พิพิธภัณฑ์วัดเขาวงพระจันทร์


พิพิธภัณฑ์วัดเขาวงพระจันทร์ ตั้งอยู่ที่วัดเขาวงพระจันทร์ ต.ห้วยโป่ง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ก่อตั้งโดยหลวงพ่อฟัก เจ้าอาวาสวัดเขาวงพระจันทร์ พิพิธภัณฑ์เป็นอาคารไม้สัก 3 ชั้น อาคารชั้นแรกเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรารีริกธาตุ และพระธาตุสำคัญของพระเกจิอาจารยร์องค์ต่างๆ อีกส่วนเป็นที่จัดแสดงเครื่องลายคราม ถ้วยโถ โอชาม ชั้นสองเป็นเครื่องรางของขลังจำพวกพระเครื่องขนาดเล็ก และพระเครื่องสำคัญที่มีผู้มาถวายวัด ชั้นสาม จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 และเทวรูปต่างๆ

ที่อยู่:
วัดเขาวงพระจันทร์ ต.ห้วยโป่ง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี 15120
โทรศัพท์:
036-650153, 036-650188
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันเสาร์-อาทิตย์ 8.30 – 16.30 น
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
ทันตธาตุสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระเครื่อง, เครื่องกระเบื้องลายคราม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดเขาวงพระจันทร์

วัดเขาวงพระจันทร์ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะมีพระครูสมถวิกรม หลวงพ่อฟัก ภทฺทจารี เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นพระนักพัฒนาและมีวัตรปฏิบัติที่น่านับถือ จึงทำให้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย   สิ่งสำคัญของวัดเขาวงพระจันทร์ คือ รอยพระพุทธบาทบนยอดเขาวงพระจันทร์  ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนนิยมเดินขึ้นไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล  รอยพระพุทธบาทนี้มีตำนานเรื่องเล่ามากมาย ตั้งแต่เกี่ยวกับรามเกียรติ และพระฤาษีในยุคพุทธกาล และตำนานหลวงพ่อโอภาสีเดินทางธุดงค์มาที่เขาแห่งนี้ และพบรอยพระพุทธบาทจึงมอบให้ลูกศิษย์ซึ่งก็คือหลวงพ่อฟัก พัฒนาเป็นวัดแห่งนี้ขึ้นมา
 
มีตำนานเล่าที่มาของเขาแห่งนี้ว่า ยักษ์ชื่อท้าว"กกขนาก" ยักษ์ตนสุดท้ายที่ไม่ยอมแพ้พระรามในเรื่องรามเกียรติ์ จึงถูกพระรามแผลงศร โดนยักษ์กระเด็นลอยละลิ่วข้ามมหาสมุทรอินเดียมาตกที่ยอดเขาลูกนี้ แล้วพระรามก็สาปให้ศรปักอกเอาไว้หากวันใดที่ศรเขยื้อน ให้หนุมานเอาฆ้อนมาตอกย้ำลูกศร ให้ปักอกไว้เช่นเดิม ยักษ์กกขนากยังไม่ตายในทันทีนอนเจ็บรอความตายอยู่บนเขาลูกนี้ ฝ่ายนางนงประจันทร์ลูกสาวยักษ์ก็เหาะตามพ่อมา เพื่อดูแลพ่อ นางทราบว่าหากได้น้ำส้มสายชูมารดที่โคนศรแล้วศรจะเขยื้อนหลุดออกมาได้ แต่เมื่อศรเขยื้อน ไก่แก้วก็จะขันเรียกหนุมานเอาฆ้อนมาตอกศร เมื่อนางนงประจันทร์ช่วยพ่อยักษ์ไม่ได้ ก็ตรอมใจตาย ฝ่ายยักษ์กกขนากเมื่อลูกสาวตายก็เลยตายตามไปด้วย จากตำนานนี้จึงเรียกเขาลูกนี้ว่า เขานงประจันต์หรือนางพระจันทร์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๖ หลวงพ่อโอภาสี ได้ขึ้นมาบนเขานี้ และเห็นว่าบริเวณเขาทั้ง ๔ ด้าน เป็นรูปเขาโค้ง มองทางไหนก็เห็นเป็นวงโอบล้อมอยู่ จึงขนานนามว่า "เขาวงพระจันทร์"
 
ในส่วนของพิพิธภัณฑ์นั้นเมื่อเดินเข้าไปภายในวัดเขาวงพระจันทร์แล้ว จะพบกับป้ายเล็กๆ ชี้ทางไปพิพิธภัณฑ์ เดินขึ้นไปตามบันไดแคบๆ อาจจะเดาไม่ออกว่าพิพิธภัณฑ์ที่จะได้พบจะเป็นอย่างไร ด้านหน้าจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลพาเข้าไปชม ผ่านทางเดินแคบๆ ที่เรียงรายสองข้างทางด้วยเทวรูปหินทรายสลัก เมื่อถึงตัวพิพิธภัณฑ์ก็ต้องทึ่งกับอาคารไม้สักสามชั้น ที่ซ่อนตัวอยู่ในหมู่อาคาร ด้านหน้าประดับด้วยก้อนหินแร่ขนาดใหญ่ มีทั้งหยกก้อนโต แท่งแร่ควอท และไม้แกะสลักนูนต่ำรูปหลวงพ่อฟัก   เมื่อก้าวเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ เจ้าหน้าที่แนะนำให้เข้าไปสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ

ส่วนพระทันตธาตุ ที่ห้องด้านในสุดก่อน ห้องนี้ออกแบบให้แยกไปจากตัวพิพิธภัณฑ์ เพื่อที่นักท่องเที่ยวจะได้ไม่เดินอยู่เหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด กล่าวกันว่าห้องนี้อยู่ตรงข้ามกับห้องของหลวงพ่อฟักซึ่งอยู่ด้านใน ตกแต่งห้องด้วยโทนสีทองเป็นหลัก และรวมรวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้มากมาย เช่นพระพุทธรูปปางต่างๆ พระฤาษี เทวรูป และเครื่องรางของขลังหายาก
อีกด้านของเป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์สิ่งของจัดแสดงทั้งหมด เป็นของที่หลวงพ่อฟักสะสมมากว่า 50 ปี ชั้นที่หนึ่งเต็มไปด้วยเครื่องกระเบื้อง จานชามลายครามที่สวยงาม จัดเก็บไว้อย่างสะอาดสะอ้านในตู้จัดแสดง สิ่งที่น่าสนใจคือปากกาที่เก็บไว้ในแก้วครอบฝามีจำนวนมากตั้งเรียงราย เป็นของสะสมของหลวงพ่อที่ลูกศิษย์ได้นำมาถวาย พอมากเข้าหลวงพ่อจึงนำมาเก็บในพิพิธภัณฑ์ ด้านหลังห้องมีไม้เท้าจำนวนมากซึ่งลูกศิษย์นำมาถวายหลวงพ่อฟัก รวมทั้งงาช้างทั้งของจริงและจำลองที่มีผู้มาถวายมากมาย อีกส่วนมีภาชนะเครื่องปั้นดินเผาก่อนประวัติศาสตร์ยุคบ้านเชียง และบางชิ้นผู้ดูแลบอกว่าเป็นฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ และเล็บไดโนเสาร์ ที่น่าตื่นตาสำหรับผู้ยังมีกิเลสก็คือ ธนบัตรใบละร้อย ห้าร้อย และหนึ่งพัน ย่อยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วอัดใส่เรซิน ดูแล้วปลงว่าเงินทองก็คือเศษฝุ่นธุลีที่คนสมมติขึ้นเท่านั้น  

อีกชิ้นที่น่าสนใจคือ ไม้จันทร์หอมแกะสลักเป็นรูปหลวงพ่อฟัก ที่ลูกศิษย์ผู้มีศรัทธาแรงกล้าต่อหลวงพ่อช่วยกันทำขึ้น


ชั้นสองจัดแสดงพระเครื่องทั้งหมด เป็นพระเครื่องที่หลวงพ่อฟักสะสม ที่มีมากมายหลายขนาดเพราะแต่ละวัดที่เป็นลูกศิษย์ของท่านเมื่อออกเครื่องรางของขลังก็จะนำมาถวายหลวงพ่อเป็นจำนวนมาก อีกด้านเป็นพระเลี่ยมทอง พร้อมสร้อยคอทองคำ เป็นของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วลูกหลานจึงนำมาถวายให้หลวงพ่อ เล่ากันว่าบางองค์เป็นพระสมเด็จวัดระฆังชื่อดัง ที่นักดูพระต้องมาหาชมที่นี่เท่านั้น ด้านหลังห้องเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ จากประเทศต่างๆ ที่หลวงพ่อเคยเดินทางไปธุดงค์ และตาลปัตร พัดยศ ของหลวงพ่อฟัก
 
ชั้นสาม รวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ไว้จำนวนมาก เป็นของที่ลูกศิษย์หลวงพ่อฟักนำมาถวายจนต้องยกชั้น 3 ให้เก็บไว้สูงสุด ด้านหน้าชานมีเทวรูปโบราณและรูปแกะสลักหินเก่าแก่   นอกจากนี้ยังมีหม้อสนามของทหารยุคสงครามโลก ที่ทั้งหนาและหนัก น่าจะหุงข้าวเลี้ยงทหารได้สักหนึ่งกองพัน  ข้าวของมากมายในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่เ จ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องจะจัดประเภทของจัดแสดงตามหมวดหมู่ที่คล้ายๆ กัน 
 
 สิ่งของจัดแสดงแต่ละชิ้นล้วนมีคุณค่าและน่าประทับใจ ซาบซึ้งว่าหลวงพ่อฟักคงจะมีลูกศิษย์ที่มีศรัทธาต่อท่านมากมายจริงๆ จึงมีพิพิธภัณฑ์ที่สวยงามเช่นนี้ ในอนาคตทางวัดจะสร้างอาคารบนภูเขาเพิ่มเติม เพื่อรองรับให้ผู้มีจิตศรัทธาได้เข้ามาทำบุญปฏิบัติธรรมกันอย่างทั่วถึง ซึ่งมักจะมามากในเทศกาลตรุษจีนราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และวัดจะจัดงานบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ในช่วงนี้ทุกปี
 
พิพิธภัณฑ์วัดเขาวงพระจันทร์ เปิดเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์เท่านั้น ใครที่มีเวลาว่างเดินทางไปทำบุญและชมพิพิธภัณฑ์ได้ หรือใครที่อยากจะขึ้นไปสักการะบูชารอยพระพุทธบาทที่ยอดเขาวงพระจันทร์ เดินขึ้นบันไดไปเพียง 3,790 ขั้นเท่านั้น ผู้ดูแลบอกว่าการขึ้นไปไหว้รอยพระพุทธบาทนั้นแล้วแต่แรงศรัทธา อย่าฝืนสังขารของตนเอง
 
สำรวจวันที่ 17 กรกฎาคม 2553
ชื่อผู้แต่ง:
มัณฑนา ชอุ่มผล