พิพิธภัณฑ์วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร


พิพิธภัณฑ์วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เดิมเป็นพระวิหารหลวงหรือพระวิหาร 16 ห้อง ตั้งอยู่เชิงบันไดใกล้พระราชนิเวศน์โบราณ เดิมถูกใช้เป็นที่ประทับเจ้านายฝ่ายใน ต่อมาในช่วงงานเทศกาลจะเป็นที่พักของพระอาคันตุกะ และใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลของพุทธศาสนิกชน ในปี 2478 จึงเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งพระพุทธบาท ภายในเก็บรักษาโบราณวัตถุศิลปวัตถุของวัด อาทิ เครื่องทรงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เครื่องลายครามสังคโลก เครื่องทองสำริดโบราณ ศาสตราวุธโบราณ รอยพระพุทธบาทจำลอง ยอดมณฑปพระพุทธบาทเก่า และพัดยศของพระสงฆ์สมัยต่าง ๆ

ที่อยู่:
วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ต.ขุนโขลน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี
วันและเวลาทำการ:
เปิดให้เข้าชมเฉพาะช่วงงานเทศกาลนมัสการพระพุทธบาท ปีละ 2 ครั้ง คือตั้งแต่ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จนถึงแรม 1 ค่ำ และตั้งแต่ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 จนถึงแรม 1 ค่ำ
ค่าเข้าชม:
คนไทยไม่เสียค่าเข้าชม, ต่างชาติคนละ 30 บาท
เว็บไซต์:
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร

วัดพระพุทธบาท นามทางราชการว่า วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดพิเศษ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อปีพุทธศักราช 2167 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น  เนื่องมาจากที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรรอยพระพุทธบาทประดิษฐาน ณ ที่นั้นมีพระราชศรัทธาเลื่อมใส โปรดเกล้าฯ ให้ช่างก่อเรือนคฤหหลังน้อยครอบรอยพระพุทธบาทไว้ เป็นการชั่วคราวก่อน หลังจากได้เสด็จกลับราชธานีกรุงศรีอยุธยา ได้เริ่มงานสถาปนายกสถานที่รอยพระพุทธบาทขึ้นเป็นพระมหาเจดีย์สถานและโปรดให้สร้างพระมหามณฑปครอบรอยพระพุทธบาท พร้อมกับโปรดให้เจ้าพนักงานสร้างพระอารามสำหรับพระภิกษุ สามเณรอยู่อาศัยประจำ เพื่อการดูแลรักษาและบำเพ็ญสมณธรรมสืบไป 
 
วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ตั้งอยู่ที่ตำบลขุนโขลน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 28 กิโลเมตร มีทางเลี้ยวซ้ายก่อนถึงอำเภอพระพุทธบาทเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ปูชนียสถานที่สำคัญคือ "รอยพระพุทธบาท" ที่ประทับไว้บนแผ่นหินเหนือไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือเขาสัจจพันธคีรี รอยพระบาทมีความ กว้าง 21 นิ้ว ยาว 5 ฟุต ลึก 11 นิ้ว ค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม
 
พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นรอยพระบาทตามลักษณะ 108 ประการ จึงโปรดฯ ให้สร้างมณฑปชั่วคราว ครอบรอยพระบาทไว้ ต่อมาได้มีการสร้างต่อเติมกันอีกหลายสมัย ลักษณะของพระมณฑป เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบเครื่องยอดรูปปราสาท 7 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียว มีซุ้มบันแถลงประดับทุกชั้น มีเสาย่อมุมไม้สิบสอง ปิดทองประดับกระจกโดยรอบ ฝาผนังด้านนอกปิดทองประดับกระจกเป็นรูปเทพพนม มีพุ่มข้าวบิณฑ์ บานประตูพระมณฑปเป็นงานศิลปกรรมประดับมุกชั้นเยี่ยมของเมืองไทย พื้นภายในปูด้วยเสื่อเงินสาน ทางขึ้นพระมณฑปเป็นบันไดนาคสามสาย ซึ่งหมายถึง บันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว ที่ทอดลงจากสวรรค์ หัวนาคที่เชิงบันไดหล่อด้วยทองสำริด เป็นนาค 5 เศียร บริเวณรอบมณฑปมีระฆังแขวนเรียงราย เพื่อให้ผู้ที่มานมัสการได้ตีเป็นการแผ่ส่วนกุศลแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย พระอุโบสถ และพระวิหารต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบ ล้วนสร้างตามแบบศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา และตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์
 
นอก จากนี้ ในบริเวณวัดยังมี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธบาท (วิหารหลวง) ซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมศิลปวัตถุอันมีค่ายิ่ง อาทิ เครื่องทรงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เครื่องลายครามสังคโลก เครื่องทองสำริดโบราณ ศาสตราวุธโบราณ รอยพระพุทธบาทจำลอง ยอดมณฑปพระพุทธบาทเก่า พัดยศของพระสมัยต่าง ๆ และท่อประปาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วิหารหลวงจะเปิดให้ชมเฉพาะช่วงที่มีงานเทศกาลนมัสการพระพุทธบาท ซึ่งปกติจัดให้มีปีละ 2 ครั้ง คือตั้งแต่ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จนถึงแรม 1 ค่ำ และตั้งแต่ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 จนถึงแรม 1 ค่ำ 
 
ข้อมูลจาก: http://watphrabuddhabat.org/home/[accessed 12072011]
ชื่อผู้แต่ง:
-