พิพิธภัณฑ์ปลากัด บ้านสวนบางกระเจ้า


ที่อยู่:
18 หมู่ 3 ซอยเพชรหึงษ์ 33 ตำบลบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จ.สมุทรปราการ 10130
โทรศัพท์:
086-4053105
โทรสาร:
028151227
วันและเวลาทำการ:
เสาร์-อาทิตย์ 10.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
อีเมล:
welcome@fightingfishgallery.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2547
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ปลากัด บ้านสวนบางกระเจ้า

ปลากัดไทย ผูกพันธ์กับเด็กๆ และคนไทยมาเนิ่นนาน เป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงประจำชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยจนมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Siamese Fighting Fish วันนี้ได้มีผู้เห็นคุณค่าของปลากัด และได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย
 
พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย ริเริ่มมาจากประธานมูลนิธิพัฒนาศักยภาพคน คุณพีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธ์ อดีต รมช.คมนาคม แม้ท่านจะเข้าวัยเกษียณแล้ว แต่ก็ยังคงไม่หยุดคิดสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคม เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2542 ที่ดินว่างเปล่าบนพื้นที่ ต.บางกระเจ้า อ.พระประแดง ได้ถูกพัฒนาขึ้นให้เป็น Life Learning Center ที่ต้องการให้มีพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้และเปิดโลกทัศน์ไปด้วยในตัว และได้ข้อสรุปว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปลากัดไทย เนื่องจากเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และสามารถทำให้ผู้เข้าชมตลอดจนเด็กๆ ได้เข้าถึงธรรมชาติผ่านเรื่องราวของปลากัด แถมพิพิธภัณฑ์ยังตั้งอยู่บนพื้นที่กระเพาะหมูของแม่น้ำเจ้าพระยา อันได้ชื่อว่าเป็นปอดของคนกรุงเทพฯ นิตยสารไทม์ ยกย่องว่าพื้นที่ตรงนี้เป็น Best Urban Oasis ของเอเชีย ใครที่มาเดินชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สามารถสูดอากาศบริสุทธิ์ได้อย่างเต็มปอด
 
ส่วนจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ คือ บ้านรักรู้ หอโลกหอธรรม เส้นทางศึกษาธรรมชาติ และลานคนกล้า ซึ่งแต่ละส่วนก็จะสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับปลากัดไทย และความเป็นพื้นบ้านพื้นถิ่นเอาไว้มากมาย
 
ส่วนแรกบ้านรักรู้ มีห้องฉายวิดีโอเพื่อให้ผู้เข้าชมหรือกลุ่มนักเรียนได้รับความรู้พื้นฐานกันก่อน มีนิทรรศการเล่าเกี่ยวกับชีววิทยาของปลากัด ลักษณะของปลากัดสายพันธุ์ต่างๆ หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าปลากัดจีนนั้นนำเข้ามาจากประเทศจีน แต่จริงๆ แล้วเป็นการผสมระหว่างปลากัดหม้อและปลากัดป่าของไทยซึ่งทั้งสองสายพันธุ์เป็นพันธุ์ดั้งเดิม แต่สีสันไม่สวยและตัวเล็ก เมื่อผสมกันทำให้เกิดปลากัดสายพันธุ์ใหม่คือปลากัดจีน ที่มีหางสวยงามเหมือนพู่กันจีน จึงเรียกกันว่าปลากัดจีนนับแต่นั้นมา สมัยโบราณการเลี้ยงปลากัดและกัดปลาแข่งขัน เป็นวิถีชีวิตของชนชั้นไพร่ในประเทศไทย ดังคำที่ว่า “นายตีไก่ ไพร่กัดปลา” เพราะในสมัยโบราณ เมื่อชาวบ้านว่างเว้นจากการเพาะปลูกก็จะหางานอดิเรกทำ และการเลี้ยงปลากัดนั้นสามารถฝึกสมาธิและนิสัยความโอบอ้อมอารีย์ให้กับเด็กๆ ได้อย่างไม่รู้ตัว เพราะการเลี้ยงปลาสักตัวหนึ่งให้สวยงามและแข็งแรงนั้น ต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เด็กๆ ที่มาเรียนรู้หรืออบรมที่นี่ก็จะได้ฝึกคุณธรรมไปด้วยในตัว
 
พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย เรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา เพราะสิ่งของจัดแสดงที่มีชีวิตคือปลากัดนั้น จะต้องดูแลเลี้ยงดูเอาใจใส่ ให้อาหารและเติบโตไปตลอด ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่โชว์แต่ของเก่า ดังนั้นเจ้าหน้าที่จะต้องเรียนรู้และพัฒนาการดูแลปลากัดอยู่เสมอ เจ้าหน้าที่เล่าว่าพวกเขาเองก็เพิ่งมาฝึกหัดเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลากัดเหมือนกัน ดังนั้นจึงเหมือนกับได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการทำงาน
 
เมื่อชมวิดีโอและนิทรรศการด้านบนบ้านรักรู้แล้ว ที่ใต้ถุนบ้านรักรู้ ก็เป็นส่วนจัดแสดงปลากัดส่วนแรก ในส่วนนี้จะเป็นปลากัดสวยงามที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์แล้ว เช่น ปลากัดหางพระจันทร์เสี้ยว ปลากัดหางยาว ปลากัดยักษ์ และปลากัดสองหาง แต่ละตัวมีความสวยงาม บริเวณเดียวกันมีอ่างปลาสำหรับเพาะพันธุ์และอนุบาลปลาตัวอ่อน ปลากัดจะมีอายุเฉลี่ย 8 – 12 เดือน ด้วยอายุที่สั้นนี้ทำให้สามารถพัฒนาสายพันธุ์ได้รวดเร็วไปด้วยปัจจุบันจึงมีปลากัดสีสันและลักษณะใหม่ๆ ออกมามากมาย  ปลากัดตัวแรกๆ ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นำมาจากผู้เพาะเลี้ยงในพื้นที่กระเพาะหมูนี้เช่นกัน  นอกจากโชว์ความสวยงามแล้ว ยังมีเรื่องการรักษาปลาด้วยน้ำแช่ใบหูกวาง และใบกล้วยน้ำไทย เพื่อให้ตัวปลาสะอาดและแข็งแรงด้วย ปลากัดนั้นกล่าวกันว่าเป็นปลาที่ต่อสู้เพื่อคุณธรรม และสู้อย่างมีศีลธรรม เพราะในธรรมชาติแล้วมันจะไม่กัดใครก่อน หากผู้นั้นไม่รุกร้ำอาณาเขตของมัน หรือมาทำร้ายมันก่อน
 
ถัดมาอีกอาคารเป็นอาคารแฝด คือหอโลกหอธรรม เป็นอาคารทรงไทยสองหลัง ชั้นบนตรงกลางมีลานพระพุทธรูปปางลีลา ส่วนอาคารด้านขวามีรูปปั้นขนาดเล็กของวีรชนไทย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชฯ ด้านซ้ายคือพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งต่อสู่เพื่อกอบกู้บ้านเมือง เปรียบเสมือนปลากัดของไทยที่ต่อสู้เพื่ออาณาเขตของตน และปกป้องตนเอง 
ใต้ถุนอาคารทั้งสองมีตู้ปลาแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดและปลากัด อาคารด้านซ้าย มีปลากัดป่า และปลากัดหม้อสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งสีสันไม่สวยงามและตัวเล็ก แต่มีข้อดีคือกัดเก่ง และปราดเปรียว มีปลาน้ำจืด  เช่น ปลาแรด ปลากระแห ปลาตะโกก ปลากด ปลาแขยง ปลาปีกไก่ ปลาเสือตอ ปลาซิวควาย และปลาซิวอ้าว ส่วนอาคารด้านขวาแสดงสายพันธุ์ปลากัดที่พัฒนาแล้ว คือปลากัดหางพระจันทร์เสี้ยว ส่วนปลาน้ำจืดที่แสดงมี ปลากราย ปลานิล ปลากระทิง ปลาหมูอารีย์ ในส่วนนี้เด็กๆ จะชอบมาดูกันมากเพราะมีปลาตัวใหญ่ หน้าตาแปลกๆ ให้ชม 
 
ส่วนที่รื่นรมย์ที่สุดในการมาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ เส้นทางเดินธรรมชาติ ที่จะมีนิทรรศการอยู่ริมข้างทางเดินเข้าสวน บรรยากาศร่มรื่นตลอดทาง นิทรรศการแรกเล่าถึงความเป็นมาของกรุงเทพฯ และพื้นที่กระเพาะหมู อันเกิดมาจากสายน้ำเจ้าพระยา  ป้ายที่สองอธิบายเรื่องพื้นที่สีเขียวปอดของคนกรุงเทพฯ ของบริเวณพื้นที่กระเพาะหมูแห่งนี้ ป้ายถัดมาเป็นเรื่องประเพณีเกี่ยวกับน้ำของไทย เช่นสงกรานต์ รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ ตลอดจนลอยกระทง  และเกี่ยวเนื่องกับนิทรรศการถัดมาคือ การเสด็จทอดพระกฐินทางชลมารค ขบวนเรือพระราชพิธีอันสวยงามของไทย ถัดมาเป็นเรื่องราวของหมู่บ้านทรงคนอง ซึ่งเป็นชนชาวมอญ ที่ยังคงพยายามสืบสานเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีของตนเอาไว้

เดินผ่านร่มไม้สีเขียวเย็นตา จะพบกับนิทรรศการเรื่องปลากัด ที่มีรูปถ่ายสวยงาม ให้ความรู้กับผู้ชมเพิ่มเติมว่าปลากัดแบ่งเป็นกี่สายพันธุ์ อายุ และถิ่นกำเนิดของปลา ป้ายนิทรรศการตลอดเส้นทางนี้มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษกำกับ เจ้าหน้าที่เล่าว่าเนื้อหาทั้งหมดคุณพีระพงษ์ และเจ้าหน้าที่ทุกคนช่วยกันเรียบเรียงและทำเนื้อหาขึ้นมาเอง จึงเป็นความภูมิใจของเจ้าหน้าที่ทุกคน จากนั้นเป็นนิทรรศการที่เล่าความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ปลากัดไทยแห่งนี้ ระหว่างทางมีต้นกรวยป่าซึ่งเป็นต้นไม้หายากที่ไม่ควรพลาดชม ที่ในพื้นที่แห่งนี้ยังมีต้นไม้ร่มรื่น เพราะตอนสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีกฎจากคุณพีระพงษ์ว่า ห้ามตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว จึงทำให้คงความเขียวร่มรื่นได้ตลอดทาง เมื่อเดินไปจนสุดทางจะผ่านร่องสวนเก่า เดิมการทำสวนเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนในพื้นที่กระเพาะหมู เจ้าหน้าที่บอกว่าที่นี่ปลูกกล้วยน้ำไทยที่หายากไว้ด้วย ถ้าอยากทราบว่าหน้าตาเป็นอย่างไรต้องเข้าไปหาชม
 
ส่วนสุดท้ายก็คือลานคนกล้า คนกล้าในที่นี้ก็คือนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกที่กล้าที่จะทดลอง และค้นพบอะไรใหม่ๆ ทำให้โลกใบนี้พัฒนาไปอีกขั้น บริเวณลานก็จะมีรูปปั้นครึ่งตัวของบรรดานักวิทยาศาสตร์เช่น กาลิเลโอ, หลุยส์ ปลาสเตอร์, ชาร์ล ดาวิน, เซอร์ไอแซก นิวตัน และที่ขาดไม่ได้คือพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ต่อจากนั้นผู้ชมสามารถเดินไปชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งบางกระเจ้า มองไปฝั่งตรงข้ามก็จะเห็นเรือสินค้าและ วัดคลองเตย 
 
สำรวจวันที่  11 กรกฎาคม 2553
ชื่อผู้แต่ง:
-

ทำไมต้องเป็น "พิพิธภัณฑ์ปลากัด บ้านสวนบางกระเจ้า"

ตำบลบางกะเจ้า เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่ส่วนใหญ่โดยทั่วไปอยู่ติดกับ แม่น้ำเจ้าพระยา โดยด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกจดแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศใต้ติดกับพื้นที่ตำบลบางยอ ทิศตะวันออกติด กับตำบลบางกอบัว มีพื้นที่รวม 2.89 ตารางกิโลเมตรเป็นที่ราบลุ่ม ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง ทั่วไป นิยมทำสวนผสม ปลูกมะพร้าวหมาก พลู หมากแดง มะม่วงน้ำดอกไม้ มะปราง ส้มโอ ขนุน ชมพู่มะเหมี่ยว มะละกอ กล้วย ส้ม ตลอดจนพืชผักสวนครัวอีกมากมาย
ชื่อผู้แต่ง:
-

พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย มหัศจรรย์ปลาตัวน้อยหัวใจนักสู้

ถ้าถามว่าตอนเด็กๆ ใครเคยเลี้ยงปลากันบ้าง ไม่ว่าจะเลี้ยงเล่นๆ เป็นงานอดิเรก หรือจะเลี้ยงจริงจังจนเพาะขยายพันธุ์ได้ก็ตาม ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเลี้ยงปลาในระดับไหนก็แล้วแต่ เราเชื่อว่าแทบจะทุกคนคงเคยผ่านประสบการณ์ต่างๆ ในการเลี้ยงปลามาแล้วทั้งสิ้น และเราก็ยังเชื่ออีกว่า หนึ่งในปลาตัวน้อยๆ ที่หลายๆ คนเคยลงมือเลี้ยงกันนั้น จะต้องมี “ปลากัด” รวมอยู่ด้วยอย่างแน่
ชื่อผู้แต่ง:
-