พิพิธภัณฑ์ชุมชนหลวงพ่อเฒ่ายิ้ม-หลวงพ่อเหรียญ วัดศรีอุปลาราม


เดิมทีพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) ความตั้งใจที่จะเปิดศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนขึ้น และมีพิพิธภัณฑ์ควบคู่กันไป ในช่วงปี พ.ศ.2545 -2546 หลังจากนั้น 2 ปี กลุ่มคณะกรรมการของศูนย์ฯ ต่างได้มีความเห็นตรงกันว่า อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังนี้ เป็นผลงานการสร้างของหลวงพ่อเหรียญ และมีความผูกพันกับชุมชนหนองบัวมานาน และในปัจจุบันก็ไม่ได้ใช้งานใดๆ จะปล่อยไว้ก็ทรุดโทรมไปเปล่า จึงได้ขออนุญาตจากเจ้าอาวาสวัดรูปปัจจุบัน ในการมาตั้งพิพิธภัณฑ์และศูนย์ฯ ณ อาคารหลังนี้ และทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พร้อมศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลหนองบัว ในปี พ.ศ.2547 บริเวณชั้นล่างเป็นที่ทำการของศูนย์ และเป็นที่จัดแสดงวัตถุสิ่งของในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ ชั้นบนจัดเป็นห้องประชุมอเนกประสงค์ และที่จัดแสดงภาพวัตถุของทางวัด และถ่ายของหลวงพ่อเฒ่ายิ้ม (พระอุปัชฌาย์ ธรรมโชติ) พระเกจิ และเจ้าอาวาสวัดหนองบัว ในช่วงต้นรัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 5 และหลวงพ่อเหรียญ (พระโสภณสมาจารย์ สุวรรณโชติ) เจ้าอาวาสวัดหนองบัว ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6- รัชกาลที่ 9

ที่อยู่:
วัดศรีอุปลาราม(หนองบัว) 19 ม.3 ต.หนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี 71190
โทรศัพท์:
034-540221
วันและเวลาทำการ:
เปิดในวันเวลาราชการ จันทร์-ศุกร์ 8.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

แผนผังพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุปลาราม...

โดย:

วันที่: 08 เมษายน 2564

แผนผังพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุปลาราม...

โดย:

วันที่: 08 เมษายน 2564

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองบัว แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม ที่ทำให้เรารู้จักตนเอง

ชื่อผู้แต่ง: สิทธิศักดิ์ เขตสกุล | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 52 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2556;vol.52 No.1 January-March 2013

ที่มา: วารสารวัฒนธรรม

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 22 ตุลาคม 2557


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ชุมชนหลวงพ่อเฒ่ายิ้ม-หลวงพ่อเหรียญ วัดศรีอุปลาราม

ริมแม่น้ำแคว แม่น้ำสายใหญ่ที่เป็นเส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวกาญจนบุรีมาอย่างยาวนาน วัดศรีอุปลาราม หรือวัดหนองบัว ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองมาอย่างน้อยก็ 150 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้น จากการบอกเล่าของชาวบ้านที่เป็นคนดั้งเดิมของบ้านหนองบัวก็เล่าให้เราฟังว่า วัดนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และบริเวณนี้ก็ยังเป็นเส้นทางเดินทัพของทั้งทัพอยุธยาและทัพของพม่า เวลาที่อยู่ในช่วงศึกสงคราม แม้ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาเส้นทางกาญจนบุรีก็กลายเป็นเส้นทางแห่งความทรงจำทั้งของคนไทยและชาวต่างชาติไม่รู้ลืม

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเฒ่ายิ้ม – หลวงพ่อเหรียญ ตั้งอยู่ภายในวัดหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี บนอาคารกึ่งไม้กึ่งปูน 2 ชั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 ปลายรัชกาลที่ 7 แต่เดิมอาคารแห่งนี้ ใช้เป็นอาคารเรียนและอาคารพักของนักเรียนพระโรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างโดยท่านพระโสภณสมาจารย์ (เหรียญ) สุวรรณโชติ เจ้าอาวาสวัดหนองบัว ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 -9 หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อเหรียญ พระเกจิชื่อดังของวัดหนองบัวและเมืองกาญจนบุรี ชื่อเสียงของหลวงพ่อท่านเป็นที่เล่าขานจนดังมาถึงเมืองระนคร ทำให้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” ของชาวทหารเรือ ได้เสด็จมานมัสการถึงที่วัด ขาล่องกลับกรุงเทพฯนั้น หลวงพ่อเหรียญได้ถวายมีดพกแด่พระองค์ท่านเหมือนกับหลวงพ่อท่านหยั่งรู้เสด็จเตี่ยเองก็ยังไม่ทรงเลื่อมใสเต็มที่ เมื่อพระองค์ท่านเสด็จลงเรือกลับไปนั้น ก็ได้ส่งทดลองความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเหรียญท่านสักครั้งด้วยการทิ้งมีดพกนั้นลงแม่น้ำแม่กลอง และอธิษฐานว่าหากหลวงพ่อท่านศักดิ์สิทธิ์จริงก็ให้มีดนี้ลอยทวนน้ำกลับไปที่วัดหนองบัวด้วย หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มีคนมาทูลกับเสด็จเตี่ยท่านว่ามีดพกที่ได้ทรงทิ้งลงน้ำนั้นได้ลอยทวนน้ำกลับไปที่วัดหนองบัวจริงๆ ทำให้เสด็จเตี่ยต้องเสด็จกลับมาที่วัดเพื่อรับมีดพกเล่มนั้นอีกครั้งและได้ทรงนับถือหลวงพ่อเหรียญเรื่อยมา 

วัดหนองบัวนี้ถือว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกเป็นอย่างยิ่งเนื่องจาก หลวงพ่อเหรียญเป็นพระอุปฌาย์ของสมเด็จพระสังฆราชฯ ดังนั้นพระองค์ท่านจะเสด็จมาที่วัดเกือบทุกปี และวัดได้รับการทำนุบำรุงให้สมบูรณ์อยู่เสมอ มาในช่วงหลังที่สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงพระประชวรไม่สามารถเสด็จไปไหนมาไหนได้ แต่ก็ยังทรงให้พระราชเลขาดูแลที่วัดหนองบัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

แรกเริ่มเดิมทีพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) จากด้วยความตั้งใจที่จะเปิดศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนขึ้น และมีพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาควบคู่กันไป ในช่วงปี พ.ศ.2545 -2546 หลังจากนั้น 2 ปี กลุ่มคณะกรรมการของศูนย์ฯ ต่างได้มีความเห็นตรงกันว่า อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังนี้ เป็นผลงานการสร้างของหลวงพ่อเหรียญและมีความผูกพันกับชุมชนหนองบัวมานาน และในปัจจุบันก็ไม่ได้ใช้งานใดๆ จะปล่อยไว้ก็ทรุดโทรมไปเปล่า จึงได้ขออนุญาตจากเจ้าอาวาสวัดรูปปัจจุบัน ในการมาตั้งพิพิธภัณฑ์และศูนย์ฯ ณ อาคารหลังนี้ และทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พร้อมศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลหนองบัว ในปี พ.ศ.2547 โดยแบ่งห้องด้านล่างทางปีกซ้ายของอาคารให้เป็นที่ทำการของศูนย์ และในส่วนห้องโถงชั้นล่างและห้องด้านขวา ก็จัดเป็นสถานที่แสดงวัตถุสิ่งของ ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ ชั้นบน ห้องโถงตรงกลางใช้เป็นห้องประชุมอเนกประสงค์ ของศูนย์ ห้องทางด้านซ้ายเป็นห้องที่จัดแสดงภาพถ่าย ของหลวงพ่อเฒ่ายิ้ม (พระอุปัชฌาย์ ธรรมโชติ) พระเกจิและเจ้าอาวาสวัดหนองบัวในช่วงต้นรัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 5 และหลวงพ่อเหรียญ (พระโสภณสมาจารย์ สุวรรณโชติ) เจ้าอาวาสวัดหนองบัว ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6-9 ส่วนห้องทางด้านขวาเป็นห้องที่ใช้เก็บเอกสารเก่าของทางวัด จำพวกพระคัมภีร์ สมุดไทย เป็นต้น แต่ในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการอนุรักษ์ โดยกลุ่มอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีแต่ยังไม่แล้วเสร็จ

ก่อนหน้าที่จะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์นั้นคณะกรรมการศูนย์สายใยฯ ได้ช่วยกันสร้างแคมเปญขึ้นมาด้วยการจัด “สัปดาห์ขนของเข้าวัด” โดยที่ให้ชาวหนองบัวร่วมกันบริจาคข้าวของเก่าเก็บภายในบ้านเพื่อทำพิพิธภัณฑ์ เพียงสัปดาห์เดียว วัตถุจำนวนมากก็หลั่งไหลเข้ามาที่วัด แล้วกรรมการและเจ้าของวัตถุเล่านั้นก็มาช่วยกันจัดข้าวของให้เป็นที่เป็นทาง แม้ว่าจะยังไม่ได้จัดการให้เป็นระบบทั้งในรูปของการลงทะเบียนและการทำความสะอาด แต่ด้วยความตั้งใจ ก็จัดการพิพิธภัณฑ์ออกมาได้ 

พิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

ชั้นใต้ดิน ในอดีตเป็นที่เก็บข้าวของต่างๆของวัด เปิดโล่ง ของส่วนใหญ่ที่เก็บไว้ก็จะเป็นพวกเครื่องถ้วยชามต่างๆ ที่ วัดใช้เวลาที่มีงานบุญหรืองานใหญ่ๆ ขณะนี้จัดแสดงเครื่องถ้วยชามที่ได้รับบริจาค ส่วนใหญ่เป็นถ้วย กระเบื้องเคลือบ มีทั้งลายคราม กระเบื้องจากเมืองจีน กระเบื้องตราไก่ เครื่องทองเหลืองจำพวก ถาดและพานทองเหลือง จานเชิงกระเบื้องเล็กๆ และถ้วยน้ำชา ส่วนอื่นๆก็จะเป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวหนองบัว ส่วนใหญ่ จะเป็นเครื่องมือทำนา เครื่องมือทำไม้ จำพวกกบไสไม้ เลื่อย เป็นต้นมีห้องด้านข้างเป็นห้องเก็บของซึ่งยังมีเครื่องถ้วยชาม เครื่องทองเหลืองและหนังสืออีกจำนวนมากที่ผู้ดูแลบอกว่า ยังไม่ได้เอาออกมาจัดแสดงเพราะตอนนี้ของที่จัดแสดงอยู่ทั้ง 3 ชั้นก็เต็มแล้ว ค่อยๆ เอาออกมาจะดีกว่า แต่บางส่วนก็มีแตกหักสลายไปบาง เนื่องจากแต่เดิมชั้นใต้ดินนี้จะเป็นพื้นที่ชื้นแฉะ เพราะด้านข้างซ้ายเคยเป็นแทงค์เก็บน้ำสำหรับอุปโภคภายในวัด และบริเวณทางเข้าจะมีรูปปูนปั้นช้าง ทางผู้ดูแลได้เล่าให้ฟังว่าแต่เดิมช้างตัวนี้เป็นก๊อกน้ำ ตัวก๊อกจะแอบอยู่ในหัวช้าง และที่งวงช้างก็เป็นปลายท่อ เวลาที่มาเปิดเอาน้ำไปใช้ก็ต้องยื่นมือเข้าไปในหัวช้าง เพื่อเปิดก๊อก แต่ในปัจจุบันแทงค์น้ำตัวนี้ไม่ได้ใช้แล้วแต่ก็ยังมีน้ำอยู่บ้างทำให้พื้นที่ชั้นใต้ดินค่อนข้างชื้น และพื้นของชั้นใต้ดินตอนนี้ก็เอาทรายมาเทปูเป็นพื้นให้เดิน เพื่อช่วยระบายความชื้นของดินบ้าง 

ขึ้นมาชั้นที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนรับแขกและแสดงข้าวของที่ได้รับบริจาคมา มีการจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยของชั้นสอง ออกเป็นสามส่วน ห้องโถงตรงกลาง มีทั้งตู้โชว์และโต๊ะจัดวางข้าวของที่ได้รับบริจาคมา ส่วนใหญ่เป็นถ้วยชาม รูปแบบต่างๆ ทั้งแก้วเจียระไน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องกระเบื้องลายคราม เครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องใช้สมัยก่อนเช่นตะเกียงเจ้าพายุ ตะเกียงแก๊ส ตะเกียงลาน เตารีดน้ำมัน ส่วนห้องทางด้านซ้ายจัดให้เป็นส่วนห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลหนองบัว ห้องด้านขวาก็จัดแสดงเครื่องทองเหลือที่เป็นของใช้ภายในวัด ซึ่งได้มาจากห้องเก็บของด้านล่างและจากกุฏิต่างๆ นอกจากนั้นยังมีจักรยานเก่าๆ 2 คันที่แม้ว่าจะเก่า แต่ก็ยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก ปรับปรุงนิดหน่อยก็น่าจะใช้ได้ ที่น่าสนใจคือ บริเวณฝาผนังของห้อง ประดับด้วย หนังตะลุงบ้าง หนังใหญ่บ้าง หลายตัวด้วยกัน รวมไปถึงที่ชั้นใต้ดินก็ยังมีหนังอีกหลายตัวที่จัดแสดงไว้ภายในห้องเก็บของก็มีอีกหลายตัวที่วางซ้อนกันไว้ จนบางตัวขึ้นรา และเหมือนจะหมดสภาพ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เองก็แจ้งกับทางเจ้าหน้าที่สำรวจด้วยว่า อยากได้ความรู้ในการเก็บรักษาตัวหนังเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน หากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ สามารถให้ความรู้ในเรื่องนี้ได้ก็จะยินดีเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับชั้นที่ 2 ของอาคาร ห้องโถงนั้นก็เป็นห้องสำหรับจัดการประชุมในโอกาสต่างๆ ของศูนย์ฯ ส่วนห้องด้านซ้ายมื้อเป็นห้องจัดแสดงภาพถ่ายและเรื่องราวประวัติของพระเกจิชื่อดัง 2 รูปที่เป็นเจ้าอาวาสของวัดหนองบัวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5จนถึงรัชกาลปัจจุบัน หลวงพ่อเฒ่ายิ้ม ท่านเกิดในรัชกาลที่ 4 และเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัว จนถึงปี พ.ศ.2454 จึงมรณภาพและหลวงพ่อเหรียญก็มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสในสมัยต่อมา วัตถุมงคลมากมายที่ทางวัดได้จัดทำขึ้นทั้งตะกรุด พระพิมพ์ พระผง พระกริ่ง เหรียญ แหวน ถือว่าเป็นของหายากมากในปัจจุบัน สนนราคาค่าเช่า ก็ขึ้นหลักแสนหลักล้าน แต่ที่จำขึ้นใจและเด็กชายที่ปัจจุบันอายุสัก 60 ปี แก่อ่อนกว่านั้นนิดหน่อยจะมีติดกายเกือบทุกคนก็คือแหวนเงินของหลวงพ่อยิ้ม ตอนนี้ก็มอบเป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลานรุ่นหลังไปหลายคนแล้ว หลวงพ่อเหรียญนี้นอกจากท่านจะมีชื่อเสียงในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์แล้วนั้น ท่านยังเป็นพระนักพัฒนาด้วย ท่านได้สร้างคุโณปการให้กับชาวหนองบัวหลายอย่างด้วยกัน เช่น อาคารที่ขณะนี้ได้ใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ โรงเรียนวัดหนองบัวท่านก็เป็นผู้ดำริสร้างและใช้แบบแปลนเดียวกันกับอาคารโรงเรียนปริยัติธรรมนี้ด้วย ท่านพาชาวบ้านออกไปช่วยกันทำทางส่งน้ำเข้านา เหมือนเป็นระบบคลองชลประทาน ทำให้ชาวหนองบัวมีน้ำทำนาในหน้าแล้ง และที่จดจำกันได้คือ ท่านเป็นคนสร้างหลักเขตวัดขนาดใหญ่มาก เอาไว้บอกว่า ตรงบริเวณไหนคือบริเวณของวัดบ้าง โดยท่านบอกว่า ทำให้เห็นใหญ่ๆ ไปเลย จะได้ไม่มีปัญหากันทีหลัง ก็ถือว่าเป็นการมองการณ์ไกลทีดีอย่างหนึ่งของท่านด้วย 

ขณะนี้ ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนวัดหนองบัว ได้จัดจ้างเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลพิพิธภัณฑ์เป็นอยู่ด้วยเช่นกันเพราะว่าก่อนหน้านี้มีเสียงบ่นของผู้มาเข้าชมและทั้งตัวชาวบ้านในตำบลหนองบัวกันด้วยว่า ทำไมพิพิธภัณฑ์ไม่เปิดทุกวัน เจ้าหน้าที่ที่บอกว่าจะเปิดตามเวลานี้นั้นก็เปิดและปิดไม่ตรงเวลา ปัญหานี้กำลังอยู่ในช่วงการแก้ไขเนื่องจากว่าเจ้าหน้าที่เองก็ยังต้องทำงาน 2 ที่คือ ที่พิพิธภัณฑ์และเป็นอาจารย์พิเศษของโรงเรียนวัดหนองบัวด้วย บางชั่งโมงก็ต้องปิดพิพิธภัณฑ์เพื่อไปสอน เมื่อใกล้เวลาเลิกเรียนก็ต้องปิดพิพิธภัณฑ์ไปเซ็นชื่อก่อนกลับบ้านที่โรงเรียนด้วย คณะกรรมการของศูนย์ ต่างก็พยายามช่วยกันหาทางออกเพราะว่างบประมาณในการจ้างยังพึ่งพาทางโรงเรียนอยู่แม้ว่า เรื่องค่าน้ำค่าไฟและการรักษาความปลอดภัยทางวัดจะเป็นผู้อุปการะก็ตาม แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ถ้าต้องการที่จะเข้าเยี่ยมชมนั้นสามารถไปได้ทุกวันไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น หากจะมาเป็นหมู่คณะนั้นควรมีการนัดหมายล่วงหน้าจะดีที่สุด

นอกจากความน่าสนใจของข้าวของในพิพิธภัณฑ์ในบริเวณวัดยังมีสถานที่ให้ท่องเที่ยวอีกหลายแห่งเช่น พระอุโบสถที่ขณะนี้กำลังบูรณะและวาดภาพจิตรกรรมภายในใหม่หมดเป็นภาพพุทธประวัติ วิหารพระพุทธบาทสี่ร้อยที่แกะสลักด้วยไม้ ให้เข้าไปกราบนมัสการ แต่ที่น่าสนใจคือ ร่องรอยสะเก็ดระเบิดที่อยู่บริเวณผนังด้านนอกวิหารหลังนี้ ผู้นำชมเล่าว่า เป็นรอยสะเก็ดระเบิดที่เกิดขึ้นในช่วงสมัยสงครามญี่ปุ่น มีเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาทิ้งระเบิดบริเวณนี้ ทำให้ชาวบ้านตายไป 1 คน และอีกหลายคนบาดเจ็บ รอยกระสุนกระจายเต็มผนังวิหาร จึงได้ถามว่าทำไมไม่ซ่อม ตัวชาวบ้านเองบอกว่า เก็บเอาไว้ให้ลูกหลานดูว่าเมื่อก่อนเจออะไรกันมาบ้าง ตัวผู้สำรวจเองก็สนุกสนานไปกับการนำชมของอาจารย์ดวงใจ , คุณปัญญา นายกเทศมนตรีเทศบาลหนองบัวและพันเอกภักดี ทั้งสามท่านเป็นอย่างยิ่ง ก่อนกลับท่านนายกเทศมนตรีหนองบัวยังได้พาเราไปชมที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จปีพ.ศ.2555 และจะทูลเชิญพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุเป็นองค์ประธานในงานเปิดด้วย

เขียน: มัณฑนา ชอุ่มผล

ข้อมูลจาก: การสำรวจเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2554

คลิกชมเว็บไซต์
ชื่อผู้แต่ง:
-

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองบัว แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม ที่ทำให้เรารู้จักตนเอง

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปทำบุญบ้านพี่สาวที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยพาลูกชายลูกสาวไปด้วย ตั้งใจไว้ว่าเสร็จจากการทำบุญแล้วจะพาลูกแวะเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองบัว เพราะทราบมาว่า พิพิธภัณฑ์หนองบัวแห่งนี้มีปะวัติที่ยาวนานมากและมีวัตถุโบราณของเก่าสะสมอย่างมากมาย น่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี
ชื่อผู้แต่ง:
-