พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน วัดยาง ณ รังสี


พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านวัดยาง ณ รังสี มีที่มาจากการที่ทางวัดจะรื้อศาลาการเปรียญหลังเก่าและสร้างหลังใหม่ขึ้นแทนที่ เมื่อทางชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี ทราบเรื่องจึงได้ขอให้ทางวัดเก็บรักษาไว้ เพราะเห็นว่าหากได้รับการบูรณะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ นำไปสู่การบูรณะและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยมีอาจารย์ภูธร ภูมะธน ผู้ร่วมก่อตั้งมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรีและอดีตภัณฑารักษ์กรมศิลปากร เป็นที่ปรึกษาและช่วยให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อรูปขึ้นอย่างชัดเจนและสามารถเปิดให้เข้าชมได้ในปี พ.ศ.2531 ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดง 3 อาคาร รวบรวมเรือพื้นบ้านที่เคยใช้สัญจรกันในแม่น้ำลพบุรี ได้แก่ เรือสำปั้น เรือมาด เรือหมู เรือพายม้า เรืออีโปง เรือกระแชง เรือเข็ม เรือชะล่า เรือเป็ด เรือป๊าบ เรือบด เรือผีหลอก เป็นต้น เรือบางชนิดแม้จะยังมีใช้อยู่ในปัจจุบันแต่บางชนิดหาชมได้ยากเต็มที พิพิธภัณฑ์ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากชุมชน และชมรมพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านวัดยาง ณ รังสี นอกจากนี้ กลุ่มพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดลพบุรียังได้สร้างความร่วมมือที่เหนี่ยวแน่นขึ้นอีก คือ การสร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์จังหวัดลพบุรีขึ้นเพื่อช่วยให้คำปรึกษาและสร้างกิจกรรมร่วมกัน

ที่อยู่:
วัดยาง ณ รังสี หมู่2 ต.ตะลุง อ.เมือง จ.ลพบุรี 15000
โทรศัพท์:
036-656390, 08-18578761
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2529
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ของดีเมืองลพบุรี พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านวัดยาง

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 8/20/2546

ที่มา: มติชนรายวัน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

เรือในภาคกลาง

ชื่อผู้แต่ง: ภูธร ภูมะธน | ปีที่พิมพ์: 2544

ที่มา: ลพบุรี : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี วิทยาลัยครูเทพสตรี

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

เรือไทย กรณีศึกษาเรือไทยพื้นบ้าน ในพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน วัดยาง ณ รังสี จังหวัดลพบุรี

ชื่อผู้แต่ง: อรวรรณ สมใจนึก | ปีที่พิมพ์: 2547

ที่มา: ศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

แหล่งค้นคว้า: มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านลพบุรี

ชื่อผู้แต่ง: ทัศนีย์ ยาวะประภาษ | ปีที่พิมพ์: 15: 7(กรกฏาคม 2514)

ที่มา: กินรี

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ไปดูมรดกของแม่น้ำที่พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านลพบุรี

ชื่อผู้แต่ง: ทวีศักดิ์ เดชชู | ปีที่พิมพ์: 07-07-2551

ที่มา: มติชนรายวัน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


รีวิวของพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน วัดยาง ณ รังสี

วิธีการเดินทางหลักๆ ในอดีตชาวไทยภาคกลางมีอยู่ไม่กี่วิธีเท่านั้น ได้แก่ การเดินเท้า  การนั่งเกวียน และสุดท้ายที่ได้รับความนิยมมากคือ การเดินทางทางน้ำ    แม่น้ำลพบุรี  แม่น้ำสายหลักของชาวลพบุรี เป็นทั้งเส้นทางการเดินทางคมนาคม  แหล่งน้ำในการทำมาหากิน การประมง  การเกษตร  อาจารย์อดุลย์  พวงภู่ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนนี้ในแม่น้ำลพบุรีมีทั้งเรือใหญ่เรือเล็ก เรือส่วนตัวและเรือรับจ้าง  แต่เมื่อมีถนนเข้ามายังตัวเมืองลพบุรีและมีหลายสายมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 50 ปีให้หลังนี้  การเดินทางทางเรือจึงถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของชาวลพบุรี  เรือที่เคยจอดไว้ท่าน้ำหน้าบ้าน ก็ถูกยกขึ้นคาน มีโรงรถเข้ามาแทนที่  หน้าบ้านก็หันออกถนน ประตูที่เคยเปิดสู่แม่น้ำก็ปิดสนิท  และยิ่งในปัจจุบันนี้มีเขื่อนป่าสักและระบบชลประทานที่ดีมาช่วยกักน้ำไว้ไม่ให้น้ำท่วมเป็นประจำทุกปีอีก  ชาวบ้านก็แทบจะไม่ได้ใช้เรืออีกเลย 
 
ปี พ.ศ.2529 วัดยาง ณ รังสี มีโครงการจะจัดสร้างศาลาการเปรียญใหม่ โดยที่จะรื้อเอาอาคารศาลาการเปรียญเก่าที่สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2470 ออกและสร้างที่ใหม่ขึ้นแทนที่  เมื่อทางชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จังหวัดลพบุรี ทราบเรื่องจึงได้ขอให้ทางวัดเก็บรักษาไว้ เพราะเห็นว่าอาคารเดิมหากได้รับการบูรณะก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้  ทางวัดจึงเห็นชอบและขอให้ช่วยหาทุนในการบูรณะ   โดยมีอาจารย์ภูธร  ภูมะธน เป็นหัวเรือหลักที่เข้ามาช่วยให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อรูปขึ้นอย่างชัดเจนและสามารถเปิดให้เข้าชมได้ในปี พ.ศ.2531 
 
อาคารศาลาการเปรียญหลังเดิม ลักษณะอาคารเป็นศาลาโถงยกใต้ถุนสูง ขนาดกว้าง 12.50เมตร ยาว 26 เมตร หลังคาลด 2 ชั้น 3 บ สำหรับหลังคาปีกนกชั้นกันสาดเดิมมุงด้วยสังกะสีเพื่อให้มีน้ำหนักเบา ต่อเมื่อได้รับการบูรณะจึงได้เปลี่ยนมามุงด้วยกระเบื้อง มีเครื่องบนประดับหลังคาเป็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกลายเทพ ประทับนั่งในซุ้ม ส่วนพื้นสลักเป็นรูปเทพนมประกอบลายก้านขด เสาที่เป็นโครงสร้างเป็นซุงทั้งต้น พื้นเป็นไม้กระดาน มีราวลูกกรงล้อมอยู่โดยรอบ ศาลาหลังนี้ออกแบบก่อสร้างโดยนายปั่น แตงบู่ ช่างไม้ในท้องถิ่น เมื่อ พ.ศ. 2470 
 
ปัจจุบันอาคารพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านวัดยาง ณ รังสี มีทั้งหมด 3 หลัง  อาคารหลังที่ 1 เป็นอาคารศาลาการเปรียญเก่าของวัดที่ได้รับการปรับปรุงใหม่แล้ว  ส่วนอาคารหลังที่สอง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทาสีขาว ให้รูปแบบช่องหน้าต่างแบบหน้าต่างของพระอุโบสถในสมัยอยุธยา คือ เป็นช่องหน้าต่างแคบความกว้างประมาณไม่ถึง 1 ฟุต  แต่ความสูงเกือบจดเพดานของตัวอาคาร  ส่วนอาคารหลังที่ 3 เป็นอาคารขนาดเล็ก ไม่มีผนัง   
 
ถ้าเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็จะพบกับอาคารหลังที่ 3 นี้ก่อนหลังอื่นๆ เพราะตั้งอยู่หน้าสุด  และยังได้ตั้งเรือลำแรกของพิพิธภัณฑ์ไว้ และมีตู้รับบริจาคเงินบำรุงพิพิธภัณฑ์ ที่ต้องผจญชะตากรรมกับมิจฉาชีพมาหลายครั้งจนต้องมีการตีไม้ประกบให้หนาขึ้น และมีอีกตู้มาประกบด้วยคือ ตู้แดงของคุณตำรวจนั้นเอง เมื่อถูกปล้นตู้เป็นครั้งที่ 3  ในอาคารหลังที่ 3 นี้มีนอกจากเรือลำแรกของพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังมีเรืออีกลำซึ่งเป็นเรือมาดเช่นเดียวกับลำแรก แต่อยู่ในสภาพที่ผุพังมากกว่า ตั้งอยู่ใกล้กัน  เรือทั้ง 2 ลำเป็นเรือที่ต่อขึ้นจากไม้สักซึ่งถือว่าเป็นไม้ที่ได้รับความนิยมในการต่อเรือเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็งที่ทนทานต่อสภาพที่ต้องเจอน้ำตลอดเวลา  เรือที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นเรือที่ใช้กันในแม่น้ำลพบุรี ได้แก่ เรือสำปั้น เรือมาด เรือหมู เรือพายม้า เรืออีโปง เรือกระแชง เรือเข็ม เรือชะล่า เรือเป็ด เรือป๊าบ เรือบด เรือผีหลอก เป็นต้น
 
ส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์อาคารแรก ที่เป็นศาลาการเปรียญนั้น จัดแสดงเรือประเภทเรือขุด หมายถึงเรือที่ใช้ไม้ทั้งท่อนทำเป็นเรือด้วยวิธีวิธีการขุด  ขุดเอาเนื้อไม้ออก  ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีเรือที่ขุดมาจากไม้สักทองท่อนขนาดใหญ่อยู่หลายลำ  ความยาวของเรือขุดแต่ละลำประมาณ 7-8 เมตร นอกจากนั้นยังมีเรือที่จำลองเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในสมัยอยุธยาตอนกลางมาให้ชมด้วย พร้อมกันนั้นก็มีเก๋งของเรือซึ่งถึงแม้จะเป็นคนละยุคสมัยกัน  แต่ก็ทำให้เห็นภาพของเรือที่มีเก๋งนั้นเป็นอย่างไร นอกจากนั้นยังมีเรือสำปั้นเพรียว เรือสำปั้นขุดขนาดเล็กที่ว่าถ้าคนพายไม่มีความสามารถจริงก็อาจจะล่มตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นพายก็ได้ เรือมาดที่เป็นเรือต่อขนาดใหญ่มาขออาศัยพื้นที่ตรงศาลาแห่งนี้ 1 ลำ เพราะขนาดที่ใหญ่มากจนไม่สามารถแยกออกไปใส่ไว้ในอาคารเรือต่อได้  เป็นเรือขนาดใหญ่ที่เอาไว้ขนข้าวเปลือกไปขายยังโรงสีที่ตั้งอยู่ริมน้ำ ส่วนใหญ่เรือที่แล่นในแม่น้ำลพบุรีที่ใหญ่สุดก็เป็นเรือมาดตามคำบอกเล่าของอาจารย์อดุลย์นั้น   นอกจากจะมีเรือต่างๆ ให้ดูกันแล้ว บริเวณโดยรอบอาคารที่กั้นลูกกรงและตาข่ายกันนกพิราบนั้น ยังติดป้ายความรู้ที่บอกเล่าเรื่องราวของเรือประเภทต่างๆ ให้ผู้ที่เข้าชมได้มาเรียนรู้ด้วย  
 
ใต้ถุนอาคารศาลาการเปรียญหลังนี้ ก็เป็นอีกส่วนที่จัดแสดงเรือด้วย  ส่วนใหญ่เป็นเรือขนาดใหญ่ประเภทเรือมาด แต่ที่น่าสังเกตคือ มีเรืออยู่หนึ่งลำที่มีผ้าสามสีเจ็ดสีมาผูกไว้ที่หัวเรือและมีคราบแป้งขาวๆ กระจายอยู่ทั้งหัวเรือ ได้ความจากอาจารย์อดุลย์ว่า ทุก 15 วัน จะมีขนมาช่วยขัดถูเรือลำนี้อยู่ตลอด ท่านบอกว่าเรือลำนี้เคยให้โชคกับคนที่มาค้นตัวเลขเสี่ยงโชคอยู่บ่อยๆ 
 
อาคารหลังที่ 2 เป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาใหม่ จัดแสดงเรือต่อ คือเรือขนาดเล็ก ที่ต่อขึ้นจากไม้หลายขนาดด้วยกัน  ที่น่าสนใจและถือว่าเป็นจุดสำคัญของอาคารหลังนี้คือ เรือสำปั้นขนาดหนึ่งคนนั่ง  ที่ตีโครงเรือและประกอบเป็นเรือด้วยความละเอียดลออ ไม้ชิ้นเล็กประกอบขึ้นเป็นลำเรือและมีขนาดเบากว่าเรือปรกติ ทำให้อาคารที่ 2 นี้อัดแน่นด้วยความรู้เพิ่มขึ้นไปอีกด้วยการมีป้ายอธิบายความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ ป้ายความรู้เรือประเภทต่างๆ พร้อมภาพลายเส้นประกอบ
 
สำหรับการนำชมพิพิธภัณฑ์นั้น  นอกจากอาจารย์อดุลย์จะเป็นผู้นำชมหลักแล้ว ในช่วงเวลาว่างและวันเสาร์ – อาทิตย์เด็กๆ โรงเรียนวัดยาง ณ รังสี ก็จะมีทำหน้าที่มัคคุเทศก์น้อย ช่วยนำชมแก่นักท่องเที่ยวทั้งแบบหมู่คณะและแบบขาจรด้วย แม้ว่าเด็กๆ อาจจะยังไม่สามารถถ่ายทอดและเล่าเรื่องราวต่างๆ ทั้งเรื่องของเรือและเรื่องราวต่างๆของชุมชนและจังหวัดลพบุรีได้ละเอียด เพราะประสบการณ์ในชีวิตยังน้อยอยู่ แต่ก็มีความน่ารักตามประสาเด็ก
บริเวณทั้งหมดของอาคารพิพิธภัณฑ์นั้น ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากชุมชน และชมรมพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านวัดยาง ณ รังสี  นอกจากนี้ กลุ่มพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดลพบุรียังได้สร้างความร่วมมือที่เหนี่ยวแน่นขึ้นอีก คือ การสร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์จังหวัดลพบุรีขึ้นเพื่อช่วยให้คำปรึกษาและสร้างกิจกรรมร่วมกัน
 
สำหรับปัญหาที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังประสบอยู่และกำลังช่วยกันแก้ปัญหาคือ ปัญหาเรื่องความสะอาด อันเนื่องมาจากมูลของนกพิราบที่มาอาศัยอยู่ตามช่องว่างของหลังคา ขื่อของอาคารพิพิธภัณฑ์ สร้างความรำคาญใจกับทั้งผู้ดูแลและผู้เข้าชม การแก้ปัญหาเบื้องต้นก็ได้นำเอาตาข่ายมากั้นรอบตัวอาคารศาลาการเปรียญที่เปิดโล่ง บริเวณทางเดินเข้าก็นำเอาโซ่เส้นเล็กที่มีน้ำหนักหน่อยมาโย่งจากเพดานลงมาเพื่อกั้นไม่ให้นกบินเข้าได้   
 
 การสำรวจภาคสนามวันที่ 6 มีนาคม 2553
ชื่อผู้แต่ง:
-