พิพิธภัณฑ์ซับจำปา


ที่อยู่:
ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี 15230
โทรศัพท์:
036-788-101,081-667-7339
วันและเวลาทำการ:
8.30 – 16.30 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2557
ของเด่น:
โบราณวัตถุที่ขุดพบจากเมืองโบราณซับจำปา อาทิ ภาชนะดินเผา กำไลหิน และโครงกระดูกมนุษย์
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พาเที่ยว "ซับจำปา" เมืองโบราณ 3 พันปี

ชื่อผู้แต่ง: เจตน์ พันธุ์พิริยะ | ปีที่พิมพ์: 3 ก.ค. 2558;03-07-2015

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 03 พฤศจิกายน 2558


ไม่มีข้อมูล

ซับจำปา ทรัพย์แห่งความรู้

“ซับจำปา” พื้นที่ของความหลากหลายในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ชุมชน เมืองโบราณคดี พระพุทธศาสนา และความอุดมสมบูรณ์ของป่าพุจำปีสิรินธร เมื่อชาวบ้านชุมชนซับจำปาได้เห็นความสำคัญของเมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร จึงได้ร่วมกันก่อตั้ง “ชมรมรักษ์เมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร” ในปี พ.ศ. 2547 โดยร่วมมือกับภาคประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างจิตสำนึกดูแลและอนุรักษ์ชุมชนซับจำปา โดยมีนายเนตรนรินทร์ คำเรืองบุญ เป็นประธานชมรมคนแรก (นายกองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาคนปัจจุบัน) และในปัจจุบันได้ร่วมกันก่อตั้งแหล่งเรียนรู้ “พิพิธภัณฑ์ซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร”

แรกเริ่มการก่อตั้งของพิพิธภัณฑ์ยังไม่มีหน่วยงานใดมาร่วมมือด้วย จึงอาศัยความร่วมมือจากชมรมชมรมรักษ์เมืองโบราณฯ และโรงเรียนใกล้เคียง ขณะนั้น ผอ.วิไลวรรณ วรังครัศมิ โรงเรียนท่าหลวงวิทยาคม ได้จุดประกายให้เห็นความสำคัญและสร้างแหล่งเรียนรู้แห่งแรกขึ้นที่โรงเรียนท่าหลวงฯ ชื่อว่า “ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร” ต่อมาได้ประสานกับอาจารย์ภูธร ภูมะธน  นักวิชาการอิสระ และอดีตภัณฑารักษ์ กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร มาช่วยแนะนำข้อมูลต่างๆ ในปี พ.ศ. 2548 ได้งบประมาณสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีสมัยนั้นก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ สร้างอาคารจัดแสดง 2 หลังจนแล้วเสร็จ แต่ก็ไม่สามารถมอบโอนกรรมสิทธ์ให้กับหน่วยงานท้องถิ่นดูแลได้ เนื่องจากเป็นงบประมาณของหน่วยงานอื่นที่อาจจะติดขัดด้วยระเบียบบางอย่าง จึงปล่อยทิ้งร้างไว้ในปัจจุบัน

ต่อมาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ได้สร้างแหล่งเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ที่เรียกว่า Discovery Museum และโครงการพัฒนากระบวนการสร้างต้นแบบองค์ความรู้เพื่อเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ (DMKM) ในการสร้างและพัฒนาความร่วมมือกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้เพื่อประเทศ พิพิธภัณฑ์ซับจำปาเป็นหนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่ได้ผ่านการคัดเลือกและพัฒนาเป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์ตามแนวทางของ Discovery Museum เมื่อพิพิธภัณฑ์ได้งบประมาณมา นายก อบต.จึงได้ตัดสินใจหาที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ใหม่ โดยเลือกเรือนเพาะชำเดิมนำมาปรับปรุงโครงสร้างใหม่ทั้งหมด และได้ลองเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ระยะประมาณปีครึ่ง ในปี พ.ศ. 2556 แต่ประสบกับปัญหาปลวกกินไม้อัดตัวนิทรรศการที่ทำขึ้น จึงได้ตัดสินใจของบประมาณจาก สพร.ใหม่อีกครั้ง เพื่อปรับปรุงนิทรรศการและทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑ์ซับจำปา

วันที่ 15 ตุลาคม 2558 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑ์ซับจำปาและทอดพระเนตรป่าจำปีสิรินธร ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการเป็น 5 ส่วน แต่ละส่วนเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่สำคัญของพื้นที่เมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร

เมื่อเดินเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ซับจำปา จะพบกับ “ห้องซับจำปา” เรื่องราวของเมืองโบราณซับจำปากว่าพันปีที่นำหินจริงจากเมืองโบราณมาจัดแสดงด้วย ปัจจุบันเมืองโบราณคงเหลือไว้แต่ซากสถูปฐานเจดีย์ ทุก 1 ค่ำ เดือน 4 ของปี จะมีการบวงสรวง งานทำบุญเมืองซับจำปา ห้องนี้ยังเล่าเรื่องราวความเป็นมาและวิถีชีวิตของคนที่อพยพมาอยู่พื้นที่แห่งนี้ในยุคแรกๆ ในราวปี พ.ศ. 2482 เช่น พ่อใหญ่ทั่ง พยัคฆ์จันทร์ ได้อพยพมาจากโคราชเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ที่ซับจำปา ทำไรไถ่นา ส่วนกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาใหม่หลังพ่อใหญ่ทั่งนั้น ส่วนใหญ่มักหนีคดีทางราชการเข้ามา มีอาชีพล่าสัตว์และออกปล้น จนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งชุมโจร ด้วยพื้นที่ซับจำปาเป็นป่าดงดิบหนาทึบ จึงยากต่อการปราบปราม และได้ใช้วิธีเสือปราบเสือ ที่เลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านและฆ่ากันเอง

“ห้องทรัพย์สำแดง” เล่าเรื่องที่มาของซับจำปา จากวิถีชีวิตปลูกข้าวโพดที่ประสบปัญหากับตั๊กแตนปาทังก้าระบาด มาทำลายพืชผลทางการเกษตร แม้กระทั่งเสื้อผ้าของชาวบ้านที่ตากไว้ยังถูกกัดกิน ชาวบ้านจึงเรียกร้องกับผู้ใหญ่บ้าน และผู้ใหญ่บ้านได้บอกต่อจนถึงกรมการเกษตร เมื่อกรมการเกษตรส่งเครื่องบินมาโปรยสารเคมีฆ่าตั๊กแตนฯ ทำให้ได้มีโอกาสถ่ายภาพทางอากาศ พบแนวคูน้ำคันดินขนาดใหญ่ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเมืองโบราณเป็นรูปหัวใจคว่ำหรือสี่เหลี่ยมมุมมน จากนั้นกรมศิลปากรได้เข้ามาตรวจสอบและขุดค้นในปี พ.ศ. 2513

“ห้องทรัพย์บังเกิด” เล่าเรื่องราวสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยือนเมืองโบราณซับจำปา ทอดพระเนตรการขุดค้นทางโบราณคดีซับจำปา ในปี พ.ศ. 2529 และมีมุมวงล้อให้ผู้ชมหมุนเล่นเปรียบเทียบยุคสมัยของโลก ยุคสมัยโบราณคดี และยุคสมัยของซับจำปา

“ห้องทรัพย์สมบัติ” เล่าเรื่องราวประวัติสมัยโบราณตามลักษณะของโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีที่แบ่งออกเป็น 5 สมัย ยุคไม่ใช้โลหะ ยุคสำริด ยุคเหล็ก ยุคก่อนประวัติศาสตร์ระยะสุดท้าย และยุคประวัติศาสตร์  โบราณวัตถุชิ้นสำคัญของซับจำปาคือ เครื่องปั้นดินเผาทรงหม้อลายเชือกทาบ ลูกปัด ต่างหู และกำไลข้อมือทำด้วยหินและเปลือกหอยมือเสือที่เป็นเครื่องประดับหลักของพื้นที่ซับจำปา นอกจากนี้ยังมีวัตถุที่ไม่สมบูรณ์ให้ลองสัมผัสเล่นได้ มีกิจกรรมให้เด็กลองเป็นนักโบราณคดีน้อยฝึกขุดค้นทางโบราณคดี

“ห้องทรัพย์อักษร” จัดแสดงอักษรสมัยโบราณที่พบในสมัยนั้น เช่น อักษรปัลลวะ ภาษาบาลี และศิลาจารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพพบที่รอยต่อระหว่าง อำเภอสำสนธิ จังหวัดลพบุรี และอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เป็นจารึกที่มีเนื้อความทั้งสองด้านด้านหนึ่งเป็นภาษาไทยและอีกด้านเป็นภาษาเขมรโบราณ จารึกหลักนี้กล่าวถึงสมเด็จพระอินทราบรมจักรพรรดิธรรมิกราชเป็นเจ้า ซึ่งน่าจะหมายถึง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้ขุนศรีไชยราชมงคลเทพเอกมนตรีพิเศษและขุนนางทั้งหลายยกทัพไปตีเมืองพิมาย พนมรุ้ง ฯลฯ จนราบคาบแล้วถอยทัพกลับคืนมา

“ห้องทรัพย์ทางปัญญา” จัดแสดงกงล้อ ธรรมจักร เสาธรรมจักรแปดเหลี่ยมและกวางมอบ ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาในช่วงทวารวดี โบราณวัตถุเหล่านี้ล้วนพบเจอที่ซับจำปา ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ได้จำลองสมบูรณ์ขึ้นมาเท่ากับของจริง โดยเสาธรรมจักรของจริงถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ และชิ้นส่วนวงธรรมจักรของจริงจัดแสดงที่ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร โรงเรียนท่าหลวงพิทยาคม ในห้องนี้ยังมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ค้นพบ เช่น ตุ๊กตาจูงลิง พระหัตถ์พระพุทธรูปด้านซ้าย จัดแสดงด้วย

ห้องสุดท้าย “ห้องทรัพย์แผ่นดิน” เล่าเรื่องของซับจำปาที่เป็นพื้นที่ป่าดงพญาเย็นหรือป่าดงดิบ เป็นพื้นที่น้ำซับ และเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน “ซับ” คือแผ่นดินที่อุดมไปด้วยน้ำใต้ดิน ส่วน “จำปา” นั้น มาจากดอกจำปีที่ชาวบ้านเห็นครั้งแรกคิดว่าเป็นดอกจำปา จากขนาดของดอกและสีที่เหมือนกัน เมื่อปี พ.ศ. 2542 ศาสตรเมธี ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น ได้เข้ามาสำรวจและนำตัวอย่างไปวิจัย พบว่าเป็นจำปีสายพันธุ์ใหม่ จึงขอพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่า “จำปีสิรินธร” ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ได้ให้ความสำคัญกับจำปีสิรินธรมาก และทรงพระราชทานให้ใช้ภาพดอกจำปีสิรินธรบนธนบัตร 100 บาท ในวาระครบ 60 พรรษา เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซับจำปา จึงเปรียบเป็นทรัพย์แผ่นดิน ดังชื่อจัดแสดงในห้องนี้

เมื่อเดินชมพิพิธภัณฑ์เสร็จแล้วนั้น ผู้ชมก็ยังสามารถเดินชมป่าพุจำปีสิรินธร ที่ได้รับการอนุรักษ์จากชมรมรักษ์เมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร มีเส้นทางการศึกษาพรรณไม้ต่างๆ และต้นจำปีสิรินธรเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
 
วริสรา แสงอัมพรไชย / เขียน

ข้อมูลจาก
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558
สัมภาษณ์นายเนตรนรินทร์ คำเรืองบุญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา
ภูธร ภูมะธน และคณะ. พิพิธภัณฑ์ซับจำปา จังหวัดลพบุรี. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด, 2558
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

พาเที่ยว "ซับจำปา" เมืองโบราณ 3 พันปี

เมืองโบราณซับจำปา ตั้งอยู่ในตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี แหล่งอารยธรรมโบราณที่ยังมีการขุดค้นหาโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สถานที่แห่งนี้เป็นหนึ่งในแผนที่ทัวร์มิวเซียมของบัตร "มิวส์พาส (Muse Pass)" ที่จะพาทุกคนย้อนไปดูอดีตอันเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมกว่า 3 พันปี ที่หลงเหลือให้ชื่นชมมาถึงปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ซากปรักหักพัง แต่เมืองโบราณนี้ยังอุดมไปด้วยธรรมชาติที่คงไว้ซึ่งสมุนไพรนานาชนิดให้ศึกษาอีกด้วย
ชื่อผู้แต่ง:
-