์จากลาวเข้ามายังขอบขัณฑสีมาของสยามในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ มักจะเอ่ยถึงการตั้งหลักแหล่งเป็นการชั่วคราวที่ท่าแร้ง แต่ด้วยสภาพของภูมิประเทศเป็นทะเล จึงทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง ไม่สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้ เพราะดั้งเดิมนั้น ไทดำอาศัยอยู่ใกล้กับภูเขา ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเคลื่อนย้ายจากท่าแร้ง มายังหนองปรง และกระจายตัวไปยังตำบลต่างๆ และจังหวัดอื่นๆ ในที่ราบลุ่มภาคกลางในระยะต่อมา
 
ส่วนเหตุผลอีกประการหนึ่ง เมื่อผู้เขียนพยายามไล่เรียงลำดับของการสร้างสิ่งที่เป็นเครื่องหมายหรืออนุสรณ์สถานสำหรับแสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ในกลุ่มศูนย์วัฒนธรรมที่ผู้เขียนศึกษา พบว่า เฮือนลาว ในวัดหนองปรงนี้น่าจะมีความเก่าแก่ที่สุดตามคำบอกเล่าของผู้ให้ข้อมูล เพราะพระอธิการบุญมา เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้กล่าวถึงการก่อสร้าง เฮือนลาวที่ ต.ทับคาง เกิดมาในชั้นหลัง “ทางทับคางได้มาขอข้าวของที่จัดแสดงในเรือนลาววัดหนองปรงไป” และคำให้การของอดีตกำนันประนอม สืบอ่ำ ที่มีส่วนในการส่งเสริมการสร้างศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเขาย้อย ได้กล่าวไว้ว่า ในระยะที่ตำบลเขาย้อยยังไม่ได้สร้างเฮือนวัฒนธรรม ได้ไปขอใช้เฮือนลาวที่ทับคาง สำหรับการจัดกิจกรรม เมื่อมีผู้มาเยี่ยมชม หรือสื่อมวลชน
 
ฉะนั้น ผู้เขียนจึงได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ลำดับของการสร้างเฮือนลาวไว้เป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชาวไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง อำเภอเขาย้อย จังหัวดเพชรบุรี น่าจะมีลำดับดังนี้ วัดหนองปรง, บริเวณที่เป็นป่าแฮ่ว (เดิม) ของ ตำบลทับคาง, บริเวณที่เป็นป่าแฮ่ว (เดิม) ของตำบลเขาย้อย ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงรายละเอียดในแต่ละแห่งเป็นลำดับตามช่วงเวลาในการก่อตั้ง
 
หากกล่าวเฉพาะเฮือนลาว วัดหนองปรง ต.หนองปรง เป็นที่น่าเสียดายว่า ในขณะที่ผู้เขียนทำการศึกษานั้น เฮือนลาวดังกล่าวถูกไฟไหม้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2554 จึงไม่ปรากฏให้เห็นลักษณะของเรือนที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยดั้งเดิม แต่ประจวบกับชาวบ้านในตำบลได้ลงความเห็นให้ก่อสร้างเฮือนลาวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จึงมีโอกาสได้เห็นการก่อสร้างเรือนเป็นระยะๆ ในระหว่างที่เข้าไปในพื้นที่ โดยได้เห็นพัฒนาการของเฮือนลาวที่ก่อสร้างใหม่ใน 3 ช่วงเวลา คือ ในวันที่ 18 และ 21 เมษายน และวันที่ 13 และ 26 พฤษภาคม ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงเฮือนลาว วัดหนองปรงใน 2 ประเด็นหลักๆ คือ ประวัติการก่อตั้ง ที่มาจากการสัมภาษณ์เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันและการใช้เอกสารของทางวัด และการก่อสร้างเรือนไทยทรงดำและความหมาย ที่อาศัยการพูดคุยกับชาวบ้านที่ร่วมในงานก่อสร้างและการสังเกตการณ์ในแต่ละช่วงเวลาทำงานภาคสนาม
 
1. ประวัติของ “เฮือนลาว” แบบประติดประต่อ

เฮือนลาว เป็นสัญลักษณ์ในอันดับต้นๆ ที่ชาวบ้านเลือกสร้าง เพื่อแสดงหรือฉายให้เห็นเอกลัษณ์ทางวัฒนธรรม ในหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พระครูอุปถัมภ์พัฒนวิธาน (บุญเทียม ปภสฺสโร) กล่าวถึงกิจกรรมในด้านต่างๆ ที่ท่านพระครูได้ทำไว้กับวัดหนองปรงและชุมชน โดยมีการอ้างถึงการสร้างเรือนไทยทรงดำ หรือ “เรือนไทดำ” ไว้ดังนี้ “ในด้านขนบธรรมเนียมประเพณีท่านเป็นผู้อนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมไทดำ ของตำบลหนองปรง ซึ่งเริ่มให้จัดมีมาตั้งแต่สมัยพระอธิการยศ สุนนฺโท โดยมีผู้ใหญ่แอ บ้านบุญ ผู้ใหญ่เล่า บุญแก้ว ผู้ใหญ่มั่น เขื่อนเพชร อดีตผู้ใหญ่บ้านตำบลหนองปรง นายฮ๊อก มีมาก และชาวหนองปรงผู้ร่วมดำเนินการ พร้อมทั้งได้จัดตั้งเรือนไทดำ พร้อมทั้งวัสดุอุปกรณ์และสัญลักษณ์ต่างๆ ของชาวไทดำไว้ใกล้กับบริเวณวัด เมื่อถึงเทศกาลเดือน 5 คือประมาณเดือนเมษายนของทุกปี ทางวัดจะจัดให้มีงานสืบสานวัฒนธรรมไทดำ เพื่อให้ญาติโยมได้มาร่วมกิจกรรมการฟ้อนรำและอื่นๆ ด้วยความสนุกสนาน แต่ปัจจุบันนี้ได้เชิญชวนให้ชาวไทดำจากตำบลอื่น อำเภออื่น และจังหวัดอื่นๆ มาร่วมงานด้วย” (วัดหนองปรง 2538: 5) 
 
จากการสัมภาษณ์พระอธิการบุญมา สุปญฺโญ เจ้าอาวาส ท่านได้กล่าวถึงการก่อสร้าง “เฮือนลาว” ในช่วงที่ท่านยังเป็นพระลูกวัดว่า “มันไม่ใช่ว่าช่างเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนเดียวเหมือนเดี๋ยวนี้ แต่ [ชาวบ้าน] เป็นช่างกันหมด แล้วก็เรียกมาคุย ว่าตรงนี้กว้างเท่านี้ ไขขื่อเอาเท่านี้ ยาวเท่านี้ ท้ายหัวเอาเท่านี้ กลางกว้างออกนิดหน่อย เป็นแนวเรือแจว ให้ทรงแบบนั้น หากคนไม่รู้จักไขขื่อ ก็คือตรงกลางใหญ่กว่า สมมติว่า กว้างสิบเมตร ตรงกลางก็ไขประมาณสิบเอ็ดหรือสิบสองเมตร” เมื่อผู้เขียนถามต่อเนื่องไปว่า แล้วเหตุใดจะต้องใช้ “เฮือนลาว” เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกความเป็นโซ่ง ท่านกล่าวว่า การนำเสนอข้าวของที่ประกอบกับตัวเรือน แม้จะไม่มีเรือนตัวจริงให้เห็นในปัจจุบัน
 
“ข้าวของก็เริ่มจัดทำพวกสุ่มปลา หาปลา แล้วเครื่องมือเครื่องใช้ ปั่นด้ายนุ่งห่ม ทำกันเอง ทอกันเอง พอจัดตั้งขึ้นมา ก็ไม่มีใครเฝ้า มีเด็กแอบเข้าไป เอาของไปเล่น เอาไปเผาไฟ แล้วทีนี่ ทับคาง [ตำบลทับคางจัดตั้งเฮือนลาว – ผู้เขียน] ก็มีงบฯ เลยทำขึ้น แล้วก็มาขอของในพิพิธภัณฑ์ไป ก็ให้ไป พวกตุ่มน้ำ พวกปั่นด้าย เขาขอไป ระยะหลังๆ สองสามปีหลัง ไม่มีกำลังทำกัน ทอฝ้าย ทอผ้า เครื่องนุ่งห่ม ทำแล้วไม่มีคนเฝ้า ... ค่อยๆ ทำขึ้นกว่าจะสำเร็จ พวกวัวก็ไปปั้นตัว เกวียนมีอยู่แล้ว ที่เหลืออยู่หลังเล็ก เอาหญ้าคาให้วัวอยู่ วัวหุ่น”
 
“กำนันจัน” หรือ “นายกฯ พนัส ล้วนเมือง” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรง ยังได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติม “พวกที่เป็นสมภารเป็นคนไทดำทั้งนั้น แล้วก็คนที่ไปเที่ยวรำแคนตามที่ต่างๆ แล้วพอเรื่องพวกนี้หมดไปแล้ว อยากรำลึกถึงความหลัง เลยสร้างเรือนนี้ขึ้นมา แล้วก็จัดเล่นลูกช่วง แคน ขึ้นมา หากเรานัดกันมาเล่นเฉยๆ แล้วไม่มีบ้านเป็นสิ่งจูงใจ เหมือนไม่ใช่หมู่บ้านไทดำ ดังนั้น เลยสร้างบ้านขึ้นมา เพื่อเป็นเอกลักษณ์ นี่เป็นที่มาของเรือน เพราะมีจุดศูนย์รวมที่วัด กรรมการวัดมาจากหลายหมู่บ้าน ตั้งเป็นบ้าน บรรยากาศจะได้เหมือนบ้านเราในอดีต คนรุ่นนั้นคนอินกับบรรยากาศเก่า” (พนัส ล้วนเมือง, สัมภาษณ์)
 
การจัดแสดงที่สะท้อนวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง ที่หลงเหลือจากเหตุการณ์ไฟไหม้ เมื่อ พ.ศ. 2554คือ ควายจำลอง ที่แสดงให้เห็นการเลี้ยงควายไว้ทำการเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับเฮือนลาวดังกล่าว ฉะนั้นในเบื้องต้น จะเห็นได้ว่า การสร้างภาพจำลองของวิถีชีวิตไทยทรงดำ อาศัยชีวิตของอดีตเป็นแกนของการเล่าเรื่อง วิถีการเกษตรเดิมที่ไม่มีให้เห็นในปัจจุบัน เรือนดั้งเดิมที่เป็นการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ในธรรมชาติ และฝีมืองานช่างชาวบ้านที่ร่วมกันในการหาวัสดุ และสร้างเป็นเรือนพำนักที่ไม่ปรากฏแล้วในปัจจุบัน
 
“เอกลักษณ์ของคนลาว ไม่มีอนุสรณ์อะไรมีแต่บ้าน แล้วก็ภาษา เลยคิดทำกันขึ้น หากเราไม่ทำกันไว้ในยุคนี้ ยุคหลังๆ ก็จะไม่มีใครรู้เลยว่า บ้านทรงลาว แล้วคำภาษาลาว มันจะไม่มีติดวัฒนธรรมอยู่เลย ผู้หลักผู้ใหญ่คุยกัน สร้างกันเองทำกันเอง เสียเหล้าไปขวดสองขวด แล้วก็ทำร่วมกัน ไม่ได้จ้าง แต่วาน” หลวงพ่อบุญมา ให้อรรถาธิบายถึงความหมายของเรือน ไม่มิได้เป็นประโยชน์สำหรับการอยู่อาศัย หากแต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นหลักหมายของการอ้างอิงลักษณะเฉพาะทางชาติพันธุ์ ในเบื้องต้นนี้ ความเป็นชาติพันธุ์ไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง จึงมิได้อาศัยเพียงประเพณีหรือวิถีการดำรงชีวิตในปัจจุบันเป็นเครื่องบ่งชี้หรือแสดงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ในกรณีของ “เฮือนลาว” เป็นการนำเอาสัญลักษณ์ของอดีตมาใช้ในการจำแนกความแตกต่างทางชาติพันธุ์
  
นอกจากการใช้เฮือนลาวเป็นส่วนหนึ่งของแสดงออกลักษณะเฉพาะทางชาติพันธุ์แล้ว เรือนไทยทรงดำหรือไทดำ หรือ “เฮือนลาว” ยังเป็นสถานที่สำหรับการจัดงานรื่นเริงของหมู่บ้าน ซึ่งยกระดับเป็นงานในระดับตำบล หรือระดับของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำข้ามพื้นที่ งานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นสายสัมพันธ์ทางสังคมของผู้ที่ตั้งรกรากในบริเวณต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ยึดมั่นในลักษณะทางชาติพันธุ์ที่ใช้ในการนิยามตัวตนทางวัฒนธรรม งานรื่นเริงหนึ่งที่จัดประจำทุกปีคือ งานไทยทรงดำ เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมที่เสริมกับความหมายของเรือนเป็นอย่างไร เพราะการจัดกิจกรรมจัดอยู่บริเวณรอบๆ เรือน
 
“...เป็นอย่างนี้ เมษาฯ มี 30 วัน แต่ทีนี้ สมัยก่อน เอารถออกไปบอกงานเขา ไปสุพรรณ ไปกำแพงเพชร คนโซ่งแถวนั้น ไปบอกเขา ไปคุย ต่อๆ มานัดรวมกัน ว่าเอาอย่างนี้ดีไหม ว่าในปฏิทินมี 30 วัน ใครจะเอาวันไหนให้ตั้งมา แล้วก็ไม่ต้องมาบอกกันถึงหน้า ถึงเวลาวันนั้นๆ ต้องจัด หนองปรงเลือกวันที่  10 เมษาฯ ทุกปีไป ตรงกับวันอะไร ก็แล้วแต่ ขอให้เป็นเมษาฯ วันที่ 10 ต่อๆ มา หลวงพ่อปรารภกับญาติโยม ให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ หลวงพ่อก็จัดทำ สมัยก่อนไม่เคยทำบุญวัด คนตายดีตายไม่ดี ก็เยอะแยะ คนพวกนี้จะไปไหน ถ้าเราไม่ช่วยเหลือเขาบ้าง เลยว่าเอาวันที่ 9 เมษาฯ เป็นวันสุกดิบ แล้ววันที่ 10 เป็นวันเข้างาน เลยจัดเลี้ยงพระเกจิอาจารย์ ในวันที่ 9 ทุกปีไป” (พระอธิการบุญมา สุปัญฺโญ, สัมภาษณ์) แต่สำหรับในปี 2555 ที่ผู้เขียนศึกษา ทางวัดหนองปรงงดจัดงานไทยทรงดำในวันที่ ๙ และ ๑๐ เมษายน เนื่องในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๕
 
ผู้เขียนค้นหาข้อมูลใน “เฟซบุ๊ค” (Facebook) หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ ของผู้ที่อยู่ในกลุ่ม “สมัชชาไทยทรงดำ” ได้พบภาพถ่ายที่เผยแพร่และระบุว่าเป็นเฮือนลาววัดหนองปรง ที่ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2553 ก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้ ในภาพ แสดงให้เห็นว่า นอกจากเรือนลาวจะเป็นสถานที่ของความรื่นเริง ยังเป็นสถานที่ของการขายสินค้าหรือแสดงงานฝีมือที่สะท้อนลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย
 
2. การสร้าง “เฮือนลาว” อีกครั้ง

อาจเรียกว่าเป็น “โชคดี” สำหรับผู้เขียน ในระหว่างการเก็บข้อมูลภาคสนาม ผู้เขียนมีโอกาสร่วมสังเกตการณ์การก่อสร้างเรือนลาวที่สร้างขึ้นทดแทนเรือนเก่าที่ไฟไหม้ไป ทุนทรัพย์โดยส่วนใหม่มาจากการบริจาคของชาวบ้าน และการระดมทุนจากงานไทยทรงดำที่จัดขึ้นที่บ้านหนองจิกในวันที่ 21 เมษายน 2555 หากถามว่า ทำไมชาวบ้านจะต้องสร้างเรือนไทยทรงดำขึ้นมาทดแทน คำอธิบานของนายพนัส ล้วนเมือง นายก อบต. หนองปรง หรือที่ชาวบ้านหลายคนยังเรียกติดปากว่า “กำนันจัน” คงพอจะสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณค่าและความสำคัญของเรือนลาว ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์แสดงตัวตนทางชาติพันธุ์ของไทยทรงดำหรือไทดำได้ดีทีเดียว
 
“...ความเป็นไทดำ ก็ต้องมีบ้าน เขาอยู่บ้านกันอย่างไร เที่ยวอย่างไร เสนเรือนยังมีอยู่ ที่สำคัญ คืองานสนุกรื่นเริง หากไม่มีบ้านนี้แล้ว เหมือนจะไม่มีอะไรเลย ต้องมีบ้านเป็นสัญลักษณ์ เป็นสิ่งที่ยึด อย่างที่วัดหนองปรง บ้านถูกเผาไปแล้ว เขาก็ยังต้องกระเสือกกระสนสร้างขึ้นมา เพราะต้องมีสัญลักษณ์ แทนที่จะเป็นสิ่งมีชีวิต กลายเป็นสัญลักษณ์ สัญลักษณ์ไทดำมีอะไร มีเรือนทรงกระดองเตา กาแลทรงเขาควาย มีรูปทรงกันแดดกันลมกันฝน เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมความเชื่อของเรา บ้านสร้างเสร็จวันเดียว เขาจะสร้างที่นั่น เขาปรุงเครื่องไม้กันมาเป็นเดือนแล้ว แต่พอจะสร้าง ก็จะสร้างเสร็จในวันเดียว เขาจะเกณฑ์คนมาทั้งหมู่บ้าน ช่วยกันยกเสาลงหลุม คานวาง จันทัน มุงหญ้าคา เอาบันไดพาด ขึ้นบ้านใหม่ตอนเย็นไม่ให้ตะวันตกดิน” (พนัส ล้วนเมือง, สัมภาษณ์)
 
คำอธิบายของ “กำนันจัน” เรื่องของเรือนไทดำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกล่าวว่า “อย่างที่วัดหนองปรง บ้านถูกเผาไปแล้ว เขาก็ยังต้องกระเสือกกระสนสร้างขึ้นมา” ในจุดนี้ ชี้ให้เห็นถึงความหมายของเรือนที่ไปเกาะเกี่ยวกับตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ เรือนที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนหรืออนุสรณ์สถานนี้ จึงมิใช่การสร้างขึ้นเพื่อพำนักอาศัยอีกต่อไป ภาพของการสร้างเรือนดังที่กำนันจันได้ให้คำอรรถาธิบายไว้ ยังคงแสดงให้เห็นเป็นอย่างดี เมื่อผู้เขียนได้ร่วมสังเกตการณ์สร้างเรือนลาวหลังใหม่ ที่แม้ผู้เขียนไม่สามารถร่วมอยู่โดยตลอดในระหว่างที่เขาทำการก่อสร้าง แต่บรรยากาศของการเข้ามาร่วมสร้างหรืออย่างน้อยที่สุด การมาร่วมยกเสาเอก ก็เป็นการแสดงให้เชิงสัญลักษณ์ของความผูกพันกับเรือนพำนัก
 
คำถามที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้เขียนสังเกตการณ์พิธีการยกเสาเอกคือ การปักธงสามผืนที่มีสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันไว้ในบริเวณที่จะสร้างเรือนไทยทรงดำ หนึ่งคือธงชาติ อีกหนึ่งคือธงธรรมจักร และอีกหนึ่งคือธงในงานฉลองการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนสอบถามคุณลุงท่านหนึ่งที่ร่วมในงานดังกล่าว “ทำไมต้องมีการปักธงทั้งสามไว้ในบริเวณที่จะสร้างเรือน” ผู้เขียนถาม “โถ ทำไมต้องถามด้วยล่ะ ก็เห็นอยู่แล้ว ธงชาติก็หมายถึงชาติเพราะอยู่ในประเทศไทย ธงธรรมจักรนั้น ก็เพราะว่าเราอยู่ในวัด [น่าจะหมายถึงการนับถือพุทธศาสนา] ส่วนธงนั่น [ธงสัญลักษณ์ในการฉลองการครองราชย์] เพราะเราเป็นคนของในหลวง” เมื่อสิ้นสุดคำตอบ ผู้เขียนคิดอยู่ในใจสองสามประการ
 
การปักธงที่แสดงสัญลักษณ์ของ “ความเป็นไทย” น่าจะเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันสำหรับงานก่อสร้างหรืองานพิธีสำคัญที่ประกอบในวัดอีกหลายๆ แห่ง นั่นคือ พื้นที่ของวัดที่จะใช้ในการสร้างเรือนไทยทรงดำ จึงมิใช่พื้นที่แสดงถึงมณฑลในทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับบริบททางสังคมโดยรอบ และบริบทในระดับที่ใหญ่กว่านั่น ในที่นี้ ตัวเฮือนลาวที่สร้างขึ้นทั้งในอดีตและที่กำลังก่อสร้างในปัจจุบัน เชื่อมโยงกับการแสดงออกถึงเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ ส่วนพิธีกรรมการยกเสาเอกโดยใช้สัญลักษณ์ธงสามผืน น่าจะสะท้อนอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ที่กำกับความเป็นพลเมืองในรัฐชาติ
 
แม้การก่อสร้างเฮือนลาวที่วัดหนองปรง จะพยายามคงรูปแบบดั้งเดิมให้มากที่สุด แต่วัสดุและเทคนิคในการก่อสร้างเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมของยุคสมัย ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านสองสามคนที่ร่วมในงานยกเสาเอก การสร้างเรือนไทยทรงดำหรือไทดำในครั้งนี้ เป็นการสร้างขึ้นมาทดแทนกับเรือนที่ถูกไฟไหม้ โดยพยายามคงรูปแบบของการปลูกสร้างเรือนพื้นถิ่นให้มากที่สุด ทั้งการใช้วัสดุที่เป็นไม้ไผ่ หญ้าแฝก และไม้ซุง รวมทั้งการใช้หวายและตอกในการการมัดเชื่อมองค์ประกอบในแต่ละส่วนของเรือน อย่างไรก็ดี เทคนิคทางการก่อสร้างหลายอย่างได้รับการปรับให้เหมาะสมเพื่อความคงทางถาวรยิ่งขึ้น เช่นการใช้สลักเหล็กที่โผล่พ้นฐานปูนซีเมนต์ เพื่อยึดกับต้นเสาบากเอาไว้สำหรับเสาเรือนทั้งหกต้น หรือการใช้ปูนซีเมนต์ในการหล่อเป็นฐานของเสาเรือน
 
แม้ความเปลี่ยนแปลงในการสร้างเรือนจะเกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยีและวัสดุด้านการก่อสร้างที่เปลี่ยนไปแล้ว แต่การสร้างเรือนดังกล่าวกลับยังได้รับการยืนยันหรือสร้างเรื่องเล่าว่ามี “ลักษณะดั้งเดิม” ผู้เขียนคิดว่าประเด็นนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย “ความดั้งเดิม” ผูกโยงกับสิ่งใดบ้างในทัศนะของช่างผู้ก่อสร้างเรือน หรือผู้ที่ออกแบบ จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่มาร่วมในงานก่อสร้าง การอธิบายถึงส่วนประกอบต่างๆ ของเรือน มักจะหยิบยกหน้าที่การใช้สอยของเรือนประกอบคำอธิบายแก่ผู้เขียนเสมอ “ชานเรือนเอาไว้ต้อนรับแขกที่มาเยือน กว่านเป็นส่วนในของเรือนที่เจ้าของจะใช้ทำกิจกรรมส่วนตัวในเวลาว่าง...” ประการต่อมา คำอธิบายเกี่ยวกับเทคนิคในการสร้างเรือน เช่นการผูกมัดองค์ประกอบต่างๆ ด้วยหวาย ที่จะต้องใช้ความประณีต หรือความรู้เฉพาะของช่าง บางคนถึงขนาดอธิบายกับผู้เขียนถึงการผูกไม้รวกให้พื้นเรือนไม่ใช่ว่าทำได้กันทุกคน
 
สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกเสียดายอยู่ไม่น้อยกับกระบวนการก่อสร้างเรือนไทยทรงดำในครั้งนี้ คือการไม่มีโอกาสบันทึกขั้นตอนการก่อสร้างเรือนอย่างละเอียด ด้วยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว รวมถึงการเก็บความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างและความรู้อื่นๆ ที่สัมพันธ์เอาไว้อย่างเป็นระบบ ในทัศนะของผู้เขียน ความรู้ในการปรุงเรือนพื้นถิ่น มิใช่สิ่งที่เรียนรู้กันได้ง่ายๆ ในโรงเรียนช่างหรือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อย่างไรก็ดี สำหรับการสร้างเฮือนลาวสำหรับใช้เป็นศูนย์วัฒนธรรม หรือเป็นเครื่องหมายที่ระบุถึงเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์จะเป็นประเด็นที่ผู้เขียนจะอภิปรายในการวิเคราะห์ช่วงสุดท้าย ในกรณีของเฮือนลาวที่วัดหนองปรงนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอไว้แต่เพียงเท่านี้ เนื่องจากยังไม่มีการจัดแสดงใดๆ ภายในตัวเรือน
 
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ /เขียน
สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 18  เมษายน 2555
ชื่อผู้แต่ง:
-