พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง


ดั้งเดิมชาวไทยเบิ้งคือ คนกลุ่มเดียวกับชาวไทยโคราช แต่อพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณตำบลโคกสลุง มีภาษาและวัฒนธรรมหลายอย่างคล้ายกับไทยโคราช เอกลักษณ์ของไทยเบิ้งคือภาษา ที่มักจะลงท้ายประโยคด้วยคำว่า “เบิ้ง” หรือ “เติ้ง” ทำให้คนทั่วไปเรียกคนกลุ่มนี้ว่าไทยเบิ้ง การมาถึงของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับชุมชนชาวไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง ทั้งในแง่ต้องเปิดรับกระแสเงินทุนและการพัฒนา ในช่วงเวลาดังกล่าวมีนักวิชาการเริ่มเข้าไปศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชน และเป็นคนกลุ่มแรกที่แนะนำชาวบ้านให้รื้อฟื้นความเป็นไทยเบิ้งกลับมา โดยการสร้างพิพิธภัณฑ์ไทยเบิ้ง ผู้นำชุมชนจึงคิดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านและเริ่มหาของเก่าที่ชาวไทยเบิ้งไม่ใช้แล้วนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสดงอัตลักษณ์ของพวกเขา ต่อมาเมื่อความสนใจเรื่องพิพิธภัณฑ์ลดน้อยลง ชาวบ้านได้ทำการรื้อฟื้นการแสดงรำโทน ซึ่งได้รับความนิยมและมักได้รับเชิญไปแสดงในที่ต่างๆ รำโทนกลายเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ในการแสดงตัวตนของชาวไทยเบิ้ง อัตลักษณ์ของชาวไทยเบิ้งได้ย้ายตัวเองจากพิพิธภัณฑ์มาสู่การแสดงวัฒนธรรม

ที่อยู่:
8/7 หมู่3 ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 15140
โทรศัพท์:
084-9786782 (คุณประทีป)
วันและเวลาทำการ:
ติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2543
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านการแสดงทางวัฒนธรรมและกระบวนการรื้อฟื้นความเป็นไทเบิ้ง

ชื่อผู้แต่ง: ชาญวิทย์ ตีรประเสริฐ | ปีที่พิมพ์: 2546

ที่มา: มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แหล่งค้นคว้า: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พิพิธภัณฑ์ไทเบิ้ง ที่โคกสลุง

ชื่อผู้แต่ง: สุรินทร์ มุขศรี | ปีที่พิมพ์: ปีที่22ฉบับที่ 11 ก.ย. 2544

ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ป่าสักชลสิทธิ์ มรดกชีวิตและสายน้ำ

ชื่อผู้แต่ง: ภูธร ภูมะธน | ปีที่พิมพ์: 2548;2005

ที่มา: กรุงเทพฯ: บริษัทเอ.เอส.พี ดีไซน์ พริ้นติ้ง จำกัด

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 07 มีนาคม 2557


ชาวไทยเบิ้งกับตัวตนในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน

การบรรยายเรื่อง “ชาวไทยเบิ้งกับตัวตนในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน” วันที่ 28 เมษายน 2549 โดยคุณชาญวิทย์ ตีรประเสริฐ เจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่องพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านการแสดงทางวัฒนธรรมและกระบวนการรื้อฟื้นความเป็นไทเบิ้ง   ได้เล่าถึงที่มาที่ไป ความสำคัญ รวมถึงปัญหา และทางออกของพิพิธภัณฑ์ไทยเบิ้งพื้นบ้านโคกสลุง จังหวัดลพบุรี ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2540 หรือช่วงที่กระแสพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกำลังเป็นที่นิยม

ชาญวิทย์พบว่า การมาถึงของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับชุมชนชาวไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง เมื่อเงินจำนวนมากถูกโยนลงไปในชุมชนเช่น ค่าเวนคืน ค่าก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาความไม่โปร่งใส ปัญหาเงินชดเชยไปไม่ถึงมือชาวบ้าน รวมทั้งปัญหาการเก็งกำไรที่ดิน ปัญหาวัยรุ่น ฯลฯ ชุมชนไทยเบิ้งดูจะอ่อนแอเกินไปเมื่อต้องเปิดรับกระแสเงินทุนและการพัฒนา
 
ในช่วงเวลานี้เองที่นักวิชาการเริ่มเข้าไปศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชน และเป็นคนกลุ่มแรกที่แนะนำชาวบ้านว่า ต้องรื้อฟื้นความเป็นไทยเบิ้งกลับมา รวมทั้งยังแนะว่าควรจะต้องสร้างพิพิธภัณฑ์ไทยเบิ้ง ผู้ใหญ่แดงซึ่งเป็นผู้นำชุมชนจึงคิดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน โดยตระเวนหาของเก่าที่ชาวไทยเบิ้งไม่ใช้แล้วนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสดงอัตลักษณ์ของพวกเขา
 
อย่างไรก็ดี พิพิธภัณฑ์ไทยเบิ้งมีวงจรชีวิตไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในที่อื่น คือ มักได้รับความสนใจแค่ช่วงแรกเท่านั้น จึงมีการรื้อฟื้นการแสดงรำโทน ซึ่งได้รับความนิยมและมักได้รับเชิญไปแสดงในที่ต่างๆ กล่าวได้ว่า รำโทนกลายเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ในการแสดงตัวตนของชาวไทยเบิ้ง อัตลักษณ์ของชาวไทยเบิ้งได้ย้ายตัวเองจากพิพิธภัณฑ์มาสู่การแสดงวัฒนธรรม
 
ชาญวิทย์ปิดท้ายว่า การแสดงออกซึ่งตัวตนวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่จำเป็นจะต้องนำเสนอผ่านรูปแบบพิพิธภัณฑ์อย่างเดียวเท่านั้น รวมทั้งเสนอว่า การทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับของคนนอก คนในท้องถิ่นต้องให้การยอมรับเสียก่อน จึงจะทำให้กระบวนการนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ได้เป็นแค่เพียงกิจที่ทำตามๆ กันไป แต่เป็นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนจริงๆ

 

ข้อมูลจาก: การบรรยายเรื่อง “ชาวไทยเบิ้งกับตัวตนในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน” โดยคุณชาญวิทย์ ตีรประเสริฐ วันที่ 28 เมษายน 2549   คลิกชมวิดีโอ

 

ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้ง ที่บ้านโคกสลุงก่อตั้งขึ้น เพราะชาวไทยเบิ้งที่อยู่บริเวณรอบๆ เขื่อน ต่างได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้พื้นที่บ้านเรือนดั้งเดิมหายไป จึงเกรงว่าวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตการทำมาหากินแบบเก่าๆ  ของชาวไทยเบิ้งจะหายไป  ชาวบ้านจึงรวมตัวกันทำประชาพิจารณ์ในปี พ.ศ. 2541 และตกลงกันก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ไทยเบิ้ง โคกสลุงขึ้น เพื่อแสดงอัตลักษณ์และพยายามรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้ให้ลูกหลานสืบต่อ  โดยขอทุนจากกองทุนเพื่อการลงุทนทางสังคม (SIF)  ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ พิพิธภัณฑ์เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2543 โดยท่านนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ท่านชวน หลักภัย เดินทางมาเปิดด้วยตนเอง
 
กล่าวกันว่าดั้งเดิมชาวไทยเบิ้งคือ คนกลุ่มเดียวกับชาวไทยโคราช แต่อพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ มีภาษาและวัฒนธรรมหลายอย่างคล้ายกับไทยโคราช เอกลักษณ์ของไทยเบิ้งคือภาษา ที่มักจะลงท้ายประโยคด้วยคำว่า “เบิ้ง” หรือ “เติ้ง” ทำให้คนทั่วไปเรียกคนกลุ่มนี้ว่าไทยเบิ้ง
 
พื้นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ไทยเบิ้ง แบ่งเป็นอาคารสามหลัง คือ เรือนฝาคร้อเสาสูงแบบดั้งเดิม อาคารแสดงสินค้าชุมชนและนิทรรศการ และยุ้งข้าว แต่ละอาคารก็บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนกันคนละแง่มุม 
 
อาคารแรก เรือนฝาคร้อเสาสูง เป็นบ้านแบบไทยเบิ้ง ต้อนรับผู้เข้าชมด้วยบันไดแบบชักออกได้ ค่อนข้างจะแคบและชัน แต่สามารถใช้งานได้จริง เมื่อขึ้นบันไดไปบนบ้านแล้วส่วนแรกที่จะพบก็คือ ชานบ้านดั้งเดิมที่ไม่มีหลังคา เปิดลานโล่งรับลม ประโยชน์คือใช้สำหรับนั่งกินข้าวเย็นในครอบครัว เรียกว่าการกินข้าวล่อ คือนั่งเห็นหน้าเห็นตากันระหว่างกินข้าวถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันในครอบครัว คนไทยเบิ้งมักจะทำกับข้าวเย็นเพียงอย่างเดียว จากนั้นจะนำไปแบ่งญาติๆ อีกหลายบ้านแลกเปลี่ยนกับข้าวกัน สร้างความผูกพันธ์ระหว่างญาติพี่น้อง ปัจจุบันชาวไทยเบิ้งโคกสลุงบางส่วนออกไปรับจ้างทำงานนอกหมู่บ้าน วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนกับข้าว กินข้าวล่อ ก็เริ่มน้อยลง
 
ฝาบ้านไทยเบิ้งทำด้วยต้นคร้อซึ่งเป็นต้นปาล์มชนิดหนึ่ง ในสมัยก่อนที่จะมีเขื่อนพบมากในบริเวณนี้ ฝาคร้อนี้ มีความคงทนมากใช้งานได้ถึง 20 – 30 ปี เลยทีเดียว การทำฝาบ้านของชาวไทยเบิ้งเดิมจะทำเป็นสามชั้น ชั้นนอกสุดรับแดดรับลมเป็นใบคร้อ ตรงกลางเป็นแฝก ชั้นในสุดคือไม้ไผ่สับฟาก ยึดด้วยไม้ไผ่ทั้งลำเจาะรูเป็นแนวตั้ง แล้วเอาไม้ไผ่ลำเล็กสอดทับ ทั้งนอกและใน เท่านี้ก็จะได้ฝาบ้านที่ทนทาน กันแดดในฤดูร้อน กันละอองฝน และกันลมหนาวจะพัดเข้ามาได้ สมัยก่อนหากมีการปลูกเรือนแบบนี้ เจ้าของบ้านจะเตรียมอุปกรณ์ทั้งหมดไว้ให้พอ แล้วชวนญาติพี่น้องมาช่วยกันสร้าง ภายในวันเดียวก็เสร็จหนึ่งหลัง ตัวบ้านเดิมเป็นห้องโล่ง เจ้าของบ้านจะนำฟูกมุ้งและหมอนนอนไว้มุมหนึ่ง เมื่อมีแขกมาก็จะหาฟูกและมุ้งมาให้ปูนอนเพิ่ม ภายในอาคารนี้ด้านหน้าริมประตูจะมีว่าวสองห้อง คือว่าวที่มีคันธนูเสียบทำให้เกิดเสียงเวลาเล่นเหมือนกับว่าวของอีสาน รอบๆ ฝาบ้านแขวนเครื่องมือทำมาหากิน เช่น เครื่องมือผูกวัวควาย กระดึงและโปงผูกคอสัตว์ อาวุธพวกปืนและหน้าไม้
 
ภายในตัวบ้านมีห้องครัวแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน เอกลักษณ์ครัวของชาวไทยเบิ้งคือใช้ก้อนหินสามเส้าแทนเตาไฟ เรียกว่าแม่ชีไฟ ใช้ฟืนทำอาหาร มีหม้อดินและเครื่องครัวคล้ายกับครัวไทยภาคกลางทั่วไป ของที่น่าสนใจก็คือเครื่องดักแมลงสาบแบบโบราณซึ่งภาษาไทยเบิ้งจะเรียกว่าแมลงแสบ ที่ฝาผนังแขวนไฟฉายโบราณคือ โป๊ะไฟทำจากกระบอกไม้ไผ่ ที่ชาวไทยเบิ้งใช้จุดเดินทางยามค่ำคืน หรือไปส่องหากบ หาอึ่ง ชาวบ้านปัจจุบันก็ยังนิยมกินอาหารจากป่า เช่น อึ่ง และแย้ 
 
ชมบนเรือนฝาคร้อเสร็จแล้ว ลงมาใต้ถุนเรือนมีกี่ทอผ้าอยู่หลายหลัง แต่ส่วนมากจะเป็นกี่กระตุกแบบใหม่แล้ว แบบดั้งเดิมกี่ทอผ้าของชาวไทยเบิ้งจะใช้เสาปักกับดิน และดึงด้ายไปยาวหลายเมตรขึงกับหลักไม้ บางครั้งยาวจนเลยใต้ถุนบ้านก็มี กลุ่มแม่บ้านโคกสลุงเมื่อมีเวลาบ้านก็จะมารวมตัวกันทอผ้าที่บริเวณนี้ ซึ่งวัฒนธรรมการทอผ้าเป็นสิ่งที่โดดเด่นมากของชุมชนนี้ สินค้าสำคัญก็คือผ้าขาวม้า และถุงย่าม ซึ่งปัจจุบันในชุมชนได้รณรงค์ให้โรงเรียนในเขตตำบลหันมาใช้ถุงย่ามแทนกระเป๋านักเรียน แทบจะ 100 เปอร์เซนต์แล้ว และได้รับรางวัลชุมชน OTOP Village ด้วย ปัจจุบันชาวบ้านเริ่มรื้อฟื้นภูมิปัญญาการย้อมสีจากธรรมชาติแล้ว แต่ยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจเท่าไรนัก ต้องศึกษาทดลองอีกระยะหนึ่ง นอกจากเป็นที่ทอผ้าแล้วใต้ถุนเรือนยังเป็นที่เก็บเครื่องมือเกษตร และเครื่องมือช่างอีกส่วนหนึ่ง พลั่วสาดข้าว เครื่องมือที่เหมือนกับช้อนยักษ์เอาไว้สำหรับตักข้าวที่นวดแล้วสาดขึ้นไปบนอากาศให้ข้าวเมล็ดลีบและฟางปลิวออกไป ส่วนไม้ด้ามยาวปลายงอคือขอฉาย เอาไว้เขี่ยฟางข้าวออกจากกองที่ข้าวเปลือกที่นวดแล้ว ขวานโยนขวากถากไม้ให้เรียบด้ามยาว
 
รอบๆ เรือนฝาคร้อเป็นลานบริเวณกว้างซึ่งปัจจุบันมีการจัดงานลานวัฒนธรรมขึ้นปีละครั้งในช่วงมกราคม เพื่อให้เยาวชนในชุมชน และครูภูมิปัญญาหลายแขนงได้มาแสดงความสามารถ และถ่ายทอดวิชา กระตุ้นให้เยาวชนภูมิใจในเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมของชุมชนตนเองด้วย ซึ่งเยาวชนในชุมชนโคกสลุงตอนนี้ได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาในชื่อ “เยาวชนกลุ่มข้าวเปลือกไทยเบิ้ง” ชวนเด็กๆ ในชุมชนมาทำกิจกรรมกันหมุนเวียนตลอดปี
 
ด้านหลังเรือนฝาคร้อถัดไปเป็นยุ้งข้าวของไทยเบิ้ง มีการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ การไหว้แม่โพสพ ทำขวัญข้าวช่วงตั้งท้อง ทำขวัญยุ้งก่อนจะนำข้าวขึ้นยุ้ง และก่อนจะนำข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ไปกินครั้งแรกก็ต้องมีพิธีเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยจะทำกันแล้ว เพราะคนหันมาทำนาปรังกันมากขึ้น เสน่ห์การเพาะปลูกแบบเคารพธรรมชาติจึงค่อยๆ หมดไป
 
อาคารที่สามคือ อาคารแสดงสินค้า พื้นที่ส่วนหนึ่งเยาวชนได้จัดนิทรรศการมีชีวิตที่พวกเขาและพี่ๆ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏลพบุรีได้เก็บข้อมูลชุมชน มาทำเป็นนิทรรศการให้ความรู้ 4 เรื่องราว เรื่องแรกเกี่ยวกับการเกิด คือการอยู่ไฟ เมื่อคุณแม่ชาวไทยเบิ้งคลอดลูกแล้ว ก็จะมานอนบนกระดานข้างกองไฟ เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ และไม่เจ็บไข้หลังคลอด ทายากินยาสมุนไพรสมานแผล และขับน้ำคาวปลา ทารกแรกเกิดจะวางในกระด้งทำเป็นกระโจม จากนั้นเมื่อเด็กแข็งแรงก็จะนอนในเปลผ้าข้าวม้าหรืออู่นอน ป้ายอธิบายนิทรรศการนี้ค่อนข้างละเอียดและอ่านเข้าใจง่าย 

ถัดมาเป็นเรื่องเข้าวัดเข้าวา เด็กๆ นำชุดพื้นเมืองของชาวไทยเบิ้งของหญิงและชายมาแขวนครบชุดอธิบายการแต่งกายไปวัด หญิงจะนุ่งโจงกระเบนเสื้อสีขาว ใช้ผ้าขาวม้าแทนสไบ ส่วนผู้ชายนุ่งกางเกงขาก๊วย เสื้อแขนสั้นและผ้าขาวม้าพาดบ่า หิ้วกระเตงหรือตะกร้าใส่ข้าวปลา อาหารและน้ำไปทำบุญ 

เรื่องที่ 3 คือสุขภาพกายสุขภาพใจ เป็นความเชื่อของคนไทยเบิ้งว่าถ้ามีใครเจ็บป่วยไข้ จะมีหมอรักษาเฉพาะของการเจ็บป่วยนั้นๆ เช่น หมอสมุนไพร หมอตำแย หมอรักษาโรค หมอให้กำลังใจ หมอสมุนไพร หมอรักษาโรคจะจ่ายยาสมุนไพรให้แล้วแต่อาการ ส่วนคนที่มีความกังวลทุกข์ใจจนป่วย ก็จะไปหาหมอบูน คือการเสี่ยงทายดูดวงว่าการเจ็บไข้ได้ทุกข์นั้นมาจากสาเหตุใดต้องแก้อย่างไร ต้องมีของมาไหว้หมอบูน และค่าครู หมอบูนก็จะเสี่ยงทายจากการใช้ไข่ต้มวางบนข้าวสาร แล้วเคาะให้ไข่ตั้งหรือลักษณะของไข่ออกมาเป็นอย่างไรก็จะทำนาย ให้ไปแก้ด้วยวิธีต่างๆ  อีกส่วนหนึ่งเป็นกระแตะสำหรับเซ่นไหว้พ่อหลวงเพ็ชรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านที่ชาวไทยเบิ้งนับถือมาก ในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ทุกปีชาวบ้านจำทำกระแตะภายในประกอบไปด้วย อีหุ่น หรือตุ๊กตาดินเหนียวปั้นเป็นรูปคนตามจำนวนสมาชิกในบ้าน ช้างม้า วัว ควาย ข้าวดำ ข้าวแดง เงิน 12 ทอง 15 (ใช้ดินเหนียวปั้นแทน) เกลือก้อน พริกเม็ด ปลาร้าตัว ไปเซ่นไหว้ เพื่อแสดงความเคารพ และให้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข 
 
 ถัดมาเรื่องที่ 4  คือ เครื่องมือเครื่องใช้ ของชาวไทยเบิ้ง ซึ่งส่วนใหญ่มีหน้าตาคล้ายอุปกรณ์จักสานทั่วไปของภาคกลาง แต่มีตารางชื่อและวิธีใช้ให้ดูตามหมายเลขด้วย 
 
ในอาคารจัดแสดงสินค้ายังมีผ้าขาวม้าและถุงย่ามลายไทยเบิ้งอันเอกลักษณ์จำหน่ายด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นที่เก็บของลำหรับจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น พวงมะโหด โมบายกระดาษสีที่เด็กๆ ตัดไว้สำหรับจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ ด้ายฝ้ายที่ทดลองย้อมสีแบบธรรมชาติ และเครื่องปั่นด้ายที่ประยุกต์จากล้อรถจักรยาน ที่กำลังฝึกหัดให้เยาวชนไทยเบิ้งได้ทดลองทำเพื่อสืบทอดการทอผ้าให้อยู่ต่อไป
 
การมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้ง ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี แห่งนี้ หากอยากจะได้รับความรู้และสนุกสนานในการชมควรติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าก่อน เพื่อจะได้มีผู้นำชม และได้รับประโยชน์เต็มที่
 
สำรวจวันที่ 18 กรกฎาคม 2553
ชื่อผู้แต่ง:
-