พิพิธภัณฑ์ทหารรบพิเศษ ลพบุรี


พิพิธภัณฑ์ทหารรบพิเศษ ก่อตั้งขึ้นในสมัยของพลเอกวิมล วงศ์วานิช ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมประวัติศาสตร์ทางการทหารและวีรกรรมของหน่วยรบพิเศษ แต่เดิมหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ กองทัพบก ได้จัดตั้งกองพันทหารพลร่มขึ้นเป็นครั้งแรกที่บ้านป่าหวาย ต.ป่าตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี เมื่อ พ.ศ.2497 และได้มีวิวัฒนาการมาเป็นหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษในปัจจุบัน ทั้งนี้หน่วยรบพิเศษเป็นหน่วยทหารที่มีความสำคัญยิ่งหน่วยหนึ่งของกองทัพบกไทยมาทุกยุคทุกสมัย นายทหารหลายท่านที่มาจากหน่วยทหารรบพิเศษได้รับตำแหน่งระดับเป็นผู้นำในกองทัพ ได้แก่ พลเอกสุรยุทธ จุลลานนท์ พลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ พลเอกวิมล วงศ์วานิช ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย 8 ห้อง ได้แก่ ห้องแสดงเรื่องการพัฒนาหน่วยรบพิเศษ ห้องจัดแสดงเกี่ยวกับการฝึก-การศึกษาของหน่วยรบพิเศษ ห้องจัดแสดงการปฏิบัติการรบในยุทธการต่าง ๆ ห้องจัดแสดงกิจกรรมที่สำคัญของหน่วยรบ ห้องจำลองปฏิบัติการใต้น้ำ ห้องจำลองปฏิบัติการใต้ดิน ห้องจำลองปฏิบัติการรบในป่า การจัดแสดงทั้งหมดนั้นเพื่อให้ผู้ที่ได้เข้าชม ได้เข้าใจถึงภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบของทหารหน่วยรบพิเศษ ให้เข้าในคำขวัญของหน่วยที่ว่า “พลังเงียบ เฉียบขาด”

ที่อยู่:
ค่ายวชิราลงกรณ์ กรมรบพิเศษที่ 1 ต.ป่าตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี 15000
โทรศัพท์:
0-3661-6395
วันและเวลาทำการ:
เปิดในวันและราชการ เวลา 09.00-16.00 น. (การเยี่ยมชมเป็นคณะ กรุณาติดต่อล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท
ปีที่ก่อตั้ง:
2538
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ทหารรบพิเศษ ลพบุรี

หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ กองทัพบก ได้จัดตั้งกองพันทหารพลร่มขึ้นเป็นครั้งแรกที่ บ.ป่าหวาย ต.ป่าตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี เมื่อ พ.ศ.2497 และได้มีวิวัฒนาการมาเป็นหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษในปัจจุบัน ทั้งนี้หน่วยรบพิเศษเป็นหน่วยทหารที่มีความสำคัญยิ่งหน่วยหนึ่งของกองทัพบกไทยมาทุกยุคทุกสมัย  นายทหารหลายท่านที่มาจากหน่วยทหารรบพิเศษได้รับตำแหน่งระดับเป็นผู้นำในกองทัพ ได้แก่ พลเอกสุรยุทธ  จุลลานนท์  พลเอกเทียนชัย  สิริสัมพันธ์ พลเอกวิมล  วงศ์วานิช 
 
พิพิธภัณฑ์ทหารรบพิเศษ ก่อตั้งขึ้นในสมัยของพลเอกวิมล วงศ์วานิช ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมประวัติศาสตร์ทางการทหารและวีรกรรมของหน่วยรบพิเศษ โดยใช้งบประมาณทั้งหมด 28 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี เริ่มในปี พ.ศ.2537 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2538  มีผู้เข้าชม ปีละ ประมาณ 300-400 คน ส่วนใหญ่เป็นทหารที่มาดูงานหรือมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะ 
 
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ แบ่งเป็นห้องต่าง ๆ ดังนี้  ห้องโถง  เป็นห้องจัดแสดงประวัติความเป็นมาและภารกิจต่างๆของหน่วยรบพิเศษ ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันด้วย ภายในยังภาพประติมากรรมฝาผนังดินเผาด่านเกวียนนูนต่ำ เป็นประติมากรรมรูปช้างสามเศียร ภายในเศียรช้างบรรจุวัตถุมงคลรุ่นอนุรักษ์ชาติและบรรจุดินจาก 24 สมรภูมิการรบของไทย และประดิษฐานพระบรมรูป 9 มหาราชของชาติไทย 
 
ห้องถัดไปเป็นห้องจัดแสดงทั่วไป แบ่งออกเป็นหลายส่วน ส่วนแรก จัดแสดงภาพของนายทหารที่เรียกว่า “เกียรติยศอันสูงสุดของทหารหน่วยรบพิเศษ” ได้แก่ พลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ และพลเอกวิมล วงษ์วานิช ที่ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด  ถัดมาเป็นตู้จัดแสดงเครื่องแบบของทหารจากหน่วยรบพิเศษซึ่งมีทั้งชุดภาคพื้นดินที่เป็นชุดพรางและชุดสีดำ ชุดกระโดดร่ม   ชุดประดาน้ำ  ชุดแต่งกายเครื่องแบบทหารธรรมดาทั้งทหารหญิงและชาย  ด้านหลังของตู้จัดแสดง มีผังการจัดหน่วยรบพิเศษให้ได้ความรู้ด้วย  ตู้จัดแสดงถัดมานำเสนอเครื่องแต่งกายของหน่วยรบพิเศษที่ต้องกระโดดร่มลงในพื้นที่อันตรายต่างๆ ด้านหลังเป็นร่มจริง

ส่วนด้านหน้าเป็นร่มสำรองหากร่มจริงไม่กาง  มีชุดร่มของพลเอกวิมล  วงษ์วานิช  ตู้จัดแสดงถัดมาเป็นตู้จัดแสดงหมวกทรงอ่อน หรือเรียกว่าหมวกเบเลย์(Beret) สีแดงของหน่วยทหารรบพิเศษ ส่วนใหญ่แล้วหน่วยรบพิเศษทั่วโลกจะใช้หมวกเบเลย์สีแดง  มีเฉพาะบางประเทศที่ใช้สีอื่น นอกจากแสดงหมวกแล้วยังแสดงเข็มสัญลักษณ์ร่วมและสายรัดจากทั่วโลก ส่วนใหญ่ได้มาจากการซ้อมรบร่วมหรือการเยือนระหว่างหน่วยทหารของแต่ละประเทศ  นอกจากนี้ยังมีตู้จัดแสดงโหลแก้วบรรจุดินจากสมรภูรบทั้ง 24 แห่ง ที่ทหารหน่วยรบพิเศษเคยร่วมตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันด้วย  ส่วนอื่นๆ ภายในห้องประกอบด้วย ตู้จัดแสดงการแต่งกายในโอกาสต่างๆ การประดับเครื่องหมายและเครื่องราชอสริยายศต่างๆ ทั้งปกติขาว และปกติครึ่งท่อน รวมทั้งจัดแสดงอาวุธปืนประเภทต่างๆของทหารรบพิเศษด้วย
 
ห้องแสดงปฏิบัติการใต้น้ำ   เป็นห้องจัดแสดงจำลองภาพเหตุการณ์เพื่อให้เห็นถึงขีดความสามารถในการปฏิบัติการพิเศษใต้น้ำของกองทัพไทย ด้วยการซุ่มโจมตีด้วยวิธีการวางตัวใต้ผิวน้ำ โดยได้จำลองบรรยายกาศเหมือนเราเข้าไปอยู่ในห้องบัญชาการของเรือดำน้ำ และมีหุ่นจำลองของทหารรบพิเศษที่แต่งกายเตรียมพร้อมทั้งการดำน้ำและการขึ้นปฏิบัติการบนบก 
 
ห้องจัดแสดงถัดไป เป็นห้องจัดแสดงเกี่ยวกับหลักสูตรการฝึกและการศึกษาของหน่วยรบพิเศษ และการปฏิบัติการพิเศษในรูปแบบต่างๆ ของโรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ  โดยได้จำลองสถานการณ์การเรียนในหลักสูตรกระโดดร่มของทหารรบพิเศษเอาไว้ด้วย  และจัดแสดงอาวุธที่ทหารรบพิเศษต้องนำไปด้วยเวลาออกรบหรือออกปฏิบัติภารกิจ
 
ในตู้จัดแสดงถัดมาได้นำเสนอภาพจำลองการปฏิบัติการพิเศษของหน่วยที่ทหารต้องแต่งกายพรางด้วยชุดเครื่องแบบสีดำปิดหน้าตา  และตู้จัดแสดงถัดมาแสดงภารกิจของหน่วยรบพิเศษ ปจว. หรือหน่วยปฏิบัติการจิตวิทยา ห้องจัดแสดงถัดมาเป็นห้องจัดแสดงประวัติการรบในยุทธการต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติการรบพิเศษของไทย และเป็นการจำลองภาพเหตุการณ์ที่ ทหารรบพิเศษได้ร่วมในการสู้รบในยุทธการต่างๆ เพื่อให้ทหารและอนุชนรุ่นหลังได้รับทราบและเป็นข้อเตือนใจ 
 
อีกห้องจัดแสดงที่เพิ่งทำเสร็จมาเมื่อไม่กี่ปีนี้คือ ห้องจัดแสดงภารกิจในสมรภูมิต่างๆ ของทหารหน่วยรบพิเศษนอกจากนี้ยังได้นำเสนอพัฒนาการของหน่วยรบพิเศษ แบ่งเป็น รบพิเศษในสงครามยุคโบราณ เล่าย้อนหลังไปถึงยุคสมัยของพระนเรศวร และต่อมากล่าวถึงหน่วยรบพิเศษอีกหน่วยที่มีบทบาทต่ออธิปไตยของประเทศไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง คือ หน่วยเสรีไทย  ต่อมานำเสนอการสู้รบในสมัยที่ประเทศไทยยังมีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) มีการจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งการบัญชาการใต้ดิน  การจำลองกระท่อมของ ผกค.  ร่วมทั้งหนังสือ เสื้อผ้าอาวุธต่างๆ ที่ยึดได้จากการบุกปราบปรามของหน่วยรบพิเศษในช่วง ทศวรรษที่ 2510-2530  และมีแผนที่จัดแสดงสมรภูมิรบ หรือเขตพื้นที่สีแดง ในบริเวณต่างๆของประเทศไทย  
 
นอกจากนี้หน่วยทหารรบพิเศษยังมีหน้าที่ในการปราบปรามกลุ่มพ่อค้ายาเสพติด ที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนของประเทศไทย  ล่าสุดภารกิจพิเศษของหน่วยรบพิเศษที่ร่วมมือไปกับนานาชาติคือ ภารกิจเพื่อสันติภาพ  ด้วยการส่งหน่วยทหารเข้าไปร่วมพัฒนาประเทศติมอร์ ที่เพิ่งสงบจากการสงครามกลางเมือง  และหน่วยทหารไทยที่ไปร่วมรักษาสันติภาพที่ประเทศอิรัก  นอกจากแสดงภาพการปฏิบัติภารกิจและยังนำเสนอเครื่องแบบในภารกิจพิเศษเหล่านี้ด้วย
 
ห้องถัดไปจัดแสดงกิจกรรมที่สำคัญของพระราชวงศ์จักรี กับหน่วยรบพิเศษ นอกจากนี้ยังเล่าถึงประวัติของเมืองลพบุรี ตรงกลางของห้องจัดแสดงระบบน้ำและการชลประทานจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์   รากไม้ตรงกลางเป็นรากไม้ที่ขุดได้จากการสร้างเขื่อน
 
การจัดแสดงทั้งหมดนั้นเพื่อให้ผู้ที่ได้เข้าชม ได้เข้าใจถึงภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบของทหารหน่วยรบพิเศษ ให้เข้าในคำขวัญของหน่วยที่ว่า “พลังเงียบ เฉียบขาด” 
 
ข้อมูลจาก:
การสำรวจวันที่ 10 มิถุนายน 2553


แผ่นพับของหน่วยงาน



ชื่อผู้แต่ง:
มัณฑนา ชอุ่มผล