พิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ไม้ไผ่ ตำบลบางเจ้าฉ่า


ที่อยู่:
วัดยางทอง หมู่ 8 ต.บางเจ้าฉ่า อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง 14120
โทรศัพท์:
0-3564-4091
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 07.00 - 18.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ไม้ไผ่ ตำบลบางเจ้าฉ่า

ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี พ.ศ.2540 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของชุมชนบางเจ้าฉ่าเช่นกัน ทำให้ผู้นำชุมชน และชาวบ้านบางเจ้าฉ่ารวมตัวกันเพื่อปรึกษาหารือถึงอนาคตของบางเจ้าฉ่า นำโดยสุรินทร์ นิลเลิศ กำนันตำบลบางเจ้าฉ่า  ซึ่งเล่าให้ฟังว่าก่อนที่จะมีหน่วยงานราชการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ชาวบ้านบางเจ้าฉ่าได้จัดประชาคมเพื่อวางแผนอนาคตร่วมกัน และริเริ่มพัฒนาโครงการต่างๆ ให้เป็นแหล่งส่งเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน เรียกว่า “เวทีชวนคิด ชวนพูด ชวนทำ” ซึ่งก็ได้ความร่วมมือเป็นอย่างดีของชาวบ้าน  นำไปสู่การส่งเสริมอาชีพจักสานไม้ไผ่ เดิมชุมชนบางเจ้าฉ่ามีอาชีพทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก และด้วยพื้นที่นี้มีต้นไผ่ขึ้นอยู่มากมาย และมีทุกรอบรั้วเสมือนเขตแดนของบ้าน อาชีพจักสานไม้ไผ่จึงเป็นอาชีพเสริม แต่ในปัจจุบันอาชีพจักสานได้พัฒนากลายเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านไปแล้ว ปัจจุบันได้รับการพัฒนารูปแบบให้หลากหลายมากขึ้น จนมีผู้สนใจจากภายนอก กลายเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ของชุมชน OTOP ที่มีคุณภาพดีสามารถส่งออกต่างประเทศได้
 
พิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ไม้ไผ่ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2540  จัดแสดงเครื่องจักสานหลากหลายชนิด ทั้งที่เป็นเครื่องมือทำนา เครื่องมือดักสัตว์ ภาชนะ เครื่องใช้ไม้สอยภายในครัว เช่น กระบุง ตะกร้า   ข้อง ไซ  กรงนกเขา สุ่มไก่ และเครื่องจักสานรูปแบบใหม่ๆ ที่ทันสมัย เช่น กระเป๋าถือ หีบเก็บของ ของตกแต่งบ้านอีกหลายรูปแบบ  รวมถึงป้ายนิทรรศการประวัติความเป็นมาของเครื่องจักสาน   เครื่องจักสานที่ทำขึ้นในท้องถิ่นต่าง ๆ    พัฒนาการเครื่องจักสาน กำนันสุรินทร์เสริมว่า ไผ่ที่ใช้จักสานลวดลายที่ละเอียด ปราณีต ต้องเป็นไม้ไผ่สีสุก ที่มีความอ่อนตัวของไผ่ ทำให้จักสานลวดลายส่วนเล็กๆ ได้ดีกว่าไผ่ทั่วไป
 
บริเวณด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงฝีพระหัตถ์ในการตกแต่งกระเป๋าจักสานของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศม์พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ถึง 3 ใบ พร้อมลายพระหัตถ์ของพระองค์บนไม้ไผ่ในวันที่พระองค์เสด็จเยี่ยมหมู่บ้านบางเจ้าฉ่าอีกด้วย
 
นอกพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีโครงการ “บางเจ้าฉ่าโฮมสเตย์” ที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร มีกิจกรรมที่น่าสนใจคือ การนั่งรถอีแต๋นทัวร์ เพื่อชมวิถีชีวิตของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำน้อย แวะตามจุดต่างๆ จุดสาธิตการย้อมสีเส้นตอก จุดสาธิตการผลิตเครื่องจักสาน ชมและชิมผลไม้ตามฤดูกาลที่ขึ้นชื่อ อย่าง มะปราง มะยงชิด และกระท้อน ชมต้นยางยักษ์ 2 ต้น บริเวณวัดยางทอง ที่สันนิษฐานว่ามีอายุมากกว่า 200 ปี แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ใกล้ๆ ก็คือ วัดไชโยวรวิหาร และวัดขุนอินทประมูล ซึ่งมีพระนอนสมัยสุโขทัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ 
 
กิจกรรมในภาคค่ำจะได้ชมการแสดง การขับร้องเพลงพื้นบ้าน ชมการแสดงนาฏศิลป์จากเยาวชน ซึ่งเป็นการแสดงของคนในหมู่บ้านนั่นเอง กิจกรรมในหลายๆ กิจกรรมของหมู่บ้าน กำนันสุรินทร์ถือว่าเป็นผลที่ดีทั้งชาวบ้าน และผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ในหมู่บ้าน กิจกรรมนี้ก็สอดคล้องกับ โครงการ “ศูนย์สามวัยสานสายใยรักแห่งครอบครัวบางเจ้าฉ่า” ของพระองค์เจ้าศรีรัศม์พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ส่วนหนึ่งมุ่งเน้นการมีพื้นที่ และการทำกิจกรรมร่วมกันของทุกช่วงวัย
 
บริเวณโดยรอบของหมู่บ้านบางเจ้าฉ่า ได้จัดทำเป็นเส้นทางการเดินรถจักรยานเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชาวบางเจ้าฉ่าด้วยตนเองได้อีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ
 
สำรวจวันที่ 27 มิถุนายน 2552 โดยณัฐพัชร์ ทองคำ
ชื่อผู้แต่ง:
-