พิพิธภัณฑ์ศูนย์การทหารปืนใหญ่


พิพิธภัณฑ์ทั้งหมดของศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน จ.ลพบุรี มีทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ 1. อาคารอนุสรณ์สถานจอมพล ป.พิบูลสงคราม 2. พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง 3. ตึกพิบูลสงคราม 4. บ้านพักพลเอกพระยาพระหลพลพยุหเสนา 5. อาคารอนุสรณ์สถาน 111 ปี พระยาพหลพลพยุหเสนา 6. พิพิธภัณฑ์อาวุธทหารปืนใหญ่ 7. ตึกกองบัญชาการเขาน้ำโจน (ชาโต้) ที่น่าสนใจคือรูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารต่างๆ และประวัติศาสตร์ของสถานที่อันเกี่ยวข้องกับนโยบายของผู้นำกองทัพและผู้นำประเทศที่สัมพันธ์กับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น อาทิ ตึกกองบัญชาการเขาน้ำโจน (ชาโต้) เป็นอาคารรูปทรงแปลกตาสร้างด้วยรูปแบบอาคารในเมืองหนาว สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2487 โดยดำริของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อให้เป็นจุดสังเกตการณ์ข้าศึก และสังเกตอาณัติสัญญาณจากตึกพิบูลสงคราม ภายในเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับจอมพล ป. และคงไว้ซึ่งเครื่องเรือนในยุคสมัยดังกล่าว

ที่อยู่:
กองวิทยาการ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน ต.เขาพระงาม อ.เมือง จ.ลพบุรี 15000
โทรศัพท์:
0-3648-6395
วันและเวลาทำการ:
กรุณาทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ศูนย์การทหารปืนใหญ่...

โดย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

วันที่: 20 มกราคม 2563

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ศูนย์การทหารปืนใหญ่

วันนี้ได้เข้าไปเยี่ยมเยียนศูนย์การทหารปืนใหญ่ เหมือนเดินเข้าย้อนเข้าไปยังยุคสมัยอดีต เพราะอาคารหลายๆ หลังยังคงเป็นตึกเก่าที่สร้างตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้งค่าย เมื่อเราเดินทางไปยังศูนย์การทหารปืนใหญ่นั้น ผู้นำชม คือ พันตรีรุ้งฟ้า จิตรักษา และจ่าสิบเอกสายัณห์ หอทับทิม ทั้งสองท่านแนะนำพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดของศูนย์การทหารปืนใหญ่นั้น มีอยู่ 7 แห่ง ได้แก่

1.  อาคารอนุสรณ์สถานจอมพล ป.พิบูลสงคราม

2.  พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง

3.  ตึกพิบูลสงคราม

4.  บ้านพักพลเอกพระยาพระหลพลพยุหเสนา

5.  อาคารอนุสรณ์สถาน 111 ปี พระยาพหลพลพยุหเสนา

6.  พิพิธภัณฑ์อาวุธทหารปืนใหญ่

7. ตึกกองบัญชาการเขาน้ำโจน (ชาโต้)

         

1. อาคารอนุสรณ์สถาน จอมพล ป.พิบูลสงคราม อาคารหลังนี้ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเป็นหลังที่ 59 ของค่ายแห่งนี้ สร้างในปี พ..2481  สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ซึ่งเป็นปีที่ พันตรี หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต เป็นผู้บังคับบัญชาของศูนย์ฯ  ภายในอาคารแต่เดิมนั้นใช้ประกอบพิธีรำลึกถึงจอมพล ป.  ตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม ของทุกปี และมีการมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน  นอกจากนี้ก็จะเป็นวันรวมทายาทของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ภายห้องโถงจะมีการทำจุดตำแหน่งการยืนเอาไว้ว่า ฝ่ายทายาทจะยืนฝั่งใดและฝ่ายทหาร รวมถึง ฝ่ายโรงเรียนและผู้เข้าร่วมจะยืนอยู่บริเวณใด เมื่อก่อนนี้สามารถจุคนเข้าร่วมงานได้ภายในห้องนี้กำลังดี  แต่เนื่องจากจำนวนนักเรียนที่เข้ารับทุนมีมากขึ้นเรื่อย และทายาทเพิ่มจำนวนขึ้น มีออกไปยืนด้านนอกบ้าง

บริเวณด้านหน้าของปรำพิธีนั้น จะเป็นอนุสาวรีย์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขนาดเท่าตัวจริง ด้านหลังเป็นฉากกำมะหยี่สีเขียว  ซึ่งเป็นสีประจำวันเกิด และมีรูปไก่สัญลักษณ์ปีเกิดของท่าน ส่วนด้านบนเป็นตราจอมพล ประกอบด้วย มงกุฎ ดาวห้าแฉก 5 ดวง มีช่อราชพฤกษ์และคฑาครุฑกับกระบี่ไขว้กันอยู่  

การจัดแสดงภายใน นำเสนอเรื่องราวภาระกิจของจอมพล ป. ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ยาวนานถึง 8 สมัย ทั้งภาระกิจทางด้านการทหาร  การต่างประเทศและการปกครองประเทศ ในช่วงที่มีการหาเสียงของจอมพล ป. ในช่วงปี พ..2500   ใช้ผ้าเช็ดหน้าพิมพ์ลายเป็นรูปสมาชิกหรือลูกทีมของท่านไว้ และมีข้อความหาเสียงพิมพ์ไว้ด้วย ดังนี้

“ความสุขของประชาชนชาวไทย อย่างเดียวเท่านั้นที่คณะ 9 คนของเราปรารถนายิ่งในการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500” ลงชื่อ ป. พิบูลสงคราม

อีกมุมหนึ่งนำเสนอเรื่องราวหลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกบวช ณ วัดพุทธคยา ประเทศอินเดีย ในช่วง พ..2500 หลังพ่ายแพ่ในการเลือกตั้งในปีนั้น

ด้านบนของอาคารได้จำลองบรรยายกาศห้องนอนและห้องแต่งตัว รวมทั้งเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ ในตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เอาไว้ด้วย


          2. พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ที่มีทั้งตัวอาคารและการจัดแสดงกลางสนาม  ตั้งอยู่ด้านข้างของอาคารอนุสรณ์สถาน จอมพล ป. พิบูลสงคราม

อาคารพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง  จัดแสดงปืนใหญ่พระมหาฤกษ์กับปืนใหญ่พระมหาชัย ปืนใหญ่ที่จัดสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปืนทั้ง 2 กระบอกนี้ จะใช้ในเวลาที่ทัพทหารของราชอาณาจักรสยาม จะกรีฑาทัพเพื่อออกไปปกป้องดินแดนของประเทศ ปืนใหญ่พระมหาฤกษ์จะใช้เป็นสัญญาณในการยกทัพ  และปืนใหญ่พระมหาชัยจะยิงขึ้นในยามที่กองทัพชัยชนะ ซึ่งศูนย์การทหารปืนใหญ่ได้ทำเรื่องขอยืมปืนทั้ง 2 กระบอกนี้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ตั้งแต่ปี พ..2523 และจัดสร้างอาคารหลังนี้เพื่อประดิษฐานปืนทั้ง 2 กระบอก แล้วเสร็จเมื่อปี พ..2548  ภายในนอกจากปืนใหญ่ทั้ง 2 กระบอกนี้แล้ว ยังมีภาพวาดจำลองเหตุการณ์ที่จะใช้ปืนใหญ่ทั้ง 2 กระบอกไว้ให้ชมด้วย 

ด้านนอกของอาคาร จัดแสดงรถหุ้มเกราะ รถปืนใหญ่และปืนใหญ่แบบต่างๆ ไว้จนเต็มพื้นที่สนามหญ้า ส่วนใหญ่เป็นรถและอาวุธที่ปลดประจำการแล้ว สร้างขึ้นในสมัยของพลตรี พัลลภ ตุละรัตเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารปืนใหญ่


          3. ตึกพิบูลสงคราม หรือตึกรับรองหนองหว้า  อาคารสีเขียวแอปเปิ้ลบนเนินสูง นัยยะหนึ่งสร้างเพื่อเป็นบ้านพักของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่วนอีกนัยยะหนึ่งนั้น สร้างเพื่อเป็นหอสังเกตุการณ์เวลาที่จะมีเครื่องบินหรือว่าศัตรูกำลังจะเข้ามาประชิด  สร้างขึ้นในพ..2496 ในสมัยของพลตรีเฉลิม พงษ์สวัสดิ์ เมื่อแรกสร้างตึกนี้ มีนามว่า ตึกพิบูลสงคราม แต่ในปี พ..2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อการปฏิวัติ ป้ายชื่อของอาคารหลังนี้ต้องถูกปลดลง และได้นำกลับมาติดใหม่ในอีก 21 ปี ต่อมา คือ พ..2522 

ภายในตัวอาคารนั้น มิได้ตกแต่งใหม่ แต่ยังคงใช้เฟอร์นิเจอร์เดิมของอาคารที่มีอยู่ ตึกนี้เคยมีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ด้วยกัน ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ที่ผ่านมา

อาคารมีทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นแรก จัดเป็นห้องรับประทานอาหาร  ห้องรับแขก  และห้องประชุม ด้านข้างอาคารมีลานน้ำพุเพื่อจัดงานพบปะสังสรรค์  ชั้นที่สอง บริเวณห้องโถงหน้าบันได ใช้เป็นส่วนรับแขก ห้องซ้ายมือจัดเป็นห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   และพระบรมวงศานุวงศ์  ห้องทางขวามือเป็นห้องนอนของจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ชั้นสามนั้นเป็นห้องพระ

อาคารหลังนี้มีความสวยงามและมีเสน่ห์อยู่ในตัวเป็นอย่างมาก ดูได้จากมีกองถ่ายละครหลายต่อหลายเรื่องที่มามาใช้อาคารหลังนี้ถ่ายทำ เช่น เรื่องแก้วลืมรัง  เคหาสน์สีแดง ดวงใจนักรบ และอีกหลายเรื่องด้วยกัน   อาคารหลังนี้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ทั้งสวนและตัวอาคาร ด้วยเป็นสถานที่ที่มีคนนิยมมาเที่ยว หรือมาถ่ายรูปงานวิวาห์ด้วยเช่นกัน


          4.บ้านพักพันโท” หรือ “บ้านพักพระยาพหลพยุหเสนา” ขณะที่ท่านมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนทหารปืนใหญ่ที่มาเปิดสอนอยู่ที่ลพบุรีนี้

หมายเลขของอาคารหลังนี้คือ 1/69 หมายถึงสร้างเป็นหลังที่ 1 ในปี พ. .2469 อาคารหลังนี้เป็นอาคารหลังแรกของค่ายพหลโยธิน เป็นอาคารไม้ยกพื้นสูง ภายในบ้านหลังนี้มี ห้องทั้งหมด 4 ห้อง ที่มีประตูเชื่อมถึงกันหมด และมีทางเชื่อมไปยังเรือนครัวและห้องน้ำ 

การจัดแสดงได้นำเรื่องราวและข้าวของเครื่องใช้ที่ได้รับการบริจาคมาจากทายาทของท่านผู้หญิงบุญหลง พหลโยธิน ภริยาในพระยาพหลพลพยุหเสนา ห้องแรกซ้ายมือ เป็นห้องเป็นที่ตั้งของรูปจำลองพระยาพหลฯ แบบครึ่งตัว รูปภาพขนาดเท่าตัวจริง พระพุทธรูปที่ท่านนับถือและรูปสลักเทพแห่งการสู้รบ มือหนึ่งถือพานรัฐธรรมนูญ  อีกข้างถืออาวุธ และมีป้ายประวัติคร่าวๆ ของพระยาพหลฯ ให้ได้ศึกษาด้วย  ห้องถัดไป เป็นห้องที่จำลองมาจากห้องทำงานของพระยาพหลฯ มีแท่นวางไม้เท้า ตู้เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย พร้อมแสดงรูปภาพในอิริยาบทต่างๆ ของพระยาพหลฯ และท่านผู้หญิงบุญหลงเอาไว้  ห้องถัดไปเป็นห้องรับแขก ที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ทางทหารของประจำตัวพระยาพหลฯ ที่ยังเก็บรักษาเอาไว้รวมทั้งของสะสมของท่านด้วย


          5. อาคารอนุสรณ์สถาน 111 ปี พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎร์ ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิบไตยในปี พ..2475 ตั้งอยู่ด้านข้างของบ้านพักพันโท

ภายในจัดแสดงภาพและข้าวของเครื่องใช้ของพระยาพหลพลพยุหเสนา ขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  และคณะฑูตเจริญสัมพันธไมตรียังต่างประเทศ   ทั้งของที่ระลึก เสื้อผ้าสมัยเรียนนักเรียนนายร้อยที่ต่างประเทศ ภาพงานอดิเรก เช่น การล่าสัตว์ การสะสมของที่ระลึกจากประเทศต่างๆ นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายจำนวนมากมายเกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ของพระยาพหลพลพยุหเสนา ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี   ช่วงสุดท้ายก่อนที่จะออกจากห้องไป ก็จัดแสดงเรื่องราวที่เกี่ยวกับงานพระราชทานเพลิงศพของพระยาพหลฯ ณ วังปารุสกวัน   นอกจากนี้ยังนำเสนอตราประจำตัวของท่านและคำสุภาษิตที่ท่านมักพูดอยู่เสมอ คือ “ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ สัญลักษณ์ของตระกูลพหลโยธิน คือ เสือสามตัวล้อมด้วยกงจักรและสุภาษิตบทนี้ เสือตัวแรกหมายถึง บิดาของพระยาพหลพลพยุหเสนา  เสือตัวที่สองหมายถึงเชื้อสายทางมารดาที่เป็นทหารเรือ  เสือตัวที่สามคือตัวพระยาพหลพลพยุหเสนา


          6.  พิพิธภัณฑ์อาวุธทหารปืนใหญ่  ตัวอาคารสร้างเมื่อปี พ..2501 เป็นอาคารยาว เดิมเป็นอาคารบัญชาการเดิมของศูนย์การทหารปืนใหญ่ ภายในการจัดแสดงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

1) ห้องจัดแสดงอาวุธปืน ปืนใหญ่สมัยต่างๆ ที่ได้ปลดประจำการแล้ว  ปืนใหญ่โบราณที่จำลองมา 41 กระบอก ปืนกลแบบต่างๆ กล้องส่องระยะวิถีกระสุนซึ่งมีความสำคัญมากในการกำกับวิถีการยิงที่แม่นยำ รถถ่อของพระยาพหลฯ ใช้เมื่อมาประจำการที่ศูนย์ฯ 

2) ห้องเทียมลากปืนใหญ่ จำลองเอาขบวนเทียมลากปืนใหญ่สมัยก่อน โดยมีม้าเป็นตัวขับเคลื่อนๆ ลากเอาปืนใหญ่ไปตามที่ต่างๆ  ภายในห้องยังจัดแสดงภาพนิทรรศการเกี่ยวกับจอมพล ป . พิบูลสงคราม ในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ  รถฟอร์ดธันเดอร์เบิร์ด รถที่จอมพล ป. ใช้เมื่อขณะที่พำนักอยู่ยังประเทศญี่ปุ่น  นอกจากนี้ยังจัดแสดงเครื่องแบบการแต่งกายของทหารปืนใหญ่ยศต่างๆ กัน และเครื่องหมายสัญลักษณ์ของหน่วยงานทหารปืนใหญ่ที่กระจายตัวอยู่ในบริเวณต่างๆ ทั่วประเทศไทยด้วย


          7. ตึกกองบัญชาการเขาน้ำโจน (ชาโต้)  สร้างขึ้นในปี พ..2487 โดยดำริของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อให้เป็นจุดสังเกตการณ์ข้าศึก และสังเกตอาณัติสัญญาณจากตึกพิบูลสงคราม

เป็นอาคารที่สร้างด้วยรูปแบบอาคารในเมืองหนาว ภายในแบ่งออกเป็น 5 ห้อง ห้องแรก เป็นห้องประชุมหารือข้อราชการต่างๆ ได้มีการนำนิทรรศการเกี่ยวกับจอมพล ป. และเรื่องของการถ่ายภาพเข้ามานำเสนอในห้องนี้ด้วย  ห้องถัดไปจัดแสดงตู้เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ รวมทั้งเครื่องใช้ต่างๆ ของจอมพลป. พิบูลสงครามด้วย อีกห้องหนึ่งเป็นห้องพักสำหรับแขก จัดแสดงเครื่องแก้วและโต๊ะรับประทานอาหารที่ติดตราสัญลักษณ์ประจำตัวของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นอกจากนี้ยังมีห้องทำงาน ห้องบรรยายสถานการณ์

ผู้ที่เข้าชมส่วนใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่จะมาเป็นหมู่คณะ ตั้งแต่ 10-200 คน แต่ละปี มีประมาณ 10 -20 คณะ ส่วนเรื่องของการทำนุบำรุงตัวอาคารและการทำการศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลข้าวของนั้น  ขึ้นกับกำลังของทางต้นสังกัดที่จะได้รับงบมากหรือน้อยในแต่ละปี  ในปัจจุบันเมื่อมีอาคารจัดแสดงประมาณ 7 – 8 แห่งนี้  คาดการณ์ว่าจะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมมากขึ้น

 

ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามวันที่ 11 มิถุนายน 2553

 

 

ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ศูนย์การทหารปืนใหญ่

พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ภายในตึกกองบัญชาการบนเขาน้ำโจน (ตึกชาโต้) ซึ่งเป็นตึกที่มีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ออกแบบให้มีลักษณะของป้อมปราการที่แข็งแกร่งดุจหินผา เน้นแนวคิดดังกล่าวด้วยผนังหนา รูปทรงที่ดูหนักแน่น และการใช้วัสดุก่อสร้างธรรมชาติเช่นก้อนหินก้อนใหญ่มาก่อผนัง ทำให้อาคารนี้มีลักษณะเด่นที่แปลกไม่เหมือนใคร และด้วยรูปลักษณ์ดังกล่าวที่ทำให้นึกถึงปราสาทฝรั่งโบราณ จึงเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าตึกชาโต้ หรือตึกปราสาท
 
ตึกนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2487 สมัยที่พล.ต. อุทัย วงศ์วีรเดช ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกปืนใหญ่กรมเสนาธิการทหารบก โคกกระเทียม ลพบุรี ตามความดำริของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบกด้วย วัตถุประสงค์ของท่านในการก่อสร้างอาคารนี้คือเพื่อใช้เป็นที่ตรวจการณ์ สำหรับสอนผู้ตรวจการณ์หน้าให้กับหลักสูตรต่างๆ ที่เข้ามาศึกษาในโรงเรียนทหารปืนใหญ่ เป็นตึกรับรองผู้บังคับบัญชาชั้นสูงและแขกผู้มีเกียรติชาวต่างประเทศ ดังนั้น อาคารจึงประดับสัญลักษณ์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม คือรูปไก่และคฑาไขว้ ภายในอาคารชั้นล่างประกอบด้วยห้องรับแขก ห้องยุทธการ ส่วนชั้นบนเป็นห้องทำงานของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ห้องเรียน ห้องบรรยาย และห้องพักผ่อน รวมทั้งมีห้องหลบภัยใต้ดินที่มีอุโมงค์สำหรับหลบหนีไปยังเชิงเขาได้ นับว่าเป็นอาคารที่สนองประโยชน์ใช้สอยทางยุทธศาสตร์อีกโสดหนึ่งด้วย

อาคารนี้เคยมีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ ใน พ.ศ.2528 โดยผู้บัญชาการศูนย์ปืนใหญ่ พล.ต. ศิรินทร์ ธูปกล่ำ เป็นผู้ดำเนินการ ปัจจุบันทางศูนย์การทหารปืนใหญ่ได้อนุรักษ์อาคารไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเรื่องราวและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ของ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นอกจากนี้ ภายในศูนย์การทหารปืนใหญ่ยังมีพิพิธภัณฑ์อื่นๆอีกซึ่งได้แก่ 


พิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้จัดที่บ้านพักของท่าน ซึ่งมีชื่อว่า "บ้านพักพันโทพระสรายุทธสรสิทธิ์(พจน์ พหลโยธิน)" ผู้อำนวยการแผนกโรงเรียนทหารปืนใหญ่โคกกะเทียมลพบุรี พ.ศ.2461 จัดเป็นห้องต่างๆ ได้แก่ ห้องรับแขก มีรูปปั้นจากดินศักดิ์สิทธิ์ โดยชาวเชียงใหม่มอบให้ ช้างไม้ที่ดูเหมือนมีจิตวิญญาณ ธงแม่ทัพ โดยนายควง อภัยวงศ์ เชิญไปเป็นแม่ทัพ เทวรูปหินทรายโดยพระหัตถ์ขวาถือพานรัฐธรรมนูญและมีพระพักตร์เหมือนใบหน้าของ ฯพณฯท่าน  ห้องส่วนตัว ส่วนมากจะประกอบไปด้วยของใช้ส่วนตัว เช่นภาพขณะเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกเยอรมัน มีตู้ของใช้เสื้อผ้า ฯลฯ และ ห้องเก็บของ มีทั้งลังเหล็ก ลังไม้ ลังหวาย กระเป๋าหนังเดินทาง โต๊ะเครื่องแป้ง เป็นต้น 
 
ตึกพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ 111 ปี  ฯพณฯ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา สร้างเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2541 ภายในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นภาพของที่ระลึก เหรียญตราและชุดเครื่องแบบ เช่น ภาพขอพระราชทานเปลี่ยนแหลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 ภาพรัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ฯพณฯ ได้เข้าเฝ้าพร้อมกับคณะรัฐบาล ภาพครอบครัว ภาพชีวิตรับราชการ ตู้ต่างๆเช่น ตู้ตราหน้าหมวกทหารบก บ่าเครื่องหมายยศทหาร ตู้เหรียญตราต่างประเทศ เช่น เหรียญตราออร์เรนจ์นัสเชาน์ ชั้น 3 ซึ่งพระราชทานจากสมเด็จพระราชินีนาถแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 และปืนใหญ่นางพญาตาปีจำลองซึ่งชาวปัตตานีมอบให้เมื่อ พ.ศ. 2479 ฯลฯ
 
พิพิธภัณฑ์อาวุธทหารปืนใหญ่ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2501 เป็นที่เก็บรวบรวมปืน และอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหารปืนใหญ่ อาทิเช่น ปืนใหญ่โบราณ ปืนใหญ่มหาชัย ปืนใหญ่มหาฤกษ์ ปืนใหญ่โบราณเนื้อทองเหลือง ปืนใหญ่ภูเขาเบอร์ 51 ฯลฯ     นอกจากปืนใหญ่แล้วยังมีกล้องส่องซึ่งเป็นเครื่องมืออำนวยการยิงปืนใหญ่เพราะเวลายิงปืนใหญ่จะต้องตั้งค่าคำนวณหาระยะที่แน่นอน กล้องส่องต่างๆ มีดังนี้ กล้องพาโนรามา กล้องทำแผนที่ กล้องกองร้อย กล้องกรรไกร กล้องวัดระยะ กล้องแม่ทัพเป็นต้น
 
ข้อมูลจาก :
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์. 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับบลิชชิ่งจำกัด (มหาชน), 2547.
http://library.tru.ac.th/il/lop/tour/fr.html [accessed 2008-07-03]
ชื่อผู้แต่ง:
-