พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตไทยทรงดำบ้านหัวถนน ตั้งอยู่ในบ้านส่วนบุคคลของนายประสงค์ เตี๋ยตาช้าง บริเวณที่จัดแสดงเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ประกอบด้วย 2 อาณาบริเวณใหญ่ ๆ คือ ส่วนที่จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีเกษตร และส่วนที่เป็นเนื้อหาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งสองบริเวณอยู่ในอาคารที่ไม่มีผนังกั้นมิดชิด แต่ยังคงใช้รูปแบบของ “หลังคาแบบโซ่ง” ที่บ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ ในส่วนที่กล่าวถึงวิถีเกษตร มีครกตำข้าวและหูกทอผ้าเป็นสิ่งจัดแสดงหลัก ส่วนบริเวณที่กล่าวถึงการดำรงชีวิต เป็นการนำเสนอเสื้อผ้า เครื่องใช้ในครัวเรือน และภาพถ่าย เป็นต้น
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตไทยทรงดำบ้านหัวถนน
วัฒนธรรมไทยทรงดำนั้นล้ำค่า ด้วยวาจาภาษาไม่มีเหมือน
ประเพณีความเชื่อไม่มีเลือน ใครได้เยือนใครได้ยลเป็นสนใจ
ประเพณีไทยทรงดำนั้นเด่นดี มีวิถีทอผ้าทำนาไร่
ป้าโตงกินดองเสนเรือนขึ้นบ้านใหม่ ก็ต้องอาศัยคนในหมู่เชิดชูกัน
การละเล่นพื้นบ้านจึงหรรษา รำโคลงต่อกลอน กระเซ้าเย้าแหย่
ออกไปก็สูสี ไม่แพ้ชุมชนไหน อีกทั้งน้ำใจงาม คือแลกของซึ่งกันและกัน
โอบอ้อมอารีนี้คือไทยทรงดำ ลาวโซ่ง
พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตไทยทรงดำบ้านหัวถนน ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านส่วนบุคคลของนายประสงค์ เตี๋ยตาช้าง ประกอบด้วยบริเวณที่จัดแสดงเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ๒ อาณาบริเวณใหญ่ๆ คือ ส่วนที่จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีเกษตร และส่วนที่เป็นเนื้อหาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งสองบริเวณอยู่ในอาคารที่ไม่มีผนังกั้นมิดชิด แต่ยังคงใช้รูปแบบของ “หลังคาแบบโซ่ง” ที่บ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์
ในส่วนที่กล่าวถึงวิถีเกษตร มีครกตำข้าวและหูกทอผ้าเป็นสิ่งจัดแสดงหลักของบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้สัมผัสและใกล้ชิดกับเครื่องใช้ไม้สอยที่เคยใช้งานในชุมชน ส่วนบริเวณที่กล่าวถึงการดำรงชีวิต เป็นการนำเสนอเสื้อผ้า เครื่องใช้ในครัวเรือน และภาพถ่ายที่คุณประสงค์ นำนิทรรศการเคลื่อนที่และกิจกรรมไปจัดในงานหรือเทศกาลที่ได้รับเชิญจากหน่วยงานภายนอก
ประสงค์ เตี๋ยตาช้าง เจ้าของและผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตไทยทรงดำบ้านหัวถนน จังหวัดนครปฐม บอกเล่าถึงความเป็นไทยทรงดำผ่านบทกลอน เขายังได้เท้าความถึงเหตุผลในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในบริเวณบ้านของตนเอง
“ตอนแรกเริ่ม ไปออกบูธ ร่วมงานกับพี่มนัสศักดิ์ รักอู่ ที่อยู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ กับหัวหน้า อุษา ม้วนเพียรพาก อาจารย์สองท่านนี้ ให้โอกาสผมได้ออกไปเผยแพร่ แล้วก็ช่วยออกแบบเกี่ยวกับนิทรรศการให้
ผมออกบูธทุกที คือหน่วยงานราชการ ไม่มีค่าตอบแทนเท่าที่ควร ไม่มีค่าตอบแทนรายวัน ถัวเฉลี่ยเป็นค่าน้ำมันรถ ค่าป่วยการนิดหน่อยรายวัน วันละร้อยกว่าบาท แต่เน้นของขายเอา คือเอาขนมไปขาย เอาน้ำไปขาย คือจากชุมชนทำ ผ้าทอมือในพื้นที่ที่ยังทอกันอยู่ เวลาไปร่วมกิจกรรม เขาก็ให้ประกาศเกียรติบัตรมา
ส่วนที่ศูนย์วัฒนธรรมลาวโซ่งของชุมชน ที่ตั้งอยู่หน้าวัดหัวถนน ผมเองเป็นเลขานุการ ตอนนี้ เพิ่งจะเริ่ม เพิ่งได้งบฯ มาจากท่านสามารถ เทพบุญวงศ์ ร่วมกับวัฒนธรรมจังหวัด กับสภาวัฒนธรรม คุณสุนทร แก้วพิจิตร จัดสรรงบประมาณเกือบเจ็ดเปดแสน สร้างเป็นศูนย์ฯ แล้วเปิดเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว เพิ่งเปิดต้นปีนี้ ในช่วงสงกรานต์ มีการจัดประเพณี แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร
ส่วนพิพิธภัณฑ์ฯ ของผมนี่ทำไว้เป็นส่วนตัว ผมลอกเลียนแบบ ท่านอาจารย์ถนอม คงยิ้มละไม ที่อยู่เขาย้อย ผมเคารพอาจารย์ท่านนี้มาก ผมไปเยี่ยมเยือนแกเรื่อยๆ ผมคิดเอาว่า ทำไมต้องมีที่เพชรบุรีที่เดียว เราก็เป็นลูกหลานลาวโซ่ง ลาวโซ่งมีอะไรที่คล้ายคลึงกัน”
จากนั้น ก็จัดแจงพาไปในดูในบริเวณอาคารที่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ไม่มีผนัง แต่ยังคงลักษณะของอาคารคล้านเรือนไทยแบบประเพณีของไทยทรงดำ “อันนี้เรียกปานเผื่อน คือเป็นภาชนะใส่ของในพิธีกรรมการเสนเรือน มีผลหมากรากไม้ มีหมู เป็ด ไก่ แต่ของจริงสวยกว่านี้ อันนี้ก็ใช้ แต่กาลเวลา [เป็นของ] รุ่นปู่รุ่นย่า ก็เลยมาจัดแสดงโชว์ แต่ถ้าเกิดใช้จริงก็จะมีของใหม่ ทาแชล็ค อย่างดี เป็นของที่เราใช้กันอยู่ ทุกชิ้นคือใช้งานได้ อย่างเช่น สำรับชานหมาก ในส่วนนี้ ผมพยายามรวบรวม จัดแสดง ซื้อตู้จัดแสดง หากมีตู้ปุ๊บมันจะสวย นี่ก็จะเทพื้นใหม่ให้สวย อันนี้คือใช้งบประมาณส่วนตัว คือเจียดจากเงินที่เราได้จากการทำงานมาเท ค่อยๆ ทำไปเรื่อย
อย่างฉากนี้ มีเศษไม้เหลือในหมู่บ้านเลยให้เขาทำให้ คิดว่าจะเอาแบบนี้ หลายๆ อัน เพื่อสะดวกในเต้นท์ในการตั้ง
หรืออย่างนี้ แสดงกระเป๋าบั้นเอว ชี้ให้เห็นเครื่องประดับที่อยู่บนหุ่นเครื่องแต่งกายสตรีไทยทรงดำ ผมก็ทำในส่วนพื้นๆ ของผม ในระบบราชการเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่อย่างผมก็เอานี้ไว้อธิบาย 'นี่คือเสื้อชอนนะ' มันต้องเป็นอย่างนี้ มีคอปก หุ่นเครื่องแต่งกายชายด้านซ้ายมือ คือต้องอาศัยคำพูด แต่ที่อื่นอาจทำดีกว่านี้ แต่อันนี้ก็เคลื่อนย้ายไปทุกที่”
หากถามถึงกิจกรรมนั้น คุณประสงค์บอกว่ามีหลากหลายทั้งในและนอกสถานที่ โดยเฉพาะการออกงานตามคำเชิญของหน่วยงานราชการต่างๆ ส่วนกิจกรรในบริเวณบ้าน มักเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในจังหวัดนครปฐม เช่น พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง เป็นการหมุนเวียนในแต่สถานที่ภายในหนึ่งวัน บางครั้งก็รับจัดให้กับหน่วยงานการศึกษา โดยมีการแบ่งเนื้อหาเป็นฐานๆ เช่น
“ฐานที่หนึ่ง หน้าบ้าน เป็นการกล่าวต้อนรับ กล่าวเปิดงาน เป็นประวัติความเป็นมา พิพิธภัณฑ์นี้ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร ไทยทรงดำเป็นอย่างไร แล้วมีนิทรรศการให้ชม คือขนไปจัดบริเวณนั้นหมด
ฐานที่สอง มีเต้นท์หลังหนึ่ง ก่อนข้ามสะพานเป็นการแสดง ในส่วนของประเพณีและพิธีกรรม โชว์เครื่องมือเครื่องใช้ เช่น เสนเรือน ป้านโตง ก็ต้องมี
ฐานที่สาม การทอผ้า ตั้งแต่ ตัวไหมใบหม่อน แล้วก็มีตัวไหม ไปยืมจากกำแพงแสน เพราะช่วงนั้นไม่ได้เลี้ยงไว้ เพราะตัวไหม โตตลอดเวลา แต่ปกติเราเลี้ยง ให้ดูว่าตัวไหม กินใบหม่อนนะ อายุเท่านี้ๆ โตเต็มที่ก็หุ้มใยแล้วเราก้มาสาวไหม แต่ ณ วันนี้ เราซื้อผ้าไหมประดิษฐ์มาทำแล้ว คือไหมสำเร็จรูป เพราะค่อนข้างจะเลี้ยงยาก คนทอเป็นคุณย่าคุณยาย แต่ตอนนี้ เรามาพัฒนาให้คนในพื้นที่อายุสี่สิบขึ้นไป ทอได้แล้ว”
คุณประสงค์ยังได้พาคณะสำรวจไปยังศูนย์วัฒนธรรมลาวโซ่งหน้าวัดหัวถนน อาคารดังกล่าวเป็นเรือนที่มีใต้ถุนสูง ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่นาน จึงไม่มีข้าวของในการจัดแสดง แต่ก็ได้ให้คำอธิบายที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวเรือน “เรือนโซ่ง ไทยทรงดำ ได้อยู่ในพื้นที่เมืองแถงหรือเดียนเบียบฟู ตามที่ปรากฏ อันผมสัมภาษณ์ อาจารย์ถนอม มา เขาบอกว่า ชาวลาวโซ่งจะอยู่หุบเขา แล้วหนาว บางทรงก็เรียก “ขอกุด” ทรงอย่างนี้ เรียก กวางตุ๊ก บางเรือนเป็นเหลี่ยมๆ ไม่มีขอกุด
เขาว่า คือสัญลักษณ์แห่งความพ่ายแพ้ ความตีความหมายต่างๆ นานา
บางท่านตีว่า ขอกุด คือ ชาวลาวโซ่งนับถือควาย ซึ่งควายเป็นสัตว์ประกอบอาชีพให้เขาคือทำนา มีกิน คือไม่ทราบว่าจะเอาอันไหนมาอ้างอิง ซึ่งโดดเด่นกับไทยทรงดำทุกๆ ที่ เขาย้อย เขาวัง ปากท่อ ราชบุรี ดอนคัง สุพรรณบุรี อู่ทอง วัดศรีเฉลิมเขต วัดดอนพุทรา ทรงนี้หมด แต่จะแหลมมากน้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง
แต่เอกลักษณ์ที่สำคัญ บ้านลาวโซ่งยกพื้นสูง ใช้ทำกิจกรรม เช่น การทอผ้า ตำข้าว เก็บข้าว เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ส่วนห้องน้ำยกพื้นสูง ห้องครัวห้องน้ำอยู่บนบ้าน ส่วนมากกลางคืนเขาจะปิดบ้าน ต่อไม้ไป มีกระดานปิด หรือดึงบันไดขึ้น ไม่ให้โจรขึ้นบ้าน
แล้วเอกลักษณ์คือจะเป็นห้องโล่ง มีห้องผีเรือนห้องหนึ่ง จำลองไว้ แต่ยังไม่ได้จัดสรรเป็นสัดส่วน แล้วก็มีห้องนอน มุ้งดำ ห้องครัว ที่รับแขกในส่วนของแขกมาในการเคี้ยวหมาก ด้านหลังในส่วนแขกพัก”
ชีวสิทธิ์ บุณเกียรติ /เขียน
ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนาม วันที่ 10 มิถุนายน 2554
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
วิถีชีวิตท้องถิ่นและภูมิปัญญา ชาติพันธุ์ ไทดำ
หอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
จ. นครปฐม
พิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก
จ. นครปฐม
พิพิธภัณฑ์หินอ่อนพื้นบ้านหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ
จ. นครปฐม