ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทยพวน วัดกุฎีทอง


ที่อยู่:
วัดกุฎีทอง หมู่ 3 ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี 16120
โทรศัพท์:
081-8533574, 087-1178925
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ทางแห่งความสงบ

ชื่อผู้แต่ง: พระครูเมตตานุศาสน์ | ปีที่พิมพ์: 4/7/2548

ที่มา: ของที่ระลึกงาน ฌาปนกิจ นางบุญส่ง นนทรี

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ประเพณีท้องถิ่น แหล่งศิลปกรรมอำเภอพรหมบุรี

ชื่อผู้แต่ง: สภาวัฒนธรรมอำเภอพรหมบุรี สำนักงานศึกษาธิการอำเภอพรหมบุรี | ปีที่พิมพ์:

ที่มา: สิงห์บุรี: สภาวัฒนธรรมอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

ไทยพวน บางน้ำเชี่ยว

        บ้านบางน้ำเชี่ยว ตั้งอยู่ในอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ผู้คนที่อาศัยแต่ดั้งเดิมคือคนเชื้อสายพวน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่ถูกกวาดต้อนจากเมืองเชียงขวาง ปัจจุบันอยู่ในสปป.ลาว โดยเข้ามาหลายระลอกตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีตอนปลาย สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดและจำนวนมาก และกระจัดกระจายไปอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เช่น ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี และสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งไทยยกกองทัพไปปราบฮ่อ

          ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทยพวน วัดกุฎีทอง ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ตั้งอยู่ภายในอาคารเรียนเก่าอายุกว่า 100 ปี ของโรงเรียนวัดกุฎีทอง อันเป็นที่ตั้งล่าสุด  พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540  แต่ย้ายที่ตั้งมากว่า 4 ครั้งแล้ว เนื่องมาจากหลายเงื่อนไขและสาเหตุ อาทิ น้ำท่วม การจัดสรรปันที่ภายในวัดไม่ลงตัว  ซึ่งแต่เดิมพิพิธภัณฑ์ใช้พื้นที่ชั้นล่างของศาลาปฏิบัติธรรมเป็นสถานที่จัดแสดง ต่อมาเกิดปัญหาขึ้นภายในทำให้ต้องปรับเปลี่ยนและโยกย้ายอาคารที่ทำการพิพิธภัณฑ์มายังอาคารเรียนหลังเก่าที่ชื่อ “อาคารหลวงพ่อนาค วรคุณ”

          อาคารพิพิธภัณฑ์ แต่เดิมคืออาคารเรียนหลังแรกของชุมชนในนามโรงเรียนประชาบาลวัดกุฎีทอง ก่อตั้งโดยหลวงพ่อนาค วรคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดกุฎีทอง เป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านศรัทธาเคารพนับถือมาก   ในตอนนั้นจัดการเรียนการสอน 4 ชั้น คือป.1-4  ภายในมีห้องเรียน 4 ห้อง ห้องครูใหญ่ 1 ห้อง และมีห้องโถง ทุกวันโกนวันพระ ใช้พื้นที่ห้องโถงสำหรับสวดมนต์ก่อนเลิกเรียนโดยมีหลวงพ่อมากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

          อาคารเรียนหลวงพ่อนาค แม้จะเก่าทรุดโทรมไปบ้าง แต่โรงเรียนและชุมชนใช้งานมาต่อเนื่องตลอดร้อยปี  ในปีหลังๆ แม้ไม่ได้ใช้เป็นห้องเรียนแล้ว ปรับพื้นที่เป็นห้องสมุด ใช้เป็นที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับโรงเรียนของนักเรียน เป็นห้องประชุม และใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง  เรียกได้ว่าส่วนใหญ่เกือบทุกคนในชุมชนเคยเรียนในอาคารเรียนหลังนี้

          ในปี พ.ศ. 2551 ทางชุมชนร่วมกับวัดทอดผ้าป่าเพื่อหาเงินสมทบปรับปรุงอาคารเรียนหลังเก่า โดยสะสมเงินเรื่อยมา จนปรับเปลี่ยนระเบียง ผนังปูน หลังคา  เริ่มขอใช้พื้นที่อาคารสำหรับเป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ของชุมชนราวปี พ.ศ. 2558 คุณณรงค์ สุเนตร อดีตนายกเทศมนตรีฯ หนึ่งในกรรมการชุมชน เล่าความตั้งใจว่า

          “ตรงนี้เราอยากอนุรักษ์พื้นที่ตรงไว้  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 เราสนามกว้างมาก มีคนในจังหวัดมาเล่นกีฬาตรงนี้ หลวงพ่อนาคท่านพอใจมาก  ปัจจุบันคนเราชอบของใหม่ ปล่อยของเก่า แต่เราอยากเก็บไว้ อยากให้เด็กมาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวไทยพวน ตอนนี้ภาษาไทยพวนเด็กๆ เริ่มพูดไม่ได้”

          อาจารย์ไชยวัฒน์ สุคันธวิภัติ ข้าราชการเกษียณ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัดกุฎีทอง และหนึ่งในทีมที่ร่วมกับชุมชนในการบริหารจัดการดูแลพิพิธภัณฑ์และทำกิจกรรมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมชาวพวนของชุมชน เล่าว่าวัตถุประสงค์ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ว่า

          “เด็กบ้านเราลูกหลานคนพวนไม่รู้รากเหง้าตนเอง บางคนเครื่องมือเครื่องใช้อยู่ในบ้านตัวเองแท้ๆ ยังบอกไม่ถูก นั่นคือเขาไม่สำนึกว่าเขามีรากเหง้าเป็นพวน เขาควรหวงแหนอนุรักษ์ เด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจเลย จึงอยากใช้ตรงนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ ส่วนใหญ่เด็กที่มาเรียนเป็นคนบ้านเรามีเชื้อสายพวน เขาจะได้รู้ว่าคนพวนเป็นอย่างไร มีอะไรดี เป็นทรัพย์สมบัติที่เขาอนุรักษ์หวงแหน และอยู่กับโรงเรียนด้วย เด็กเจอทุกวัน ...สมัยที่ผมเป็นผอ. เราใช้เป็นที่เรียนเป็นภาษาถิ่นด้วย”

          อาจารย์ไชยวัฒน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ริเริ่มก่อตั้งคือ นาวาเอกเถลิง ศิริพงษ์พันธุ์ เป็นประธานชมรมไทยพวน มีดำริก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมข้าวของที่ถูกทิ้งไว้ตามบ้าน เห็นว่ามีวัฒนธรรมประเพณีของคนพวนที่อยากอนุรักษ์ไว้ จึงหารือกับพระครูเมตตานุศาสน์ เจ้าอาวาสวัดกุฏีทอง ทำพิพิธภัณฑ์โดยใช้พื้นที่ของวัด  โดยครั้งแรกรวบรวมข้าวของไว้ใต้ถุนกุฏิ ต่อมาน้ำท่วมปี พ.ศ. 2544 จึงขนวัตถุไปไว้ที่สูง  ครั้งต่อมาหลวงพ่อมีดำริสร้างศาลาหลังใหญ่ ชั้นบนสำหรับปฏิบัติธรรม ส่วนชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์ อาจารย์ไชยวัฒน์ สุคันธวิภัติ เป็นผู้เขียนแบบ ทางวัดสนับสนุนงบประมาณทำตู้จัดแสดงด้วย ต่อมาทางวัดมีปัญหาการบริหารงานภายใน พิพิธภัณฑ์จึงย้ายมาสถานที่ปัจจุบัน หากแต่การจัดแสดงยังไม่ลงตัวนักเนื่องจากมีการย้ายวัตถุสิ่งของหลายครั้งหลายครา

          ห้องโถงตรงกลาง แบ่งส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่นั่งประชุม อีกส่วนหนึ่งเป็นเรือนพวนจำลอง ประดับตกแต่งข้าวของเครื่องใช้จำพวกโอ่งน้ำ เครื่องจักสาน คันไถ ภาพถ่ายเก่า ตะเกียง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย มีป้ายคำอธิบายวิถีไทยพวนในอดีตติดเอาไว้  ป้ายคำอธิบายประเพณีสำคัญ อาทิ ประเพณีกำฟ้า ที่ชุมชนยังปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 วันสารทพวนหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ห่อข้าว” ในสิ้นเดือน 9  และประเพณีกวนข้าวทิพย์ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวตั้งท้อง

          ส่วนห้องด้านข้าง จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร คันไถ สุ่ม แห ไซดักปลา ไซนอน ไซตั้ง ลอบนอน ตะข้อง ชะนาง  โอ่ง ไห ตาชั่ง ปิ่นโต  เครื่องมือช่าง เช่น กบไสไม้ เขียดไสไม้ สิ่ว หัวแร้งแช่

          ปัจจุบันชุมชนมีแนวทางพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมในชุมชน คือนอกเหนือจากอาคารเรียนหลังเก่านี้แล้ว  ชุมชนมีโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์อีกแห่งที่วัดอุตมะพิชัย ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ไกลจากวัดกุฏิทอง โดยใช้ศาลาการเปรียญหลังเก่าเป็นที่จัดแสดง  

          อย่างไรก็ดีภายในชุมชนบางน้ำเชี่ยง ยังมีสถานที่น่าสนใจในชุมชนอีกหลายแห่งที่แสดงความเป็นตัวตนและวิถีชีวิต อาทิ บ้านเกิดอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศศิลป์  ที่จัดแสดงผลงานของอาจารย์ประหยัดและประวัติความเป็นของอาจารย์ที่เป็นลูกหลานคนพวน   และภายในชุมชนยังมีเรือนไทยพวนรูปแบบดั้งเดิมที่ยังเหลืออยู่เพียง 2 หลังในชุมชน  เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง เจ้าของปัจจุบันยังรักษาตัวเรือนและข้าวของเครื่องใช้ดั้งเดิมไว้เป็นอย่างดี

          ปัจจุบันชุมชนบางน้ำเชี่ยวได้รับคัดเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และชุมชนมีความภาคภูมิใจที่จะนำเสนอเอกลักษณ์ด้านอาหารพื้นถิ่นในหลายเมนู อาทิ แกงจานน้ำเสอ แกงแค แจ่วซู่ลู่(ลาบปลา) หลามมะเขือ เป็นต้น

ข้อมูลจาก:

สัมภาษณ์ นายไชยวัฒน์ สุคันธวิภัติ วันที่ 28 สิงหาคม 2562.

สัมภาษณ์ นายณรงค์ สุเนตร วันที่ 28 สิงหาคม 2562.

ปิยะพร  วามะสิงห์, 2538. “ความสำนึกในชาติพันธุ์ของลาวพวน”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ผู้เขียน: ปณิตา สระวาสี

ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ศิลปะท้องถิ่นไทยพวน วัดกุฎีทอง

กลุ่มไทยพวน หรือลาวพวน เป็นอีกกลุ่มชนหนึ่งที่อพยพจากดินแดนลาวตอนบนเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเพราะการสงครามในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์หลายครั้งหลายคราว กลุ่มคนพวนถูกกวาดต้อนเข้ามาในไทย และเมื่อนานเข้าก็กระจัดกระจายไปทั้งถิ่นฐานในหลายจังหวัดของประเทศไทย จนกลายเป็น ไทยพวน

บางแห่งวัฒนธรรมประเพณีตลอดจนภาษาได้ถูกกลืนกลายไปกับคนพื้นถิ่นหมดแล้ว แต่บางกลุ่มก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมของกลุ่มตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น บางกลุ่มก็กำลังรวบรวมองค์ความรู้ที่ยังคงอยู่ในชุมชน เพื่อสืบทอดให้ลูกหลานของตนเองต่อไป เหมือนอย่างเช่นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยพวน วัดกุฎีทอง ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรีแห่งนี้

ความตั้งใจเดิมนั้นเริ่มมาจาก นาวาอากาศเอกเถลิง อินทร์พงศ์พันธุ์ ซึ่งเป็นลูกหลานชาวไทยพวนที่บ้านบางน้ำเชี่ยวมาแต่กำเนิด เห็นว่าวัฒนธรรมประเพณีของไทยพวนเริ่มสูญหายจึงริเริ่มรวบรวมของเก่าจากในชุมชน ทั้งจากการขอบริจาค ขอเจ้าของให้นำมาร่วม ทำเป็นศูนย์วัฒนธรรม รวบรวมข้าวของพื้นเมืองมาจัดแสดง ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคนในชุมชนเพราะเกือบทุกคนก็เป็นลูกหลานชาวไทยพวนเหมือนกัน แม้แต่ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน (พระภาวนาพรหมคุณ)ก็ยังเป็นคนเชื้อสายพวน ทุกฝ่ายในชุมชนมีจิตสำนึกร่วมกันในการจะอนุรักษ์ของโบราณตลอดจนภาษาเอาไว้ให้ลูกหลานในภายหน้าด้วย

อาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยพวน จัดแสดงอยู่ที่ศาลาวัดกุฎีทอง ซึ่งเป็นห้องโถงใหญ่ส่วนแรกจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผา จำนวนมาก เป็นพวกไหน้ำปลาเก่า หรือไหเคลือบแบบจีนปากแคบ โอ่งน้ำดินเผา ทุกประเภทจะมีป้ายชื่อติดไว้ เพื่อให้นักเรียนหรือเด็กๆ รุ่นใหม่ที่ยังไม่รู้จักภาชนะหน้าตาแปลกๆ เหล่านี้ได้รู้จักกัน

ถัดไปด้านในมีของจำพวกเครื่องจักรสาน ทั้งที่เป็นเครื่องมือการเกษตร เครื่องมือประมง และข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน เช่นกระต่ายขูดมะพร้าว หินบดยา ส่วนนี้มีคำอธิบายภาษาไทยพวนติดอยู่เช่น แอบข้าวเหนียว หรือกระติ๊บข้าวเหนียว เครื่องเซ้อไม้ไผ่ หรือ เครื่องใช้ไม้ไผ่ ที่ต้องติดป้ายคำภาษาไทยพวนคู่กับภาษาไทยนี้ เนื่องจากเด็กๆ ลูกหลานไทยพวนบ้านบางน้ำเชี่ยวในปัจจุบันเริ่มพูดภาษาพวนไม่ได้แล้ว จึงได้เริ่มเกิดการรื้อฟื้นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ภาษาของบรรพบุรุษ โดยตอนนี้โรงเรียนในชุมชน ก็ได้ทำหลักสูตรภาษาท้องถิ่น ให้เด็กๆ ได้หัดพูดภาษาไทยพวนด้วย

ส่วนกลางของห้อง ที่โดดเด่นก็คือเรือไม้แบบต่างๆ ทั้งใหญ่ เล็ก บางลำขุดจากไม้ต้นเดียว และมีพายลงรักปิดทอง เขียนลายสวยงาม ครกตำข้าวทำจากไม้ และสีฝัด ด้านหลังห้องยังมีอุปกรณ์การเกษตรแบบโบราณบางส่วนกองรวมกันอยู่เนื่องจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้โยกย้ายสถานที่มาหลายครั้ง เหตุเพราะสถานที่ยังไม่ลงตัว หลังจากนี้อาจจะมีการย้ายไปยังสถานที่ที่เหมาะสมกว่าอีกครั้ง

ด้านหลังของห้องจัดแสดง จำลองเป็นห้องครัวมีเครื่องไม้ใช้สอยในครัวแบบโบราณอีกหลายชิ้นจัดแสดงทั้งหม้อดินเผา อ่าง กระบวยทำจากกะลาแบบต่างๆ ริมฝาผนังแขวนลายผ้าทอแบบโบราณของชาวพวนไว้ด้วย ผ้าผืนเล็กๆใส่กรอบนี้เป็นผ้าห่อคัมภีร์ หรือตุงรูปสัตว์ต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีเตารีดโบราณ ปิ่นโตสังกะสี และชุดการแต่งกายของชาวไทยพวน ใส่ไว้ในหุ่นให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาได้เห็นตัวอย่าง ผู้หญิงใส่ ผ้าซิ่นสีเขียว เสื้อแขนกระบอกสีแดง ผู้ชายใส่ชุดม่อฮ่อม มีภาพคุณยายแก่ๆ ที่แต่งกายแบบโบราณและหาบของมาทำบุญที่วัดด้วย

ในเรื่องของงานบุญประเพณีของไทยพวนที่ชุมชนนี้ยังรักษาไว้ได้เหนียวแน่นคือประเพณีกำฟ้า ที่จะจัดอย่างยิ่งใหญ่ทุกปีในเดือน 3 บุญประเพณีนี้ชาวไทยพวนทุกที่ในประเทศไทยจะจัดในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นการแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่บนฟ้า นอกจากนี้ยังมีงานบุญกวนข้าวทิพย์และอีกหลายอย่างหมุนเวียนกันไปทั้งปี หากใครสนใจก็สามารถมาร่วมชมงานบุญประเพณีต่างๆ ได้ที่วัดกุฎีทองแห่งนี้

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แม่จะยังจัดแสดงได้ไม่เต็มที่เพราะต้องย้ายสถานที่หลายครั้ง แต่โดยความตั้งใจของ คณะกรรมการดูแลซึ่งเป็นทั้งอาจารย์ในโรงเรียน ผู้ใหญ่ในชุมชน พระ และปราชญ์ชาวบ้านหลายๆ ท่าน ที่ต้องการให้ลูกหลานของตนไม่ลืมรากเหง้าความเป็นไทยพวน น่าดีใจที่เอกลักษณ์ของชาติพันธุ์เหล่านี้คงจะไม่หายไปตามกาลเวลา

มัณฑนา ชอุ่มผล /เขียน
ข้อมูลจาก: สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 27 กรกรฎาคม 2554 
 

ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ศิลปะท้องถิ่นไทยพวน วัดกุฎีทอง


พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวน วัดกุฎีทอง เริ่มต้นเก็บสิ่งของเมื่อ 8 - 9 ปีที่ผ่านมา โดยสิ่งของต่างๆ มาจากการบริจาคของชาวบ้านและเป็นสิ่งที่ท่านพระครูนาควรคุณ ได้สะสมไว้ พระครูเมตตานุศาสน์เป็นผู้ก่อตั้ง และนาวาเอกเถลิง ศิริพงษ์พันธุ์ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน แต่เดิมสิ่งของต่างๆ เก็บไว้ที่ใต้ถุนตึกด้านใน (ใกล้กุฏิเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน) แต่ย้ายสิ่งของต่างๆ ไปยังอาคารที่สร้างใหม่เป็นการเฉพาะด้วยเหตุของน้ำท่วม เมื่อเดือนตุลาคม 2544

พิพิธภัณฑ์เป็นอาคารสองชั้น แต่มีพื้นที่จัดแสดงที่ชั้นหนึ่งเพียงชั้นเดียว ห้องจัดแสดงมีหน้าต่างบานเกล็ดโดยรอบ ส่วนตู้จัดแสดงจัดทำขึ้นอย่างถาวรด้วยโครงเหล็กและบานกระจกโดยติดตั้งขนานไปกับแนวบานเกล็ด นอกจากตู้จัดแสดงแล้ว ยังมีข้าวของที่ว่างอยู่ช่วงกลางห้องและบอร์ดนิทรรศการที่ขัดขึ้นตามวาระต่างๆ ว่างอยู่ ณ ทางเข้าห้องพิพิธภัณฑ์ เช่น ทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าวของในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงตามประเภทของกลุ่มสิ่งของ เช่น ผ้าและเสื้อผ้า เครื่องมือดักสัตว์ สำรับอาหารหรือ "พาข้าว" โอ่งหรือภาชนะดินเผา แจกันและเครื่องกระเบื้อง อุปกรณ์ทอผ้า เครื่องจักสาน ครกตำข้าว เครื่องดนตรีและกลองยาว เอกสารสำคัญ พระพุทธรูป ตาลปัตร พัด และตู้พระไตรปิฎก ชิ้นส่วนพระพุทธรูปสลักหิน โม่ข้าว เครื่องบดยา ถ้วยรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณที่หมู่บ้านได้รับจากงานต่างๆ วัตถุบางส่วนมีคำเรียกวัตถุเขียนลงบนกระดาษและติดไว้บนวัตถุ บางชิ้นใช้ปากกาเมจิกเขียนชื่อเรียกลงบนวัตถุโดยตรง สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ แม้การจัดแสดงวัตถุโดยส่วนใหญ่ไม่สามารถเล่าเรื่องโดยตรง แต่จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สัมพันธ์กับ "สำนึกชาติพันธุ์" ในการรวมตัวกลุ่มไทพวน ดังที่มีการตั้งชมรมไทพวน 19 จังหวัด ในแต่ละปี จะมีการจัดงานประจำปีเวียนกันไปในแต่ละจังหวัด

พิพิธภัณฑ์ไทยพวนจึงเป็นเสมือนการรวบรวมประวัติศาสตร์การอพยพและการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ในปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ได้พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้วัดกุฎีทอง โดยสภาวัฒนธรรมจังหวัดให้ทุนสนับสนุนจำนวนหนึ่งในการทำประวัติและวีดิทัศน์ในการเสนอเรื่องราวของพวน นอกจากนี้ ยังมีแนวแนวคิดในการจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวในชุมชน ทั้งในบริเวณวัด พิพิธภัณฑ์ และเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับวัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรีไปพร้อมๆ กัน

ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามวันที่ 21 เมษายน 2548
ชื่อผู้แต่ง:
-

ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง