พิพิธภัณฑสถานวัดไลย์


วัดไลย์เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา ที่ตั้งของวัดไลย์อยู่ติดกับแม่น้ำบางขาม ซึ่งเป็นแม่น้ำสายที่สามารถเดินทางไปยังเมืองโบราณต่างๆ ได้ วัดและชุมชนแถบนี้จึงสัมพันธ์กับเมืองโบราณต่างๆ ในแถบลุ่มน้ำในภาคกลาง พิพิธภัณฑสถานวัดไลย์นั้นเป็นอาคารขนาดใหญ่ 2 ชั้น เริ่มมาจากการสะสมโบราณวัตถุของเจ้าอาวาสวัดไลย์ ปี พ.ศ. 2472 -87 จากนั้นพระครูสถิตบุญญาภิสันท์เจ้าอาวาสวัดไลย์ (พ.ศ. 2521 – 2530) จึงเริ่มสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังนี้ขึ้นมาและนำสิ่งของเข้ามาจัดแสดง วัตถุที่จัดแสดงมีจำนวนมากและหลากหลายประเภท อาทิ เครื่องปั้นดินเผา เงินตรา เครื่องกระเบื้องลายคราม เครื่องเขินลงรักปิดทอง ตู้พระธรรมลายรดน้ำที่สวยงาม คัมภีร์ใบลาน สมุดข่อย พระพุทธรูปโบราณ เครื่องทองเหลือง เครื่องดนตรีไทย

ที่อยู่:
วัดไลย์ ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี 15150
โทรศัพท์:
0-3648-9105
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 8.30 - 16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2530
ของเด่น:
พระจุไล หรือแผ่นปิดศรีษะทองคำของพระพุทธรูปพระศรีอาริยเมตไตร,ตู้พระธรรมลายรดน้ำที่สวยงาม,คัมภีร์ใบลาน,สมุดข่อย,พระพุทธรูปโบราณ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ สิ่งของต้องแสดงและการปกปิดซ่อนเร้น

ชื่อผู้แต่ง: สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 25 ฉบับที่ 4 (ต.ค.-ธ.ค.)2542

ที่มา: เมืองโบราณ

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

เปิด "พิพิธภัณฑ์สถานวัดไลย์" ของดีที่ท่าวุ้ง

ชื่อผู้แต่ง: สรศักดิ์ ทับทิมพราย | ปีที่พิมพ์: 27-06-2537

ที่มา: มติชนรายวัน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑสถานวัดไลย์

วัดไลย์เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา  มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18   และยังคงหลงเหลือร่องรอยต่างๆ ที่สำคัญคือ ปูนปั้นสมัยอยุธยาที่วิหารเก้าห้อง พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง และพระสาวกที่งดงาม ได้รับการดูแลบูรณะและรักษาเป็นอย่างดี และมีเจดีย์เก่าสมัยอยุธยาอีกหลายจุดที่น่าสนใจศึกษา ที่ตั้งของวัดไลย์อยู่ติดกับแม่น้ำบางขาม ซึ่งเป็นแม่น้ำสายที่สามารถเดินทางไปยังเมืองโบราณต่างๆ ได้ วัดและชุมชนแถบนี้จึงสัมพันธ์กับเมืองโบราณต่างๆ ในแถบลุ่มน้ำในภาคกลาง
 
นอกจากจะมีประติมากรรมปูนปั้นสมัยอยุธยาที่สวยงามแล้ว ยังมีพระพุทธรูปที่เป็นเอกลักษณ์และเก่าแก่ก็คือ พระศรีอาริยเมตไตร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของชาวสมอคอนมาช้านาน และมีตำนานเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่แรกตั้งกรุงศรีอยุธยา หรือในสมัยสุโขทัย เป็นการหล่อแบบพุทธสาวก ศีรษะโล้น ไม่มีเปลวรัศมี ลักษณะคล้ายมนุษย์สามัญ นั่งขัดสมาธิคล้ายปางมารวิชัย ทำจากสำริด ลงรักปิดทอง ตามตำนานว่าหล่อขึ้นแทนองค์พระศรีอาริยเมตไตรองค์เดิมซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ที่อยู่ในวิหารที่ถูกไฟไหม้ ต่อมาในรัชกาลที่ 5  จึงโปรดฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ซ่อมสร้างขึ้นใหม่ อีกทั้งยังมีงานไหว้พระศรีอาริย์เป็นประจำทุกปี 
 
ในส่วนของพิพิธภัณฑสถานวัดไลย์นั้นเป็นอาคารขนาดใหญ่ 2 ชั้น เต็มไปด้วยสิ่งของจัดแสดงอันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มโดยพระครูสุพุทธิสุนทร (หลวงพ่อเล็ก) เจ้าอาวาสวัดไลย์ ปี พ.ศ. 2472 -87 เป็นผู้ริเริ่มรวบรวมสิ่งของจัดแสดงและโบราณวัตถุต่างๆ โดยจัดแสดงไว้ที่หอประชุมสงฆ์ของวัดไลย์ก่อน จากนั้นพระครูสถิตบุญญาภิสันท์เจ้าอาวาสวัดไลย์ พ.ศ. 2521 – 2530 จึงเริ่มสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังนี้ขึ้นมาและนำสิ่งของเข้ามาจัดแสดง แต่ก็ยังจัดสิ่งของและคำอธิบายได้ไม่ถูกต้องนัก   ต่อมาพระครูวิลาศพัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดไลย์องค์ปัจจุบัน จึงร่วมกับนายพิชัย วงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา(ในขณะนั้น) ปรับปรุงการจัดแสดงโบราณวัตถุและสิ่งของต่างๆ ให้เป็นระเบียบและเป็นหมวดหมู่ประกอบคำอธิบายอย่างเป็นรูปแบบใน พ.ศ. 2540
 
พิพิธภัณภัณฑ์แห่งนี้เมื่อเปิดอย่างเป็นทางการได้ต้อนรับพระบรมวงศานุวงศ์คือ สมเด็จ-พระพี่นางเธอฯ เสด็จมาชมโบราณสถานและศิลปวัตถุที่วัดไลย์เมื่อ 20เม.ย. 2534 มีลายพระหัตถ์ในสมุดเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ด้วย และพระเจ้าหลานเธอพัชรกิติยาภา เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมชมวันที่ 26 ม.ค. 2536 ที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ที่สำคัญเพราะวัดไลย์มีพร้อมทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ และรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์คือ พระศรีอาริยเมตไตร
 
ชั้นแรกของพิพิธภัณฑ์สถานวัดไลย์ แบ่งจัดแสดงสิ่งของเป็นตู้หลายส่วน เริ่มจากริมประตูเป็นตราประทับสำคัญและสังข์ประกอบพิธี ตู้ถัดมาเป็นต้นไม้ต้นไม้ทองน่าจะเป็นของชนชั้นสูงทำมาถวายวัด ตรงกลางห้องเป็นชุดโต๊ะเครื่องเรือนฝังมุกชุดใหญ่  ถัดไปเป็นตู้เงินเหรียญโบราณต่างๆ พดด้วง และเครื่องเงินมีทั้งกล้องสูบยา กล้องสูบฝิ่น และกล่องทำจากเงิน ที่ฝาผนังด้านนี้มีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จประพาสมาที่วัดไลย์ มีภาพชาวบ้านที่มารับเสด็จ และภาพสะพานไม้ไผ่หน้าวัดด้านที่ติดกับแม่น้ำบางขาม แสดงภาพของวัดและผู้คนในอดีต
 
ถัดมาที่กลางห้อง เป็นตู้แนวขวางแสดงเครื่องปั้นดินเผายุคต่างๆ ตุ๊กตาเสียกบาลยุคอยุธยา เครื่องเคลือบจากเตาเผาเชียงใหม่ จานเชิงเขียนสี ตู้ถัดมาเป็นพระจุไล หรือแผ่นปิดศรีษะทองคำของพระพุทธรูปพระศรีอารยเมตไตร ต้องเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีและมีกล้องวงจรปิดเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา ถัดมาเป็นตู้กระเบื้องเขียนสีเบญจรงค์ที่สวยงามเข้าชุด ด้านหลังติดบันไดมีตู้จัดแสดงเครื่องกระเบื้องลายครามที่สวยงาม และตุ๊กตากระเบื้อง ซึ่งหนวดไม่ทราบว่าทำจากหางม้า หรือผมคนจริงๆ ดูสมจริงจนน่าเกรงขาม ติดกับบันไดด้านซ้ายเป็นตู้เครื่องเขินลงรักปิดทองที่สวยงาม สิ่งเล็กๆ ที่น่าสนใจในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็คือ ไฟแช็คยุคพระเจ้าเหาที่วางไว้ที่ชั้น 1 หลวงพ่อตุ้มซึ่งเป็นพระผู้เผ้าพิพิธภัณฑ์สาธิตวิธีใช้ให้ดู อย่างสนุกสนาน และน่าแปลกใจว่าไฟแช็คอันใหญ่ขนาดนี้คงไม่สามารถพกพาไปไหนได้แน่ๆ 
 
ชั้นที่สองเป็นเครื่องเกี่ยวกับพระศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ถ้าขึ้นบันไดด้านซ้ายมือจะพบกับตู้พระธรรมลายรดน้ำที่สวยงาม และคัมภีร์สมุดข่อยหลายเล่ม และพระพุทธรูปโบราณทั้งโลหะ และ เป็นหินแกะสลัก  และเครื่องทองเหลืองอีกมากขันสาครทำน้ำมนต์ใบใหญ่ และเครื่องดนตรีไทยของ วัดไลย์ ที่ริเริ่มจากพระครูสุพุทธิสุนทร (หลวงพ่อเล็ก) และชุดเชี่ยนหมาก ตะบันหมาก ทองเหลืองที่สวยงาม บนชั้นสองก็คือรูปปั้นพระอินทร์ที่มีสัดส่วนเท่ากับตัวคน เดินผ่านๆ อาจตกใจได้
 
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่มีสิ่งของจัดแสดงสวยงาม เป็นระเบียบและมีสัดส่วนที่ชัดเจน แต่น่าเสียดายที่ขาดผู้บรรยายที่มีความรู้เรื่องข้าวของ จึงขาดอรรถรสในการเข้าชมไปสักนิด แต่ถ้าใครพอมีความรู้และชื่นชอบการชมโบราณสถานและโบราณวัตถุก็จะสนุกสนานกับการมาเที่ยววัดไลย์ เพราะมีเรื่องราวน่าสนใจมากมายที่น่าศึกษา ควรจะมาในช่วงเวลากลางวันเช่นช่วง 09.00 – 17.00 น. และประมาณช่วงเวลาไม่ให้ตรงกับช่วงกิจของสงฆ์ เพื่อความสะดวกในการเข้าชม
 
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามวันที่ 1 มีนาคม 2553
 
ชื่อผู้แต่ง:
-