ศูนย์ศิลปาชีพประชาสุขสันต์ และพิพิธภัณฑ์ชีวิตพระสุเมธาธิบดี


ที่อยู่:
เลขที่ 84 หมู่ที่ 4 ถนนบ้านหมี่-โคกสำโรง ต.บ้านกล้วย อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี 15110
โทรศัพท์:
0-3647-1847,08-1923-1624
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2535
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์ศิลปาชีพประชาสุขสันต์ และพิพิธภัณฑ์ชีวิตพระสุเมธาธิบดี

ท่านพระครูสุเมธาธิบดี ท่านมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กรรมการเถรสมาคม นายกสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นายกมหาธาตุวิทยาลัยอธิบดีสงฆ์ ยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้นำทางศาสนาที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง เดิมพระครูสุเมธาธิบดีเป็นชาวตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี และท่านได้สร้างศูนย์ศิลปาชีพประชาสุขสันต์ ที่บ้านกล้วย  เมื่อปี พ.ศ.2535 เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีงานทำ ยากจน ให้ได้มีอาชีพเป็นของตนเอง ภายในศูนย์ศิลปาชีพแห่งนี้ มีอาคารหอประชุม อาคารฝึกงาน และที่พักของผู้มาปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ยังได้มีการก่อตั้งชมรมไทยพวนบ้านหมี่ขึ้น  
 
บริเวณชั้น 1 ของอาคารสำนักงาน  แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นส่วนจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ รวมถึงบริเวณชั้นสองของอาคาร ข้าวของจำนวนมากที่จัดแสดง  ส่วนหนึ่งได้มาจากการที่มีคนเอามาถวายกับท่านพระครูฯ ตั้งแต่ที่ยังเป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะกรุงเทพมหานครที่วัดมหาธาตุยุวราษฎร์รังสฤษดิ์ ที่สนามหลวง
 
ภายในชั้น 2  จัดหมวดหมู่ของการนำเสนอไว้คละเคล้ากันไป แต่ก็ยังเห็นเป็นประเภทอยู่บ้าง เช่น มุมที่จัดแสดงเครื่องถ้วยน้ำชาแบบจีนก็มีเป็นจำนวนมากหลายชุด  เครื่องธุดงค์ของท่านพระครู และด้วยพระครูสุเมธาธิบดีท่านไปปฏิบัติหน้าที่พระธรรมฑูตอยู่ที่ประเทศอินเดียนานถึง 26 ปี จึงมีภาพถ่ายในหลายโอกาส ที่มีเจ้านายเสด็จไปยังประเทศอินเดียและได้นมัสการท่านพระครู  ในช่วงเวลาที่ท่านพำนักอยู่ในประเทศอินเดียนั้น รัฐบาลอินเดียได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ทางด้านปรัชญาศาสนา พิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงครุยวิทยฐานะของพระครูท่านฯ ไว้ด้วย เป็นครุยสีเหลืองแบบเดียวกับจีวรพระภิกษุ
 
บางตู้ก็จัดแสดงตำราเรียน หรือหนังสือเก่าแก่ที่ท่านสะสม  กลักไม้ขีดนำเข้าจากต่างประเทศ กระป๋องออมสิน และมีใบแสดงการตั้งนามสกุลเดิมของท่านพระครูคือ ตระกูลคล่องสั่งสอน ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้โปรดพระราชทานนามสกุลให้แก่ ร้อยโททองคำ เพชรรุ่ง ซึ่งเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนนายร้อย จปร. จากนั้น ตระกูลเพชรรุ่ง จึงเปลี่ยนเป็น “คล่องสั่งสอน” ทั้งหมดตามที่ได้รับพระราชทานนามสกุล บริเวณฝาผนังของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงภาพถ่ายเก่าของบรรพบุรุษในตระกูลนี้เอาไว้ด้วย  อีกด้านหนึ่ง จัดแสดงตาลปัตร พัดยศ ร่วมทั้งโล่ห์และเหรียญตรา ที่ท่านได้มาในวาระต่างๆ เจดีย์พุทธคยาที่จำลอง
 
นอกจากที่ท่านจะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ยังประเทศอินเดียแล้ว ท่านยังได้เดินทางธุดงค์ไปยังประเทศพม่าหลายครั้ง ดังจะเห็นได้จากตาลปัตร ที่ทำจากใบตาลจริงๆ แบบที่พระในประเทศพม่ายังใช้อยู่ หลายด้ามด้วยกัน  นอกจากนี้ยังมีใบประกาศจากประเทศพม่า
 
เมื่อเดินลงมาที่ชั้น 1 บริเวณชั้นพักบันได ประดับด้วยกระเบื้องดินเผาแกะสลัก ที่เล่าประวัติของท่านพระครูสุเมธาธิบดี ทั้งเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่พระธรรมฑูตยังประเทศอินเดีย และเรื่องที่ท่านมาตั้งศูนย์ศิลปาชีพประชาสุขสันต์ และการฝึกอาชีพการทอผ้าให้กับชาวไทยพวน  รวมทั้งเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าจากฝีมือของชาวบ้านไปด้วย  ข้างห้องกระจกเป็นห้องที่เคยเป็นสำนักงานของชมรมชาวไทยพวนแห่งประเทศไทยมาก่อน แต่ในปัจจุบันชมรมได้ย้ายที่ทำการออกไปแล้ว 
 
ภายในชั้น 1 มีตู้จัดแสดงเครื่องกระเบื้องบางส่วนที่ได้รับถวายมาจากการรับกิจนิมนต์จากที่ต่างๆ และจากที่มีคนนำมาถวาย  นอกจากนี้ยังจำลองภาพห้องทำงานของท่านพระครู พร้อมทั้งมีรูปจำลอง(หุ่นขี้ผึ้ง)ของพระครูท่านขณะกำลังทำงานอยู่ด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าอิริยาบทของท่าน เวลาที่ไม่ได้รับกิจนิมนต์นั้นคือ การทำงาน เขียนหนังสือ และอ่านหนังสือ 
 
บริเวณโดยรอบของอาคารพิพิธภัณฑ์ มีหอประชุมและอาคารหลังเล็กๆ ที่เคยใช้เป็นห้องวิปัสสนาของประชาชนที่มาปฏิบัติธรรมถือศีล  แต่เมื่อหลวงพ่อท่านได้มรณภาพไปในปี พ.ศ.2547  ศูนย์แห่งนี้ก็ค่อยๆ ซบเซาลง ทั้งคนมาปฏิบัติธรรมและคนมาฝึกอาชีพน้อยลงจนเงียบเหงา
 
สำรวจวันที่ 11 มิถุนายน 2553
ชื่อผู้แต่ง:
-