พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนหลุมข้าว วัดหลุมข้าว


พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ภายในวัดหลุมข้าว ก่อกำเนิดขึ้นจากความตั้งใจของคุณไพบูลย์ เชื้อสวย ที่ปรารถนาจะเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ เครื่องจักสาน  เครื่องทำมาหากินของคนรุ่นก่อน  โดยท่านเจ้าอาวาสวัดหลุมข้าวเมตตาให้พื้นที่ใต้อาคารหลังหนึ่งของวัดเป็นที่สถานที่รวบรวมและจัดแสดง ข้าวของส่วนใหญ่ได้มาจากการบริจาคของคนในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง การจัดแสดงแบ่งออก4 ส่วน ส่วนแรกนำเสนอเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร และการทำนาซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวไทยพวนและผู้คนที่อยู่ในแถบนี้ เครื่องใช้ในการทอผ้า เครื่องใช้ในครัวเรือน  ส่วนที่ 2 จัดแสดงการจำลองห้องนอนของชาวไทยพวน  ส่วนที่ 3 เป็นของเก่าร่วมสมัยที่ใช้ในอดีตเช่น แผ่นเสียง ปฏิทิน และโบราณวัตถุที่ขุดพบที่บ้านพรหมทิน แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่อยู่ใกล้กัน ส่วนที่ 4 จัดแสดงงานฝีมือที่สอนเด็กๆ เช่น การตัดกระดาษเป็นลวดลายต่างๆ

ที่อยู่:
วัดหลุมข้าว ต.หลุมข้าว อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี 15120
โทรศัพท์:
081-9815066, 089-0823492 ติดต่อคุณไพบูลย์ เชื้อสวย
วันและเวลาทำการ:
โปรดติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2533
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนหลุมข้าว วัดหลุมข้าว

ที่มาของชื่อ “บ้านหลุมข้าว”  เล่ากันว่า สมัยก่อนในฤดูน้ำ น้ำจะท่วมมาก ทำให้น้ำท่วมข้าว มีข้าวไม่พอกิน  เมื่อการทำมาหากินลำบาก  จึงคิดหาที่ทำกินใหม่ ชาวบ้านจึงนำเกวียนมุ่งหน้ามาทางบ้านดอน พอถึงหนองเกวียนหัก แล้วหยุดกินข้าว พอกินอิ่มออกหาแหล่งน้ำกินที่อยู่ใกล้ๆ แต่เกิดอาเพศมีแร้งมารุมกินห่อข้าวที่เหลือ  ชาวบ้านเชื่อกันว่าแร้งกาไม่เป็นมงคล  จึงเดินทางกลับบ้านไป แล้วออกหาที่ทำกินใหม่ จนมาถึงบ้านหลุมข้าว เห็นห้วยใหญ่ปลาชุม พอย้ายมาอยู่จึงขุดสระเพิ่มเติม ขุดไปเรื่อยๆ ในสระพบแกลบเปลือกหรือข้าวเปลือก จึงเรียกว่าบ้าน "หลุมข้าว" ตำนานนี้ได้รับการบอกเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ ชาวหลุมข้าวจำและเล่าต่อกันมา 

การเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนหลุมข้าวนี้ ถ้ามาจาก กรุงเทพมหานคร แล้ว มุ่งหน้าสู่เส้นทางหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ผ่านเข้ากลางเมืองลพบุรี ที่บริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระยานารายณ์มหาราช จากนั้นก็จะมีป้ายบอกทางให้มุ่งหน้าไปยังอำเภอโคกสำโรง  บนถนนสายพหลโยธินจะผ่านค่ายทหารหลายค่ายด้วยกัน จนถึงกิโลเมตรที่ 181 จะพบกับซุ้มทางเข้าวัดธัญญธนิตยาราม หรือ วัดหลุมข้าว เข้าไปอีกประมาณ 5 กิโลก็จะถึงตัววัด  ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นั่นเอง 

เมื่อเดินทางไปถึงที่วัด ได้พบกับคุณลุงไพบูลย์  เชื้อสวยและคุณป้าไพฑูรย์ สุขขะ  ทั้งสองท่านเล่าว่า ประมาณปี พ.ศ.2533 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ก่อกำเนิดขึ้น จากความตั้งใจของคุณลุงไพบูลย์ที่อยากให้มีสถานที่สักแห่งหนึ่ง ที่จะเป็นที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ เครื่องจักสาน  เครื่องทำมาหากินของคนรุ่นก่อน  คุณลุงจึงไปเรียนท่านเจ้าอาวาสวัดหลุมข้าวเพื่อปรึกษาหารือ ท่านก็ให้ความเมตตา ให้สามารถใช้พื้นที่ใต้อาคารหลังหนึ่งของวัดได้ คุณลุงไพบูลย์จึงได้เริ่มเก็บรวบรวมข้าวของจากเพื่อนบ้าน ในหมู่บ้าน และในเขตพื้นที่ใกล้เคียง มารวบรวมไว้ ก่อนหน้าที่ตัวห้องจัดแสดงจะมีฝาผนังครบทั้งสี่ด้านนั้น เดิมเป็นเพียงห้องโล่งๆ ที่กั้นเขตไว้เท่านั้น  แต่เมื่อเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดพิพิธภัณฑ์ให้เป็นรูปร่างขึ้นมา จนล่าสุดได้งบประมาณสนับสนุน จึงนำมาจัดทำพื้นไม้ให้พิพิธภัณฑ์ 

ส่วนการจัดแสดงภายในนั้น จัดแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกคือ ส่วนของเครื่องมือทำมาหากิน เครื่องจักสาน ที่ใช้ใน
การทำนา ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวไทยพวน และผู้คนที่อยู่ในแถบนี้ เช่น คันไถ  แอก  เครื่องมือปั่นฝ้าย เครื่องมือทอผ้าซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อของชาวไทยพวน นอกจากนี้ยังจัดแสดงเครื่องมือในการตวงวัดปริมาณข้าวเช่น ถังไม้ตวงข้าวขนาด 20 ลิตร  “สัด” เป็นภาชนะที่มีขนาดเล็กลงมา เป็นเครื่องมือตวงข้าวแบบไทยที่สานจากไม้ไผ่ ส่วนใหญ่เอาไว้ใช้ตวงข้าวจำนวนไม่มากนัก ตะเกียงน้ำมันมะพร้าวที่ใช้กันมาก่อนที่ไฟฟ้าจะเข้ามาในหมู่บ้าน   เครื่องบีบขนมจีนทำจากสังกะสี ซึ่งขนมจีนเป็นอาหารที่นิยมทำในงานมงคลของชาวไทยพวน เครื่องบีบเส้นลอดช่อง หินโม่แป้งเอาไว้ทำขนมจีนหรือทำขนม ถ้วยตะไล ถ้วยน้ำชา ช้อนสังกะสี ที่ใช้ในครัวชาวบ้านสมัยก่อน

 
ส่วนที่ 2 จัดแสดงห้องของชาวไทยพวนว่ามีอะไรอยู่ในนั้นบ้างเช่น หมอนสามเหลี่ยม  ผ้าม่านที่ใช้ในงานบวชที่ผู้หญิงชาวไทยพวนจะทอขึ้นมาเอง เพี่อใช้ในงานของตระกูลตนเองและเป็นสมบัติตกทอดกันมาเรื่อยๆ 

ส่วนที่ 3 เป็นของเก่าที่ใช้ในอดีตเช่น แผ่นเสียง และเครื่องเล่นแผ่นเสียงเก่า ปฏิทินปี พ.ศ.2516 ที่คุณลุงไพบูลย์ บอกว่า อยากเก็บไว้ให้ลูกหลานดูว่า ในปีพ.ศ.เก่านั้นมีรูปแบบเป็นอย่างไร   ถัดมาคือ วัตถุโบราณประเภท หินดุ ครกบดยา เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบที่บ้านพรหมทิน แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่อยู่ใกล้กัน ในตู้ใกล้กันนั้นมีกระดานชนวนและดินสอ ให้เด็กๆที่มักจะเป็นผู้เข้ามาชมในพิพิธภัณฑ์ได้ทดลองเขียน   ชั้นล่างเป็นกระดิ่งอันเล็กๆจำนวนมาก ที่มันใช้ประดับในวัด

ส่วนที่ 4 คือส่วนที่เกี่ยวกับงานฝีมือที่สอนเด็กๆ ได้ เช่น การตัดกระดาษเป็นรูปลายกนก 
ลายดอกไม้ และผลงานที่เกิดจากตัดกระดาษเช่นโคมแขวน  นอกจากนี้บริเวณส่วนกลางของพิพิธภัณฑ์ มีตู้จัดแสดงเงินธนบัตรและเหรียญจากประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ก็มาจากการบริจาคจากผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ 

ผู้เข้าชมของพิพิธภัณฑ์นั้น ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนใกล้ๆ หรือได้รับการติดต่อมาจากโรงเรียนประถมศึกษาอำเภอ ที่นำนักเรียนมาเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตในอดีต  นอกจาก ในห้องจัดแสดงจะเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของเด็กๆและผู้เข้าชมแล้วยังเป็นห้องเรียนของนักศึกษาภาคค่ำของการศึกษานอกโรงเรียนที่มาขอใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในการสอน โดยมีหนังสือและวิดีโอสำหรับเรียนประกอบด้วย  การดูแลและรักษาความปลอดภัยได้รับความร่วมมือจากทางวัดดูแลความปลอดภัยให้ เนื่องจากว่าอยู่ใกล้หมู่กุฏิของพระและท่านเจ้าอาวาส  ส่วนงบประมาณสนับสนุนนั้น ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาชุมชน ช่วยจัดหางบประมาณในบางช่วงเวลาที่ต้องการการปรับปรุงมาให้ โดยที่กลุ่มผู้ดูแลและกลุ่มแม่บ้านที่รวมตัวกันอยู่ช่วยกันเขียนโครงการของบประมาณในการดูแลพิพิธภัณฑ์  จึงได้มีการจัดการตกแต่งเพิ่มเติมให้กับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้


ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามวันที่ 6 มีนาคม 2553
http://www.thaitambon.com/tambon/ttambon.asp?ID=160304 (วันที่ 28 มีนาคม 2553)
ชื่อผู้แต่ง:
-