พิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์


พิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์ก่อตั้งขึ้นในปี 2540 ด้วยความดำริของพระครูโสภณธรรมรัต(อาศรม ธมฺมทีโป) เจ้าอาวาสวัดเชิงท่า เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าทางศาสนา ศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ อันเป็นสมบัติเก่าแก่ของวัดและของส่วนตัวของท่านพระครูโสภณธรรมรัต วัตถุต่าง ๆ รวบรวมมาจากสองแหล่งสำคัญคือ สมบัติของวัดเชิงท่าที่มีมาแต่เดิม และสมบัติส่วนตัวของท่านพระครูโสภณธรรมรัต แม้วัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑ์วัดอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป พระคัมภีร์ พระบฎ เครื่องถ้วย ตู้คัมภีร์ ตาลปัตร แต่การจัดแสดงด้วยเรื่องราวของวัด และพระพุทธศาสนาได้ยึดโยงและสอดผสานไปกับสิ่งของจนทำให้ผู้ชมได้เข้าใจชีวิตทางสังคมชาวพุทธได้อย่างลงตัว

ที่อยู่:
วัดเชิงท่า ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี 15000
โทรศัพท์:
0-3661-8388
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 08.30-16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2545
ของเด่น:
พัดรองที่สร้างขึ้นในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ,ผ้าห่อคัมภีร์, พระพุทธรูปศิลปะต่างๆ
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ที่ระลึกในวโรกาส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิด พิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์ วัดเชิงท่า อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี 30 ม.ค. 2545

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 2545

ที่มา: ลพบุรี: วัดเชิงท่า

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


รีวิวของพิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์

พิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์ก่อตั้งขึ้นในปี 2540 ด้วยความดำริของพระครูโสภณธรรมรัต(อาศรม   ธมฺมทีโป) เจ้าอาวาสวัดเชิงท่า เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าทางศาสนา ศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ อันเป็นสมบัติเก่าแก่ของวัดและของส่วนตัวของท่านพระครูโสภณธรรมรัต
           
การจัดแสดงศิลปกรรมโบราณวัตถุเริ่มเมื่อพ.ศ. 2542 และสำเร็จเรียบร้อยในพ.ศ. 2544 ด้วยความร่วมมือของบุคคลหลายฝ่าย อาทิ คณะสงฆ์วัดเชิงท่าและวัดกวิศการามราชวรวิหาร ชุมชนวัดเชิงท่าและศิษยานุศิษย์ของท่านพระครูโสภณธรรมรัต รวมถึงนักวิชาการด้านต่าง ๆ จากภายนอก โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชทานดำเนินเปิดพิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2545
 
พิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์มีพื้นที่จัดแสดง 253 ตารางเมตร วัตถุต่าง ๆ รวบรวมมาจากสองแหล่งสำคัญคือ สมบัติของวัดเชิงท่าที่มีมาแต่เดิม และสมบัติส่วนตัวของท่านพระครูโสภณธรรมรัต แม้วัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑ์วัดอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป พระคัมภีร์ พระบฎ เครื่องถ้วย ตู้คัมภีร์ ตาลปัตร แต่การจัดแสดงด้วยเรื่องราวของวัด และพระพุทธศาสนาได้ยึดโยงและสอดผสานไปกับสิ่งของจนทำให้ผู้ชมได้เข้าใจชีวิตทางสังคมชาวพุทธได้อย่างลงตัว
               
การจัดแสดงแบ่งออกเป็น 5 ส่วน เริ่มต้นด้วยการบอกเล่า ประวัติวัดเชิงท่าด้วยภาพถ่ายสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของวัด และภาพเก่าของอดีตเจ้าอาวาส เพื่อความเข้าใจในที่มาที่ไปของศาสนสถานที่สำคัญแห่งนี้ เรื่องราวเกี่ยวกับพระอุโบสถ พระเจดีย์ ศาลาตรีมุข เรื่อยมาจนถึงหอระฆัง และศาลาการเปรียญ รวมถึงประวัติเจ้าอาวาสวัดเชิงท่า เหล่านี้จึงเปรียบเสมือน "ประตูพระอุโบสถ" ที่ได้เชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้าไปสัมผัสชีวิตพุทธศาสนาในช่วงต่อไป
             
พระสงฆ์ พระรัตนตรัยดวงแรก อันหมายถึงนักบวชผู้เชื่อฟังคำสอนและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เป็นส่วนจัดแสดงถัดมาที่เล่าถึงวัตถุที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวัตรปฏิบัติของภิกษุ เครื่องบริขารของสงฆ์ เช่น ไตรจีวร บาตร และตาลปัตร โดยประกอบประวัติศาสตร์ที่มาของวัตถุเหล่านี้ เช่น พัดรองที่สร้างขึ้นในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ของสะสมของท่านเจ้าอาวาส อาทิ เครื่องเคลือบจีน เครื่องเคลือบไทย ธรรมาสน์ที่ได้รับการนำเสนอด้วยการกล่าวถึงหน้าที่ใช้งาน ประวัติ ลักษณะศิลปะ และสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับคติพุทธศาสนา รวมถึงความสัมพันธ์กับพิธีกรรมต่าง ๆ กับผู้คนในสังคม เช่น การแสดงธรรมเทศนา การเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นเสมือนสื่อกลางที่เชื่อมโยงชาวพุทธเข้าสู่พระรัตนตรัยดวงที่สอง หรือ พระธรรม อันเป็นเนื้อหาการจัดแสดงในส่วนต่อไป
             
วัตถุที่ผูกโยงกับเนื้อหาการจัดแสดงส่วนนี้นอกจากพระไตรปิฎกแล้ว ยังรวมถึงตู้เก็บคัมภีร์ที่ถูกอธิบายถึงความเป็นมา สัญลักษณ์ และความหมาย ที่สัมพันธ์กับพุทธประวัติหรือเรื่องราวอื่น ๆ คัมภีร์ใบลาน ผ้าห่อคัมภีร์ที่แสดงถึงความศรัทธาของชาวพุทธในการเลือกผ้าห่อคัมภีร์ที่มีความวิจิตรงดงาม เพื่อปกป้อง "ของสูงของศักดิ์สิทธิ์" ให้พ้นจาการเปื้อนเปรอะจากฝุ่นละออง การกัดทำลายของมดหรือแมลง นอกจากนี้ยังจัดแสดงสมุดไทยที่เป็นคลังของวิชาการทางโลก เวทมนต์คาถา ตำราหมอดู ตำราเรียนภาษาไทย กฎหมาย วรรณกรรมท้องถิ่น 
             
พระรัตนตรัยคงจะไม่ครบองค์สามหากไม่กล่าวถึง พระพุทธ มหาเวสสันดรชาดกซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยพระชาติถัดมาเป็นพระพุทธเจ้า ถูกเรียบเรียงผ่านภาพพระบฎ 13 ผืน อันหมายถึงกัณฑ์ทั้ง 13 ในการเทศน์มหาชาติ เรื่องราวนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเนื้อหาในส่วนสุดท้ายของการจัดแสดง ซึ่งอยู่บนชั้นลอยในตัวอาคาร จากนั้นเป็นการจัดแสดงพระพุทธรูปที่มีรูปแบบศิลปกรรมแตกต่างกันไป พระพุทธรูปปางสมาธินาคปรก อิทธิพลศิลปะเขมรแบบบายน อายุราว พ.ศ. 1750-1800 พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย อายุราว พ.ศ. 2200-2300 เป็นต้น
             
พิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์แห่งนี้สร้างสรรค์ให้วัตถุที่จัดแสดงมิใช่เพียง "ศิลปวัตถุ" ที่เดินเรื่องด้วยยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะ หรือพยายามกลายสภาพศาสนวัตถุให้เป็นประติมากรรม หรือสิ่งของที่สร้างความตื่นตาตื่นใจหากแต่เป็นการนำแก่นวิถีของชาวพุทธ มาผูกโยงเป็นเรื่องราวให้เกิดปัญญาญาณแก่ผู้เข้าชม ความลงตัวระหว่างโบราณวัตถุและเนื้อหาที่นำเสนอเช่นนี้คงทำให้ใครหลาย ๆ คนอยากย้อนกลับมาชมพิพิธภัณฑ์วัดกันอีกครั้ง พิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าถึงชีวิตของวัดและพุทธศาสนา
 
ข้อมูลจาก: 
1. การสำรวจโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2548
2. ภูธร  ภูมะธน(บรรณาธิการ). ที่ระลึกในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์ วัดเชิงท่า อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี 30 มกราคม 2545. กรุงเทพฯ: พี.เอ.ลิฟวิ่ง, 2545.
3. แผ่นพับประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์.
ชื่อผู้แต่ง:
-